xs
xsm
sm
md
lg

พิษหุ้นจ่อเชือด ‘สมชาย’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - นักวิชาการอิสระ หอบหลักฐานมอบอนุฯสอบของ กกต.เพิ่มเติม เพื่อมัด สมชาย ถือหุ้นบริษัทที่เป็นคู่สัญญาสัมมปทานของรัฐ อันขัดต่อ รธน. สงผลให้ขาดคุณสมบัติการเป็นนายกฯ เผยข้อมูลชัดเจนกว่ากรณี สมัคร คาดส่ง กกต.ชุดใหญ่ชี้ขาดสัปดาห์หน้า ขณะที่ ส.ว.เตรียมยื่น ป.ป.ช.และสภาทนายความ เอาผิด สมชาย สั่งฆ่าปชช. ในเหตุการณ์ 7ตุลาเลือด ขณะที่ มาเลเซีย ให้แค่ ทักษิณ ผ่านไปยังประเทศอื่น แต่หากจะขอลี้ภัยต้องหารือหนัก ส่วนปลัดฯกลาโหม ห่วง แม้ว โฟนอินสร้างปัญหาไม่จบ หวังเจ้าตัวคิดได้ ยันกองทัพพร้อมหาทางออก หากเกิดทางตัน ปธ.วุฒิฯ หนุนสานเสวนา แต่ห่วงรัฐบาลดันแก้ รธน.และนิรโทษกรรม จะเป็นชนวนไปสู่ความรุนแรง หมอวันชัย เตรียมถกนายกฯอีกรอบ หลังรับปากหนุนแต่กลับส่งซิกแก้ รธน.

ที่อาคารศรีจุลทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต.) วานนี้ (12 พ.ย.) นายสมคิด หอมเนตร พร้อมด้วยนายวัลลภ จันดาเป้า นักวิชาการอิสร เข้าชี้แจงเพิ่มเติมต่อคณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวน ของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กรณีร้องเรียนว่า นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ถือหุ้นในบริษัทที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานของรัฐ จนทำให้คุณสมบัติขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 265 267 และ มาตรา 106 ( 6 ) อันเป็นเหตุให้ความเป็นนายกสิ้นสุดลง ตามมาตรา 171 วรรค 2 ประกอบมาตรา 48 โดยใช้เวลาในการชี้แจงนานกว่า 3 ชั่วโมง
นายสมคิด กล่าวภายหลังการชี้แจงว่า วันนี้ตนได้นำเอกสารทางราชการที่ระบุชัดเจนว่า นายสมชายถือหุ้นอยู่ในบริษัทและเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐอย่างชัดเชน อีกทั้งกรณีดังกล่าวชัดเจนกว่ากรณี นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ไปจัดรายการ ชิมไปบ่นไป เสียอีก จึงไม่ต้องส่งให้องค์กรใดตีความเรื่องคุณสมบัติอย่างแน่นอน
ส่วนอนุกรรมการชุดดังกล่าวจะเรียกนายสมชาย มาชี้แจงหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ แต่อาจจะไม่เรียกมาชี้แจง เพราะสำนวนดังกล่าวนั้นมีความสมบูรณ์ชัดเจน และเท่าที่ทราบที่ผ่านมาทางอนุกรรมการได้เรียกเอกสาร จากหน่อยงานของรัฐที่เป็นคู่สัญญากับบริษัทที่นายสมชายถือหุ้นอยู่มารวมไว้ในสำนวนเรียนร้อยแล้ว ซึ่งคาดว่า อนุกรรมการชุดดังกล่าว น่าจะสรุปสำนวนดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ กกต.ในสัปดาห์หน้า
ผมเชื่อว่า อนุกรรมการคงไม่ขยายเวลาสอบสวนออกไปอีกแล้ว เพราะที่ผ่านมา ใช้เวลาในการดำเนินการสอบสวนไปกว่า 45 วัน และเท่าที่สอบถามหลักฐานที่ อนุกรรมการรวบรวมนั้นก็ครบถ้วนสมบูรณ์ ประกอบกับหลักฐานที่ผมนำมา ให้เพิ่มเติมนั้นก็เป็นปัจจุบันที่สุด และเอกสารยังระบุชื่อนายสมชายว่าถือหุ้นอยู่ อีกทั้งสำนวนทั้งหมดนั้นจะไปรวมกับสำนวนของคำร้องของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนา ส.ว.สรรหา จึงน่าจะสมบูรณ์ชัดเจน

เผยเอกสารมัดสมชาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเอกสารที่นายสมคิด หอมเนตร ได้นำมามอบให้กับทางอนุกรมการสืบสวนสอบสวนนั้นระบุว่า นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้รายงานบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สินต่อ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 22 ม.ค.โดยรายงานบัญชี (ลับ) เข้ารับตำแหน่ง สำเนาคู่ฉบับ หน้าที่ 4 ข้อที่ 8 สิทธิและสัมปทาน นายสมชาย ได้แจ้งว่า ........ คือว่างเปล่า ไม่ได้ถือหุ้นและสัมปทาน จากรัฐใดใด แต่ในแบบฟอร์มการรายงานหน้าที่ 6 ( 3 ) ที่เกี่ยวกับ เงินทุน ลำดับที่ 1 ชื่อหลักทรัพย์พันธบัตร นายสมชาย ในฐานะส.ส. และรัฐมนตรี ได้ถือหุ้นจำนวน 10,000 หุ้น ในบริษัท ซี เอส ล๊อกซ์อินโฟ จำกัด (มหาชน) และประสงค์รับผลประโยชน์มูลค่า 346,000 บาท เป็นการรับผลประโยชน์อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ บริษัท ซี เอส ล๊อกซ์อินโฟฯ นั้น มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือกลุ่มตระกูล วงศ์สวัสดิ์ โดยเฉพาะนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ในฐานะคู่สมรสของนายสมชาย นอกจากนี้ บริษัท ซี เอส ล๊อกซ์อินโฟฯได้เป็นคู่สัญญาสัมปทานของรัฐ โดยเข้าทำการ ลงทุนในบริษัท เทเลอินโฟ มีเดีย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ทศท คอร์เปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) อีกทั้งบริษัท ซี เอส ล๊อกซ์อินโฟฯยังเป็นคู่สัญญาสัมปทานกับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) (กสท.) เพื่ออนุญาตให้บริษัท สามารรับส่งสัญญาณโทรศัพท์ และสัญญาณบริการอินเตอร์เน็ต ผ่านดาวเทียม เป็นระยะเวลา 22 ปี
เอกสารระบุว่า กรณีไปเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่ได้รับสัมปทาน หรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าวไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม ในบริษัท ซี เอส ล๊อกซ์อินโฟฯ ซึ่งถือเป็นบริษัทที่มีลักษณะรับสัมปทานจากรัฐ อันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน เข้าข่าวลักษณะต้องห้ามตาม มาตรา 265(2) ,267, 268, 269 ประกอบมาตรา 100 พ.ร.บ.ป.ป.ช. จะมีผลทำให้สมาชิกภาพของนาย สมชาย สิ้นสุดลงตามมาตรา 106 (6) และจะมีผลกระทบต่อคุณสมบัติการเป็นนายกฯ ตามมาตรา 171 วรรคสอง

ชายแค้นต้องปีนรั้วหนีจึงสั่งปราบ
วันเดียวกัน นายไพบูลย์ นิติตะวัน และ นายตวง อันทไชย ส.ว.สรรหา ในฐานะผู้แทนคณะกรรมาธิการร่วมตรวจสอบเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ร่วมกันแถลงข่าวว่า จากการที่ได้รับข้อมูลจากอนุกรรมาธิการสอบสวนเหตุการณ์การสลาย การชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นการ ให้ปากคำของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ระบุว่านายกฯ ได้มอบหมายให้ พล.อ.ชวลิต รับผิดชอบสลายการชุมนุม แต่ได้เกิดความรุนแรงขึ้น ในช่วงเช้า พล.อ.ชวลิต ได้โทรไปลาออก แต่ยังมีการสลายการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้นทางกลุ่มจึงเห็นว่า เป็นความรับผิดชอบของนายสมชาย เนื่องจาก นายสมชาย ซึ่งติดอยู่ในสภาได้ปีนรั้วหนีออกไป เมื่อเวลา 13.00 น. พร้อม บุตรสาว และไปถึงกองบัญชาการทหารสูงสุด ในเวลา 15.15 น. กลุ่ม ส.ว. จึงเชื่อว่านายสมชาย มีความโกรธแค้น จึงได้มีการสั่งการเพิ่มกำลังให้สลายผู้ชุมนุมให้หมด โดยในเวลา 15.30 น. กำลังตำรวจ 3 พันนาย เริ่มตั้งแถวสลายการชุมนุม และระดมยิงระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุมตั้งแต่เวลา 16.00 น.-23.00 น. จนมีผู้บาดเจ็บหลายราย และเสียชีวิต 1 ราย

ยื่นป.ป.ช.เอาผิดชายสั่งฆ่าปชช.
นายไพบูลย์ กล่าวว่ากลุ่ม 40 ส.ว. เห็นว่านายกฯคงเห็นว่าการใช้กำลังสลาย การชุมนุมจะทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งเป็นการกระทำที่คิดเห็นผลไว้ก่อน ดังนั้นจึงมองว่าอาจมีความผิดฐานสั่งฆ่าประชาชนได้หรือไม่ ดังนั้นกลุ่ม 40 ส.ว. จึงเตรียมยื่นหนังสือเพื่อมอบข้อมูลของคณะกรรมาธิการร่วมตรวจสอบฯให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสภาทนายความ ให้เอาผิดต่อนายกฯ ภายในสัปดาห์หน้า รวมทั้งให้สังคมทุกภาคส่วนช่วยกันเรียกร้องให้นายสมชาย แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก โดยจะยื่นให้ ป.ป.ช.ภายในสัปดาห์หน้า
ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.อ.ชวลิต มาชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการของคณะกรรมการสิทธิฯ เมื่อใด นายไพบูลย์ กล่าวว่า คณะอนุกรรมการได้ไปขอสอบปากคำ ที่บ้าน ซึ่งในการสอบปากคำไม่ได้ลงรายละเอียดว่าใครเป็นผู้สั่งการสลายการชุมนุม แต่จากข้อมูลที่ พล.อ.ชวลิต ได้ลาออกตั้งแต่เวลา 12.00 น. แสดงว่าการสั่งการหลังจากนั้นน่าจะดำเนินการโดยนายกรัฐมนตรี
ส่วนเหตุผลที่กลุ่ม ส.ว.จึงเชื่อว่านายสมชายโกรธแค้นผู้ชุมนุมนั้น นายไพบูลย์ กล่าวว่า เป็นกระบวนการเชื่อมโยง เนื่องจากนายสมชายต้องปีนรั้วหนีพร้อมบุตรสาว ประกอบกับพฤติกรรมการสลายการชุมนุมรุนแรงขึ้น หลังจากนายสมชายออกจากรัฐสภาไปแล้ว ทั้งนี้ ส.ว.ได้ใช้เงื่อนเวลาพิจารณาเหตุการณ์ จึงเห็นความเป็นไปได้ว่า เกิดจากความไม่พอใจ

สมศักดิ์ปัดยื้อคดีสมชาย
นาย สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ รมว.วัฒนธรรม กล่าวถึงกรณีป.ป.ช. ได้ส่งเรื่อง ชี้มูลความผิดทางวินัยร้ายแรงนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี สมัยที่ดำรง ตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรมให้ดำเนินการว่าตนยังไม่เห็นเรื่องและไม่รู้ทำไม ถึงล่าช้า แต่ถ้าเรื่องมาก็จะปฏิบัติตามระเบียบกฎหมาย และเอาไว้เรื่องมาก่อน ถึงค่อยมาคุยกัน
ส่วนกรณีที่พ.ต.ท.ทักษิณจะโฟนอินเข้ารายการความจริงวันนี้อีกถือเป็น ความผิดหรือไม่นั้น ไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวง
ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้กรณีอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ได้เสนอ ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมมาหรือยัง นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ยังไม่เห็นเรื่องดังกล่าว มีแต่การคุยกันใน ส.ส.อีสาน แต่คิดว่า เรื่องนี้ไม่น่ามีอะไร เพราะเป็นความเห็นส่วนตัว

มาเลย์ให้แค่แม้วผ่านประเทศ
สำหรับความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มีข่าวว่าออกเดินทางจาก สาธารณรัฐประชาชนจีนแล้วนั้น ล่าสุด สำนักงานเอเอฟพี และ เดอะสตาร์ออนไลน์ รายงานว่ามาเลเซียไม่คัดค้านหาก พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งถูกทางการอังกฤษยกเลิกวีซ่า ต้องการอาศัยดินแดนเป็นทางผ่านเพื่อเดินทางต่อไปยังที่อื่น แต่สำหรับการขอลี้ภัยนั้นจะต้องมีการพิจารณาเสียก่อน ซึ่งเป็นคำให้สัมภาษณ์ของ นายราอิส ยาติม รมว.ต่างประเทศมาเลเซีย
ราอิส ให้สัมภาษณ์ว่า มาเลเซียจะไม่แสดงท่าทีอคติกับทักษิณ ซึ่งกำลังถูกดำเนินคดีในข้อหาคอร์รัปชัน เว็บไซต์เดอะสตาร์ออนไลน์ รายงาน
ทางมาเลเซียไม่คัดค้านหากทักษิณต้องการเดินทางผ่านมาเลเซีย แต่ถ้าอดีตผู้นำต้องการพำนักอยู่ที่นี่ ภายหลังเดินทางออกจากอังกฤษ ก็จำเป็นต้อง มีการตรวจสอบคุณสมบัติกันก่อน
อย่างไรก็ตาม รมต.ผู้นี้ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดว่า อดีตนายกฯ ทักษิณ ได้ยื่นเรื่องขอเดินทางผ่านหรือขอลี้ภัยแล้วหรือยัง
คำแถลงของราอิสมีขึ้น ภายหลังทางการฟิลิปปินส์ออกมาชี้แจงเมื่อวันจันทร์ (10) ว่าจะปฏิเสธคำขอลี้ภัยของทักษิณ ขณะที่สื่อมวลชนประโคมไทยข่าวว่า อดีตนายกฯ ผู้นี้กำลังมุ่งหน้าไปยังฟิลิปปินส์

ปลัดฯกห.เรียกร้องแม้วมาสู้คดี
พล.อ.อภิชาต เพ็ญกิตติ ปลัดกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะโฟนอินเช้ามาเปิดเผยศัตรูทางการเมืองว่า ไม่รู้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ให้สัมภาษณ์ ด้วยอารมณ์อะไร อาจมีความเก็บกดในเรื่องที่ถูกยกเลิกวีซ่าถึงได้ออกมาพูด เช่นนั้น ทั้งนี้เราไม่อยากให้ท่านทำ และ ท่านคงคิดได้ว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นมา แต่คงเป็นเรื่องยากที่จะห้าม เพราะท่านคิดว่าทำแล้วได้ประโยชน์ก็คงห้ามไม่ได้
ผมคิดว่าท่านคงคิดได้ว่าทำแล้วจะเกิดอะไรกับตัวท่าน มันคงจบไม่ง่าย คงเกิดผลกระทบอะไรตามมา แต่คิดว่าคุณทักษิณคงได้เรียนรู้จากการโฟนอินในครั้งแรกแล้ว คิดว่า ประชาชนคงไม่กระตือรือร้นที่จะฟังโฟนอิน ครั้งที่หนึ่ง ครั้งที่สอง ครั้งที่สาม ความจริงท่านควรกลับเข้ามาสู้คดี หากเห็นว่ากระบวนการของเรา มีความไว้วางใจได้ อยากให้ท่านกลับมาพิสูจน์ตัวเอง ที่พูดไม่ได้เข้าข้าง แต่ส่วนตัวเชื่อว่าท่านคงไม่มา เพราะท่านไม่เชื่อกระบวนการยุติธรรม ท่านเลยไม่กลับมา
พล.อ.อภิชาต ไม่เชื่อว่าสถานการณ์ขณะนี้จะถึงทางตัน เราจะพยายาม หาทางออก หาทางแก้ไข ในส่วนของกองทัพคงไม่หมดหนทาง แต่ถ้าถึงทางตันจริงพวกเราก็คงต้องคุยให้หนักยิ่งขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามว่าประเมินสถานการณ์หลังพระราชพิธีถวายเพลิงพระศพ และ วันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธค.จะเกิดความรุนแรง พล.อ.อภิชาต กล่าวว่า ทุกคน ก็ทราบว่า หลังพระราชพิธี และวันที่ 5 ธ.ค. ทุกคนก็คิดว่าน่าจะเกิดความปัญหาความรุนแรง ซึ่งเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วน ทั้ง ตร. และ กอ.รมน.ต้องเข้ามาดูแล เช่นเดียวกับ นายกฯ ท่านก็ต้องดูแลอยู่แล้วเพราะเป็นรมว.กลาโหม

ห่วงปลุกรากหญ้ามองสถาบันในแง่ลบ
ส่วนที่มีความพยายามไปปลุกรากหญ้าให้มองสถาบันในแง่ลบนั้น พล.อ.อภิชาต กล่าวว่า ก่อนหน้านี้สถาบันเป็นสิ่งที่เราคนไทยไม่เคยแตะต้อง หรือดึงท่านลงมาอยู่แล้ว สถาบันเป็นสิ่งที่ยกย่อง เทิดทูน ต้องช่วยกันดูแล ส่วนตัวไม่มีความสุขที่เห็นการดึงสถาบันลงมา ไม่ว่าฝ่ายไหนตำรวจและเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องต้องเข้าไปดูแล
จริงๆ แล้วเราไม่อยากให้มี เราไม่สบายใจอย่างยิ่ง ถ้าเกิดเหตุอย่างนี้ ทำไมประชาชนจึงถูกปลุกเร้าได้ง่าย แต่ผมยังเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังจงรักภักดี ยังเข้าใจพระองค์ท่าน คนไทย 63 ล้านคน ยังจงรักภักดีต่อพระองค์ท่านอย่างเต็มเปี่ยม อาจจะมีบางส่วนที่มองไม่ถูก แต่ผมพูดได้ว่าพระองค์ท่านมีเมตตาสูงมาก สิ่งที่พระองค์ท่านทำมาจากพระเมตตาอย่างแท้จริง ไม่มีจิตใจเป็นอย่างอื่น อยากบอกว่าสถาบันทหารโดยภาพรวมแล้วยังยึดมั่นและเชื่อถือสถาบันอย่างเต็มเปี่ยม จะไม่ยอมให้ใครมาหมิ่นท่าน

ปธ.วุฒิฯหนุนสานเสวนาแก้ขัดแย้ง
วันเดียวกัน นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ ประธานเครือข่ายสานเสวนาเพื่อสันติธรรม เดินทางเข้าหารือกับนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ถึงแนวทางการสานเสวนา เพื่อยุติความรุนแรงจากนั้น น.พ.วันชัย พร้อมด้วยนายประสพร่วมกันแถลงข่าว โดยน.พ.วัยชัย กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่องค์กรหลักอย่างวุฒิสภา ได้ร่วมขับเคลื่อนกับเรา ซึ่งทั้งประธานวุฒิสภา รองประธานวุฒิสภาทั้ง 2 คน และ ส.ว.ทุกคนเห็นด้วยกับแนวทางของกลุ่ม ซึ่งประธานวุฒิได้ฝากประเด็นความห่วงใยถึงเงื่อนไขที่จะสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตั้ง ส.ส.ร.3 รวมถึงกรณีที่จะเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมแก่นักการเมือง ดังนั้นการจัดเวทีสานเสวนาในครั้งต่อๆไปจะเชิญตัวแทนของ ส.ว.มาร่วมแสดงความคิดเห็น พร้อมกันนี้ประธานวุฒิสภาได้รับปากที่จะสนับสนุนการรณรงค์ผ่านสื่อของรัฐสภาทั้งทางวิทยุและโทรทัศน์
ผู้สื่อข่าวถามว่าเท่าที่ได้หารือกับหลายฝ่ายเห็นว่าจุดยุติปัญหาความขัดแย้ง อยู่ที่ไหน นพ.วันชัย กล่าวว่า เท่าที่พูดคุยกับทุกฝ่าย เห็นด้วยกับแนวทางของเรา และขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานเพื่อพูดคุยพบปะกับกลุ่มพันธมิตรฯ แต่อยากฝากสื่อ ในการเสนอข่าวไว้หน่อยว่า คนที่ยกนิ้วก้อยเพื่อเดินเขาไปหาแล้วบอกว่าดีกันนะ ไม่ใช่ คนขี้ขลาดแต่เป็นวิถีของคนกล้าการดำเนินการของเราไม่ใช่ไปเจรจาให้คนที่ถูกลงโทษได้ลดโทษหรือผู้ที่ถูกดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมก็ให้ยุติหรือแบ่งครึ่งหาร 2 แต่ทุกฝ่ายไม่อยากเห็นความรุนแรง ใครจะทำอะไรเราไม่ว่าแต่ขออย่าใช้ความรุนแรง เข้าหากัน ไม่ว่าจะเป็นการปาระเบิดหรือการชี้หน้าด่ากันก็ถือว่าเป็นความรุนแรง ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดประเด็นที่จะเป็นเงื่อนไขนำไปสู่ตรงจุดนั้น ดังนั้นเราต้องทำให้สังคมไทยมองด้วยความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้

ขอถกนายกฯหลังสวนทางสานเสวนา
ผู้สื่อข่าวถามว่าหลังการเข้าพบกับนายกรัฐมนตรี ก็เห็นด้วยกับแนวทาง สานเสวนา แต่ก็ยังคงผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องไปคุยกับนายกฯใหม่ หรือไม่ นพ.วันชัย กล่าวว่า ให้สื่อไปคุยแทนได้หรือไม่ เอาไว้ว่างๆ เราค่อยไปคุย เราบอกสังคมได้แต่เราไม่มีหน้าที่ไปบอกให้นายกฯหยุดดำเนินการในสิ่งใด ก็ได้แต่บอกสื่อถึงข้อห่วงใยของสังคม แต่วันนั้นท่านนายกฯก็พูดชัดว่าเห็นด้วยกับการยุติความรุนแรง
ต่อข้อถามว่ามีความเป็นห่วงเรื่องการโฟนอินของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ที่จะมีขึ้นในอนาคตว่าจะกลายเป็นชนวนเหตุของความรุนแรงหรือไม่ น.พ.วันชัย กล่าวว่า บอกไม่ได้ว่าจะเกิดความรุนแรงหรือไม่รุนแรง แต่เราก็เคยพูดก่อนที่มีการชุมนุมกันในวันที่ 1 พ.ย.ก็เพื่อแสดงความห่วงใย แต่เราไม่รู้ว่าท่านจะพูดอย่างไร ซึ่งเรื่องเหล่านี้ พระพิศาล ธรรมะพาที หรือหลวงพ่อพยอม ท่านคงมอนิเตอร์อยู่แล้ว และที่เราฟังจากข้อห่วงใยว่าวันที่ 1 พ.ย.จะเกิดความรุนแรง แต่สุดท้ายก็จบ และไม่รุนแรง ทุกคนต้องพูดแสดงความห่วงใยกัน

ปธ.วุฒิฯห่วงแก้รธน.ก่อชนวนขัดแย้ง
ด้านนายประสพสุข กล่าวแสดงความห่วงใยในการออกกฎหมายนิรโทษกรรม และการแก้รัฐธรรมนูญว่าจะกลายเป็นชนวนความขัดแย้ง และรุนแรง รุนแรง เมื่อถามว่า แล้วจะประสานกับนายกฯและประธานสภาให้ยุติเรื่องนี้ไปก่อนหรือไม่ นายประสพสุข กล่าวว่า เท่าที่ฟังทุกฝ่ายก็คิดในเรื่องนี้เหมือนกัน แม้แต่ฝ่ายรัฐบาลเอง ก็คงเห็นว่าจะมีความขัดแย้งเพิ่มขึ้น
ส่วนที่ ส.ส.พรรคพลังประชาชน ยืนยันจะเสนอแก้ไชรัฐธรรมนูญ ในการประชุมสมัยวิสามัญ นายประสพสุข กล่าววตนยังคิดว่าน่าจะหยุดไว้ก่อน เพราะไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม หลังวันที่ 28 พ.ย. ก็ปิดสมัยประชุมแล้ว การจะขอเปิดสมัยวิสามัญคงยังอีกนาน ส่วนกรณีที่รัฐบาลจะขอเปิดสมัยประชุมวิสามัญ เพื่อพิจารณาเรื่องเงินอัดฉีดแสนล้านนั้น ก็เป็นเรื่องของสภา

นายกฯไม่สนหมอดูทักดอนเมือง
นาย สมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่ หมอดูทักว่าดอนเมืองทำเลไม่เหมาะกับการ เป็นสถานที่ทำงานของรัฐบาลว่า อย่าคิดอะไรมาก เพราะตอนนี้ก็ยังดีอยู่ รัฐบาลจะตั้งใจทำงานเพื่อประโยชน์ประเทศให้มากที่สุด สถานที่ไม่ดีไม่เป็นไร แต่ขอให้คนดี ก็พอแล้ว อย่างไรก็ตามการที่จะเปลี่ยนสถานที่ไม่ใช่เรื่องง่าย
ส่วนที่ นาย จตุพร พรหมพันธ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน ระบุว่า อาจเกิดการก่อวินาศกรรม ในวันที่ 16 พ.ย.ว่า ต้องกำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ดูแล ซึ่งปกติก็ดูแลอยู่แล้ว ส่วนการวางระเบิดที่ทำเนียบรัฐบาลนั้น ตนคิดว่าอย่าพูดว่าที่นั่นเป็นทำเนียบรัฐบาล เพราะทำเนียบรัฐบาลไม่ได้อยู่ที่นั่นแล้ว
ส่วนที่มีข่าวว่าระเบิดที่ปาใส่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยถูกขน มาจากชายแดนไทยนั้น นายสมชาย กล่าวว่า ไม่น่าจะนำเข้ามาจากชายแดน เพราะนำเข้ามาได้ยาก แต่น่าจะเป็นอาวุธที่ทำในประเทศมากกว่า ทั้งนี้ อยากให้ประชาชนระมัดระวังตัวเองด้วย อย่าเข้าไปใกล้ในที่ที่เสี่ยงภัย และในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็อยากให้เข้าไปดูแล แต่ไม่รู้ว่าจะเข้าไปได้หรือไม่ เรื่องนี้คงต้องถามเจ้าหน้าที่ตำรวจดู

ส.ว.เสนอทางออก9ข้อแก้วิกฤต
นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ส.ว.สรรหา แถลงว่า ปัญหาวิกฤตการเมืองในขณะนี้ กลุ่มต่างๆ ปลุกเร้าประชาชนออกมา ฝ่ายหนึ่งปลุกประชาชนที่ได้ผลตกค้างจาก นโยบายประชานิยม อีกฝ่ายปลุกประชาชนที่รู้ทันนักการเมืองทุจริตเอื้อประโยชน์ พวกพ้อง ส่วนฝ่ายสภาก็เสนอทางออกที่ไม่เป็นทางออก มีแต่ประณามสิ่งที่เห็นว่าไม่ดี ตนห่วงว่า หลังพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพ จะยิ่งเกิดความรุนแรงมากขึ้น
ทั้งนี้พันธมิตรฯ ดีในแง่ให้ข้อมูลตรวจสอบรัฐบาล แต่วิธีการบางครั้งก็ไม่ถูกต้อง ข้อเสนอการเมืองใหม่ก็ยังไม่ชัด ระบบ 50 ต่อ 50 ที่เสนอมา ก็ไม่มีหลักประกันบล็อกโหวต ส่วนรัฐบาลก็จะแก้รัฐธรรมนูญ คนก็ไม่ไว้ใจ แต่พันธมิตรฯถ้าจะเอาการเมืองใหม่ถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญก็ต้องปฏิวัติ ฉะนั้นพันธมิตรฯก็ปิดประตูตัวเองอยู่ ส่วนถ้านายกฯยุบสภา รัฐบาลก็คงชนะเลือกตั้งอีกเพราะได้รับผลตกค้าง จากนโยบายประชานิยมของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ จึงไม่ใช่เรื่องที่คู้ขัดแย้งอยากเห็น หากเปลี่ยนขั้วรัฐบาล เสื้อแดงคงออกมายึดทำเนียบฯ ถ้าทหารออกมา ก็ไม่ใช่ทางแก้ปัญหา
ผมเสนอทางออก 9 ข้อ เพื่อเป็นทางออกคือ 1.รัฐสภาแก้รัฐธรรมนูญเฉพาะมาตรา 171 วรรคสอง ให้นายกฯไม่ต้องมาจากส.ส. และมาตรา 291 เพื่อโอกาส ให้มีการตั้งส.ส.ร.3 2.นายกฯต้องเสียสละด้วยการลาออก 3.สภาเลือกคนภายนอก ที่เหมาะสมและทุกฝ่ายยอมรับเป็นนายกฯชั่วคราวเพื่อบริหารประเทศ ซึ่งมีโอกาสที่จะได้คนที่สังคมยอมรับ ในประเทศไทยยังมีคนทำได้หลายคน และพร้อมเสียสละจะเข้ามา เพราะหากมองดูส.ส. 480 คน เป็นไปได้ยากที่ทุกฝ่ายจะยอมรับ1 ในนั้นเป็นนายกฯได้ ส่วนการตั้งรัฐมนตรีให้ตั้งจากผู้เชี่ยวชาญที่ตรงสาขา เพราะรัฐบาลที่ผ่านมา 2 ชุด ตั้งคนไม่ตรงกับงาน
4.มีการสรรหา ส.ส.ร. 3 เพื่อแก้หรือจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ 5..พันธมิตรฯ และกลุ่มต่างๆ ยุติการชุมนุม และรัฐบาลขอพระราชทานอภัยโทษให้ตามนโยบายสมานฉันท์ 6.รัฐบาลปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินการอย่างอิสระกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ โดยไม่แทรกแซง และไม่พยายามช่วยเหลือด้วยการขอพระราชทานอภัยโทษหรือออกกฎหมายนิรโทษกรรม เพราะเป็นความผิดส่วนบุคคล และต้องทำให้กฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์
7.กรณีที่รัฐบาลทำผิดกฎหมายในช่วงที่ผ่านมา เช่น เหตุการณ์ 7 ตุลาคม ก็ให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม 8.เมื่อรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้แล้ว นายกฯ ก็ยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ทันที 9.ทุกฝ่ายต้องช่วยกันให้ประเทศกลับสู่สภาวะนิติรัฐโดยเร็ว เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคม ความเชื่อมั่น และการพัฒนาที่ยั่งยืน
นายวิชาญ กล่าวว่า ตนได้แจกข้อเสนอแก่ ส.ว.บางส่วนแล้ว มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และแจกให้ประธานวุฒิสภาแล้ว เพื่อให้ประธานวุฒิสภานำไปคุยกับภาคส่วนต่างๆ และจะแจกส.ส.ในสัปดาห์นี้ และจะรวบรวมรายชื่อ ส.ส. และส.ว. ที่เห็นด้วย เพื่อทำเป็นจดหมายเปิดผนึกถึงประธานวุฒิสภา ประธานรัฐสภา นายกฯ พันธมิตรฯ และประธานเครือข่ายสานเสวนา และสังคม เพื่อหาฉันทามติข้อเสนอดังกล่าวด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น