xs
xsm
sm
md
lg

จี20ดันแผนปฏิบัติการฟื้นศก.โลก ขยายบทบาทประเทศกำลังพัฒนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี/รอยเตอร์ – บรรดาผู้นำประเทศพัฒนาแล้ว ชาติเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ และประเทศกำลังพัฒนารายใหญ่ๆ ของโลก ต่างเห็นพ้องแผนปฏิบัติการเพื่อฟื้นการเติบโตของเศรษฐกิจโลกโดยเร็ว และป้องกันวิกฤตการเงินในอนาคต พร้อมให้คำมั่นผลักดันแผนการใช้จ่ายระลอกใหม่เพื่อต่อสู้วิกฤตการเงินที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 70 ปี และตกลงให้ชาติตลาดเกิดใหม่มีสิทธิ์มีเสียงในระบบการเงินโลกมากขึ้น
แถลงการณ์สุดท้ายจากที่ประชุมจี20 ภายหลังการประชุมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปี ให้สัญญาว่าจะดำเนินมาตรการรับมือศึกด้านต่างๆ โดยนัดหมายหารือครั้งต่อไปในเดือนเมษายนปีหน้าเพื่อผลักดันนโยบายรูปธรรม
นอกจากนั้น ผู้นำเหล่านี้ยังชี้ว่า ประเทศต่างๆ มีการจัดทำแผนการใช้จ่ายของภาครัฐเพื่อฟื้นเศรษฐกิจโดยเร็ว ขณะที่ทุกประเทศจะมีการส่งเสริมข้อตกลงการค้าโลกเพื่อต่อต้านลัทธิกีดกันการค้า และปฏิรูปกฎระเบียบทางการเงินและสถาบันการเงินโลก
“เราตัดสินใจเพิ่มความร่วมมือเพื่อฟื้นการเติบโตของโลก และบรรลุมาตรการปฏิรูปที่จำเป็นในระบบการเงินโลก” บรรดาผู้นำจี20 แถลงเมื่อวันเสาร์ (15) ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมสุดยอดที่กรุงวอชิงตัน
การประชุมกลุ่มจี20 ซึ่งเป็นตัวแทน 85% ของเศรษฐกิจโลก โดยมีประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ที่กำลังจะอำลาตำแหน่งเป็นเจ้าภาพนั้น มีจุดหมายเพื่อต่อต้านวิกฤตการเงินที่เลวร้ายที่สุดนับจากทศวรรษ 1930
อย่างไรก็ตาม แม้ช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมามีการพูดกันอย่างกว้างขวางถึงเรื่องการร่างระบบการเงินของโลกเสียใหม่ ซึ่งจะเป็น ‘เบรตตันวูดส์ 2’ เพื่อเข้าแทนที่สนธิสัญญาแบรตตันวูดส์ อันนานาชาติทำกันไว้ในช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง และกลายเป็นรากฐานของระบบการเงินโลกตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้ ทว่าแถลงการณ์สุดท้ายกลับยืนยันเพียงว่าจะดำเนินการปฏิรูปสถาบันเบรตตันวูดส์ต่อไป
ทั้งนี้ ผู้นำจี20 มอบหมายให้บรรดารัฐมนตรีคลังไปร่างชุดมาตรการเสนอแนะ โดยให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคมศกหน้า ก่อนการประชุมระดับผู้นำครั้งต่อไป โดยจะมุ่งเน้นใน 6 ด้าน ได้แก่ กำหนดระเบียบควบคุมตลาดการเงินที่เป็นตัวทำให้วิกฤตลุกลาม, ตั้งคณะผู้ตรวจสอบธนาคารยักษ์ใหญ่, ส่งเสริมความโปร่งใสและการปฏิรูปแนวทางการตอบแทนผู้บริหารสถาบันการเงิน, ประเมินบรรทัดฐานโลกและเงินทุนที่จำเป็นสำหรับสถาบันการเงินระหว่างประเทศ, สร้างมาตรฐานใหม่สำหรับบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ, และการร่างรายชื่อสถาบันการเงินที่หากล้มละลายจะส่งผลเสียหายใหญ่หลวงต่อระบบการเงินโลก
บุชกล่าวว่า กลุ่มผู้นำเห็นพ้องว่าทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก สองสถาบันการเงินระหว่างประเทศสำคัญที่เกิดขึ้นในปี 1944 ในเบรตตันวูดส์ ควรได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย
กระนั้น แถลงการณ์สุดท้ายไม่มีการพาดพิงถึงการตั้งคณะกรรมการควบคุมตลาดการเงินระดับโลก ตามที่บางชาติของยุโรปและประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่เรียกร้อง แต่ถูกคัดค้านจากสหรัฐฯ
“กฎระเบียบเป็นความรับผิดชอบของผู้คุมกฎในแต่ละประเทศเป็นอันดับแรก โดยผู้คุมกฎจะต้องเป็นแนวป้องกันด่านแรกต่อความไร้เสถียรภาพในตลาด” แถลงการณ์ของผู้นำจี20 ระบุ
นอกจากนี้ ยังไม่มีการอ้างอิงถึงมาตรการที่ภาครัฐของประเทศต่างๆ จะร่วมมือประสานงานกันดำเนินการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามที่อังกฤษเสนอ แต่กล่าวเพียงว่าบรรดาผู้นำจะใช้มาตรการทางการคลังต่างๆ เพื่อกระตุ้นดีมานด์ภายในประเทศให้เกิดผลโดยเร็ว ซึ่งนายกรัฐมนตีกอร์ดอน บราวน์ของอังกฤษ แถลงภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคราวนี้ว่า เชื่อว่าในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ประเทศต่างๆ จะทยอยประกาศมาตรการเหล่านี้ออกมา โดยบางประเทศอาจจะอยู่ในรูปของการใช้งบประมาณกระตุ้นการใช้จ่าย และบางประเทศอยู่ในรูปของการลดภาษี
จากการที่การแสวงหาความร่วมมือจากนานาชาติเพื่อแก้ไขวิกฤตการเงินและเศรษฐกิจคราวนี้ ต้องใช้การประชุมจี20 แทนที่จะเป็นกลุ่มประเทศร่ำรวย 7 ชาติ (จี7) เหมือนที่ผ่านมา ก็เป็นการสะท้อนถึงความสำคัญของประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่และบทบาทที่เพิ่มมากขึ้นของพวกเขาในเศรษฐกิจโลก
นอกจากนั้น ที่ประชุมจี20 ยังเห็นพ้องให้เพิ่มที่นั่งให้กับประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ในที่ประชุมเสถียรภาพการเงิน (เอฟเอสเอฟ) ขณะที่เอฟเอสเอฟยังได้รับมอบหมายให้มีบทบาทมากขึ้นในการกำหนดนโยบายและมาตรฐานการเงินโลก ที่ผู้คุมกฎของชาติต่างๆ ต้องนำไปปฏิบัติ
ในระยะกลาง ชาติกำลังพัฒนาก็จะมีสิทธิเสียงเพิ่มขึ้นในไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก
ปัจจุบัน ตะวันตกต้องใช้เงินตัวเองในการอุ้มแบงก์ โดยที่นายกฯบราวน์ของอังกฤษ พยายามล็อบบี้ชาติส่งออกสำคัญ เช่น จีน และซาอุดีอาระเบีย ให้ช่วยเหลือ ขณะที่ญี่ปุ่นก็หวังว่าจีนจะร่วมสมทบทุนให้แก่ไอเอ็มเอฟเช่นเดียวกับตน อย่างไรก็ดี อิบราฮิม อัล-อัสซาฟ ขุนคลังริยาดห์ ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมว่า ซาอุดีฯ ไม่มีแผนอัดฉีดเงินเพิ่มให้ไอเอ็มเอฟในขณะนี้
แม้การประชุมซัมมิตคราวนี้ สามารถเห็นพ้องมีฉันทามติกันสำหรับแนวคิดกว้างๆ โดยเห็นได้จากเนื้อหาของแถลงการณ์ร่วม ทว่าก็มีหลายฝ่ายแสดงความผิดหวังที่ยังไม่สามารถตกลงกันเป็นรายละเอียดรูปธรรมมากกว่านี้
ขณะเดียวกัน หลายฝ่ายยังรู้สึกว่าการประชุมระดับผู้นำคราวนี้ ต้องถือว่ากร่อยไปถนัดใจเพราะขาดบารัค โอบามา ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทั้งนี้ โอบามาแสดงท่าทียืนยันว่า ในแต่ละช่วงเวลา สหรัฐฯจะต้องมีประธานาธิบดีเพียงคนเดียว และเขาจะเข้าดำรงตำแหน่งก็ต่อเมื่อถึงวันที่ 20 มกราคมปีหน้า
แม้ไม่ได้เข้าประชุมด้วยตัวเอง อีกทั้งไม่ได้พบปะกับผู้นำของชาติต่างๆ ที่มาประชุมด้วยตนเอง แต่โอบามาก็ใช้วิธีแต่งตั้งตัวแทน 2 คน นั่นคือมาเดลีน อัลไบรท์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศที่เป็นฝ่ายพรรคเดโมแครต และจิม ลีช อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอาวุโสจากพรรครีพับลิกัน เข้าสังเกตการณ์การประชุมคราวนี้ตลอดจนพบปะกับผู้แทนของประเทศต่างๆ ในฐานะตัวแทนของโอบามา โดยที่อัลไบรท์และลีชได้ออกคำแถลงระบุว่า โอบามาสนับสนุนมาตรการรับมือวิกฤตการเงินโลกร่วมกันของนานาชาติ และพร้อมทำงานร่วมกับชาติสมาชิกในการปรับปรุงระบบการเงินเมื่อเข้ารับตำแหน่งต้นปีหน้า
ซัมมิตครั้งนี้ซึ่งเป็นที่นัดพบของผู้นำจากประเทศอุตสาหกรรม ตลอดจนถึงชาติตลาดเกิดใหม่สำคัญอย่างบราซิล จีน อินเดีย และรัสเซีย ยังมีข้อสรุปว่าจะฟื้นการเจรจาขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ภายในสิ้นปีนี้ หลังจากที่ความพยายามล่าสุดในการบรรลุข้อตกลงเพื่อกระตุ้นการค้าโลกโดยการลดอุปสรรคการค้า ล้มเหลวลงในการประชุมที่เจนีวาเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น