xs
xsm
sm
md
lg

ประธาน ส.ว. คนใหม่

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

วันที่ 14 มีนาคมที่จะถึงจะมีการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญทั่วไป) นอกจากเพื่อให้ ส.ว. ใหม่ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่ ตามมาตรา 123 ของรัฐธรรมนูญ วันดังกล่าวนับเป็นจุดสตาร์ทขององค์กรฝ่ายนิติบัญญัติครบองค์

ที่เป็นจุดสนใจที่สุดคือ วาระการเลือกประธาน และ รองประธานวุฒิสภา ซึ่งมีข่าวปรากฏล่วงหน้ามาร่วม 2 สัปดาห์ ว่ามีการเคลื่อนไหวรวมกลุ่มของสายต่าง ๆ ล็อบบี้สนับสนุนคนที่ตนเห็นสมควร

การนัดหมายพบปะ พูดคุย หรือ ล็อบบี้เป็นเรื่องปกติ ! ถ้า จู่ ๆ ก็มาประชุมและยกมือตามโผเหมือนถูกสะกดจิต - - นี่ต่างหากที่ไม่ปกติ

ในช่วงแรก มีการแบ่งฟากระหว่าง ส.ว.สรรหา กับ ส.ว.เลือกตั้ง ก็พอจะเข้าใจได้ว่า เข้ามาใหม่ ๆ ยังไม่รู้จักใครมาก ใครคิดอย่างไร จุดยืนเช่นไรยังไม่รู้ทั่วถึงกัน จึงมีการจัดกลุ่มกันหยาบ ๆ ว่า พวกสรรหากับพวกเลือกตั้ง ซึ่งแท้จริงแล้วบรรดา ส.ว.เกือบ 150 คนนั้น หลากหลายทั้งที่มา ประสบการณ์และจุดยืน ทำงานต่อไปสักระยะจะเห็นการจัดกลุ่มตามความคิดชัดขึ้น

ในเมื่อวาระเลือกประธาน ฯ กำหนดในวันเปิดประชุมนัดแรก จะมารอให้รู้จักกันมากกว่าที่เป็นอยู่คงทำได้ยาก นอกจากใช้กระบวนการต่อสายต่อรองทำความเข้าใจวงนอก

สมาชิก ส.ว. ไม่ว่าจะมาจากสรรหาหรือเลือกตั้ง แม้จะเคยทำหน้าที่ใดมาก่อนแต่เมื่อเสนอตนเข้ามารับตำแหน่งทางการเมือง ก็ต้อง “เล่น” ตามบทบาทของนักการเมือง .. การเมือง กับ การต่อรอง เป็นของคู่กัน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การล็อบบี้ แต่อยู่ที่การ “เล่น” ตามบทบาทหรือไม่ ล็อบบี้กันแบบไหน ล็อบบี้บนฐานคิดใด ?

ข่าวหน้าหนึ่งไทยโพสต์ 9 มีนาคม 2551 จั่วหัวว่า วงแตกแย่งเก้าอี้ ปธ.4 ส.ว.ท้าชิง'เด็กห้อย' รายงานการเคลื่อนไหวของ ส.ว.เลือกตั้ง โดยให้รายละเอียดว่า
..... การประชุมเป็นไปอย่างดุเดือด เพราะแต่ละคนต่างก็ต้องการจะได้เก้าอี้ประธานวุฒิสภามาไว้ในครอบครอง โดยไม่มีใครยอมให้ใคร โดยนายมงคล ศรีคำแหง ส.ว.จันทบุรี ได้เสนอให้สมาชิกที่เข้าร่วมประชุม เสนอรายชื่อผู้เหมาะสมเป็นประธานวุฒิสภา เพราะขณะนี้มี ส.ว.สรรหาบางคนได้โทรศัพท์มาล็อบบี้ตนทุกวัน แต่ก็อยากฟังเสียงเพื่อนที่มาจากการเลือกตั้งก่อน

อย่างไรก็ตาม มีสมาชิกบางคนได้แสดงความคิดเห็นอย่างดุเดือดว่า งานนี้ต้องลองสู้ เพราะถึงแม้จะสู้ก็แพ้เพราะเสียง 70 ต่อ 74 อย่างไรก็สู้กันไม่ไหว หากไม่สู้ตอนนี้รับรองว่าตำแหน่งประธานกรรมาธิการต่างๆ คงจะต้องเสร็จพวกสรรหาหมด

โดย ส.ว.บางคนถึงกับระบุอย่างมีอารมณ์ว่า “คุณลองเป็นพ่อครัวสิ ถ้าเครื่องปรุงอาหารโดนแย่งไปหมดแล้วคุณจะเหลืออะไรไว้ปรุง”

ข่าวชิ้นนี้ ยังลงรายละเอียดไปถึงว่า ส.ว.คนไหนสนิทสนมกับนักการเมืองคนใด ไม่ว่าจะเป็นสายบุรีรัมย์ หรือ สายเจ๊กทม. ถึงขั้นออกเงินค่าใช้จ่ายการประชุมไปก่อน - - ลองไปค้นอ่านดูเถิดครับเขาต่อรองเก้าอี้ประธานกรรมาธิการกันแบบไหน

นักการเมือง ก็ต้อง เล่นการเมือง – ไม่ว่ากันหรอกครับ แต่จะเล่นบนฐานของผลประโยชน์ใครเป็นหลัก? ของพวกพ้องเจ้านาย ของตนเอง หรือของชาติบ้านเมือง เป็นสำคัญ

พยายามจะมองรายละเอียดข่าวว่า ส.ว. ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิ ที่สังคมคาดหวังจะเข้ามาเป็นกลไกสำคัญของการฟื้นระบอบประชาธิปไตยหลังวิกฤต ได้พยายามระดมสมองว่า บทบาทของวุฒิสภาในห้วงรอยต่อหลังวิกฤตการณ์ควรเป็นเช่นไร ? - - ก็ไม่มีให้อ่าน!!

ในเนื้อข่าวก็ไม่ปรากฏว่าผู้ทรงคุณวุฒิแห่งสภาสูงได้พยายามระดมสมองเพื่อสร้าง หลักเกณฑ์ คุณสมบัติของประธานวุฒิสภาคนต่อไปว่าควรจะเป็นเช่นไร เพื่อให้ง่ายต่อการตัดสินใจ

มีแต่การบอกว่า ต้องเอาพวกเราเพื่อประโยชน์ต่อการจัดสรรตำแหน่ง แล้วก็ให้สมาชิกเสนอชื่อแคนดิเดตขึ้นมา 5 คน ซึ่งมีรายชื่อ ส.ว.ที่สนิทสนมกับนักการเมืองใหญ่ และ พรรคการเมืองใหญ่ ร่วมเข้ามาด้วยในโผ

คำถามที่ประชาชนอยากรู้ .. พวกท่านใช้หลักเกณฑ์ใดเสนอรายชื่อเหล่านี้ขึ้นมา ..ให้น้ำหนักกับหลักเกณฑ์ใด .. หลักความสามารถ หลักคุณวุฒิ หลักประสบการณ์ หลักความเป็นอิสระเป็นธรรมและเป็นกลาง หรือ หลักความเป็นเด็กนักการเมือง

การเมืองก่อนวิกฤต มีรากปัญหาอยู่ที่กลไกไม่เดินตามระบบที่ควรจะเป็น วุฒิสภากลายเป็นสภาทาส แทนที่จะตรวจสอบถ่วงดุลกลับมาหนุนหลังอำนาจบริหาร นำไปสู่การแทรกแซงองค์กรอิสระจนบ้านเมืองเดินต่อไม่ได้

จึงนำมาสู่การปรับแก้กระบวนการได้มาซึ่ง ส.ว.ไม่ให้เกิดสภาทาสหรือ สภาผัวเมียอย่างที่เคยเป็น สังคมคาดหวังว่า วุฒิสภา จะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยคลี่คลายวิกฤตการณ์ของบ้านเมือง ทำหน้าที่ 4 ด้าน กลั่นกรองกฎหมาย , ควบคุมการทำงานของรัฐบาล , ให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระและ ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อย่างเป็นอิสระและเป็นธรรมแทนประชาชน

ตำแหน่งประธานวุฒิสภา มีความสำคัญมาก เป็นตำแหน่งที่สามารถจูงให้สภาทั้งสภาเข้ารกเข้าพงได้

อย่าดูเบาคิดว่าประชาชนลืมเหตุการณ์ สภาทาส และประธานสุชิน นะ .. ขอเตือนท่านผู้ทรงเกียรติไว้แต่เนิ่นๆ

พวกท่านทั้งหลายมีคุณวุฒิและประสบการณ์ดีพอที่จะรู้ว่าประธานวุฒิสภาที่สังคมคาดหวังนั้นต้องไม่มีประวัติพันกับกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ทั้งธุรกิจและการเมือง และต้องเลือกประธาน ฯ เช่นไร ที่ทำให้สังคมมั่นใจในความเป็นอิสระ กล้าหาญ เป็นกลาง เป็นธรรม

ประชาชนที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองอดทนกับวิกฤตการณ์-ความเละเทะของการเมืองมานานพอสมควร พวกเขามีความคาดหวังจะเห็นบ้านเมืองเดินหน้าต่อในทิศทางที่ดี และคาดหวังกับบทบาทของวุฒิสภาชุดใหม่ อย่างน้อยก็มองเห็นได้ชัดเจนจากคะแนนคนกรุงเทพฯ ว่าคิดอย่างไร

รูปร่างหน้าตาของประธานฯ คนใหม่ สัมพันธ์โดยตรงกับ ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบการเมือง .. อย่าให้คนไทยเบื่อหน่ายการเมืองมากกว่าที่เป็นอยู่เลย

เอาแค่ข่าวพวกเขาพวกเรา ต้องเลือกคนนี้เพราะพวกเราจะได้ตำแหน่งประธานกรรมาธิการกันภายในกลุ่ม หรือมีข่าวนักการเมืองใหญ่มาบงการเกม แค่นี้ เกียรติภูมิของวุฒิสภาที่ยังไม่ได้เริ่มทำงานก็หดหายไปโขแล้วล่ะครับ !!!
กำลังโหลดความคิดเห็น