เอเอฟพี - ประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซี แห่งฝรั่งเศสจะเสนอขอความร่วมมือจากกลุ่มประเทศในเอเชียในการฟื้นฟูระบบการเงินโลก ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียและยุโรป หรืออาเซม เป็นเวลา 2 วันในกรุงปักกิ่งซึ่งจะเริ่มในวันศุกร์ (24) นี้
การประชุมสุดยอดอาเซม (ASEM) ซึ่งประกอบด้วยผู้นำประเทศต่าง ๆ จากยุโรปและเอเชีย รวม 43 ประเทศ กำหนดมีขึ้นทุก 2 ปี และการประชุมที่กรุงปักกิ่งปีนี้ นับเป็นโอกาสแรกที่กลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียจะได้หารือกันอย่างเป็นกลุ่มก้อนเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ทางการเงิน
ประธานาธิบดีซาร์โกซี ในฐานะผู้นำฝรั่งเศสซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานสหภาพยุโรป หรืออียู ในขณะนี้ได้ประกาศชัดเจนว่า เขาจะใช้โอกาสนี้ขอความสนับสนุนจากกลุ่มประเทศเอเชียในการปรับโครงสร้างระบบการเงินโลก
ประธานาธิบดีฝรั่งเศส แถลงเมื่อวันอังคารว่า เขาจะใช้ที่ประชุมอาเซมเป็นเวทีเจรจาโน้มน้าวให้ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในเอเชีย โดยเฉพาะจีนและอินเดีย เข้ามีส่วนร่วมในการปฏิรูปโครงสร้างระบบการเงินโลก
ซาร์โกซีมีเป้าหมายจะผลักดันให้จีนและอินเดียเข้าร่วมในการประชุมสุดยอดผู้นำโลกหลายๆ รอบเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งจะเริ่มรอบแรกในสหรัฐฯช่วงต้นเดือนหน้า ท่ามกลางความคาดหมายว่า แผนการปฏิรูประบบการเงินโลกของเขาจะต้องเผชิญกับแรงต้านจากสหรัฐฯ
อินเดียแถลงออกมาแล้วว่า พร้อมที่จะเข้าร่วมการประชุมซัมมิตทางเศรษฐกิจของโลก ขณะที่จีนยังแถลงเพียงว่ามีความประสงค์ที่จะเข้ามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งนี้เช่นเดียวกัน แต่คาดว่าจะประกาศการตัดสินใจอย่างเป็นทางการเรื่องการเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำโลกในเร็ว ๆ นี้
ผู้นำฝรั่งเศสกำลังรณรงค์เรียกร้องให้รื้อโครงสร้างระบบ เบร็ตตัน วูดส์ อย่างขนานใหญ่ เนื่องจากระบบดังกล่าวถูกใช้เป็นกรอบควบคุมระบบการเงินโลกมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และล้าสมัยเกินไปแล้ว ทั้งนี้เขาเสนอให้สร้างระบบใหม่ที่เชื่อว่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่าขึ้นมาแทนที่
ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุชของสหรัฐ กลับเน้นย้ำถึงความสำคัญในการรักษาไว้ซึ่ง "รากฐานของทุนนิยมประชาธิปไตย อันประกอบด้วยระบบตลาดเสรี วิสาหกิจเสรี และการค้าเสรี"
สำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซมที่ปักกิ่งคราวนี้ เจ้าหน้าที่หลายราย กล่าวว่า นอกเหนือจากประเด็นวิกฤตการณ์ทางการเงินแล้ว ที่ประชุมยังจะหารือกันถึงปัญหาระหว่างประเทศอื่น ๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญๆ ด้วย อาทิ ปัญหาภาวะโลกร้อน ปัญหาความมั่นคงด้านพลังงานและอาหาร เป็นต้น แต่หลายฝ่ายเห็นพ้องกันว่าปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเงินจะเป็นหัวข้อสำคัญอันดับแรก เนื่องจากเป็นปัญหาเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หรือเกรท ดีเพรสชั่น ในช่วงทศวรรษหลังปี 1930 เป็นต้นมา
ประเทศสมาชิกอาเซม 43 ประเทศรวมกันแล้ว จะมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีโลก เจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายยุโรปกล่าวว่า เอเชียและยุโรปมีปัญหาหลายอย่างที่คล้ายคลึงกัน
เซอร์เก อาบู เอกอัครราชทูตอียูประจำกรุงปักกิ่ง กล่าวว่า ทั้งเอเชียและยุโรปต่างก็เป็นประเทศผู้นำเข้าพลังงาน และได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเงินเหมือนๆ กัน รวมทั้งต่างก็มีความวิตกกังวลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่น้อยไปกว่ากัน
อย่างไรก็ตาม คาดกันว่าถึงแม้ประธานาธิบดีซาร์โกซีจะพยายามโน้มน้าวให้ผู้นำเอเชียสนับสนุนแผนการปฏิรูปโครงสร้างระบบการเงินโลกของเขาอย่างสุดความสามารถในการประชุมสุดยอดอาเซมครั้งนี้ แต่ก็คงยากที่จะบรรลุข้อตกลงใดๆ กันได้อย่างเป็นรูปธรรม