xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อไวน์ชั้นเลิศหรู ขอย้ายตู้ไปอยู่ที่จีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สถาบันประมูลอย่างโซเทอร์บี้และคริสตี้ พูดตรงกันว่าเดือนนี้ เมืองใหญ่ทางใต้ของจีนได้แซงหน้านิวยอร์คและลอนดอนในการเป็นตลาดค้าเหล้าไวน์หายากไปแล้ว (ภาพเอเอฟพี)
เอเจนซี-ความไม่แน่นอนของราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ และวิกฤติการเงินจากอสังหาริมทรัพย์ ที่ผ่านมา ทำให้บรรดานักลงทุนชาวจีน แบ่งความสนใจไปให้กับไวน์ชั้นดี เพราะบรรดาผู้มีจะกินและที่เริ่มมีเงินเหลือเฟือ เห็นว่า ไวน์ชั้นเลิศเป็นสินทรัพย์ที่ลงทุนไม่แพง มีความเสี่ยงต่ำกว่าเมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่นๆ แถมยังได้ให้มิติทางรสนิยมที่หลากหลายกว่า ซื้อง่ายขายก็คล่อง จะเก็บไว้นานๆ ก็มีแต่ราคาเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นการรับประกันผลตอบแทนระยะยาว

นักลงทุนจีนที่กำลังหันมาสะสมเหล้าไวน์ เพื่อเป็นทางเลือกของการลงทุนนี้ ทำให้เกิดการนำเข้าไวน์หลั่งไหลไปที่จีนคับคั่งตลอดหลายปีมานี้ รวมไปถึงการเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมไวน์ของจีนเองด้วย

"หลักทรัพย์พวกหุ้นอย่าง เอชเอสบีซี เราหาซื้อได้ไม่ยาก เพราะมีอยู่ในตลาดตลอดเวลา" จอร์จ ถ่ง เจ้าของกิจการของเล่น และนักลงทุนไวน์กล่าวกับเอเอฟพี

"ไม่เหมือนกับเหล้าไวน์ชั้นเลิศ ที่ต้องเฟ้น ราคาไม่เคยตก มูลค่ามีแต่เพิ่มขึ้นตามเวลา" เขาบอก

"ทุกครั้งที่มีใครสักคนเปิดขวดไวน์ Chateau Lafite-Rothschild ปี 1982 ก็จะมีขวด Lafite-Rothschild น้อยลงไปอีกขวด" เขากล่าวถึงหนึ่งในไวน์ที่หายากที่สุด

ในสังคมจีน เหล้าสุรา หรือไวน์ชั้นเลิศเป็นเครื่องแสดงสถานะสำหรับมหาเศรษฐี พอๆ กับ เป็นอำนาจในการสร้างมิตรภาพทางธุรกิจ มีมิตินัยยะทางวัฒนธรรมแฝงอยู่มาก คนจีนนิยมแสดงการให้คุณค่ากับแขกด้วยชนิดของสุราที่เขารินเสิร์ฟ และเพื่อที่จะตอบแทนมิตรภาพนั้น อีกฝ่ายต้องเสิร์ฟสุราในระดับชั้นเดียวกันกลับไปเช่นกัน

คนรวยผู้มั่งคั่ง และชนชั้นกลางจีนที่เพิ่งเขยิบฐานะขึ้นมา มีความรู้เกี่ยวกับไวน์ของตะวันตกมากขึ้น และตามล่าหาไวน์หายาก โดยส่วนใหญ่กำลังพุ่งความสนใจไปที่เมืองบอร์กโด ฝรั่งเศส ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีบริษัทจีน เข้าไปถือหุ้นในกิจการเหล้าไวน์ของฝรั่งเศสบ้างแล้วอย่าง “ฮ่องกง เอ แอนด์ เอ อินเตอร์เนชั่นแนล” ก็เพิ่งจะเข้าไปถือหุ้นใหญ่บริษัทผลิตไวน์ "ชาโตว์ รีเชอลิเยอร์" ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านการผลิตไวน์ชั้นเยี่ยม ในแคว้นบอร์กโด ทางตะวันตกเฉียงใต้ ประเทศฝรั่งเศส และเป็นของนักการเมืองฝรั่งเศสชื่อ คาร์ดินาล เดอ รีเชอลิเยอร์ ตามที่บริษัท เอ็มเค ไฟแนนซ์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาการลงทุนให้แก่ฮ่องกง เอ แอนด์ เอ เปิดเผย

ดีลครั้งนั้น มาร์ค ซาเบท ที่ปรึกษาด้านการเงินและเป็นนายหน้าฯ เผยว่า เป้าหมายของข้อตกลงดังกล่าวคือการควบคุมแบรนด์ เพื่อกระจายการผลิตไวน์ 70,000 ขวดของชาโตว์ฯ ในประเทศจีน ซึ่งฟิลลิปเป ลาเกเช ผู้จัดการใหญ่ของบริษัท อีวอง โม ผู้ค้าไวน์บอร์กโดรายใหญ่อันดับ 5 ของโลกซึ่งมีรายได้ 100 ล้านยูโรต่อปีก็มองว่า เป็นหมากธุรกิจของนักลงทุนจีนที่ฉลาดมาก ทั้งนี้ ปัจจุบัน อีวอง โม ส่งออกสินค้ามายังจีนรวมมูลค่าทั้งสิ้น 5 ล้านยูโร และตั้งเป้าทำยอดขายถล่มทลายในอนาคต

ซาเวียร์ เดอ อิซากีร์ ประธานไวน์เอ็กโป ผู้จัดนิทรรศการแสดงเหล้าไวน์และเครื่องดื่มระดับโลก ได้ทำนายว่า จีนซึ่งมีผู้ดื่มไวน์มาก ติดสิบอันดับแรกของโลกในปี 2551 จะมีผู้บริโภคมากขึ้นเป็นอันดับที่ 7 ในปี 2555 สืบเนื่องจากความพิสมัยไวน์รสนุ่มของชนชั้นกลางจีนที่ขยับปริมาณขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายในการรุกสู่ตลาดจีน เพราะเป็นเรื่องยากที่จะหาตัวแทนกระจายสินค้าที่เชื่อใจได้ และการทำธุรกิจแบบนี้ต้องลงทุนทั้งเวลา เงิน รู้จังหวะการซื้อขาย แล้วก็ศึกษาความรู้เรื่องไวน์มาอย่างดี

คริสตอฟ ทรูอิน ผู้จัดการฝ่ายส่งออกของ เลส์ กรองด์ เช เดอ ฟรองซ์ (GCF) ผู้ส่งออกไวน์รายใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส แก้ปัญหานี้ด้วยการหาคู่หุ้นส่วนชาวจีนเรียบร้อยแล้ว GCF ได้ประกาศว่า บริษัทจีน ไดแนสตี้ ไฟน์ ไวน์ จะเป็นตัวแทนกระจายสินค้าให้แก่ GCF

แต่ถึงแม้ว่าจะมีเครือข่ายกระจายสินค้าและคู่หุ้นส่วนในพื้นที่แล้วก็ตาม ปัญหายังคงมีอยู่ คือลูกค้าชาวจีนยังมีความรู้เกี่ยวกับไวน์และฉลากน้อยมาก จะเรียกว่าไม่มีความรู้เลยก็ได้ เวลาจะเลือกไวน์ก็เลยอยู่บนพื้นฐาน 2 ปัจจัย คือ ราคาและบรรจุภัณฑ์ การเปิดสถาบันศึกษาเรื่องไวน์ขึ้นรองรับจึงเป็นเรื่องจำเป็น เช่นในเซี่ยงไฮ้ ที่เริ่มมีสถาบันศึกษาเรื่องไวน์และยังเป็นแหล่งเก็บไวน์ที่ใหญ่ที่สุดของศูนย์กลางการเงินแห่งประเทศนี้ด้วย

เผิง เจี่ย ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาเรื่องไวน์ ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ร่วมมือกับบริษัทวิจัย ไวน์ แอนด์ สปิริต เอดูเคชั่น ทรัสต์ ในลอนดอน พร้อมทั้งรับสมัครบริกรให้บริการเครื่องดื่มไวน์ระดับมือรางวัลและนักชิมไวน์มาให้ความรู้ที่สถาบันด้วย โดยสถาบันของเผิงนั้นเพิ่งเปิดสอนเมื่อเดือนที่แล้ว แต่ปรากฏว่ามีบรรดาผู้นิยมดื่มไวน์จำนวนมากหลั่งไหลมาเรียนเสียเอง

เผิงเชื่อว่า การสร้างผู้เชี่ยวชาญเรื่องไวน์เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างตลาดให้เข้มแข็ง เขาให้ความเห็นว่า "หากไม่รู้ว่าจะเลือกไวน์และตั้งราคาอย่างไร ตลาดก็จะสับสน เพราะต่อไปมีแนวโน้มว่าราคาของไวน์จะขึ้นลงตามตลาดจีน อย่างเช่นราคาของไวน์ Domain de la Romanee Conti ปี 2005 ที่กระโดดจาก 2,000 เหรียญสหรัฐ ในปี 2548 เป็น 8,200 เหรียญสหรัฐ ในปีต่อมา”

แนวโน้มการลงทุนในไวน์ที่คึกคักในฮ่องกง มีส่วนมาจากการที่รัฐบาลฮ่องกงยกเลิกเก็บภาษีสุรา 40 เปอร์เซนต์ เมื่อปีที่แล้ว และมีตลาดที่ใกล้ชิดติดกับแผ่นดินใหญ่

สถาบันประมูลอย่างโซเทอร์บี้และคริสตี้ พูดตรงกันว่าเดือนนี้ เมืองใหญ่ทางใต้ของจีนได้แซงหน้านิวยอร์คและลอนดอนในการเป็นตลาดค้าเหล้าไวน์หายากไปแล้ว

โซเทอร์บี้ ระบุยอดประมูลกว่า 14.3 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการเปิดประมูลเพียงสองครั้งในฮ่องกงปีนี้ สูงกว่ากรุงลอนดอนเกือบสองเท่า ซึ่งมีการประมูลฯ ร่วม 8 ครั้งในปีนี้

การประมูลครั้งล่าสุดของโซเทอร์บี้ในเดือนตุลาคม เป็นผู้ซื้อจากแผ่นดินใหญ่ ถึง 35 เปอร์เซนต์ของผู้ซื้อทั้งหมด เปรียบกับเมื่อเดือนเมษายนที่มี 10 เปอร์เซนต์ ในการประมูลภายในประเทศ

โฆษกฯ ของโซเทอร์บี้ บอกว่า ในเดือนตุลาคมนั้น ยอดขายได้สูงขึ้นไปถึง 30 เปอร์เซนต์ ซึ่งสูงกว่าที่คาดกันไว้ เมื่อผู้ซื้อชาวจีน ที่ไม่ประสงค์ออกนาม ได้ประมูลไวน์ Chateau Petrus Imperial ปี 1982 ไปด้วยราคาสถิติโลก 94,000 เหรียญสหรัฐ

ขณะที่คู่แข่งอย่างคริสตี้ เพิ่มเติมว่า การประมูลไวน์ในฮ่องกงมียอดเฉลี่ยต่อรอบประมูลสูงที่สุดในโลก คืออยู่ที่ 150,000 เหรียญสหรัฐต่อรอบฯ

คนรวยล้วนมีเหตุผลในการประมูลซื้อไวน์ราคาแพง แต่สำหรับบางคน กลับให้เหตุผลในการลงทุนในมิติที่ต่างออกไป เช่นเหตุผลของ ซามูเอล ยัง นักวางแผนการลงทุน ซึ่งซื้อไวน์หายากมากกว่า 10 ขวด ในงานประมูลของโซเทอร์บี้ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

เขาบอกว่าจะเก็บไวน์ไว้ขายให้กับเฉพาะลูกค้าระดับสำคัญของเขา "ถ้ามีลูกค้าคนไหน อยากจะซื้อไวน์ที่ผมประมูลมาได้ ผมก็จะขายไวน์ให้กับเขาเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีโดยไม่คิดจะเอากำไร"

ซามูเอล ให้เหตุผลว่า "สำหรับผม การหาอะไรดีๆ มาให้แก่ลูกค้า ก็คือการลงทุนอย่างหนึ่ง"







กำลังโหลดความคิดเห็น