xs
xsm
sm
md
lg

TDRI ปรามรัฐปล่อยกู้ซอฟต์โลน หวั่นการเมืองแทรกทำธุรกิจป่วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทีดีอาร์ไอแนะรัฐบาลอย่าวุ่นปล่อยซอฟต์โลนเอง หวั่นการเมืองเข้าไปแทรกแซงภาคธุรกิจเกินไป ควรปล่อยเป็นหน้าที่แบงก์พาณิชย์ ขณะที่รัฐทำหน้าที่รับประกันสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีจะดีกว่า พร้อมเสนอให้รัฐบาลเสนอจัดตั้งกองทุนจากเงินสมทบประเทศในแถบภูมิภาคในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 14 จ.เชียงใหม่ หวังเป็นวิธีที่ดีที่สุดในขณะนี้ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤตการเงินโลกได้

นายนิพนธ์ พัวพงศกร ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยถึงกรณีการแก้ไขปัญหาผู้ประกอบการสินเชื่อขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)ที่มีปัญหาสภาพคล่องหลังธนาคารพาณิชย์มีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวว่า ภาครัฐไม่ควรเข้าไปทำหน้าที่ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟต์โลน)โดยตรง แต่ควรช่วยเหลือด้วยการรับประกันสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์แทน เพราะหากภาครัฐยังคงยืนกรานให้ซอฟต์โลน จะส่งผลให้การเมืองเข้าไปแทรกแซงการปล่อยสินเชื่อจนอาจจะเกิดหนี้เสียได้ ดังจะเห็นได้จากประสบการณ์ที่ผ่านมาทุกครั้งที่มีการปล่อยซอฟต์โลนก็มีปัญหาตามมา

ทั้งนี้ ในต่างประเทศขณะนี้แบงก์ส่วนใหญ่จะตัดสินใจปล่อยกู้หรือไม่จะไม่ใช่แค่ดูว่าเป็นรายธุรกิจแล้ว แต่จะดูกิจการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนั้นๆ ด้วย เช่น หากไม่ปล่อยเงินกู้แก่กิจการรถยนต์ก็จะไม่ปล่อยกู้ให้แก่ลูกค้าที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ รวมถึงตัวแทนขายด้วย ซึ่งแม้ขณะนี้เมืองไทยไม่ได้เจอสถานการณ์รุนแรงถึงขั้นนี้ แต่ก็ควรระมัดระวังให้มาก ดังนั้น การปล่อยกู้ซอฟล์โลนควรเป็นหน้าที่แบงก์เอกชน เนื่องจากเป็นผู้ที่รู้ข้อมูลโครงการและลูกค้าที่มาขอกู้ดีกว่าภาครัฐ ส่วนสถาบันการเงินเฉพาะกิจภาครัฐควรเข้ามารับประกันสินเชื่อ ซึ่งจะช่วยลดภาระภาครัฐและธนาคารพาณิชย์เอกชนได้

“การคัดเลือกลูกค้าเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่สถาบันการเงินของรัฐก็ไม่ควรใช้อิทธิพลด้านการเมืองเข้าไปแทรกแซง แต่ในทางตรงกันข้ามควรปลอดเรื่องนี้ให้มาก จึงจะถือเป็นการทำงานแบบมืออาชีพ”นายนิพนธ์กล่าว

**แนะเร่งตั้งกองทุนบรรเทาผลวิกฤติสหรัฐฯ**

นายนิพนธ์ กล่าวว่า วิกฤตการเงินโลกในขณะนี้ต่างกับสมัยวิกฤตปี 40-41 ซึ่งสมัยนั้นมีปัญหาภายในภูมิภาคเอเชียเท่านั้น แต่วิกฤตการเงินครั้งนี้ประเทศที่เป็นศูนย์กลางทุนนิยมของโลกมีปัญหาจนสร้างผลกระทบไปยังประเทศอื่นทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศยักษ์ใหญ่ในภูมิภาคเอเชียอย่างจีนด้วย ดังนั้น ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 15-17 ธ.ค.นี้ที่จังหวัดเชียงใหม่รัฐบาลควรนำเร่งเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนมาแก้ไขปัญหานี้ พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไขการนำเงินจากกองทุนนี้ไปลงทุนภูมิภาคเอเชียด้วย เพื่อช่วยสนับสนุนการค้าและการลงทุนภายในภูมิภาค

ด้านนายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การจัดตั้งกองทุนดังกล่าวได้มีการพูดคุยกันในเบื้องต้นแล้ว แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน โดยในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมาเจ้าหน้าพยายามจะศึกษาถึงรายละเอียดต่างๆ ทั้งสัดส่วนเงินทุนของแต่ละประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียที่นำเงินมาใส่ในกองทุนที่จัดตั้งขึ้นนี้ วิธีการเบิกจ่าย รวมถึงการจัดตั้งองค์กรที่มีลักษณะคล้ายกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) เข้ามาดูแลกองทุนนี้ด้วย อย่างไรก็ตามหากไม่เร่งดำเนินการ ประเทศต่างๆ อาจให้ความสำคัญในการตั้งกองทุนน้อยลง ซึ่งในความเป็นจริงวิธีการนี้เป็นการช่วยเหลือกลุ่มประเทศเอเชียให้ผ่านพ้นวิกฤตการเงินโลกได้เป็นอย่างดี

“ในเบื้องต้นคาดว่ากองทุนดังกล่าวจะใช้เม็ดเงินประมาณ 8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยประมาณ 80% จะเป็นเงินจากประเทศจีนและญี่ปุ่นในสัดส่วนเท่ากัน คือ 40% และเกาหลีใต้อีก 20% ส่วนเงินกองทุนอีก 20% ที่เหลือจะเป็นการนำเงินมาสมทบจากประเทศต่างๆ ในกลุ่มอาเซียน อย่างไรก็ตามการแชร์เงินจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเกี่ยวข้องกับสิทธิ์ในการออกเสียง และผลประโยชน์ของประเทศนั้นๆ ด้วย จึงยังมีการติดขัดปัญหานี้อยู่”นายฉลองภพกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น