xs
xsm
sm
md
lg

สงครามครั้งสุดท้าย บทเสนอเรื่อง “การเมืองใหม่” (ตอน 4)

เผยแพร่:   โดย: ยุค ศรีอาริยะ

ในงานสัมมนาเล็กๆ หลังจากทักทายกับบรรดามิตรสหายแล้ว เพื่อนคนหนึ่งก็ขอให้ผมเริ่มนำการแลกเปลี่ยนสัมมนา

ผมกล่าวว่า

“ก่อนอื่น ผมขอปูฐานความเข้าใจเรื่องการเมืองก่อน

โดยทั่วไป เราส่วนใหญ่จะเข้าใจคำว่า การเมือง จากทฤษฎีตะวันตก ซึ่งมักจะเข้าใจการเมืองแบบแยกส่วน ราวกับว่า การเมือง คือพื้นที่พิเศษที่ถือครองโดยชนชั้นผู้ปกครอง พื้นที่ส่วนนี้มีศูนย์กลางคือ ทำเนียบรัฐบาล สภา และกระทรวงทบวงกรมต่างๆ นี่คือพื้นที่ที่เป็นศูนย์แห่งอำนาจการปกครอง หรือเรียกว่า ‘อำนาจรัฐ’

วิธีคิดเช่นนี้มาจากความเชื่อพื้นฐานว่า ผู้ถูกปกครองไม่สามารถปกครองตนเองได้ จึงจำต้องมีฐานะเป็นเพียงไพร่ หรือประชาชน และต้องมีบรรดาเจ้านายคอยดูแล หรือแม้ในระบบการปกครองที่เรียกว่า ประชาธิปไตย(รัฐสภา) ประชาชนทั่วไปก็ยังมีฐานะเป็น ‘กบ’ มีสิทธิประชาธิปไตยเฉพาะตอนไปเลือกนายเท่านั้น

หลักคิดนี้ได้กลายเป็นที่มาหรือข้ออ้างของนักลากตั้งทั้งหลายที่ชอบแอบอ้างเสมอว่า หลังเลือกตั้งแล้ว อำนาจในการปกครองทั้งหมดได้กลายเป็นอำนาจของพวกเขาแล้ว ดังนั้น พวกเขาจึงมีสิทธิที่จะใช้อำนาจดังกล่าว ทำอะไรก็ได้ ตามที่พวกเขาต้องการ

ปัจจุบัน เราต้องรื้อถอนแนวคิดการเมืองเก่าทิ้ง โดยหันมาเชื่อว่า ประชาชนไทยสามารถปกครองตัวเองได้ ดังนั้น ทุกพื้นที่และโครงสร้างแห่งอำนาจ ประชาชนต้องมีบทบาทหรือเข้าไปมีส่วนร่วมในการปกครองโดยตรง


นี่คือ ที่มาของแนวคิดพื้นฐานเรื่อง การเมืองภาคประชาชน แนวคิดการเมืองแบบใหม่นี้จะถือว่า เราทุกคนมีชีวิตอยู่ในโลกของการเมืองและการปกครอง และมีส่วนร่วมโดยตรงกับการปกครองในทุกระดับ

นอกจากนี้ หลักที่ว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน” นั้น ต้องถือว่า อำนาจนี้ไม่เคยเปลี่ยนมือเลย แม้จะมีการเลือกตั้งแล้วก็ตาม เพราะถือว่า ประชาชนยังคงดำรงอำนาจสูงสุดอยู่ตลอดเวลา

มองในแง่นี้ เราต้องจัดระบบการปกครองแบบใหม่ขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีพื้นที่ หรือมีส่วนร่วมโดยตรง และที่สำคัญ ประชาชนทุกคนต้องมีภาระหน้าที่โดยตรงที่จะต้องคอยตรวจสอบ ควบคุมผู้ปกครองตลอดเวลา ว่าพวกเขาได้ทำหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนหรือไม่

ถ้า ‘ไม่’ ประชาชนย่อมมีสิทธิพื้นฐานที่จะลุกขึ้นมาขับไล่ข้าราชการและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เนื่องจากพวกเขาใช้อำนาจรัฐก่อประโยชน์ให้กับตัวเองและพวกพ้องเป็นสำคัญ

สิทธิในการ ‘ท้าทายอำนาจรัฐ’ หรือ ‘กบฏ’ จึงเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชน ภายใต้ระบบประชาธิปไตยแบบนี้

ปัจจุบัน ฝ่ายประชาชนได้ลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐหรือผู้นำประเทศ ก็เนื่องจากพวกเขาเข้าใจว่า ระบบการเมืองเก่าเป็นระบบที่สกปรก จำเป็นต้องทำให้สะอาด เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของโรคร้าย หรือการคอร์รัปชันอย่างหนักหน่วงในระบบการเมืองไทย

การที่ประชาชนเข้ายึดทำเนียบรัฐบาล ถือได้ว่า ‘เป็นการกระทำที่ชอบธรรม’ เพราะที่แท้แล้ว ทำเนียบ นี้ไม่ใช่ของรัฐบาล เจ้าของที่แท้จริงคือ ประชาชน

แนวคิดการเมืองใหม่จึงมีความเชื่อว่า ที่แท้แล้ว ประชาชนไม่ใช่เป็นเพียงกบที่มีหน้าที่เลือกนาย แท้จริงแล้ว ประชาชนคือเจ้านาย เมื่อเจ้านายไม่พอใจลูกจ้าง ย่อมมีสิทธิไล่ลูกจ้างออกจากงานได้

นี่คือ ที่มาส่วนหนึ่งซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างนักลากตั้งกับภาคประชาชน เพราะประชาชนเชื่อว่า นักลากตั้งทั้งหลายกำลังใช้รัฐเพื่อหาประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง และในเวลาเดียวกันก็จัดได้ว่าเป็นความขัดแย้งทางด้านความคิดและการเข้าใจด้วยว่า อะไรแน่ คือ ประชาธิปไตย

เพื่อนผมพูดกึ่งแย้งขึ้นว่า

“คุณยุคตอบได้ตรงประเด็นในปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน แต่ผมคิดว่าวิกฤตการเมืองครั้งนี้ดูจะซับซ้อนกว่านี้มาก”

ผมตอบเขา

“ถูกต้องแล้วครับ เพราะความขัดแย้งครั้งนี้แสดงออกเป็น ความขัดแย้งเชิงซ้อน นอกจากจะเป็นความขัดแย้งที่ก่อรูปขึ้นระหว่างนักการเมืองกับประชาชนแล้ว ยังถือว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำด้วย”

ผมหยุดพัก คิดสักครู่ และกล่าวต่อ

“เรื่องความขัดแย้งในหมู่ผู้ปกครอง มันยุ่งๆ และค่อนข้างยาวนะ เอาละ...ผมจะขอวิเคราะห์ความขัดแย้งนี้ให้ฟังแบบย่นย่อ...สักหน่อย

คุณคงรู้ว่าผมสอนเรื่องระบบโลก ผมเองมองวิกฤตการเมืองไทยในยุคปัจจุบันว่าเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤติโลก

ก่อนอื่นผมจะเชื่อมภาพ วิกฤตไทย กับ วิกฤตโลก ให้เป็นหนึ่งเดียวกันเสียก่อน

ขอย้อนภาพไปประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา

เริ่มจากระบบโลกก้าวสู่กระแสโลกาภิวัตน์ หัวใจของกระแสโลกาภิวัตน์คือ การที่ทุนโลกสมัยใหม่ในนามของ ทุนการเงิน หรือ ทุนเก็งกำไร ได้แพร่อำนาจครอบโลก โดยมีศูนย์กลางที่ สหรัฐอเมริกา (ตลาดเงินและตลาดทุน ที่นิวยอร์ก และที่ลอนดอน)

ผมจำได้ว่า ช่วงนั้น นักวิชาการมากมายตื่นเต้นกับกระแสโลกาภิวัตน์เอามากๆ มีนักวิชาการน้อยคนเหลือเกินที่กล้าตั้งคำถาม หรือมองกระแสนี้ในด้านลบ

กระแสความคลั่งโลกาภิวัตน์ที่แพร่ระบาดสู่ประเทศไทยได้ส่งผลให้ชนชั้นนำไทยในขณะนั้นกลัวจะตกกระแส จึงถลำลึกเปิดตลาดการเงินแบบเสรี และดำเนินนโยบายตลาดเสรีตามอย่างอเมริกา

ชนชั้นนำไทยไม่ได้ตระหนักถึงอันตรายว่า หัวใจของกระแสโลกาภิวัตน์อยู่ที่การปล่อยให้เกิดการปั่นกำไร (ตลาดทุน และตลาดอสังหาริมทรัพย์) อย่างเสรี จะหนีไม่พ้นที่ต้องเกิดการเคลื่อนตัวของระบบเศรษฐกิจทั้งระบบแบบฟองสบู่ (พอง และแตก)

ช่วงพองตัวก็จะพองแบบเกินจริง ทั้งทุนต่างชาติและทุนไทยเองก็ร่วมกันหาทางปั่นกำไร ยิ่งปั่นได้เท่าไหร่ ก็สามารถทำกำไรได้เท่านั้น

นอกจากนี้ รัฐเองต้องดำเนินนโยบายทุกอย่างเพื่อสนับสนุนโดยตรงกับการปั่นกำไร หรือ เรียกว่า ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การกระตุ้นให้คนใช้เงินอนาคต หรือ เป็นหนี้ ใช้นโยบายลดดอกเบี้ย หรือ ด้วยการลงทุนขนาดใหญ่ที่เรียกว่า อภิมหาโครงการ รวมทั้งการนำเอาบรรดารัฐวิสาหกิจต่างๆ ทั้งหมดเข้าตลาดหุ้น

ผู้ที่ได้กำไรจากวิถีเศรษฐกิจแบบนี้ แท้จริงคือ บรรดาทุนเก็งกำไรไร้พรมแดน และ กลุ่มทุนใหม่ของไทย จำนวนหนึ่งที่เริ่มเรียนรู้การหากำไรผ่านขบวนการปั่นกำไร

กำไรแบบใหม่นี้ทำได้ทั้งช่วงเศรษฐกิจพองตัวและช่วงแตกตัว ช่วงพองตัว ทุกฝ่ายจะร่ำรวยโดยทั่วหน้า แต่ช่วงแตกตัว บรรดาผู้คนที่หลงรวยหรือโลภมากจำนวนหนึ่งจะกลายเป็นแมงเม่า พากันล่มจมหรือหายนะ

“การแตกของฟองสบู่” ในเวลาเดียวกันก็คือ วิธีการแสวงหากำไรอีกแบบหนึ่ง ไม่ต่างจาก กระบวนการที่ปลาใหญ่กินปลาเล็กๆ เช่นกัน โดยทำผ่านการเทคโอเวอร์ (Take Over) กิจการขนาดใหญ่ที่ล้มละลาย

คำว่า ปลาใหญ่กินปลาเล็กๆ ก็คือการที่ ‘ทุนโลก’ หรือ ‘ทุนเก็งกำไร’ เข้าครอบงำเหนือระบบเศรษฐกิจไทย (ของคนไทย)

ในกรณีของประเทศไทย หลังจากฟองสบู่แตกเมื่อ พ.ศ. 2540 การเทคโอเวอร์ หรือ การเข้ายึดครองทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ได้เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย

ในปี 40 นี้ ทุนไทยขนาดใหญ่ขนาดเล็กจำนวนมากกลายเป็นแมงเม่า พากันล่มจม ล้มละลาย เป็นทิวแถว

แม้แต่ ทุนเจ้า (ทุนที่มาจากบรรดาเจ้านายศักดินาเก่าที่หันมาลงทุนด้านอุตสาหกรรมและการธนาคาร) และบรรดานายทุนธนาคาร นายทุนอุตสาหกรรม ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์กลางนำของทุนไทยก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน

ดังนั้น ผมคิดว่า ฟองสบู่แตกปี 40 ได้เปิดประวัติศาสตร์การเมืองใหม่

ประวัติศาสตร์ที่ ประชาชนไทย และ ชนชั้นนายทุนไทยจำนวนหนึ่ง เริ่มตั้งคำถามกับทุนโลก และกระแสโลกที่เรียกว่า กระแสโลกาภิวัตน์ ว่าที่แท้ กระแสโลกาภิวัตน์ที่แล้วมานำมาซึ่งความรุ่งเรือง หรือความวิบัติหายนะ กันแน่

วิกฤตใหญ่ครั้งนี้จึงนำสู่จุดเปลี่ยนทางความคิดหรือทางปัญญาครั้งประวัติศาสตร์

ชนชั้นนำส่วนหนึ่งไม่เพียงแต่จะตั้งคำถามต่อกระแสโลกาภิวัตน์ พวกเขายังพยายามคิดหาทางออกใหม่ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม

นี่คือ ที่มาของแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เรื่องภูมิปัญญาชาวบ้าน เรื่องภูมิปัญญาตะวันออก และอาจจะรวมไปถึงเรื่องการเมืองใหม่

ลูกศิษย์ผมแสดงความเห็นว่า

“เดิมที ผมคิดว่าวิกฤตปี 40 น่าจะเป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ผมไม่คิดว่า นี่คือวิกฤตทางปัญญา และวิกฤตทางยุทธศาสตร์ที่ต้องนำเสนอทางออกใหม่ด้วย”

ผมกล่าวต่อ

“ใช่ แต่ไม่ได้หมายความว่า ชนชั้นนำทั้งหมดเห็นเหมือนกันว่า เมืองไทยต้องแสวงหาทางออกจากกระแสโลกาภิวัตน์นี้ มีชนชั้นนำบางฝ่ายได้รับประโยชน์มากในช่วงฟองสบู่แตก เขายังเชื่อและศรัทธาในกระแสโลกาภิวัตน์อย่างสุดๆ”

เพื่อนคนหนึ่งได้เสริมขึ้นว่า

“กลุ่มที่เราเรียกว่า พวกทักษิโณมิกส์ น่าจะได้ประโยชน์เต็มๆ เพื่อนๆ ผมหลายคนที่ทำงานกับคุณทักษิณก็รวยขึ้นในช่วงนี้”

เขาคิดสักพักหนึ่ง และกล่าวต่อ

“โอ้...ผมเข้าใจแล้วว่า ที่แท้วิกฤตฟองสบู่ปี 40 นี่เอง ที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกชนชั้นนำไทยเป็น 2 ฝ่าย”

ผมอาศัยจังหวะนี้เอ่ย “เราลองย้อนคิดกันหน่อย” และตั้งคำถาม

“ตอนที่ฟองสบู่แตก ใคร...เป็นนายกฯ แต่ที่สำคัญกว่าคือ ใคร...เป็นรองนายกฯ”

ลูกศิษย์รีบตอบว่า

“คุณทักษิณ”

ผมจึงกล่าวต่อ

“คุณทักษิณมีฐานะเป็นทั้งหัวหน้าพรรคพลังธรรม และในเวลาเดียวกัน ก็ดำรงตำแหน่งรองนายกฯ คุณทักษิณอาจจะมีอิทธิพลเหนือท่านนายกฯ เพราะท่านกลายเป็นแหล่งการเงินใหญ่ หรืออาจเพราะท่านสามารถระดมทุน (ทุนที่ลงทางการเมือง) ได้มากกว่านักการเมืองคนอื่นๆ”

เพื่อนคนหนึ่งในวงสัมมนากล่าวแทรกขึ้นว่า

“อาจารย์กำลังบอกว่า คุณทักษิณอาจจะเป็นนายกฯ ตัวจริงหรือ ผมเองก็สงสัยเช่นนั้นเหมือนกันเพราะแม้แต่รัฐมนตรีที่ดูแลด้านการคลังช่วงนั้น ก็กล่าวได้ว่าเป็นคนของคุณทักษิณ”

เพื่อนคนนี้หยุดคิดสักพัก และกล่าวต่อว่า

“อาจารย์...คงไม่บอกนะว่า...คุณทักษิณอยู่เบื้องหลังการทำให้ฟองสบู่แตกด้วย”

ผมได้แต่ยิ้ม และพูดต่อไป

“กลุ่มคุณทักษิณน่าจะเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจฟองสบู่ดีที่สุด ท่านไม่รู้หรือว่าช่วงฟองสบู่แตกก็หากำไรมหาศาลได้

แต่หากเราคิดว่า การหากำไร (ไม่ว่าแบบไหน) ไม่ใช่เรื่องผิด ดังนั้นเราคงโทษคุณทักษิณไม่ได้

มีเรื่องประหลาดมากอยู่เรื่องหนึ่ง นั้นคือ การสั่งปิดสถาบันการเงินพร้อมกันถึงกว่า 50 แห่ง ในช่วงก่อนที่ฟองสบู่กำลังจะแตก”

ถ้าถามผมในแง่ทฤษฎีว่า การจัดการแก้ปัญหาแบบนี้เหมาะสมหรือไม่ ผมคงตอบว่า นี่คือวิธีแก้ปัญหาซึ่งดู ‘ประหลาด ๆ’ อย่างยิ่ง และคงไม่มีใครที่ไหนในโลกเขาทำกัน เพราะเท่ากับ ‘เร่ง’ หรือ ‘กระตุ้น’ การแตกของฟองสบู่

ที่จริงแล้ว ภาครัฐต้องจัดการวิกฤตอย่างรวดเร็ว แต่ต้องนิ่มนวลที่สุดเท่าที่จะทำได้


การประกาศล้มสถาบันการเงินจำนวนมากเท่ากับ ‘ล้ม’ หรือ ‘หยุดกิจการ’ จำนวนมหาศาลที่ขอเงินกู้จากสถาบันการเงินเหล่านี้ทั้งหมด ทำให้เกิดความปั่นป่วนและความวิตกอย่างรุนแรง ซึ่งเท่ากับ ‘ช่วย’ หรือ ‘เปิด’ ประตูให้นักเก็งกำไรค่าเงินเข้ามาโจมตีค่าเงินบาท

พอนายโซรอส และนักเก็งกำไรค่าเงินเข้ามาโจมตีค่าเงินไทย รัฐไทยทำทีว่าจะสู้แบบไม่ยอมถอย เสร็จแล้วก็พลิกยอมแพ้แบบง่ายๆ ชนิดที่ไม่มีใครคาดคิด

ค่าเงินบาททรุดตัวลงอย่างหนัก

บรรดาทุนไทยขนาดใหญ่และขนาดเล็กจำนวนมากจึงต้องเผชิญกับหายนะครั้งใหญ่

แปลกไหม! ผู้กุมอำนาจของรัฐไทยกลายเป็นแนวร่วมด้านกลับให้กับนักเก็งกำไรต่างชาติ และช่วยทุบทำลายทุนไทยด้วยกันเอง

ผมหยุด และตั้งคำถามว่า

“นอกจากทุนเก็งกำไรต่างชาติที่ร่ำรวยขึ้นในช่วงนั้น มีกลุ่มทุนไทยกลุ่มไหนร่ำรวยขึ้นอีก”

ลูกศิษย์เอ่ยขึ้นว่า

“อาจารย์ครับ ผมพอเข้าใจแล้วว่า รากของวิกฤตการเมืองครั้งนี้มาจากไหน”

เขากล่าวต่อ

“บรรดากลุ่มทุนที่ต่อสู้กับทุนทักษิโณมิกส์ อย่างเช่นทุนฝ่ายเจ้า อย่างเช่นคุณประชัย อย่างเช่นคุณสนธิ ก็ล้วนแต่ล้มละลายในช่วงนี้ด้วยกันทั้งนั้น

อาจารย์กำลังจะบอกว่า กระแสต้านคุณทักษิณมีรากมาจากกระแสการต้านโลกาภิวัตน์หรือครับ”

ผมอธิบายต่อ

“แม้แต่พลังกลุ่มแรงงานที่ออกมาร่วมขบวนกับพันธมิตรฯ ก็เติบใหญ่ขึ้นในช่วงนี้เช่นกัน กลุ่มแรงงานเคลื่อนไหวต่อต้านการนำเอากิจการรัฐวิสาหกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์”

นี่คือ ที่มาของการประสานกันระหว่าง ฝ่ายแรงงาน กับ ฝ่ายทุน (ทุนไทย) ที่เสียประโยชน์จากวิกฤตปี 40

หลังจากวิกฤตปี 40 ฝ่ายโลกาภิวัตน์ หรือทุนเก็งกำไร ก็เข้ามาครอบระบบเศรษฐกิจไทย ผ่านการยึดครองธนาคารและกิจการขนาดใหญ่

หลังจากปี 40 โครงสร้างอำนาจในสังคมไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงโดยที่ฝ่ายทักษิโณมิกส์มั่งคั่งขึ้น ในช่วงนี้ฝ่ายทักษิโณมิกส์กลายเป็นกลุ่มทุนที่มีทั้งอำนาจและอิทธิพลเหนือกลุ่มทุนอื่นๆ ในประเทศ

ต่อมา ฝ่ายทักษิโณมิกส์ได้ฉกฉวยและใช้ช่วงประวัติศาสตร์นี้ (ในขณะที่ ทุนเก่า คือทุนเจ้าและทุนธนาคาร ที่เคยมีอำนาจเหนือการเมืองไทยทรุดตัว) ถือโอกาสสถาปนาอำนาจเหนือการเมืองไทยหรือรัฐไทย

นี่คือ ที่มาของการสร้างพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่สุดที่เรียกว่า พรรคไทยรักไทย โดยรวมเอาพรรคเล็กๆ เข้าร่วมเป็นพรรคเดียวกัน

ต่อมา นโยบายประชานิยมถูกประกาศใช้ เพื่อสร้างรอยเชื่อมโยงระหว่าง ท่านผู้นำ กับประชาชนยากจน รวมทั้งสร้างภาพ ท่านผู้นำแบบนำเดี่ยว ที่เก่งกาจสามารถและรักประชาชนขึ้น

นโยบายนี้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง จนกล่าวได้ท่านนายกฯ กลายเป็นขวัญใจคนยากจนในชนบทมาถึงทุกวันนี้

หลังการเลือกตั้ง ฝ่ายทักษิโณมิกส์เริ่มมีอำนาจเด็ดขาดเหนือรัฐบาล และใช้อำนาจดังกล่าวขยายอำนาจเข้ากุมระบบรัฐราชการ

เกิดระบบราชการใหม่ที่เรียกว่า CEO ขึ้นตรงกับท่านนายกฯ คุณชัยสิทธิ์ ชินวัตร ได้ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ระบบตำรวจทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดกลายเป็น กองทัพส่วนตัว และขึ้นตรงกับคุณทักษิณ

ผมจำได้ว่าช่วงเวลานั้น เคยเจอเพื่อนเก่าคนหนึ่งที่อยู่กับพรรคไทยรักไทย ท่านบอกกับผมว่า

“พวกเราพยายามกันมาตั้งแต่เป็นนักศึกษา จนต้องเข้าป่าต่อสู้ แต่ทำอย่างไรก็ไม่สามารถยึดอำนาจรัฐได้ วันนี้พวกผมได้ยึดอำนาจรัฐสำเร็จแล้ว”

ผมได้แต่ยิ้ม และกล่าวตอบท่านว่า

“ไม่ดูง่ายไปหน่อยหรือ”

ทำไมดูง่ายไป เพราะอย่าลืมว่า ที่จริงแล้ว การเปลี่ยนผ่านอำนาจรัฐ จากชนชั้นปกครองกลุ่มหนึ่ง ไปสู่อีกกลุ่มหนึ่ง ถ้าทำการอย่างเร่งร้อนมากๆ การเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มชนชั้นนำมักจะเกิดขึ้นเสมอ

ผมคิดว่าท่านอดีตนายกฯ มีจุดอ่อนตรงที่ ท่านเป็นคน “ใจร้อน-ใจเร็ว” ทำอะไรก็ต้องให้เสร็จทันใจ

ผมคิดว่า ความใจร้อนใจเร็วนี่เองก่อให้เกิดวิกฤตการเมืองครั้งใหม่ระหว่างกลุ่มชนชั้นนำเก่ากับกลุ่มชนชั้นนำใหม่

ผมหยุดพักจิบน้ำ และกล่าวต่อ

ถ้าเราเรียนรัฐศาสตร์แบบตะวันตก เราจะเข้าใจว่าเวลาที่ชนชั้นผู้มีอำนาจขัดกัน มักจะเป็นเรื่องของผลประโยชน์ และเรื่องของการแย่งชิงตำแหน่งหน้าที่กัน เป็นสำคัญ

แต่การเมืองไทยมักจะก้าวไปเกินกว่าการอธิบายโดยทฤษฎีตะวันตก มีเรื่องบางเรื่องราวที่พูดแล้ว คนทั่วไปจะไม่เชื่อว่า ‘จริง’

คนที่ขึ้นมามีอำนาจหรือมีฐานะเป็นนายกฯ และเชื่อว่าท่านเองก็มีบุญญาวาสนาสูงยิ่ง จะเริ่ม “หลงอำนาจและวาสนา”

ศาสตร์พุทธมีคำว่า โลภ โกรธ และคำท้ายสุดว่า ความหลง ความจริงคำว่าความหลงนี้หนักกว่าที่ โลภและโกรธ

สาเหตุที่ หลงวาสนาและอำนาจ เพราะผู้มีอำนาจมักจะถูกห้อมล้อมด้วยบรรดานักการเมืองเลวๆที่ชอบเข้ามาห้อมล้อมเจ้านาย นายจึงกลายเป็นศูนย์รวมของปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ฝนตกขี้หมูไหล คนจัญไรมาพบกัน

ลูกน้องจะช่วยกันสรรเสริญเยินยอเจ้านายทุกค่ำเช้า

ผู้นำไทยมักจะถามตัวเองว่า “ชาติก่อน ท่านเป็นใคร”

ลูกน้องเลวๆ ก็ต้องบอกว่า “ชาติที่แล้วท่านน่าจะเป็นกษัตริย์กลับชาติมาเกิด”

ผมถามเพื่อนๆ ในวงสนทนาว่า

“ถ้าพวกเราจะต้องตอบว่า อดีตชาติท่านเป็นใคร เราจะตอบว่า...เป็นใคร”

เพื่อนๆ ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า

“ตากสิน”

ผมได้แต่กล่าวต่อไป

อาจเพราะชื่อ ทักษิณ และ ตากสิน คล้ายกัน หรือเพราะตัวเขียนภาษาอังกฤษเป็นแบบเดียวกัน และอีกอย่างหนึ่งที่ทั้งสองท่านก็เป็นคนจีนด้วยกันทั้งคู่ เพื่อยืนยันให้ท่านผู้นำเชื่อ บรรดาโหราจารย์หรือหมอดูทั้งหลายก็ช่วยกันแสดงบทบาท

ไม่เชื่อ...ก็ต้องเชื่อ เพราะหลายคนพูดแบบเดียวกัน

เพื่อให้แน่ใจขึ้นอีก ท่านได้เดินทางไปหาหมอดูตาบอดที่โด่งดังอย่างยิ่งที่ประเทศพม่านามว่า อีตอ

แต่ความเชื่อว่า อดีตชาติท่าน คือ พระเจ้าตากกลับชาติมาเกิด ไม่ใช่เรื่องปกตินักเพราะเท่ากับท่านเกิดมาเพื่อ..........เพราะผมพูดไม่ได้

นี่คือ อภิมหาหลง

อภิมหาหลงแบบนี้ จึงกลายเป็นชนวนและที่มาของสงครามที่ผมเรียกว่า สงครามทวิภพ

อย่าลืมว่า ความเชื่อเรื่องนี้แม้จะเป็น‘เรื่องลับ’ แต่ความลับทั้งหลายไม่เคยมีหรือดำรงอยู่จริงในสังคมไทย

เมื่อไปหลงเชื่อเรื่องอดีตชาติ ไม่ว่าตั้งใจหรือไม่ก็ตาม การคิดสร้างเมืองหลวงใหม่ (สุวรรณภูมิ) การคิดตั้งสังฆราชองค์ใหม่ และเรื่องราวเกี่ยวกับกรณีวัดพระแก้ว ก็ยิ่งทำให้ความขัดแย้งหรือความสงสัยเรื่องนี้ขยายตัวไปกว้าง

จริง หรือไม่จริง...การซุบซิบกันในเรื่องนี้ได้แพร่ระบาดออกไป สงครามทวิภพก็หลีกเลี่ยงได้ยาก

นอกจากนี้ การหลงอำนาจวาสนามักจะไม่ก่อเกิดขึ้นเฉพาะในเรื่องมิติความเชื่อและสงครามข้ามภพข้ามชาติเท่านั้น ในเวลาเดียวกันได้เกิดปรากฏการณ์ที่นักรัฐศาสตร์เรียกว่า Absolute Power จะกลายเป็นที่มาของ Absolute Corrupt

เพื่อเสริมอำนาจที่ส่วนตัวใหญ่ให้มั่นคงยิ่งขึ้น ท่านได้สร้าง ‘รัฐตำรวจ’ ขึ้น
(ยังมีต่อ)
กำลังโหลดความคิดเห็น