xs
xsm
sm
md
lg

รัดเข็มขัดรับมือศก.ทรุดปี52บาทแข็ง-ดบ.กู้สูงฉุดลงเหว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"บุณยสิทธิ์"แนะรัดเข็มขัดฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจปี 52 ลงทุนเป็นเงินบาทลดความเสี่ยง แนะรัฐบาลในวิกฤตก็มีโอกาส หากใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำ ค่าเงินบาทอ่อน และลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มแรงซื้อ แต่หากสวนทางขึ้นหมดเศรษฐกิจไทยตกเหวแน่ "ก้องเกียรติ"แนะพึ่งตนเองเพราะมาตรการรัฐยังทำไม่เต็มที่ แถมล่าช้า ชี้ปีหน้าเศรษฐกิจยังไม่น่าไว้วางใจ ด้านผู้บริหารมิตซูบิชิ ยอมรับการลงทุนจากญี่ปุ่นคงจะลดลง เอกชนถกร่วมนายกฯเวทีกรอ. 20 พ.ย.นี้ เพิ่มมาตรการด้านศก.

นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัทสหพัฒนพิบูล จำกัด(มหาชน) กล่าวในงานเสวนา”CEO Vision...ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจไทยได้อย่างไร? ซึ่งจัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) วานนี้ (7พ.ย.) ว่า ปี 2552 ไทยจะฝ่าวิกฤติไปได้มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับมาตรการที่จะเข้ามาดูแลของภาครัฐ และการปรับตัวของเอกชนที่จะต้องไปในทิศทางเดียวกันซึ่งหากอยู่ได้วิกฤติของโลกจะเป็นโอกาสของไทยด้วยซ้ำไป
ทั้งนี้ มาตรการที่รัฐควรจะพิจารณาดำเนินการคือ นโยบายค่าเงินบาทที่ควรจะอ่อนค่าเมื่อเทียบกับภูมิภาค 5-10% เพราะปีหน้าการส่งออกจะมีการแข่งขันกันมาก เพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดที่ลดลง และควรส่งเสริมการลงทุนที่เน้นการใช้เงินบาท โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ของรัฐเพื่อป้องกันความเสี่ยงเมื่อเศรษฐกิจต่างประเทศเกิดวิกฤติ
ส่วนการกระตุ้นการลงทุน และกำลังซื้อในประเทศ ควรจะพิจารณาอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ลดต่ำลง ไม่ใช่เงินฝาก เนื่องจากส่วนต่างดอกเบี้ยนี้ค่อนข้างสูง รัฐควรพิจารณาลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงจากปัจจุบันที่เก็บสูงถึง 30% โดยควรลงมาเหลือ 20-25% เป็นอย่างต่ำ ขณะที่ทุกฝ่ายรวมถึงภาคเอกชน ก็จะต้องรัดเข็มขัดให้มากขึ้นเพื่อตั้งหลัก มาตรการเหล่านี้หากทำได้ปัญหาการตกงานนับล้านๆ คนคงไม่ถึง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยผ่านปัญหาสำคัญคือ 3 F คือ การเงิน (Financial) อาหาร (Foods) และน้ำมัน (Fuel) มาพอสมควรจนมีภูมิคุ้มกันระดับหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะภาคการเงิน เว้นน้ำมัน แต่ไทยก็เลี่ยงไปใช้พลังงานทดแทนได้ แต่หากรัฐดำเนินมาตรการตรงข้ามกับที่เสนอมาเศรษฐกิจก็มีโอกาสตกเหวได้เช่นกัน
"เศรษฐกิจคงจะชอลตัว การส่งออกคงจะลดลงบ้าง จะบอกว่าไม่กระทบเลยคงไม่ใช่ ทุกคนคงลำบากขึ้น ดังนั้นทุกคนต้องรัดเข็มขัด นักธุรกิจต้องยอมถอยเพื่อตั้งหลัก และอาจจะเป็นโอกาสดี เมื่อตลาดต่างประเทศชะลอลงก็ควรเน้นทำตลาดในประเทศให้มากขึ้น แต่หากสินค้าตัวใดเห็นว่าตลาดต่างประเทศดี ก็จะต้องหันไปทำตลาดต่างประเทศแทน" นายบุณยสิทธิ์กล่าว
นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วิกฤติการเงินของโลกครั้งนี้อาจเห็นได้เพียงครั้งเดียวในชั่วชีวิต เพราะฟองสบู่ 3 ฟองแตกพร้อมกันคือ ภาคการเงิน ภาคอสังหาริมทรัพย์ ตลาดโภคภัณฑ์ ดังนั้นเอกชนจะต้องปรับตัวในปี 2552 เพื่อให้ฝ่าวิกฤติไปได้ด้วยการพึ่งพาตนเองเป็นหลัก ไม่ควรจะหวังมาตรการจากภาครัฐเพราะในขณะนี้ประเทศต่างๆ ทั้งสหรัฐอเมริกา และยุโรปมีมาตรการที่ออกมารวดเร็วมาก แต่ไทยยังเตรียมตัวรับมือไม่เต็มที่ และรัฐบาลก็ไม่แน่ว่าจะอยู่ยาวมากน้อยเพียงใด
"รัฐบาลออกมาตรการรองรับปัญหาเศรษฐกิจไม่เพียงพอ และเป็นมาตรการเดิมที่เคยใช้มาแล้วช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา กฏระเบียบบางอย่างที่เคยเสนอให้แก้ไขก็ยังทำไม่ได้ เช่นเมื่อบริษัทที่ซื้อหุ้นคืนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ภายใน 3 ปีจะเพิ่มทุนไม่ได้ เรื่องนี้ก็แก้ไขไม่แล้วเสร็จ เป็นต้น" นายก้องเกียรติกล่าว

ปี’52 เศรษฐกิจไว้วางใจไม่ได้

นายก้องเกียรติกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2552 ไม่น่าไว้วางใจเนื่องจากภาวะตลาดหุ้นขณะนี้ทำให้ราคาหุ้นของบริษัทใหญ่ๆ ทั้งหมดลดลงอย่างมาก บางแห่งลดมากกว่าที่เจ้าของก่อตั้งมาอีก เมื่อราคาหุ้นที่ตกต่อเนื่อง ปีหน้ายังต้องเผชิญกับยอดส่งออกที่ชะลอตัว ภาพที่ชัดเจนคงจะได้เห็นว่าท้ายสุดภาคการผลิตจะกระทบมากน้อยคือ กลางปีไป ขณะเดียวกันแง่ของเศรษฐกิจโลกเอง แม้ว่าการแก้ไขปัญหาทุกประเทศที่ร่วมมือกันทำให้ดูปัญหาน่าจะคลี่คลาย แต่ก็อาจจะหยุดแค่ชั่วคราวหรือไม่ เหล่านี้เห็นว่าอยากให้ภาคธุรกิจและนักลงทุนมองโลกในแง่ร้ายไว้ก่อนเมื่อดีกว่าที่คิด ถือว่านั่นคือโบนัส
"วิกฤติปี40 กับปีหน้า เปรียบเทียบยาก ขึ้นอยู่ว่าเราจะมองมุมใดหากมองการซื้อขายหุ้นเสียหายคล้ายกัน แต่ภาพรวมจะดีกว่าปี 40 ส่วนสภาพคล่องทางการเงินนั้นคงจะต้องระมัดระวังด้วยให้เก็บเงินสดสำรองไว้ เพราะขณะนี้บริษัทที่มีชื่อเสียงอย่างปตท.เองก็เริ่มออกหุ้นกู้ เพื่อระดมทุนเพราะมองว่าสภาพคล่องอนาคตจะตึงตัว" นายก้องเกียรติกล่าว
นายฟูคูจิโร่ ยามาเบะ ประธานบริษัท มิตซูบิชิ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า วิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ ย่อมกระทบต่อสภาพคล่อง การลงทุนตรงจากญี่ปุ่นอาจจะลดลงตามไปด้วยแต่โดยรวมของไทยนั้นก็ถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพ หากแต่รัฐบาลไทยควรจะออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อดึงดูดการลงทุน

ถกศก.ร่วมนายกฯ20 พ.ย.

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย( ส.อ.ท. ) กล่าวว่า วันที่ 20 พ.ย.นี้ นายกรัฐมนตรีจะหารือในเวทีคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กรอ.) ซึ่งการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) วันที่ 10 พ.ย.นี้ คงจะติดตามมาตรการที่เสนอไปครั้งที่ผ่านมาว่าคืบหน้า หรือมีอะไรจะต้องเพิ่มเติมอีกหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น