xs
xsm
sm
md
lg

จี้”สมชาย” เลิกสร้างประตูน้ำแม่ปิงมูลค่า 464 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มผู้ใช้น้ำเหมืองฝายในลำน้ำปิงจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน ยื่นหนังสือจี้นายกฯผ่านผู้ว่าฯ ให้ระงับโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำปิง ที่จะขออนุมัติก่อสร้างจากครม.เร็วๆนี้
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – กลุ่มผู้ใช้น้ำเหมืองฝายเชียงใหม่-ลำพูน จี้นายกฯสมชาย ระงับโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำในลำน้ำปิง พร้อมรื้อฝายเก่า 3 แห่งมูลค่า 464 ล้านบาทด่วน หลังพบกรมชลประทานจ่อเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติ ขู่หากไม่ฟังเสียงชาวบ้านปิดสะพานนวรัฐแน่ ย้ำชัดประตูน้ำไม่ช่วยแก้น้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ ขณะที่ รมว.เกษตรฯปัดไม่เคยรู้รายละเอียดโครงการนี้ เตรียมเรียกกรมชลประทานหารือ ยันยังไม่มีการนำเสนอขออนุมัติ ครม.แน่นอน

วานนี้ (17 พ.ย.51) กลุ่มผู้ใช้น้ำเหมืองฝายในลำน้ำปิงจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูนประมาณ 100 คน นำโดยนายสมบูรณ์ บุญชู รองประธานฝายพญาคำ ได้รวมตัวชุมนุมที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเรียกร้องให้มีการระงับโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำในลำน้ำปิง มูลค่ากว่า 464 ล้านบาท พร้อมรื้อฝายเก่า 3 แห่ง ประกอบด้วย ฝายพญาคำ ฝายหนองผึ้ง และฝายท่าวังตาล ของกรมชลประทาน

การเดินทางมาชุมนุมในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากกลุ่มผู้ใช้น้ำเหมืองฝาย ได้รับข้อมูลว่ากรมชลประทาน เตรียมจะนำเสนอโครงการเพื่อขออนุมัติการดำเนินการจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในการประชุมสัปดาห์นี้ จึงได้เดินทางมาพร้อมกับยื่นหนังสือถึงนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้พิจารณาระงับโครงการนี้ ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งนายไพโรจน์ แสงภู่วงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นตัวแทนรับเรื่องไว้ พร้อมรับปากจะประสานนำเรื่องร้องเรียนเสนอให้นายกรัฐมนตรีทราบและพิจารณาต่อไป

นายสมบูรณ์ บุญชู รองประธานฝายพญาคำ กล่าวว่า การมาชุมนุมครั้งนี้เนื่องจากทราบว่า กรมชลประทานเตรียมที่จะเสนอโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำในลำน้ำปิงพร้อมรื้อฝายเก่า 3 แห่งทิ้ง เพื่อขออนุมัติจากครม. จึงได้มายื่นหนังสือถึงนายกฯ เพื่อเรียกร้องให้มีการระงับหรือยุติโครงการนี้โดยเด็ดขาด เนื่องจากไม่ได้ช่วยป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ ตามที่ได้มีการกล่าวอ้าง ขณะเดียวกันยังเป็นการทำลายระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมให้สูญสลายลงไปด้วย

สำหรับข้อเรียกร้องดังกล่าวนี้ รองประธานฝายพญาคำ ระบุว่า กลุ่มผู้ใช้น้ำเหมืองฝายต้องการที่จะทราบคำตอบจากนายกฯภายในเวลา 15.00 น. ไม่เช่นนั้นจะนัดรวมตัวปิดถนนบริเวณเชิงสะพานนวรัฐ ทางด้านตะวันออกของแม่น้ำปิง ในตัวเมืองเชียงใหม่ เพื่อคัดค้านจนกว่าจะได้รับคำตอบ เพราะตั้งแต่ปี 2548 ที่ทราบว่ากรมชลประทานพยายามผลักดันโครงการนี้ กลุ่มผู้ใช้น้ำเหมืองฝายได้เคยยื่นหนังสือคัดค้านมาแล้วนับสิบครั้ง แต่ไม่เคยได้คำชี้แจงที่ชัดเจนแม้แต่ครั้งเดียว

“ที่ผ่านมา กรมชลประทานก็เป็นฝ่ายที่เคยยอมรับออกมาเองแล้วว่า การก่อสร้างประตูระบายน้ำ ไม่ได้ช่วยแก้ไขและป้องกันปัญหาน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ ให้หมดสิ้นลงไปได้ ขณะที่กลุ่มผู้ใช้น้ำเหมืองฝายเองก็ไม่ต้องการให้มีการดำเนินโครงการนี้ คำถามก็คือว่าแล้วทำไมกรมชลประทานจึงยังคงมีความพยายามที่จะผลักดันโครงการนี้อยู่อีก ซึ่งชาวบ้านขอยืนยันที่จะคัดค้านโครงการนี้ให้ถึงที่สุด เพราะไม่ได้เป็นโครงการที่เป็นความต้องการที่แท้จริงของชาวบ้าน” นายสมบูรณ์ กล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า ในหนังสือที่กลุ่มผู้ใช้น้ำเหมืองฝาย ยื่นถึงนายกฯ ได้มีการเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยุติการดำเนินโครงการนี้ไว้ก่อน แล้วให้มีการตั้งคณะกรรมการที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ประกอบไปด้วยตัวแทนจากภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ นักวิชาการ ผู้แทนกลุ่มผู้ใช้น้ำ สื่อมวลชน องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรภาคประชาชน เพื่อร่วมกันพิจารณาทบทวนโครงการดังกล่าวนี้อย่างรอบด้าน ทั้งผลดีและผลเสีย เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างโปร่งใส โดยไม่ยึดติดตัวโครงการ หากแต่เชื่อมโยงการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ เพื่อพิจารณาว่าโครงการนี้มีความจำเป็นเพียงใด รวมทั้งเปิดโอกาสให้แก่ข้อเสนอทางเลือกอื่นๆ

นอกจากนี้ในหนังสือฉบับเดียวกันนี้ ยังได้ตั้งข้อสังเกตต่อโครงการนี้ว่า ขาดกระบวนการการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนตั้งแต่เริ่มต้น เป็นมุมมองของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเท่านั้น แต่ขาดการเชื่อมโยงปัญหาอย่างเป็นระบบ ขณะเดียวกันยังมีที่มาโครงการไม่ชัดเจน คลุมเครือ และส่อมีนัยแอบแฝง เนื่องจากพบว่ามีความพยายามที่จะรื้อฝายพญาคำมาตั้งแต่ก่อนน้ำท่วมใหญ่ในปี 2548 พร้อมกันนี้ยังตั้งข้อสังเกตว่า การจัดเวทีรับฟังและชี้แจงโครงการของชลประทาน ที่ดำเนินการโดยสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่ ไม่มีการประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวางเพียงพอด้วย

ขณะที่ช่วงเที่ยงวันเดียวกันนี้ รายงานข่าวแจ้งว่า นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเดินทางมาตรวจราชการ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้เชิญตัวแทนกลุ่มผู้ใช้น้ำเหมืองฝายเข้าหารือกรณีดังกล่าวที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ โดยนายสมศักดิ์ ระบุว่า ไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการนี้มาก่อน และยืนยันว่ากรมชลประทานยังไม่มีการนำโครงการนี้เข้าสู่การพิจารณาของครม.แต่อย่างใด เพราะหากจะมีการเสนอก็จะต้องผ่านตัวเองก่อน

ทั้งนี้รมว.เกษตรฯ ได้รับปากกับตัวแทนกลุ่มผู้ใช้น้ำเหมืองฝาย จะรับข้อเรียกร้องและความต้องการของกลุ่มผู้ใช้น้ำเหมืองฝายไว้ แล้วจะเรียก กรมชลประทานมาพูดคุยให้ได้ข้อสรุป และจะแจ้งให้ทราบก่อนที่จะดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อโครงการนี้ต่อไป เบื้องต้นกลุ่มผู้ใช้น้ำเหมืองฝายเกิดความพอใจในระดับหนึ่ง และสลายการชุมนุม

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ใช้น้ำเหมืองฝายได้นัดที่จะมีการพบปะพูดคุยกันอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2551 ในการจัดเวทีระดมความคิดเห็นต่อโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำในลำน้ำปิง พร้อมรื้อฝายเก่า 3 แห่ง จากผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยหากกรมชลประทานยังคงมีท่าทีที่ไม่เป็นที่พอใจ กลุ่มผู้ใช้น้ำเหมืองฝายก็พร้อมที่จะมีการเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการนี้ต่อไป

อนึ่ง โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำในแม่น้ำปิงพร้อมรื้อย้ายฝายเก่า 3 แห่ง นั้น เป็นโครงการของกรมชลประทาน มีการลงนามสัญญาก่อสร้างไปแล้วกับบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด(มหาชน) เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 วงเงิน 464,672,320 บาท ระยะเวลาก่อสร้าง 720 วัน โดยการดำเนินการตามโครงการจะประกอบด้วย 1.การสร้างประตูระบายน้ำชนิดบานเหล็กโค้ง ขนาดบานระบายน้ำกว้าง 12.50 เมตร สูง 6.50 เมตร จำนวน 6 บาน พร้อมระบบควบคุมน้ำอัตโนมัติ 2.บันไดปลาโจน ขนาดกว้าง 3 เมตร ยาวประมาณ 270 เมตร 3.อาคารท่อส่งน้ำปากคลองขนาด 2 คูณ 2 เมตร จำนวน 3 แห่ง เพื่อส่งน้ำให้กับพื้นที่ฝายทั้ง 3 แห่ง และ 4.การรื้อฝายท่าศาลา(ฝายพญาคำ) ฝายหนองผึ้ง และฝายท่าวังตาล

ตามรายละเอียดโครงการที่มีการนำเสนอชี้แจง ระบุว่า ประตูระบายน้ำจะสามารถบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในเขตเมืองเชียงใหม่ได้เป็นอย่างดี และยังสามารถใช้ประโยชน์ในการส่งน้ำให้แก่พื้นที่การเกษตรของท่าศาลา(ฝายพญาคำ) ฝายหนองผึ้ง และฝายท่าวังตาล จำนวน 10,000 ไร่ 5,200 ไร่ และ 8,100 ไร่ ตามลำดับด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น