xs
xsm
sm
md
lg

เอเชียคาดหวังมีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้น ในระบบการเงินโลกที่จะตั้งขึ้นใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - บรรดาผู้นำเอเชียจะใช้โอกาสการจัดประชุมซัมมิตทั่วโลกครั้งแรกเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการเงินในเวลานี้ ผลักดันเรียกร้องให้ภูมิภาคของพวกเขามีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้น ในระบบการเงินระหว่างประเทศใดๆ ก็ตามที่จะจัดตั้งกันขึ้นมาใหม่ในอนาคต

บรรดาผู้เชี่ยวชาญหลายรายชี้ว่า ขณะที่ยุโรปกับสหรัฐฯกำลังประลองกำลังกัน เพื่อแสดงบทบาทความเป็นผู้นำของพวกเขา ในการจัดทำระบบการเงินระหว่างประเทศขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในการประชุมระดับผู้นำกลุ่ม จี20 วันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ ณ กรุงวอชิงตัน ทางพวกผู้นำเอเชียก็รู้สึกว่าพวกเขามีส่วนได้ส่วนเสียอย่างมากไม่แพ้พวกประเทศอุตสาหกรรม ในเรื่องการรักษาเสถียรภาพของการเงินโลก

"คำถามใหญ่จึงอยู่ที่ว่า คุณจะปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศเสียใหม่อย่างไร จึงจะทำให้พวกประเทศอย่างเช่นอินเดียและจีน รู้สึกว่าพวกเขาไม่เพียงมีส่วนอยู่ด้วยเท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลจริงๆ อีกด้วย" เอสวาร์ ปราสาด อดีตผู้อำนวยการแผนกจีน ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ให้ความเห็น

ไอเอ็มเอฟตลอดจนธนาคารโลก ซึ่งเป็น 2 สถาบันสำคัญทำหน้าที่กำกับดูแลระบบการเงินระหว่างประเทศ ได้รับการก่อตั้งขึ้นจากข้อตกลงแบรดตัน วูดส์ ในช่วงใกล้ยุติสงครามโลกครั้งที่สอง และในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา มักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า กำลังเป็นตัวแทนของเศรษฐกิจโลกน้อยลงเรื่อยๆ เนื่องจากโครงสร้างของการออกเสียง ยังคงเอื้ออำนวยพวกประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐฯกับยุโรป ทั้งๆ ที่ปัจจุบันประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะทางเอเชีย กำลังมีบทบาทในทางระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้นทุกทีแล้ว

"สำหรับสถาปัตยกรรมของระบบการเงินระหว่างประเทศแล้ว ผมคิดจริงๆ ว่า จะต้องมีการตั้งคำถามในเรื่องการมีสิทธิมีเสียงมากเกินไป โดยเฉพาะในกรณีของยุโรป และในบางระดับสำหรับสหรัฐฯด้วย ขณะเดียวกันก็มีปัญหาการมีสิทธิมีเสียงน้อยเกินไปของพวกประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งจำนวนมากทีเดียวอยู่ในเอเชีย" เป็นความเห็นของ นิโคลัส ลาร์ดี แห่งสถาบันปีเตอร์สันเพื่อเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน

ลาร์ดีกล่าวต่อไปว่า ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงในขั้นพื้นฐานกันจริงๆ บ้างแล้ว องค์การอย่างไอเอ็มเอฟก็ยากที่จะยังคงเป็นองค์การระหว่างประเทศที่มีความหมายและรับมือกับปัญหาในปัจจุบันได้ พร้อมกับชี้ว่า แม้พวกชาติสมาชิกไอเอ็มเอฟมีมติรับรองการปฏิรูปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เพื่อให้ประเทศพัฒนาแล้วจำนวนหนึ่งมีสิทธิลงคะแนนเสียงลดลงนิดหน่อย และไปเพิ่มให้พวกประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา ทว่า "พวกเขายังคงกำลังเคลื่อนไหวด้วยฝีก้าวของหอยทากอยู่นั่นเอง"

ปราสาด ซึ่งเวลานี้ทำงานอยู่กับสถาบันบรูคกิงส์ ในกรุงวอชิงตัน กล่าวสำทับว่า สิ่งที่ประเทศอย่างจีนและอินเดียมีความกังวลใจก็คือ ในสถาบันอย่างเช่นไอเอ็มเอฟนั้น พวกเขาคงไม่สามารถมีสิทธิมีเสียงทัดเทียมพวกประเทศพัฒนาแล้วได้ "ดังนั้น คุณจะแก้ไขเรื่องความไม่สมดุลเช่นนี้ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ความรับรู้ที่ว่ามีความไม่สมดุลเช่นนี้กันอย่างไร จึงกำลังเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง" เขาบอก

ไม่ว่าจะมีการปฏิรูปในเรื่องนี้หรือไม่ก็ตาม วิกฤตการเงินในปัจจุบันก็กำลังทำให้เกิดการคาดเดากันอย่างกว้างขวางว่ากำลังมีการเปลี่ยนแปลงดุลแห่งอำนาจ โดยที่สหรัฐฯและประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ ในยุโรปกำลังเป็นฝ่ายสูญเสีย ขณะที่พวกประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่รายใหญ่ๆ กำลังมีอำนาจเพิ่มขึ้น นี่เป็นความเห็นของ ซาบินา เดวัน แห่ง ศูนย์กลางเพื่อความก้าวหน้าของอเมริกัน ในกรุงวอชิงตัน

"เรื่องนี้จะเป็นความจริงหรือไม่ยังจะต้องติดตามกันต่อไป แต่ว่าเรื่องที่เศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่อย่างเช่นจีนและอินเดีย กำลังกลายเป็นผู้เล่นสำคัญยิ่งยวดในเกมเศรษฐกิจโลกนั้น เป็นสิ่งที่เห็นกันชัดเจนแล้ว" เธอบอก
กำลังโหลดความคิดเห็น