xs
xsm
sm
md
lg

IMF-EU-เวิลด์แบงก์ลงขันช่วย “ฮังการี”ให้กู้ก้อนโต$25,100ล.กอบกู้เศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์ – กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ), สหภาพยุโรป(อียู), และธนาคารโลกร่วมกันอนุมัติแผนการกอบกู้เศรษฐกิจมูลค่า 25,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯให้แก่ฮังการี เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของประเทศให้กลับคืนมาหลังถูกกระทบด้วยวิกฤตการเงินโลกอย่างรุนแรง
ไอเอ็มเอฟกล่าวในแถลงการณ์ว่ากองทุนสามารถบรรลุข้อตกลงกับฮังการีและจะให้เม็ดเงิน 15,700 ล้านดอลลาร์ซึ่งจะทยอยเบิกจ่ายกันภายใน 17 เดือนข้างหน้า ในขณะที่สหภาพยุโรปจะอัดฉีดเพิ่มเติมอีก 8,100 ล้านดอลลาร์ และธนาคารโลกก็จะให้อีก 1,300 ล้านดอลลาร์
ครั้งนี้นับเป็นความช่วยเหลือครั้งใหญ่ที่สุดที่ให้แก่ประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่ นับตั้งแต่วิกฤตการเงินคราวนี้เริ่มต้นขึ้น และฮังการียังกลายเป็นสมาชิกของอียูรายแรกที่ต้องการความช่วยเหลือและได้รับเงินไป เมื่อสัปดาห์ที่แล้วไอเอ็มเอฟก็เพิ่งอนุมัติความช่วยเหลือมูลค่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯแก่ไอซ์แลนด์ และ 16,500 ล้านแก่ยูเครน
ไอเอ็มเอฟแจ้งว่า คณะกรรมการบริหารของทางการทุนน่าจะสามารถอนุมัติความช่วยเหลือที่ให้แก่ฮังการีนี้ได้ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ภายใต้กระบวนวิธีตอบโต้วิกฤตฉุกเฉินอย่างรวดเร็วที่ถูกนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้งตั้งแต่ช่วงต้นเดือนนี้ หลังจากวิกฤตการเงินลุกลามจากสหรัฐฯมายังภาคพื้นยุโรป
“ทางการฮังการีได้จัดทำแผนกอบกู้เศรษฐกิจขึ้นมาซึ่งมีเป้าหมายจะทำให้เกิดเสถียรภาพขึ้นในไม่ช้า และทำให้ศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาวมีเพิ่มขึ้น” โดมินิก เสตราส์-คาห์น กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟกล่าวในคำแถลงการณ์

.
“ในขณะเดียวกัน แผนการนี้ก็ได้รับการออกแบบให้พลิกฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุนและเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดการเงินที่อยู่ในสภาพตึงตัวมาสองสามสัปดาห์แล้ว” เขาเพิ่มเติม
การอัดฉีดเงินเข้าสู่ฮังการีครั้งนี้ เป็นมูลค่าสูงกว่าโควตาในไอเอ็มเอฟของฮังการีถึงสิบเท่า และมากกว่าโควตาที่กำหนดให้ประเทศอื่น ๆกู้ยืมได้ถึงสามเท่า ประเทศสมาชิกของไอเอ็มเอฟนั้นได้รับโควต้าในไอเอ็มเอฟตามขนาดของเศรษฐกิจของประเทศเมื่อคิดเป็นสัดส่วนกับเศรษฐกิจโลกโดยรวม โควตานี้จะกำหนดภาระผูกพันทางการเงินระหว่างประเทศกับไอเอ็มเอฟ รวมทั้งสิทธิในการออกเสียง และกำหนดว่าประเทศจะสามารถกู้ยืมจากไอเอ็มเอฟได้เท่าไรอีกด้วย
ที่เศรษฐกิจของฮังการียับเยินจากวิกฤตการเงินครั้งนี้ก็เนื่องมาจากระบบธนาคารของประเทศมีพึ่งพาเม็ดเงินจากต่างประเทศอย่างมหาศาล ครั้นเมื่อเกิดปัญหาอันใหญ่โตมโหฬารขึ้นมา นักลงทุนก็ดึงเอาเม็ดเงินของตนเองออกมาจากประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลายเพื่อนำมาอุดรูรั่วในบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง
สเตราส์-คาห์นกล่าวว่าโครงการนี้จะช่วยให้ดุลการคลังของฮังการีดีขึ้น และก็เป็นปราการป้องกันภาคการเงิน
“แผนช่วยเหลือนี้จะรวมถึงมาตรการที่จะคงไว้ซึ่งสภาพคล่องทั้งในสกุลเงินท้องถิ่นและเงินตราต่างประเทศ รวมทั้งเพิ่มระดับของเงินทุนให้มากขึ้นซึ่งจะไปพยุงภาคการธนาคารให้ฟื้นคืนมาได้” เขากล่าว “มาตรการที่สำคัญในด้านการเงินจะช่วยลดความต้องการเม็ดเงินของรัฐบาลลง และประกันเสถียรภาพของหนี้ระยะยาวอีกด้วย”
ตลาดการเงินของฮังการีเมื่อวันอังคาร (28) ก็อยู่ในความสงบ ด้วยหวังว่าจะได้ข่าวดีจากไอเอ็มเอฟ แต่นายกรัฐมนตรีเฟเรง กีอูร์ซานีก็เตือนว่าในปีหน้า ฮังการีอาจจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างรุนแรงก็ได้
ในขณะเดียวกัน ธนาคารโลกก็กล่าวว่ากำลังคุยกับฮังการีเพื่อออกมาตรการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างในระบบเศรษฐกิจของประเทศซึ่งจะออกมาในรูปแบบของการพัฒนาในระยะยาว
“ความช่วยเหลือที่ธนาคารโลกจะให้นี้จะหนุนการออกแบบเพื่อการปฏิรูปในหลายภาคที่สำคัญของประเทศ อย่างเช่น ภาคการเงิน, การบริหารการคลัง รวมทั้งการปฏิรูปภาคสังคมด้วย” ออร์ซาเลีย คาลานโซปูลอส ผู้อำนวยของธนาคารโลกในเขตยุโรปกลางและบอลติกกล่าว “ซึ่งจะช่วยให้ประเทศมีเสถียรภาพในระยะยาวรวมทั้งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจด้วย”
กำลังโหลดความคิดเห็น