xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.พร้อมลดดอกเบี้ย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติรอดูตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 จากสภาพัฒน์ปลายเดือนนี้ ก่อนลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ยอมรับปัจจัยต่างประเทศเลวร้ายมากขึ้น ส่วนการกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อหารือนายแบงก์แล้ว ชี้รายกลาง รายย่อย จะหาสินเชื่อยากขึ้น เหตุรายใหญ่ที่เคยกู้ต่างประเทศมาแย่งเค้ก เผยในช่วงต่อไปทยอยลดพันธบัตร ธปท.ในตลาด เปิดทางรัฐบาลระดมเงิน ทีดีอาร์ไอแนะธปท.ประชุม กนง. ลดดอกเบี้ยฉุกเฉินก่อนกำหนด ลดดอกเบี้ย 0.25-0.5%

นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า อยู่ระหว่างการรอตัวเลขเศรษฐกิจจริงในไตรมาสที่ 3 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) จะออกมาในช่วงปลายเดือน พ.ย.นี้ โดยหากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาเห็นแนวโน้มชัดเจนว่า ความเสี่แยงของการขยายตัวของเศรษฐกิจมีเพิ่มขึ้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็พร้อมที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (อัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรอายุ 1 วัน) จากประมาณการเศรษฐกิจในขณะนี้ ปัจจัยในประเทศยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่ปัจจัยต่างประเทศ เริ่มเห็นสัญญาณที่เลวร้ายมากขึ้น
"การผ่อนคลายนโยบายการเงิน จะมากหรือน้อยขนาดไหนนั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์จริงของเศรษฐกิจไทยเป็นสำคัญ" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าวและว่า หากรัฐบาลสามารถจะเร่งการเบิกจ่าย และกระตุ้นการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ทำให้การใช้จ่ายของประชาชนกลับมาเพิ่มขึ้น การลงทุนของภาคเอกชน และความต้องการใช้สินเชื่อในช่วงต่อไปจะมีเพิ่มขึ้น เพราะในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว ภาคธุรกิจก็จะปรับแผนการดำเนินการ และลดการกู้ยืม หรือการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ทั้งนี้ เดือนที่ผ่านมา การขยายตัวของสินเชื่อก็เพิ่มสูงขึ้นถึง 3% จากเดือนก่อนหน้า แสดงให้เห็นว่าธนาคารพาณิชย์ยังพยายามปล่อยกู้
“ที่ผ่านมาได้หารือกับผู้บริหารธนาคารพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งธนาคารพาณิชย์แสดงความเห็นว่า หากในช่วงต่อไปภาคเอกชนขนาดใหญ่ ที่เดิมอาศัยเงินกู้จากต่างประเทศ เกิดปัญหาต้นทุนการกู้ยืมเงินสูงขึ้น และเปลี่ยนมากู้ยืมเป็นเงินบาทในประเทศไทย จะทำให้ลูกหนี้รายกลางและรายย่อยเข้าถึงเงินกู้ได้ยากขึ้น ธปท.ได้พูดคุยกับธนาคารพาณิชย์แล้วว่า ให้พยายามปล่อยกู้รายกลาง และรายย่อยให้มากขึ้น เพื่อให้ดำเนินธุรกิจต่อไป“ ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าวและว่า ธปท.ได้หารือกับกระทรวงการคลัง และให้ความเห็นว่า หากต้องการให้รายกลางและรายย่อยได้รับสินเชื่อในช่วงต่อไป จะต้องมีกลไกในการประกันสินเชื่อเข้ามารองรับ เช่น ในส่วนของบริษัทประกันสินเชื่อรายย่อย (บสย) ที่กำลังควบรวมกิจการกับเอสเอ็มอีแบงก์ ถึงแม้ว่าอยู่ควบรวมกิจการอยู่ แต่ก็หยุดให้สินเชื่อกับรายย่อย และหยุดรับประกันสินเชื่อไม่ได้ รวมทั้งการประกันสินเชื่อของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยด้วย
ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลัง ต้องการให้ธปท.ปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนให้ภาคเศรษฐกิจจริงนั้น นางธาริษา กล่าวต่อว่า กฎหมาย ธปท.กำหนดให้ยกเลิกการช่วยเหลือในส่วนนี้ของธปท.และหากจะให้กระทรวงการคลังกู้เงินจาก ธปท.ไปปล่อยสินเชื่อต่อก็ทำไม่ได้ ดังนั้น ธปท.จึงได้ส่งเรื่องดังกล่าวไปปรึกษาคณะกรรมการกฤษฏีกาแล้ว
นอกจากนี้ กรณีที่ รมว.คลัง ต้องการให้เพิ่มสภาพคล่องในระบบด้วยการ ซื้อคืนพันธบัตร ธปท.ด้วยว่า ในขณะนี้ทุกเช้า ธปท. ได้จ่ายคืนเงินพันธบัตร ธปท.ที่ครบกำหนดอายุ 1 วัน และอายุอื่นๆ ทุกวัน ประมาณ 400,000-500,000 ล้านบาท แต่เมื่อสิ้นวัน ธนาคารพาณิชย์ที่ไม่สามารถปล่อยกู้ที่อื่นได้จะนำเงินมาคืน ซึ่งธปท.ต้องกู้กลับมาเพื่อรักษาระดับอัตราดอกเบี้ย โดยการนำเงินมาให้กู้ของธนาคารพาณิชย์ในกรณี ไม่ได้เกิดขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรจูงใจ เพราะถ้าเทียบต้นทุนเงินฝากประจำ ซึ่งเป็นต้นทุนหลักกับอัตราดอกเบี้ยพันธบัตร ธนาคารไม่ได้กำไรในการปล่อยกู้ให้ ธปท.และในขณะนี้ สภาพคล่องของระบบไม่ได้ขาดแคลน หากมีลุกค้ารายใหญ่มาขอกู้ หรือมีการประกันเงินฝากรายกลางรายย่อย ธนาคารพาณิชย์น่าจะเลือกปล่อยสินเชื่อมากกว่า
นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงต่อไปจากนี้ ธปท.มีนโยบายที่จะลดการต่อสัญญา (Roll over) พันธบัตร ธปท. เพื่อปล่อยสภาพคล่องเพิ่มขึ้นเข้าไปในระบบ โดยก่อนหน้านี้ ธปท.ได้มีการปรับลดอายุการออกพันธบัตรจากระยะยาวมากเป็นระยะสั้นมาก่อนหน้าแล้ว เพราะในช่วงต่อไป กระทรวงการคลังจะมีการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อทพแทนการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นอีก 100,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เชื่อว่าจะบริหารจัดการไม่ให้กระทบกับอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของพันธบัตรมในตลาดรองได้ ส่วนค่าเงินบาทนั้น ยอมรับว่ามีความผันผวนสูงมาก เพราะมีความต้องการซื้อเงินดออลาร์สูงมาก ทำให้ธนาคารพาณิชย์มีสภาพคล่องเงินบาทเพิ่มขึ้น และธปท.ต้องออกพันธบัตรมาดูดซับสภาพคล่อง แต่การแทรกแซงครั้งนี้แตกต่างจากช่วงที่ค่าเงินบาทแข็ง

TDRIเสนอลดดอกเบี้ย 0.25-0.50%

นายนิพนธ์ พัวพงศกร ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า ขณะนี้เศรษฐกิจของไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้วเห็นได้จากดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจหลายตัว ดังนั้น จึงเห็นว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ควรจะเรียกประชุมด่วน โดยไม่ต้องรอให้ถึงกำหนดในเดือน ธ.ค.51 เพื่อพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25-0.50% ซึ่งจะช่วยส่งสัญญาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากขณะนี้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกอยู่ในช่วงขาลง แม้ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ จะได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงไปกันบ้างแล้ว นอกจากนี้ยังเห็นว่าภาคการเงินในปี 52 สภาพคล่องเริ่มเข้าสู่ภาวะตึงตัว ดังนั้นการลดดอกเบี้ยในประเทศจะช่วยทำให้ต้นทุนของภาคธุรกิจปรับลดลงได้ โดยดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นตัวชี้นำการลดดอกเบี้ยในตลาดเงิน
"คงไม่สามารถบอกได้ว่าจะต้องลดดอกเบี้ยอีกมากน้อยแค่ไหนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก แต่เห็นว่าขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่แบงก์ชาติต้องเรียกประชุมด่วน เพื่อลดดอกเบี้ยเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัว" ประธานทีดีอาร์ไอกล่าวและเห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาลในการเพิ่มงบประมาณกลางปี 52 อีก 1 แสนล้านบาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะปัจจุบันหนี้สาธารณะของไทยอยู่ในระดับต่ำประมาณ 38%ของจีดีพี และยังมีช่องทางที่จะก่อหนี้เพื่อนำมากระตุ้นเศรษฐกิจได้โดยไม่กระทบต่อวินัยทางการเงินการคลัง ทั้งนี้ หลายประเทศที่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เช่น สหรัฐฯที่มีหนี้สาธารณะสูงถึง 50%ของจีดีพี หรือญี่ปุ่นที่มีหนี้สาธารณะสูงถึง 80% ของจีดีพี รัฐบาลของประเทศเหล่านี้ ก็ต้องกู้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม การใช้นโยบายขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลควรนำมาใช้เฉพาะเหตุจำเป็นและไม่ควรจะขาดดุลงบประมาณนานติดต่อกันหลายปีเกินไป
กำลังโหลดความคิดเห็น