xs
xsm
sm
md
lg

จีนผ่อนกฏลงทุนต่างประเทศ โอกาสการค้า-การลงทุนของไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ระยะนี้ เชื่อว่านักลงทุนหลายคนคง ได้ยินข่าวเรื่องที่รัฐบาลไทยให้การสนับสนุนนักลงทุนจากประเทศจีนที่จะเข้ามาลงภายในประเทศ เเน่นอนว่าย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงาน หรือการส่งออก ทั้งนี้ จากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ที่ถือว่ารุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ส่งผลให้เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของจีนในปีนี้ ต้องประสบภาวะหดตัวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากธุรกิจต่างประเทศได้ชะลอขยายการลงทุนเนื่องจากปัญหาทางสภาพคล่องทางการเงิน

ขณะเดียวกัน เป็นที่น่าสังเกตว่า การลงทุนนอกประเทศของจีน เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2546 โดยจีนมีมูลค่าการลงทุนออกนอกประเทศในปี 2551 เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจาก 21.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2550 เป็น 52.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (รวมการลงทุนในภาคการเงินที่มีมูลค่า 11.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) อย่างไรก็ตาม คาดว่ามูลค่าการลงทุนนอกประเทศของจีนมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยการลงทุนออกนอกประเทศของจีนในปีนี้น่าจะยังคงเติบโตได้ เนื่องจากธุรกิจในจีนประสบปัญหาจากวิกฤตการเงินโลกครั้งนี้ไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศตะวันตก และความมีศักยภาพด้านการเงินน่าจะทำให้ธุรกิจจีนแสวงหาโอกาสการขยายการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น

โดยในเดือนมิถุนายน 2552 ทางการจีนประกาศผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อให้บริษัทจีนออกไปลงทุนต่างประเทศได้สะดวกขึ้น ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2552 โดยได้ขยายแหล่งเงินทุนของบริษัทจีนที่จะสามารถใช้เป็นเงินสำหรับการออกไปลงทุนนอกประเทศได้มากขึ้นและอนุญาตให้ใช้เป็นเงินทุนเพื่อโอนไปต่างประเทศโดยไม่ต้องขออนุมัติจากทางการก่อน นอกจากนี้ บริษัทจีนยังสามารถใช้เงินสนับสนุนการออกไปลงทุนต่างประเทศโดยการซื้อเงินตราต่างประเทศหรือกู้ยืมจากธนาคารท้องถิ่น และอนุญาตให้ใช้รายได้จากการลงทุนในต่างประเทศลงทุนต่อได้ ซึ่งก่อนหน้านั้นในเดือนมีนาคม ทางการจีนได้ประกาศเพิ่มอำนาจให้รัฐบาลท้องถิ่นสามารถอนุมัติการลงทุนต่างประเทศได้เพื่อลดกระบวนการของภาครัฐ คาดว่าทางการจีนจะทยอยออกมาตรการเพื่อกระตุ้นให้ธุรกิจในจีนออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น

การไหลออกของเงินทุนไปต่างประเทศของจีนมีส่วนช่วยลดมูลค่าเกินดุลชำระเงินระหว่างประเทศของจีนซึ่งถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาการแข็งค่าของเงินหยวนในภาวะที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลซ้ำเติมต่อภาคส่งออกของจีนที่ต้องประสบภาวะหดตัวจากอุปสงค์ในตลาดต่างประเทศที่ยังคงซบเซาในปัจจุบัน

นอกจากมาตรการผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อสนับสนุนการลงทุนในต่างประเทศแล้ว ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้การลงทุนโดยตรงของจีนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่

(1) ยุทธศาสตร์ของทางการจีนที่ต้องการออกไปแสวงหาความมั่นคงด้านแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติด้านพลังงานในต่างประเทศซึ่งจำเป็นต่อการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจจีนในฐานะที่เป็นประเทศที่บริโภคพลังงานเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เช่น การเข้าไปลงทุนผลิตน้ำมันในแอฟริกา ตะวันออกกลาง และรัสเซีย รวมถึงการลงทุนด้านเหมืองแร่ในออสเตรเลีย

(2) การเข้าไปลงทุนผลิตสินค้าเกษตรในต่างประเทศทั้งพืชพลังงานและพืชเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบ สำหรับการผลิตในภาคอุตสาหกรรม แหล่งลงทุนสำคัญ ได้แก่ ภูมิภาคอินโดจีนซึ่งมีแหล่งผลิตทางการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ ได้แก่ กัมพูชา (ลงทุนผลิตสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป และเหมืองแร่) ลาว (ลงทุนผลิตยางพารา) รวมถึงพม่าที่เข้าไปลงทุนสำรวจก๊าซและทำเหมืองแร่

(3) การออกไปลงทุนในแหล่งผลิตที่มีต้นทุนแรงงานต่ำกว่า เช่น เวียดนาม และแอฟริกา

(4) การลงทุนในต่างประเทศเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกด้านการดำเนินธุรกิจ เช่น การทำธุรกิจบริการด้านการขนส่งและประกันภัย โดยส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติที่เข้าไปลงทุนผลิตในจีนเพื่อส่งออก รวมถึงบริษัทท้องถิ่นในจีนที่มีขนาดใหญ่และส่งออกในสัดส่วนสูงซึ่งจำเป็นต้องใช้บริการเหล่านี้ รวมถึงการออกไปลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและโลจีสติกส์ในเส้นทางเศรษฐกิจและคมนาคมของภูมิภาคเพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

(5) การลงทุนในต่างประเทศของวิสาหกิจภาครัฐในจีนที่เคยมีบทบาทสูงในภาคธุรกิจจีนด้วยอำนาจการผูกขาด แต่เริ่มมีบทบาทเริ่มลดลงจากการทยอยเปิดเสรีภาคธุรกิจของทางการจีน ทำให้วิสาหกิจเหล่านี้จำเป็นต้องออกไปแสวงหาโอกาสการสร้างรายได้ของธุรกิจในต่างประเทศมากขึ้น

บทบาทการลงทุนของจีนในอาเซียนและไทย
อานิสงส์จากความตกลงด้านการลงทุนและการเปิดเสรีภาคบริการระหว่างอาเซียนกับจีนที่คาดว่าจะช่วยส่งเสริมบทบาทด้านการลงทุนของจีนในอาเซียนและไทยทั้งด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ คาดว่าการเจรจาเปิดเสรีภาคบริการรอบที่ 2 น่าจะได้ข้อสรุปในปีนี้ และอาจมีผลบังคับใช้ได้ในปี 2553 ทำให้อาเซียนเป็นแหล่งลงทุนที่เปิดกว้างมากขึ้นสำหรับนักลงทุนจากจีน สาขาที่อาเซียนและไทยมีแนวโน้มเปิดให้นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น เช่น ธุรกิจก่อสร้าง และธุรกิจขนส่งสินค้า

บทบาทด้านการลงทุนของจีนในอาเซียนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น คาดว่าจะส่งผลให้สัดส่วนการลงทุนของจีนในอาเซียนเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป จากในปัจจุบันจีนยังเข้ามาลงทุนในอาเซียนไม่มากนัก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.4 ของมูลค่า FDI ทั้งหมดในอาเซียนในปี 2551 เมื่อเทียบกับสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ที่มีมูลค่าการลงทุนในอาเซียน สัดส่วนร้อยละ 20.6 ร้อยละ 12.6 และร้อยละ 5.3 ตามลำดับอาเซียน โดยอุตสาหกรรมของไทยที่มีศักยภาพและคาดว่ายังมีโอกาสเติบโตได้น่าจะดึงดูดให้นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น ที่สำคัญ ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอาหาร รวมทั้งภาคธุรกิจบริการด้านท่องเที่ยว และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านโครงสร้างพื้นฐาน

สำหรับการลงทุนของจีนในไทยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ นั้น แม้ว่าจะมีปัจจัยลบจากภาวะเศรษฐกิจจีนในครึ่งแรกของปีนี้ที่เติบโตชะลอเหลือร้อยละ 7.1 (YoY) จากที่ขยายตัวร้อยละ 9.0 ในปี 2551 เนื่องจากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลให้ภาคส่งออกของจีนทรุดตัวรุนแรง ภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่ส่งผลให้ภาคธุรกิจในจีนประสบผลกำไรที่ปรับลดลง แต่มูลค่าโครงการลงทุนของจีนที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในไทยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ยังคงเพิ่มขึ้น

ส่วนหนึ่งเนื่องจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปี 2551 โดยโครงการลงทุนของจีนที่ยื่นขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนในไทยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าโครงการลงทุน โดยขยายตัวร้อยละ 43 และร้อยละ 182 ตามลำดับ

ขณะที่การลงทุนของจีนในไทย มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในฐานะที่ไทยเป็นแหล่งลงทุนสำคัญอันดับต้นๆ ของอาเซียน โดยมีมูลค่า FDI ในไทยสูงเป็นอันดับที่ 2 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และถือว่าไทยเป็นแหล่งลงทุนที่มีศักยภาพในหลายสาขา เช่น ยานยนต์/ชิ้นส่วน คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอาหาร ภาคบริการด้านท่องเที่ยว ก่อสร้าง และบริการด้านสุขภาพ ทั้งนี้ นักลงทุนจีนได้ให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทยหลายสาขา

โดยคาดว่าการลงทุนของจีนในไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้น่าจะขยายตัวดีขึ้นจากช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ที่มีโครงการลงทุนของจีนที่เข้ามาขอรับส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 507.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 182 จากช่วงเดียวกันของปี 2551 (YoY) สะท้อนจากการประชุมเจรจาจับคู่ทางธุรกิจระหว่างไทยกับจีนในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาที่มีนักลงทุนจีนให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทยหลายสาขา โดยคาดว่าบางโครงการที่มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) แล้วรวม 9 คู่ น่าจะเริ่มทยอยลงทุนในไทยได้ในปีนี้ สาขาที่คาดว่าจะมีนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหารแปรรูป เครื่องดื่ม ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมเบา รวมทั้งธุรกิจภาคบริการหลายสาขา ได้แก่ โรงแรม ศูนย์บริการสุขภาพ ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ และธุรกิจสปา

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย



กำลังโหลดความคิดเห็น