xs
xsm
sm
md
lg

“จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” เปิดตลาดเพลงไทยในเอเชีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” เปิดตลาดเพลงไทยในเอเชีย ลุยขายเพลงแนวป๊อป ส่ง “เป๊ก-ออฟ-ไอซ์ / บี้ / ชิน / เจมส์ / กอล์ฟ-ไมค์” เจาะคนท้องถิ่นที่ชื่นชอบเมืองไทย และขายเพลงลูกทุ่ง ส่ง “เสก โลโซ / พี สะเดิด / ต่าย อรทัย / ตั๊กแตน ชลดา” เจาะคนไทยทำงานต่างแดนแล้วคิดถึงบ้าน ชี้ญี่ปุ่นเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพและโอกาสเติบโตสูงสุดในเอเชีย เผยเป้าหมายต้องการเป็นผู้ให้บริการเพลงแบบครบวงจร ตอบสนองไลฟ์สไตล์คนทั่วเอเชีย คาดสิ้นปีนี้ “หน่วยธุรกิจจีเอ็มเอ็ม อินเตอร์ฯ” โกยรายได้ 40 ล้านบาท

นายสุรชัย เสนศรี กรรมการผู้จัดการ หน่วยธุรกิจจีเอ็มเอ็ม อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในเบื้องต้นบริษัทฯ มีแผนเข้าไปทำตลาดเพลงไทยในภูมิภาคเอเชีย 9 ประเทศที่มีศักยภาพและโอกาสเติบโตทางธุรกิจสูง ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ โดยเน้นจับมือกับพันธมิตรที่มีความแข็งแกร่งในประเทศนั้นๆ อาทิ เอเว็กซ์, โอเชียน บัตเตอร์ฟลาย, มิวสิก้า ฯลฯ ร่วมบริหารจัดการศิลปินและคอนเทนต์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้มีรายได้จากหลายช่องทางมากที่สุด เช่น รายได้จากธุรกิจขายซีดี วีซีดี และดีวีดีเพลง รายได้จากธุรกิจขายเพลงดิจิตอล รายได้จากธุรกิจโชว์บิซ เพื่อเป้าหมายการเป็นผู้ให้บริการเพลงแบบครบวงจร (Total Music Business) ตอบสนองไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคทั้งคนไทย และคนท้องถิ่นแต่ละประเทศทั่วเอเชีย

ทั้งนี้ บริษัทฯ แบ่งรูปแบบการดำเนินธุรกิจเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ 1.ขายเพลงแนวป๊อป เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายคนท้องถิ่นในประเทศนั้นๆ ที่ชื่นชอบเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมไทย อาหารไทย คนไทย หรือเคยมาเมืองไทย เพราะกลุ่มคนเหล่านี้จะรู้สึกคุ้นเคยกับเพลงไทย และ 2.ขายเพลงลูกทุ่ง เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายคนไทยที่ไปทำงานต่างแดนแล้วคิดถึงบ้าน (Home Sick Business) ซึ่งถือเป็นปีแรกที่บริษัทฯ เข้าไปดำเนินธุรกิจเพลงไทยในภูมิภาคเอเชียอย่างจริงจัง โดยคาดว่าสิ้นปีนี้ “หน่วยธุรกิจจีเอ็มเอ็ม อินเตอร์เนชั่นแนล” จะมีรายได้ประมาณ 40 ล้านบาท

สำหรับแผนดำเนินธุรกิจเพลงป๊อปในภูมิภาคเอเชีย ได้เข้าไปทำตลาดในญี่ปุ่น ด้วยการจับมือกับบริษัท เนสท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ค่ายเพลงในญี่ปุ่น เพื่อร่วมทำตลาดให้กับ “ไอซ์ ศรัณยู วินัยพานิช” ในญี่ปุ่นตั้งแต่ต้นปี 2550 เน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายคนญี่ปุ่นที่ชื่นชอบเมืองไทย โดยนำ 2 อัลบั้ม (คือ อัลบั้ม Ice และอัลบั้ม Party On Ice) และ 1 ซิงเกิ้ล (คือ เพลงอย่าเล่นตัว) เข้าไปวางจำหน่าย ปรากฏว่าผลตอบรับดีมาก ล่าสุดเตรียมนำอัลบั้มใหม่ Ice with U ซึ่งวางจำหน่ายในไทยแล้ว ไปจำหน่ายที่ญี่ปุ่นประมาณเดือนพฤศจิกายนนี้ จากนั้นเตรียมขยายตลาดไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ กลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาแมนดาริน ได้แก่ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ และกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาบาฮาซา ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ขณะที่แผนดำเนินธุรกิจเพลงไทยในญี่ปุ่นปี 2552 แบ่งออกเป็น ช่วงครึ่งปีแรกเตรียมทำตลาดให้กับ “เป๊ก-ออฟ-ไอซ์” และช่วงครึ่งปีหลังเตรียมทำตลาดให้กับ “บี้ สุกฤษฎิ์ วิเศษแก้ว”

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้เตรียมขยายธุรกิจขายเพลงแนวป๊อปไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตลอดปี 2552 ดังนี้ เตรียมทำตลาดให้กับ “ชิน ชินวุฒิ อินทรคูสิน” ในกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาแมนดาริน และกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาบาฮาซา / เตรียมทำตลาดให้กับ “เจมส์ เรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์” ในมาเลเซีย หลังจากประสบความสำเร็จในการทำตลาดเกาหลี / เตรียมทำตลาดให้กับ “กอล์ฟ-ไมค์” ในกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาแมนดาริน หลังจากที่ประสบความสำเร็จกับการทำตลาดในญี่ปุ่นและเกาหลี / เตรียมจัดโชว์บิซให้กับ 2 ศิลปินในสิงคโปร์ คือ ดา เอ็นโดรฟิน และแคลช ประมาณ 5 ครั้งต่อศิลปินต่อปี

ส่วนแผนดำเนินธุรกิจเพลงลูกทุ่งในภูมิภาคเอเชียในปี 2551 ได้เข้าไปทำตลาดในไต้หวัน โดยนำศิลปิน “เสก โลโซ” และ “พี สะเดิด” เข้าไปเจาะกลุ่มเป้าหมายคนไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแม่บ้านอาศัยในไต้หวันประมาณ 1 แสนคน ขณะเดียวกันเข้าไปทำตลาดในสิงคโปร์ โดยนำศิลปิน “ต่าย อรทัย” และ “ตั๊กแตน ชลดา” เข้าไปเจาะกลุ่มเป้าหมายคนไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานอาศัยในสิงคโปร์ประมาณ 5 หมื่นคน และในปี 2552 เตรียมเข้าไปทำตลาดในฮ่องกง เพื่อจับกลุ่มเป้าหมายคนไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแม่บ้านอาศัยในฮ่องกงประมาณ 50,000 คน และเตรียมเข้าไปทำตลาดในเกาหลีใต้ เพื่อจับกลุ่มเป้าหมายคนไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนุ่มสาวโรงงานอาศัยในเกาหลีใต้ประมาณ 150,000 คน

“ผมคิดว่าคีย์ ทู ซัสเซสของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ทางด้านการทำตลาดเพลงไทยในเอเชีย น่าจะอยู่ที่บริษัทฯ เป็นผู้ให้บริการเพลงแบบครบวงจร (Total Music Business) ที่มีคอนเทนต์และทาเลนต์ ทั้งแข็งแกร่งและใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ผนวกกับการหาพันธมิตรที่มีความแข็งแกร่งในท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อร่วมบริหารจัดการศิลปินและคอนเทนต์ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งผมเชื่อว่าถ้าเราวางโพซิชั่นนิ่งเพลงไทยดีๆ และเจาะตรงกลุ่มเป้าหมายจะมีโอกาสเป็น นิช มาร์เก็ต อิน เดอะ บิ๊ก เพราะคนเอเชียส่วนใหญ่ชื่นชอบความเป็นไทยอยู่แล้ว” นายสุรชัย กล่าว

สาเหตุที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจเพลงไทยในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากมองว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพและโอกาสเติบโตสูง เพราะปัจจุบันตลาดเพลงในภูมิภาคเอเชียมีมูลค่าประมาณ 127,821 ล้านบาท คิดสัดส่วนเป็น 17.8% ของตลาดเพลงทั่วโลกที่มีมูลค่าประมาณ 717,086 ล้านบาท โดยญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีศักยภาพและโอกาสเติบโตมากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย เพราะมีมูลค่าตลาดประมาณ 16 หมื่นล้านบาท (เทียบจาก 1 เหรียญสหรัฐเท่ากับ 34 บาท) จัดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา ตามด้วยเกาหลีใต้ ไทย ไต้หวัน จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ฯลฯ

“ผมมองว่าเทรนด์ตลาดเพลงเอเชีย ส่วนใหญ่นิยมฟังเพลงเอเชียด้วยกัน เพราะช่วงหลังเพลงตะวันตกค่อนข้างนำเสนอแนวเพลงเดิมๆ ขณะเดียวกันศิลปินตะวันตกอยู่ห่างไกลจับต้องยาก คือ ไม่ค่อยเข้ามาโปรโมตในเอเชียเหมือนในอดีต ขณะที่คนฟังสามารถหาดาวน์โหลดเพลงตะวันตกที่ตัวเองชื่นชอบบนอินเตอร์เนตได้ง่ายและสะดวก ส่วนผู้เล่นรายใหญ่ๆ ในเอเชีย ได้แก่ เอเว็กซ์ (Avex) เป็นผู้นำตลาดในญี่ปุ่น และครองส่วนแบ่งตลาดในไต้หวัน ฮ่องกง จีน และเกาหลี/ โอเชียน บัตเตอร์ฟลาย (Ocean Butterflies) ครองส่วนแบ่งตลาดภาษาแมนดาริน ได้แก่ ไต้หวัน ฮ่องกง จีน สิงคโปร์ และมาเลเซีย/ มิวสิก้า (Musica) เป็นผู้นำลำดับต้นๆ ในตลาดอินโดนีเซีย และมาเลเซีย” นายสุรชัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น