xs
xsm
sm
md
lg

“ไม่ชัวร์” มาตรการกู้วิกฤตการเงิน แม้ผู้นำเอเชีย-ยุโรปผลักดันขึงขัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - ผู้นำเอเชียและยุโรปพยายามเต็มที่ในการแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว เพื่อต่อสู้วิกฤตเศรษฐกิจโลก แต่นักวิเคราะห์ยังสงสัยว่า ความพยายามดังกล่าวจะแปรเปลี่ยนเป็นมาตรการที่เป็นรูปธรรมและรวดเร็วตามที่อวดอ้างได้หรือไม่

ภายหลังการหารือนาน 2 วันในกรุงปักกิ่ง ผู้นำจากกว่า 40 ประเทศของเอเชียและยุโรปประกาศในวันเสาร์ (25) ว่า จะปรับปรุงระบบการเงินโลกอย่างทั่วด้าน โดยจะต้องมีการประกาศมาตรการรูปธรรมในระหว่างการประชุมซัมมิตฉุกเฉินของกลุ่ม จี 20 ที่วอชิงตันกลางเดือนหน้า

ดูเหมือนว่าแถลงการณ์อันชัดเจนจากการประชุมเอเชีย-ยุโรป (อาเซม) จะถือเป็นชัยชนะของประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซี ของฝรั่งเศส ที่ประกาศเอาไว้ว่าเป้าหมายของตนในปักกิ่ง คือ การเรียกร้องให้เอเชียสนับสนุนแผนการปฏิรูปการเงินครั้งใหญ่

ซาร์โกซีกำลังมุ่งมั่นปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโลก โดยเรียกร้องให้จัดวางโครงสร้างที่จะกำกับดูแลระบบการเงินระหว่างประเทศกันใหม่ เพื่อเข้าแทนที่ระบบเบรตตัน วูดส์ ที่ใช้กันมานับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งนี้ กระบวนการปรับโครงสร้างเช่นนี้ จะเริ่มต้นในการประชุมสุดยอด จี 20 ที่วอชิงตัน

“ข้อเท็จจริงที่ว่าผู้นำทั้งหมดของเอเชียเห็นด้วยกับหลักการที่เรานำเสนอในที่ประชุม ถือเป็นตัวบ่งชี้ความเป็นไปได้ที่หลักการนี้จะได้รับฉันทามติ” โฆเซ มานูเอล บาร์โรโซ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวกับเอเอฟพีภายหลังการประชุมอาเซมที่ปักกิ่ง

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์บางคน มองว่า แถลงการณ์ที่ออกมาจากที่ประชุมอาเซมดูจะเป็นการพยายามแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวเพื่อบรรเทาความกังวลขณะที่วิกฤตการเงินโลกรุนแรงลุกลามมากขึ้น แต่กลับไม่มีการเสนอแผนการจริงจังแต่อย่างใด

มาร์ก วิลเลียมส์ นักเศรษฐศาสตร์จากแคปิตอล อิโคโนมิกส์ บริษัทที่ปรึกษาด้านการวิจัยในลอนดอน บอกว่า ไม่แน่ใจว่าซัมมิตที่วอชิงตันในอีกไม่กี่สัปดาห์หน้าจะมีมาตรการเพิ่มเติมใดๆ ออกมา

การประชุมฉุกเฉินที่วอชิงตันในวันที่ 15 เดือนหน้าจะเป็นการพบกันระหว่างประเทศอุตสาหกรรมใหญ่ที่สุดและประเทศกำลังพัฒนา 20 ประเทศ เพื่อหาวิธีหยุดยั้งการล่มสลายทางการเงินครั้งร้ายแรงที่สุดนับจากมหาวิกฤตในทศวรรษ 1930

ขณะที่ ซาร์โกซี และผู้นำอีกหลายคนในยุโรปกำลังมองหาวิธีปรับโครงสร้างระบบการเงินโดยรวมด้วยกฎระเบียบที่มีขอบเขตควบคุมกว้างกว่าเดิม ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุชของสหรัฐฯ กลับยืนกรานว่าระบบตลาดเสรีจะต้องคงอยู่ต่อไป

“ขณะที่เรามุ่งเน้นการตอบสนองความท้าทายระยะสั้น ประเทศของเราทั้งหลายจะต้องยึดมั่นในพื้นฐานการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาว นั่นคือตลาดเสรี ธุรกิจเสรี และการค้าเสรี” ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวย้ำเมื่อวันเสาร์ (25)

แถลงการณ์ร่วมของที่ประชุมสุดยอดอาเซมดูจะแสดงให้เห็นว่า ผู้นำเอเชียเริ่มโน้มเอียงมาทางข้อเสนอของซาร์โกซี จากการประกาศดำเนินมาตรการปฏิรูประบบการเงินและการคลังระหว่างประเทศอย่างทั่วด้านและมีประสิทธิภาพ

นายกรัฐมนตรีเวินเจียเป่าของจีนยังกล่าวว่า ต้องการเห็นกฎระเบียบที่เข้มแข็งขึ้นในระบบการเงิน

กระนั้น ไมเคิล เพตทิส ศาสตราจารย์ด้านการเงินชาวอเมริกันในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ให้ความเห็นว่า ยักษ์เอเชีย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ไม่มีแนวโน้มว่าจะยอมยกอำนาจสูงสุดให้แก่องค์กรระหว่างประเทศ

และแม้ เวินเรียกร้องให้มีกฎระเบียบในระบบการเงินที่เข้มงวดขึ้น เพตทิสกลับชี้ว่า จีนลังเลอย่างยิ่งที่จะมอบอำนาจสูงสุดให้แก่กรอบโครงระหว่างประเทศ

โจเซฟ เฉิง ศาสตราจารย์รัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย ซิตี้ ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ ฮ่องกง เสริมว่า ประเทศเอเชียอาจให้สัญญาในการปฏิรูประบบการเงินครั้งใหญ่อย่างรวดเร็ว แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะมุ่งผลักดันเรื่องนี้อย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เมื่ออยู่ในที่ประชุมในกรุงวอชิงตัน

“จีนสนับสนุนการปฏิรูปในหลักการ แต่ญี่ปุ่นต้องระวังที่จะไม่แสดงการต่อต้านสหรัฐฯ สำหรับอาเซียนยังไม่แสดงท่าทีที่แน่นอนออกมา” ศาสตราจารย์ผู้นี้ชี้
กำลังโหลดความคิดเห็น