xs
xsm
sm
md
lg

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ผู้นำลัทธิครอบครัวนิยมคติ

เผยแพร่:   โดย: ว.ร.ฤทธาคนี

จากอนุสนธิปฏิกิริยาตอบโต้สังคมของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เมื่อทราบคำพิพากษาในวันที่ 21 ตุลาคม ที่ผ่านมา กรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยท่านทองหล่อ โฉมงาม ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา พร้อมทั้งองค์คณะอีก 8 ท่าน ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 2 ปีคดีฐานทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษก จำนวน 33 ไร่มูลค่า 772 ล้านบาท โดยอัยการสูงสุดเป็นโจทย์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภรรยาเป็นจำเป็น

และ 2 ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐร่วมกันเป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้ส่วนเสียในสัญญาที่กำกับหน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีอำนาจกำกับดูแล ควบคุม ตรวจสอบหรือดำเนินคดี และเป็นเจ้าพนักงานและผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือผู้ดูแลกิจการใด เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนหรือผู้อื่นตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ม. 4, 100 และ 122 และประมวลกฎหมายอาญา ม. 33, 83, 86, 91, 152 และ 157 ซึ่งท้ายคำฟ้องให้ยึดที่ดิน และเงินที่ซื้อที่อันเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำผิดให้ตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้พูดว่า “เนื่องจากคดีนี้ยังไม่ใช่การทุจริตเพียงแค่ผิดกฎหมายของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ”

เมื่อจอห์น ลอค (John Locke) นักปราชญ์การเมืองอังกฤษ ค.ศ. 1712-1778 และฌอน จาค รูสโซ (Jean Jacques Rousseau) นักปราชญ์การเมืองฝรั่งเศส ค.ศ. 1712-1778 โดยคนแรกได้รับอิทธิพลความคิดจากสงครามกลางเมืองอังกฤษ และคนหลังเป็นผู้จุดประกายการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งสัจธรรมการเมืองที่สองท่านพูดถึง ได้แก่ “หลักสัญญาประชาคม” อันหมายถึง “คำมั่นสัญญาที่ได้ให้ไว้แล้ว และต้องเข้าใจตามนั้นอย่างถ่องแท้” ของผู้ปกครองรัฐกับผู้ถูกปกครอง โดยฝ่ายถูกปกครองต้องเชื่อฟัง ส่วนอีกฝ่ายปกครองต้องมีความชอบธรรม อันหมายถึงความถูกต้องตามหลักธรรมและความถูกต้องตามนิตินัย

ถามว่า พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.พ.ศ. 2542 เกิดขึ้นมาเพื่ออะไร ก็เพื่อทั้งป้องกันและปราบปรามการทุจริตของข้าราชการ และนักการเมือง เพื่อยุติหลักการ De Facto ในการเปลี่ยนแปลงการบริหารของรัฐบาลชั่ว ด้วยการรัฐประหารอันเป็นวิธีหนึ่งที่ร้ายแรงในการขจัดพฤติกรรมชั่วของรัฐบาล และเป็นมาตรการสุดท้ายในการตรากฎหมายใช้บังคับแทนการใช้หลักการ De Jure ในการเอาโทษการเสียสัตย์ เสียคำพูด การตระบัดสัตย์คำสาบานที่ผู้ปกครองหรือผู้มีอำนาจรัฐได้ให้ไว้กับประชาชนว่าจะไม่เอาเปรียบพลเมืองในอาณัติทุกมิติเล่ห์กล ทุกกระบวนวิธีการให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ของตัวเองและพวก

คำว่า คอร์รัปชันในภาษาอังกฤษมีความหมายกว้างขวางลึกซึ้ง แต่สรุปได้ว่าเป็นการกระทำที่ชั่วร้ายปราศจากคุณธรรม จริยธรรม ทำให้เสื่อมเสีย คดโกง เอาเปรียบด้วยเล่ห์ ขาดความบริสุทธิ์ใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเชิงเทคนิคแล้วหมายถึงวลีความหมายอธิบายว่า องค์กรใดๆ ที่ผูกพันกันและกัน เช่น รัฐบาลกับประชาชนแต่ไม่ได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ต่อกันดังเจตนารมณ์ หรือไม่กระทำการใดๆ ที่ตั้งใจแก้ไขให้ดีกว่าเดิมแต่กลับให้เลวร้ายกว่าเดิม องค์กรนั้นมีพฤติกรรมคอร์รัปชัน

ในฐานะเป็นนักกฎหมายที่เคยครองตำแหน่งบริหารสูงสุดในสายงานยุติธรรม ยังมีหน้ามาบอกว่า “คดีที่พี่เขยหรือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้กระทำไปนั้น ยังไม่ใช่การทุจริต” แล้วมาตรฐานคำว่า ทุจริตในสังคมไทยอยู่ที่ไหนจึงเรียกว่าทุจริตหรือไม่ทุจริต นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ช่วยอธิบายสังคมด้วยเพื่อเป็นความรู้และทำตัวได้ถูกตามมาตรฐานรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์

แต่ที่แน่นอนคงไม่ใช่มาตรฐานสากลอย่างแน่นอน เพราะตัวเขาเองก็อาจจะเติบใหญ่ในวงการราชการที่เป็นแบบลัทธิครอบครัวนิยมคติ (Nepotism) ก็ได้ เพราะขณะพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เขาก็ได้ตำแหน่งตามลัทธินิยมนี้ด้วยการต่ออายุในตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรม 2542-2549 ปิดทางข้าราชการคนอื่น และโยกไปเป็นปลัดกระทรวงแรงงาน เพียงช่วงสั้นๆ 8 มี.ค.-ก.ย. 2549 ด้วยแรงการเมืองของภรรยาซึ่งเป็นน้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีตามทฤษฏีกิเลส 5 ขั้นของ อับราแฮม มาสโลว์

ผลงานของนายกรัฐมนตรีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 นั้น บ่งบอกไปถึงขีดความสามารถในการบริหารจัดการอำนาจรัฐ เพราะผู้นำที่ดีจะต้องกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการใช้อำนาจรัฐกับราษฎรที่ต่อต้านความไร้ความชอบธรรมของรัฐ หรือนายสมชายรู้ดีว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ไม่สามารถทัดทานกลุ่มบุคคลที่บงการเขาอยู่เบื้องหลังได้ หรือนายสมชายต้องการตอบแทนผู้ทำให้เขาได้ดิบได้ดี หรือต้องการเอาใจคนในครอบครัว หรือเอาใจคนที่ยกยอปอปั้น หรือนายสมชายกลัวที่จะเป็นผู้ที่ไม่มีคุณค่าของกลุ่มการเมือง หรือโรคกลัวมีปมด้อยจึงต้องสร้างปมเด่นหรือ Inferior Complex to Superior Complex Syndrome

รัฐบาลนี้หรือรัฐบาลที่แล้วก็ตาม ไม่รู้จักระบอบคุณธรรมาธิปไตยหรือ Meritocracy ซึ่งเป็นคำที่บัญญัติครั้งแรกใน ค.ศ. 1958 โดยไมเคิล ยัง (Michael Young) ผู้แต่งหนังสือเรื่อง Rise of Meritocracy ที่กล่าวว่าเป็นระบบการบริหารแผ่นดินของรัฐบาลที่แต่งตั้งคนที่มีความซื่อสัตย์สุจริต และความรู้ความสามารถอยู่เหนือสิ่งอื่นใดเท่านั้น ถึงแม้ว่าคนคนนั้นจะเป็นคนที่ได้รับความนิยมชมชอบจากกลุ่มคนหมู่หนึ่ง และในระบบ Meritocracy นี้ สังคมจะเป็นผู้ตอบแทนความดีความชอบเอง และอดีตประธานาธิบดีคนที่ 3 ของสหรัฐฯ โทมัส เจฟเฟอร์สัน หนึ่งในปิตุรัฐ และคนร่างรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ก็เป็นคนที่นิยมระบบลักษณะ Meritocracy จึงทำให้รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ มีกฎเกณฑ์มากมายในเรื่องการป้องกัน Nepotism ลัทธิครอบครัวนิยม

อย่างไรก็ตาม สถานีวิทยุโทรทัศน์ BBC ในส่วน online พาดหัวข่าวว่า อดีตนายกรัฐมนตรีไทยผิดข้อหาคอร์รัปชันให้คนทั้งโลกได้อ่านแล้วโดยละเอียด

และคนอังกฤษรู้ดีว่า กฎหมายอันเกิดจากหลัก De Facto ก็เป็นกฎหมายครับ เพราะมีกฎหมายต่างๆ ลักษณะนี้เกิดขึ้นมาในช่วงสงครามกลางเมืองอังกฤษ ระหว่างรัฐสภากับราชภักดีช่วง ค.ศ. 1641-1651 ซึ่งกฎหมายจากการปฏิวัติรัฐประหารของอังกฤษบางฉบับที่ตราในขณะนั้นมีคุณธรรมและคุณประโยชน์ก็ยังใช้อยู่ในปัจจุบันตามหลักกฎหมายจารีตประเพณี
กำลังโหลดความคิดเห็น