ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ภาวะลงทุนอีสาน 3 ไตรมาสแรก บีโอไออนุมัติ 51โครงการ ร่วม 6 พันล้าน จากยื่นขอส่งเสริม 1.3 หมื่นล้าน ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนไทย เผยอุตฯเกษตรแปรรูปพุ่งต่อเนื่องขณะที่อุตฯ ยางแผ่นรมควันมาแรง โคราชยังครองแชมป์ลงทุนอีสานกวาดกว่า 2.2 พันล้านรวม 16 โครงการ ชี้อนาคตลงทุนไทยยังสดใส บีโอไอเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ ระบุนักลงทุนต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการแข่งขัน -พัฒนาระบบลอจิสติกส์ -บริหารต้นทุนค่าขนส่ง และยกระดับบริการให้ได้มาตรฐาน ย้ำอุตฯพลังงานและการพัฒนาลอจิสติกส์ เป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน
นายสุวิชช์ ฉั่ววิเชียร ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 2 (นครราชสีมา ) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงภาวะส่งเสริมการลงทุนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 ไตรมาส (มกราคม – กันยายน ) ปี 2551 ว่า มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 80 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 13,500 ล้านบาทจะก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 10,700 คน ในจำนวนนี้มีโครงการได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจาก บีโอไอ แล้ว ทั้งสิ้น 51 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 5,735 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงาน 8,281 คน จึงมีโครงการรอพิจารณา อีก 29 โครงการ เงินลงทุน 7,765 ล้านบาท จะก่อให้เกิดการจ้างงาน 2,338 คน
ทั้งนี้อุตสาหกรรมโดดเด่น ในภูมิภาคนี้ในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา ยังคงเป็นอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ได้แก่ กิจการเลี้ยงสัตว์ (ไก่เนื้อ ไข่ไก่ เป็ดเนื้อ สุกรพันธุ์) ,กิจการอบพืชไซโลและข้าวสารคัดคุณภาพ ,กิจการผลิตยางผสม และ ยางแผ่นรมควัน, กิจการผลิตอาหารแปรรูป
รองลงมาคือ อุตสาหกรรมเบา ได้แก่ กิจการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป กิจการผลิตเคหะสิ่งทอ กิจการผลิตพรม ,กิจการผลิตของเล่น ตามด้วย อุตสาหกรรมโลหะและชิ้นส่วนยานยนต์ ได้แก่ กิจการผลิตชิ้นส่วน Mould , ลูกสูบยานพาหนะ, กิจการผลิตระบบเบรก ABS , กิจการผลิตโครงสร้างหลังคาเหล็ก และอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ได้แก่ กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจาก Bio-Mass กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์
สำหรับสัดส่วนการลงทุนโดยรวมยังเป็นการลงทุนโดยหุ้นไทยทั้งสิ้นร้อยละ 69 เป็นโครงการร่วมหุ้นระหว่างหุ้นไทยกับหุ้นต่างชาติ ร้อยละ 23 ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ เบลเยียม ฝรั่งเศส และลงทุนโดยต่างชาติทั้งสิ้น ร้อยละ 8 ได้แก่ อเมริกา ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขส่งเสริมการลงทุนของ 3 ไตรมาสแรกปีนี้กับช่วงเดียวกันของปี 2550 ที่ผ่านมา พบว่า ทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุนต่ำกว่าปีที่ผ่านมาอย่างมาก โดย 3 ไตรมาสปี 2550 ภาคอีสานมีโครงการได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอจำนวน 83 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุนมากถึง 37,706 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงาน 18,950 คน เนื่องจากมีโครงการขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนและมีโครงการเดิมขยายการลงทุนเพิ่มจำนวนมาก แต่ปีนี้ประสบกับปัจจัยลบหลายด้านทั้งสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ และราคาน้ำมันที่ยังไม่นิ่ง
นายสุวิชช์ กล่าวต่อว่า โครงการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนของภาคอีสาน ช่วง 9 เดือนแรก ที่ผ่านมาแยกรายประเภทอุตสาหกรรมตามลำดับ ได้ดังนี้ 1.อุตสาหกรรมเกษตรและผลิตผลจากการเกษตร มีจำนวน 17 โครงการ เงินลงทุน 1,363 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 1,468 คน , 2.อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง จำนวน 13 โครงการ เงินลงทุน 1,204 ล้านบาท , 3.อุตสาหกรรมเบา (สิ่งทอ , ตัดเย็บเสื้อผ้า) จำนวน 7 โครงการ เงินลงทุน 255 ล้านบาท
4.อุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค จำนวน 5 โครงการ เงินลงทุน 1,116 ล้านบาท , 5. อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ กระดาษพลาสติก จำนวน 4 โครงการ เงินลงทุน 772 ล้านบาท , 6.อุตสาหกรรมเหมืองแร่ เซรามิกส์ และโลหะขั้นมูลฐาน จำนวน 2 โครงการ เงินลงทุน 553 ล้านบาท และ 7. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มี 3 โครงการ เงินลงทุน 472 ล้านบาท
ส่วนจังหวัดที่นักลงทุนให้ความสนใจเข้ามาลงทุนมากที่สุดใน 19 จังหวัด ภาคอีสาน อันดับ 1 ยังคงเป็น จ. นครราชสีมา มีโครงการได้รับส่งเสริมการลงทุน ทั้งสิ้น 16 โครงการ เงินลงทุน 2,264 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงาน 3,058 คน รองลงมาเป็น จ.ขอนแก่น มี 5 โครงการ เงินลงทุน 962 ล้านบาท ,จ.สุรินทร์ มี 4 โครงการ เงินลงทุน 197 ล้านบาท ,จ.อุดรธานี มี 4 โครงการ เงินลงทุน 153.5 ล้านบาท , จ. บุรีรัมย์ มี 3 โครงการ เงินลงทุน 540 ล้านบาท และจังหวัดที่ไม่มีผู้สนใจเข้าไปลงทุนหรือยังไม่มีโครงการได้รับส่งเสริมการลงทุนเลย คือ จ.ยโสธร, อำนาจเจริญ และ จ.นครพนม
นายสุวิชช์ ยังกล่าวถึง แนวโน้มภาวะการลงทุนของภาคอีสานช่วงไตรมาสสุดท้ายที่เหลือ ว่า จากตัวเลขที่นักลงทุนเข้ามายื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนยังมีมูลค่าสูง สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนยังมองเห็นศักยภาพในการลงทุนของไทยในอนาคต ซึ่งการลงทุนมีโอกาสปรับตัวดีขึ้นภายหลังจากการมีรัฐบาลใหม่ ประกอบกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนต่างๆ ตามนโยบาย “ปีแห่งการลงทุน 2551 -2552” เป็นมาตรการที่จะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น โดยมีมาตรการจูงใจให้มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ ทั้งเพื่อการขยายกำลังการผลิตและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
รวมทั้งปัจจุบันราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้นในอัตราที่ใกล้เคียงกับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยตัวแปรที่เป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุน ได้แก่ การลงทุนภาครัฐน่าจะเร่งตัวขึ้น ,ภาวะเศรษฐกิจไทยท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงต่อการชะลอตัว , อุตสาหกรรมพลังงานและการพัฒนาลอจิสติกส์ (Logistics) เป็นโครงการสำคัญเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบราคาน้ำมันในระยะยาว ลดต้นทุนด้านพลังงานและลดการพึ่งพาน้ำมัน จะมีส่วนช่วยให้เม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจกระตุ้นภาคผลิตและการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
ด้านนักลงทุนเองต้องปรับปรุงประสิทธิภาพในการแข่งขัน และพัฒนาระบบลอจิสติกส์และหาทางลดต้นทุนโดยบริหารจัดการการขนส่งให้มีต้นทุนต่ำที่สุด และปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการ
ดังนั้น คาดว่าภายหลังจากมีการแต่งตั้งบอร์ดบีโอไอแล้ว จะมีตัวเลขการลงทุนสูงขึ้น เพราะที่ผ่านมาต้องรอบอร์ดบีโอไออนุมัติอยู่อีกหลายโครงการ หากเร่งรัดการแต่งตั้งบอร์ดเร็วขึ้นจะทำให้ยอดส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นอีก
“นอกจากนี้ บีโอไอ ยังมีโครงการจัดโรดโชว์ไปต่างประเทศ ดึงต่างชาติเข้ามาลงทุนและเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนชาวต่างชาติที่จะลงทุนในไทย รวมถึงแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนด้วย” นายสุวิชช์ กล่าว