ก่อนลงมือเขียนบทความชิ้นนี้ ผมเพิ่งปิดหน้าสุดท้ายของหนังสือ “อมตะแห่งป๋าเปรม”
หนังสือ อมตะแห่งป๋าเปรม – จากปฏิวัติ 19 กันยาฯ ถึงจุดจบ “ทักษิณ” เขียนโดยคุณวาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหารผู้โด่งดังของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เพื่ออรรถาธิบายบทบาทของชายที่ชื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ต่อบริบทของการเมืองไทยในรอบ 30 กว่าปีที่ผ่านมา โดนเน้นเป็นพิเศษต่อบทบาทของ “ป๋า” ต่อความผันผวนทางการเมืองไทยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
ช่วงสามปีมานี้ท่ามกลางความรุ่งเรืองสุดขั้วจนถึงตกต่ำสุดขีดของ “ระบอบทักษิณ” และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พล.อ.เปรม กลายเป็นเป้าหมายในเชิงสัญลักษณ์ที่ “ระบอบทักษิณ” ต้องโค่นล้ม เป็นโดมิโนตัวแรกที่พลพรรคทักษิณต้องผลักให้คว่ำคะมำไปเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่กว่า
คนที่ไม่ประสาทางการเมืองทั้งหลาย คงรู้สึกประหลาดใจ ว่าเหตุใดเมื่อหลายปีก่อน นายสมัคร สุนทรเวช จึงออกมาโจมตีและพาดพิง พล.อ.เปรม อย่างเสียหายทางโทรทัศน์ช่อง 5 ซึ่งเป็นช่องทหารแท้ๆ และช่อง 9 เรื่อยมาจนถึงการวางระเบิดหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ 9 มีนาคม 2549 และที่หนักหนาที่สุดคือ เหตุการณ์วันที่ 22 กรกฎาคม 2550 ที่แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) นำโดย นายวีระ มุสิกพงศ์ นายจักรภพ เพ็ญแข นายจตุพร พรหมพันธุ์ นำม็อบหลายร้อยคนมาก่อกวนและทำลายทรัพย์สินถึงหน้าบ้านสี่เสาฯ
เหตุการณ์เหล่านี้พิสูจน์ให้เห็นได้ชัดว่า เป้าหมายหลักของระบอบทักษิณที่จะต้องกำจัด เพื่อก้าวไป “ยึดประเทศไทย” อย่างเบ็ดเสร็จนั้น ไม่ใช่ สนธิ ลิ้มทองกุล ไม่ใช่ จำลอง ศรีเมือง ไม่ใช่แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และยิ่งไม่ใช่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แต่อย่างใด
...... แต่คือประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษที่ชื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
เนื่องด้วยในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา พล.อ.เปรม มีบารมีและอิทธิพลอย่างสูงต่อ “กองทัพไทย” สถาบันที่แบกรับภาระหน้าที่ในการดูแลความมั่นคงของประเทศเอาไว้เต็มบ่า ทั้งยังเป็นสถาบันที่เป็น “ตัวแปร” ทางการเมืองมาทุกยุคทุกสมัย โดยครั้งหลังสุดก็คือเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร
โดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่ได้มองว่าการรัฐประหาร 19 กันยาฯ เป็นเรื่องเลวร้าย หรือ เสียของไปเสียทั้งหมด เพราะอย่างน้อยๆ รัฐประหาร 19 กันยาฯ ก็ได้นำความยุติธรรมบางส่วนกลับคืนสู่สังคมไทย อย่างน้อยๆ ก็คือ คดีความต่างๆ ที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้พิจารณาเสร็จสิ้นและส่งขึ้นไปสู่ชั้นอัยการและชั้นศาล ซึ่งนำมาสู่คำพิพากษาของศาลฎีกาที่ตัดสินจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ ในคดีจัดซื้อที่ดินรัชดาฯ และตัวอย่างที่ชัดเจนอีกประการก็คือ การยึดคืนไอทีวี แล้วแปลงมาเป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะ “ทีวีไทย” หรือ “ไทยพีบีเอส” ในปัจจุบัน เป็นต้น
ทั้งนี้ ด้วยความที่ “ป๋าเปรม” เป็นด่านสุดท้ายของการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะประธานองคมนตรี ทั้งยังเป็นตัวแทนของความมั่นคงของกองทัพ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ท่านจะถูกลากให้เข้าไปเกี่ยวพันกับเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549
จริงๆ แล้ว หนังสือ “อมตะแห่งป๋าเปรม” ของคุณวาสนา ไม่ได้มีตัวละครเป็น “ป๋า” แต่เพียงคนเดียว แต่ยังบรรจุตัวละครอื่นๆ เอาไว้อีกมากมาย โดยนอกจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ถูกวางให้เป็น “อริ” ของป๋าแล้ว บุคคลที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดคนหนึ่งนั้นชื่อ “อนุพงษ์ เผ่าจินดา”
ไม่น่าแปลกใจที่ในหนังสือเล่มนี้ คุณวาสนาจะเขียนถึงบทบาทของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกไว้มากกว่านายทหารหลายๆ คน ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “ลูกป๋า” เพราะสถานการณ์บ้านเมืองในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมาซึ่งร้อนระอุจนเกือบปะทุเป็นสงครามกลางเมือง อันจะนำพาประเทศไปสู่ความล่มสลายนั้น จุดหักเหล้วนแล้วแต่อยู่ภายใต้การตัดสินใจของชายที่ชื่อ “อนุพงษ์” ทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มนี้ก็หลีกเลี่ยงที่จะเขียนถึง พล.อ.อนุพงษ์ ในเชิงวิพากษ์ แต่เลือกที่จะเขียนถึง พล.อ.อนุพงษ์ ในเชิงของตัวละครที่บอกเล่าเหตุการณ์เสียมากกว่า อย่างเช่น ในบทที่ 19 Power Play ที่กล่าวถึงงานสวดอภิธรรมศพมารดาของ พล.อ.อนุพงษ์ ที่วัดโสมนัสวรวิหารในช่วงค่ำวันที่ 29 พฤษภาคม 2551 ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ พล.อ.เปรม ต้องปะหน้ากับ พล.ต.ท.ทักษิณ ภายใต้การรับรู้และกระจายข่าวของ พล.อ.อนุพงษ์
“ค่ำนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ยังไม่ได้ให้คำตอบว่าจะมาร่วมงานสวดพระอภิธรรมศพ มารดาของ พล.อ.อนุพงษ์หรือไม่ แต่ตอนเย็นได้ส่ง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวมาก่อน พร้อมพวงหรีด พลางฝากกระซิบบอก พล.อ.อนุพงษ์ว่า แล้วจะมา แต่ยังไม่รู้วันไหน
“แต่ราวหกโมงเย็น คนสนิทของ พ.ต.ท.ทักษิณ โทรศัพท์แจ้งยังนายทหารคนสนิทของ พล.อ.อนุพงษ์ว่าจะมาร่วมงาน จากนั้นไม่กี่นาที ทางบ้านสี่เสาเทเวศร์ก็แจ้งเข้ามาว่า พล.อ.เปรมจะมาร่วมงานด้วย ฝ่ายคนใกล้ชิด พล.อ.อนุพงษ์ เกรงจะเกิดปัญหา จึงแจ้งไปทางคนใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ ทันทีว่า พล.อ.เปรม จะมา เพราะอาจทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เปลี่ยนใจมาร่วมงานวันอื่น แต่ปรากฏว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ตอบตกลงทันทีว่ายังไงก็จะมา เพราะเขาเองก็ต้องการหาจังหวะที่จะพบหน้า พล.อ.เปรม อยู่แล้ว นี่เป็นโอกาสทองเสียด้วย …” รายละเอียดในหนังสือระบุด้วยว่ารถขบวนของ พ.ต.ท.ทักษิณ มาถึงงานก่อนขบวนของ พล.อ.เปรม แต่มีการสั่งการให้ขับช้าและขับวนเพื่อรอจังหวะเหมาะสม (หน้า 184-185)
“ท่ามกลางช่างภาพและนักข่าวที่ปกติก็มาร่วมงานอยู่แล้ว และยิ่งมากขึ้นเมื่อคนใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ และ พล.อ.อนุพงษ์ กระซิบว่าจะมีภาพประวัติศาสตร์นี้ ก็ยิ่งทวีจำนวนมากจนเต็มล้นแสนชุลมุน” (หน้า 187)
ทว่า ผลลัพธ์จากภาพประวัติศาสตร์ ภายใต้การวางแผนของเพื่อน ตท.10 ที่ชื่อ ทักษิณและอนุพงษ์ กลับได้รับผลเป็นปฏิกิริยาของ พล.อ.เปรม ด้วยการเลี่ยงที่จะมางานพระราชทานเพลิงศพของมารดา พล.อ.อนุพงษ์ ในหลายวันต่อมา แต่เลือกที่จะมาในงานสวดวันสุดท้ายแทน ด้วยเหตุผลที่มีการคาดเดากันคือ พล.อ.เปรม ไม่ต้องการพบกับนายสมัคร และ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ต้องเดินทางมาร่วมงานพระราชทานเพลิงศพแน่นอน
การหลีกเลี่ยงที่จะไม่พบหน้า นายสมัคร และ พ.ต.ท.ทักษิณ ของ พล.อ.เปรม คงไม่ได้เกิดจากความถือตัว ถือตน แต่ผมคิดว่าวิญญูชนทั่วไปก็คงทราบดีว่า นายสมัคร และ พ.ต.ท.ทักษิณ เคยทำอะไร กำลังทำอะไร และวางแผนที่จะทำอะไร ทั้งกับตัว พล.อ.เปรมเอง สถาบันองคมนตรีที่ท่านดำรงตำแหน่งประธาน และสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นสถาบันที่คนไทยทั้งชาติเทิดทูน
ในช่วงเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา การแสดงพฤติกรรมเดินตามนายสมัคร ต้อยๆ ไปทุกหนทุกแห่ง การแสดงพฤติการณ์สนิทสนมเป็นส่วนตัวกับนายสมัคร และ พ.ต.ท.ทักษิณ ของ พล.อ.อนุพงษ์ ขณะที่กลับเพิกเฉยและนิ่งเฉย ต่อขบวนการหมิ่นประมาท ให้ร้าย และใส่ความเท็จต่อ พล.อ.เปรม และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การทำร้ายและเข่นฆ่าประชาชนในวันที่ 7 ต.ค. การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การบ่อนทำลายชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงการปล่อยให้ “กุ๊ยในเครื่องแบบทหาร” ที่ชื่อ ขัตติยะ สวัสดิผล ออกมาข่มขู่ และสร้างความปั่นป่วนให้สังคมได้อย่างไม่หยุดหย่อน ย่อมจะบอกเนื้อแท้ของ ผบ.ทบ. ผู้นี้ได้อย่างดีว่า เขาเป็นคนเช่นไร
เท่าที่ผมสังเกต ช่วงหลังที่ พล.อ.อนุพงษ์ ผู้นี้ต้องปรากฏกายต่อหน้าสื่อสารมวลชนบ่อยๆ เขามักจะสวมสายรัดข้อมือ (ริสต์แบนด์) สีเหลืองคู่กับเครื่องแบบเสมอๆ ไม่ว่าจะกับชุดเครื่องแบบลายพราง แขนสั้น แขนยาว คล้ายกับต้องการจะบอกว่า เขายังจงรักภักดีต่อสถาบันฯ
น่าแปลกนะครับที่ นายทหารที่สวมเครื่องแบบ กลับต้องหยิบ “สายรัดข้อมือเหลือง” มาเป็นตราประทับอีกชั้นหนึ่งว่าตัวเองจงรักภักดีและรักสถาบันฯ ทั้งๆ ที่ ในความเป็นจริงผู้ที่จะสวมเครื่องแบบทหารได้สนิทใจย่อมต้องเป็นทหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถอยู่แล้ว โดยมิต้องการ คำพูด เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดๆ มายืนยันอีกว่าตนเองเป็นทหารของชาติ ศาสน์ กษัตริย์ตัวจริง
ร้อยคำพูด พันสัญลักษณ์ เทียบไม่ได้หรอกครับกับ หนึ่งการกระทำ ... ท่านอนุพงษ์