xs
xsm
sm
md
lg

สอบเอาผิดนักการเมืองพบเอี่ยวบ.ผลิตข่าวNBT

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวถึงกรณีที่ส.ส.พรรคพลังประชาชน เตรียมยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ให้ตรวจสอบ 40 ส.ว. ที่มีพฤติการณ์แทรกแซงเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยส่งหนังสือถึงอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ให้พิจารณาการถ่ายทอดเสียงของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โฟนอิน เข้ามาร่วมรายการความจริงวันนี้ ทางสถานีโทรทัศน์ NBT ว่า สุดแล้วแต่ คณะกรรมการ กกต.จะวินิจฉัยและพิจารณา เพราะเราก็ทำหน้าที่ของเราคือการตรวจสอบ ถ่วงดุล และรักษาผลประโยชน์ของประเทศชา เพราะก่อนที่ ส.ว.จะยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ก็ได้คำนึกถึง รัฐธรรมนูญ มาตรา 266 อยู่แล้ว
ที่กลุ่ม 40 ส.ว.ทำไปเนื่องจากกังวลว่าจะนำเทปอัดโฟนอินของ พ.ต.ท.ทักษิณ มาเผยแพร่เท่านั้นเอง แต่เราไม่ได้บังคับอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์แต่อย่างใด เพราะที่เราทำหนังสือไปถึงอธิบดีกรมประชาเนื่องจากเห็นว่าอธิบดีเป็นคนของรัฐ ควรจะระมัดระวัง เท่าที่ทราบและได้ติดตามท่านอธิบดีก็มีดุลยพินิจพอสมควร ส่วนจะทำให้ใครชอบใจ หรือไม่นั้นเป็นคนละเรื่อง
นายสมชาย กล่าวอีกว่า ความจริงอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์จะต้องดูด้วยซ้ำว่า การที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาจัดรายการในสถานีโทรทัศ NBT หรือถือหุ้น ในบริษัทเอกชนที่มาทำรายการข่าวให้ สถานีโทรทัศน์ NBT ด้วยว่าหมิ่นเหม่ มาตรา 48 หรือไม่ เพราะมาตรานี้ระบุชัดเจนว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นเจ้าของ กิจการวิทยุ โทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์ไม่ได้ไม่ว่าจะดำเนินการเองหรือจ้างคนอื่นก็ตาม
เรื่องนี้เราได้ติดตามอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้เรายังจะดูด้วยว่าบริษัทเอกชน ที่เข้าผลิตข่าวให้ เอ็นบีที นั้นเป็นของนักการเมืองหรือว่ามีนักการเมืองถือหุ้นอยู่ด้วย หรือไม่ หรือว่าโอนให้คนอื่นแล้ว ซึ่งเราจะตรวจสอบกันอีกครั้ง”นายสมชายกล่าว
นายสมชายกล่าวว่า นอกจากนี้เรายังจะดูมาตรา 46 วรรค 3 ว่ามีนักการเมือง ส่อว่าการกระทำใดๆ ที่ขัดขวางการแทรกแซงสื่อหรือไม่ เพราะจะเห็นได้จากการ ถอดรายการของนายจอม เพรชประดับ ทางสถานีโทรทัศน์ NBT ออก ถ้าเรื่องนี้มีนักการเมืองอยู่เบื้องหลังจริง ถือว่าหมิ่นเหม่เป็นการจงใจใช้อำนาจโดยมิชอบ ซึ่งเรื่องนี้ข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์จะต้องใช้สิทธิปกป้องความเป็นธรรมของตัวเอง เพราะสื่อเป็นของรัฐ ไม่ใช่ของรัฐบาล
นางทิชา ณ นคร อดีตผู้ประสานงานเครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ กล่าวถึง กรณีที่ ส.ส.พรรคพลังประชาชน 145 คนลงชื่อถอดถอน น.ส.รสนา โตสิตระกูล สว.กทม.ว่า การกระทำของ ส.ส. ทั้ง 145 คน เป็นการเลือกปฏิบัติบนอคติอย่างโจ่งแจ้งมากเกินไป เป็นการตีความแบบเลือกปฏิบัติจนน่ารังเกียจ ทั้งที่ไม่มีการกำหนดเป็นกฎหมาย แต่เป็นเพียงระเบียบเท่านั้น แต่มีการนำมาตีความจนถึงขั้นล่าชื่อถอดถอน
ความจริงที่เกิดขึ้นในสภาก็มีการกระทำผิดระเบียบอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการลงชื่อหลังการประชุมแต่ไม่เข้าประชุม มีผู้ติดตามที่เข้าๆ ออกๆห้องประชุมโดยไม่ขออนุญาต หรือปล่อยให้มีการแสดงออกที่กักขะ นักเลง หยาบคาย ในที่ประชุมสภาที่สมาชิกกล่าวว่าเป็นสถานที่อันทรงเกียรติ ซึ่งกรณีดังกล่าวสมควรจัดการมากกว่ากรณีของ น.ส.รสนา แต่กลับไม่มีใครเดือดร้อน ทำเป็นไม่รู้ร้อนรู้หนาว แกล้งหลับตา ปิดหู ไม่เห็นไม่ได้ยิน สิ่งที่เกิดขึ้น และจ้องจับผิดแบบเลือกปฏิบัติ หากถามประชาชนก็คงมองเหมือนกันว่า การกระทำของน.ส.รสนา นั้น เป็นสิ่งที่กล้าหาญ
นางทิชา กล่าวต่อว่า ในวันจันทร์ที่ 10 พ.ย.นี้ มูลนิธิผู้หญิงและสหภาพแรงงาน จะเดินทางไปยังรัฐสภาเพื่อให้กำลังใจ น.ส.รสนา พร้อมทำเสื้อซึ่งจะให้กำลังใจนักการเมืองที่ดีทุกคน และขอพบ นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อทำความเข้าใจกรณีดังกล่าว นอกจากนี้จะขอพบ ส.ส. และส.ว. โดยเฉพาะ น.ส.อรุณี ชำนาญยา ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชาชน ที่เป็นคนเคลื่อนไหวในการเข้าชื่อ ถอดถอนครั้งนี้ เพื่อทำความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวอย่างสันติ
คำว่าบรรทัดฐานจริยธรรมของ ส.ว.ทั้ง 145 คน คงต่างจากของประชาชน มีมองว่าการกระทำของ น.ส.รสนา เป็นสิ่งที่กล้าหาญ ทำให้คิดว่า สว.ทั้ง 145 คนนั้นมีปัญหาทางจริยธรรมมากกว่า และจำเป็นต้องปกป้อง น.ส.รสนา
นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าวว่า อยาก เปรียบเทียบกรณีที่เกิดขึ้นกับ น.ส.รสนา กับเหตุการณ์ในอดีตที่ตนเคยเข้าร่วมประชุมสภาเพื่อพิจารณากฎหมายสำคัญคือ พ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคยาสูบ 2535 ซึ่งมีวาระสำคัญในการประชุมด้วย มีสมาชิกนิติบัญญัติได้พาตัวแทนบริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่เข้ามาในที่ประชุม ทั้งที่ไม่มีหนังสือเชิญหรือแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ และมีการเสนอให้ตัดกฎหมายวาระสำคัญ คือ การห้ามขายบุหรี่ให้กับเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี และการแจ้งส่วนประกอบของบุหรี่ ทำให้ต้องมีการแจ้งต่อประธานสภาในขณะนั้นเพื่อให้เชิญพ่อค้าบุหรี่ออกจากห้องประชุม ซึ่งประธานสภามีการตักเตือนเท่านั้น และเป็นข่าวหน้าหนึ่งในหลายฉบับในวันต่อมา จนประธานสภาออกมาปกป้องสมาชิกคนดังกล่าว ทั้งที่เป็นการพิจารณากฎหมายที่สำคัญ แต่เมื่อเทียบกับกรณีของ น.ส.รสนา แล้วไม่ได้เป็นประเด็นที่เป็นเรื่องใหญ่แต่อย่างใด
คงต้องเปรียบเทียบทั้งสองเรื่องดู เพื่อพิจารณาว่าเรื่องใดเหมาะสมไม่เหมาะสม ผมคงไม่มีหน้าที่พูดว่าการยื่นเรื่องถอดถอน น.ส.รสนา เหมาะสมหรือไม่แต่เมื่อเทียบทั้งสองเหตุการณ์ก็คงทราบว่าเรื่องใดร้ายแรง ไม่ร้ายแรง และอะไรที่ทำให้เกิดความเสียหายมากกกว่ากัน และน.ส.รสนา สมควรได้รับการปกป้องหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น