xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.วุฒิฯชี้ส.ส.ร.3ไม่แก้วิกฤตเหตุเมินถก4ฝ่าย-ครม.เริ่มแทรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ วานนี้ (21 ต.ค.)ว่าการที่ กลุ่ม 40 ส.ว.ค้านการตั้ง ส.ส.ร.3 ถือเป็นดุลพินิจของแต่ละคน ใครเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยก็ให้โหวตกันใสสภา และคิดว่าประเด็นนี้คงไม่ทำย้ำให้สถานการณ์ การเมืองบานปลายอีก ส่วนสาเหตุที่ไม่เข้าร่วมประชุม 4 ฝ่าย เพราะเห็นว่า ส.ส.ร.3 ไม่ใช่ช่องทางที่จะแก้ปัญหาขณะนี้ได้ ซึ่งการลาประชุมของตนก็ไม่ได้สะท้อนอะไร การประชุมก็ยังมี นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา เข้าประชุมแทน เนื่องจากนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภามีสิทธิจะเชิญใครเข้าร่วมประชุมได้ ส่วนที่นายนิคม อ้างว่า เป็นตัวแทนของวุฒิสภานั้น ก็ใช่ ถ้าเผื่อนายชัยเชิญตนหรือนายนิคมเข้าร่วมประชุมก็จะให้เป็นตัวแทนอะไรได้
ผู้สื่อข่าวถามว่าท่านจะรับรองด้วยเกียรติหรือไม่ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม. 291 เป็นความชอบธรรม นายประสพสุข กล่าวว่า จะให้รับรองคงไม่ได้ ซึ่งการแสดงออกด้วยการลาประชุมเป็นอย่างไรให้ไปคิดเอาเอง เมื่อถามว่า ได้แจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบแล้วหรือไม่ว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว นายประสพสุข กล่าวว่า ได้แจ้งให้ทราบว่าจะไม่เข้าประชุม นายกรัฐมนตรีก็ต้องเข้าใจว่า ตนลาประชุมเพื่ออะไร โตๆ กันแล้ว ฉลาดกันแล้ว
ส่วนการกดดันของกลุ่ม 40 ส.ว.นั้น ไม่มีใครกดดันตนได้ ตอนได้รับจดหมาย จาก 40 ส.ว. ก็รู้สึกไม่พอใจอย่างยิ่ง ไม่เช่นนั้นจะเป็นประธานวุฒิสภาได้อย่างไร ถ้าอยู่ภายใต้อิทธิพลของคนนั้นคนนี้ ส่วนการเดินหน้าของรัฐบาลก็เป็นสิทธิของแต่ละฝ่ายจะไปห้ามได้อย่างไร เพราะเป็นแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐสภา
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไมคิดว่า การตั้ง ส.ส.ร. 3 ไม่ใช่ทางออก นายประสพสุข กล่าวว่า อย่าให้พูดเลย ที่ตนทำไปนั้นให้กรรมมาเป็นเครื่องชี้เจตนา เมื่อถามย้ำว่า การทำงานร่วมกับกลุ่ม 40 ส.ว.จะมีปัญหาหรือไม่ นายประสพสุข กล่าวว่า ความเห็น ต่างกันได้ก็เป็นการพัฒนา หากเห็นกันหมดก็ไม่มีอะไรแตกฉาน ที่บอกว่าตนไม่ใช่ตัวแทนวุฒิสภา ต้องทำความเข้าใจว่า สิ่งที่ตนไปทำสวมหมวก 2 ใบ คือ หน้าที่ในฐานะประธานวุฒิสภาโดยแท้ ไม่เช่นนั้นไปงานสถานฑูตก็ต้องมาขอมติวุฒิสภาหรือไม่ แต่ในอีกหนึ่งในฐานะรองประธานรัฐสภาที่ประธานรัฐสภาแต่งตั้ง
ส่วนที่ได้พูดคุย 5 นาทีกับนายกฯพูดกันเรื่องอะไรนั้น นายประสพสุข กล่าวว่า ต่างคนก็ห่วงสถานการณ์บ้านเมือง แนวทางสันติวิธีจะทำอย่างไร หากมีการหารือ 4 ฝ่ายจะเข้าร่วมอีกหรือไม่ นายประสพสุข กล่าวว่า ต้องดูว่าเรื่องอะไร ทั้งนี้กระบวนการตั้งส.ส.ร. ไม่ใช่ว่าจะได้เร็วอย่างที่คิดยังมีเวลาวิพากษ์วิจารณ์เพราะขณะนี้ก็ยังไม่ตกผลึก สุดท้ายก็ต้องมาโหวตในที่ประชุมรัฐสภา

กลุ่ม40ส.ว.เดินหน้าค้านตั้งส.ส.ร.
วันเดียวกัน กลุ่ม 40 ส.ว.ได้ประชุมร่วมกันและมีความเห็นในการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรนูญ ม.291 เพื่อตั้ง ส.ส.ร. โดยนาย มณเฑียร บุญตัน ส.ว.สรรหา แถลงว่า ที่ประชุม กลึ่ม40 ส.ว. ขอคัดค้านเนื่องจากกาประชุมเมื่อวันที่ 20 ตค.ที่ผ่านมา ไม่น่าจะถือว่าเป็นการประชุม 4 ฝ่าย เนื่องจาก นาย ประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านฯและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้เข้าร่วมประชุม แต่น่าจะเรียกว่าที่ประชุม 2 ฝ่าย คือมีเพียงนายชัย ชิดชอบ ประธานสภา และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ซึ่งถือว่าเป็นคนพรรคเดียวกัน ดังนั้นจะเอามาเป็นมติของที่ประชุมไม่ได้ ดังนั้น 40 ส.ว.จะขอเดินหน้าคัดค้าน การแก้รัฐธรรมนูญ เนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้เสี่ยงต่อความรุนแรงที่จะขยายผลออกไปอีก
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางกลุ่ม 40 ส.ว.จะไปคุยกับ ประธานวุฒิสภาเพื่อไม่ให้เข้าร่วม ประชุม 4 ฝ่ายหรือไม่ นายมณเฑียร กล่าวว่า ท่านคงตัดสินใจได้ว่าจะดำเนินการ อย่างไร ทั้งนี้จะมีส.ว.บางคนไปให้ข้อมูลกับท่านเพิ่มเติมในช่วงที่ท่านเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ในต่างประเทศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์และเกิดอะไรขึ้นบ้าง ทั้งนี้ยืนยันว่าทางกลุ่มไม่ได้ไปกดดัน ส่วนกรณีของนาย นิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา ถือว่าไปร่วมประชุมในฐานะคณะกรรมการยกร่างฯเท่านั้น ส่วนนายนิคม จะร่วมประชุม 4 ฝ่ายต่อหรือไม่ก็ขึ้นกับวิจารณญาณของท่านเอง
ทางกลุ่ม 40 ส.ว.ก็จะเดินหน้าชี้แจงถึงเหตุผลการคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญ ม.291 ให้กับเพื่อนๆ ส.ว. เพราะขณะนี้มีส.ว.บางคนที่เป็นกลาง ทางกลุ่มก็จะไปชี้แจงให้เข้าใจเพื่อมาร่วมกับกลุ่ม คาดว่าทางกลุ่มจะมีสมาชิกอย่างน้อย 80 คน

ตรวจสอบคำสั่งตั้งกก.ยกร่างรธน.
จากกรณี นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) ได้ลงนามในหนังสือเมื่อวันที่ 17 ต.ค.เพื่อนัดประชุมวิปวุฒิสภา ในวันที่ 22 ต.ค.เพื่อพิจารณาระเบียบวาระที่จะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา โดยมีวาระที่ นายสิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ ส.ว.นครศรีธรรมราช ในฐานะวิปวุฒิสภา ได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาถึงสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันด้วย โดยเป็นที่น่าสังเกตว่าในวาระการประชุม มีเรื่องที่ประธานวิปวุฒิสภาจะแจ้งต่อ ที่ประชุมคือ คำสั่งรัฐสภาที่ 32/2551 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการ ยกร่าง แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 291
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวว่าขณะนี้กำลังศึกษาข้อกฎหมายเกี่ยวกับคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ซึ่งอาจไม่ชอบมาพากล และอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญได้ เพราะการออกคำสั่งดังกล่าวน่าจะเป็นเรื่องของการบริหารงาน ไม่ใช่ตั้งขึ้นมาเพื่อยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ความจริงรัฐบาลมีเสียง 300 กว่าเสียง อยากจะแก้รัฐธรรมนูญก็ไปยกร่างเองได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ ส.ส.ร. มาสร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง

จวกตีเช็คเปล่าให้ส.ส.ร.3แก้รธน.
นายอนุศาสตร์ สุวรรณมงคล ส.ว.สรรหา อดีต ส.ส.ร. ปี 2550 กล่าวถึง แนวทางการตั้ง ส.ส.ร.3 จำนวน 120 คนว่า ไม่เชื่อว่าจะปลอดจากการเมือง เพราะนักการเมือง จะใช้เสียงข้างมากลากไป รัฐบาลจะปลอมตัวเข้ามาเป็น ส.ส.ร. 3 ร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ของตัวเอง
อยากย้อนถามว่ารัฐธรรมนูญปี 50 ไม่ดีตรงไหนถึงจะต้องตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมา เพื่อแก้รัฐธรรมนูญ ปัญหาบ้านเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ไม่ใช่เกิดเพราะรัฐธรรมนูญ แต่เกิดเพราะคนใช้รัฐธรรมนูญที่มีปัญหา เรากำลังจะตีเช็คเปล่าให้ ส.ส.ร.3 ไปเขียนแก้ไขอะไรไว้ในรัฐธรรมนูญก็ได้ แล้วประชาชนรู้หรือไม่ว่าหากตั้ง ส.ส.ร.3 ขึ้นมาจริงรัฐธรรมนูญ 50 จะถูกฉีกทิ้งไปโดยอัตโนมัติ ทั้งที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผ่านประชามติของประชาชนถึง 14 ล้านคน แต่จะให้ ส.ส.ร.3 มาแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้อย่างไร
นายอนุศาสตร์กล่าวว่า ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงมีการรวบรัดตั้งส.ส.ร.ขึ้นมา และรีบผลักดันให้เป็นไปโดยเร็วที่สุด บ้านเมืองนี้จะอาศัยลักษณะทีใครทีมันหรือไม่ คงต้องจับตามองการจัดตั้ง ส.ส.ร.3 ว่ามีการแอบแฝงอะไรหรือไม่ ซึ่งตนเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตั้งส.ส.ร.3 ขึ้นมา แต่ควรตั้งกรรมการขึ้นมาเพื่อศึกษา ข้อดีและข้อบกพร้องของรัฐธรรมนูญ 50 ก่อน ที่น่ากลัวก็คือตั้งมาแล้วอาจมีการ สอดใส้แก้ไขมาตราที่เป็นปัญหา ซึ่งจะสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาล

รัฐแทรกแซงหั่นเวลาเหลือ120วัน
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงวานนี้ (21 ต.ค.) ว่า ครม.ได้หารือ ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม. 291 เพื่อเปิดทางตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)ว่า รัฐบาลต้องการใช้ระบบรัฐสภาเพื่อคลี่คลายวิกฤ๐ตในสังคม โดยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ก็บอกว่าถ้ามี ส.ส.ร.3 น่าจะทำงานได้เร็วที่สุด ทั้งนี้จากเดิมในการประชุม 3 ฝ่ายตกลงจะให้เวลา ส.ส.ร.3 ทำงาน 240 วันหรือ 8 เดือน นายกฯระบุว่าถ้าจะลดเหลือ 120 วันก็น่าจะดีเพื่อให้เสร็จเร็วขึ้นให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าได้
นายณัฐวุฒิ ยืนยันว่าการตั้ง ส.ส.ร.3 ไม่ได้หวังยื้ออายุรัฐบาล แต่เพราะรัฐบาลแสดงเจตนาที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้น แม้แต่พรรคประชาธิปัตย์เองก็แสดงเจตนารมย์เดียวกัน ส่วนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็แสดงเจตนารมณ์ว่าเป้าหมายสุดท้ายที่ต้องไปให้ถึงคือการเมืองใหม่ ซึ่งจะเกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ภาคประชาชนอย่างแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือคณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 (คปพร.) ก็ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นจะเห็นว่าไม่ภาคการเมือง หรือภาคประชาชนก็มีเป้าหมายร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550
ผู้สื่อข่าวถามว่าครม.ได้หารือหรือไม่ว่าจะทำอย่างไรให้ฝ่ายค้านกลับมาร่วมการ หารือ 4 ฝ่าย นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ยังไม่ได้หารือกันแต่เชื่อว่าแนวทางนี้จะทำให้บ้านเมืองพ้นวิกฤตไปได้ การยุบสภานั้น ยังมองไม่เห็นว่ายุบสภาแล้วจะไปอย่างไรต่อ แต่แนวทางส.ส.ร.3 จะทำให้ได้กติกาที่เกิดความยอมรับร่วมกันเร็วที่สุด ซึ่งถ้าทุกองค์กรให้การยอมรับ รัฐบาลก็อาจจะพิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออาจจะคืนอำนาจให้ประชาชน

เติ้งอ้างส.ส.ร.ทางออกปัญหา
นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่าการแก้วิกฤตการเมือง ไม่มีอะไรดีไปกว่าการแก้ ม.291 เพื่อตั้ง ส.ส.ร.3 โดยเห็นว่า ส.ส.ร.3 ควรใช้แนวทาง ส.ส.ร.1 สมัยที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรี อาจมีการปรับปรงบ้างเล็กน้อย โดยให้ประชาชนมีส่วนเข้ามาร่าง ส่วนเวลายกร่างรัฐธรรมนูญ 8 เดือนนั้นมากไป ควรทำให้เร็ว ที่สุด ส่วน ส.ส.ร.ที่จะให้มี 120 คน มาจากจากตัวแทนจังหวัดและนักวิชาการ ตัวแทนสาขาอาชีพต้องเลือกอย่างตรงไปตรงมาแต่บางครั้งบางคราวมีการบลอ๊กโหวต มันก็ไม่ได้อย่างที่เรากำหนด
ส่วนการประชุม 4 ฝ่ายเหลือประชุมแค่ 2 ฝ่าย ประธานวุฒิสภา และผู้นำฝ่ายค้านฯไม่ได้ร่วมประชุมจะมีปัญหารือไม่นั้น นายบรรหาร กล่าวว่าจะเหลือ 2 ฝ่ายได้อย่างไร เมื่อนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ก็ให้รองประธานวุฒิสภาฯเข้ามประชุมแทน จึงไม่น่ามีปัญหา บ้านเมืองต้องมีทางออก ต้องให้มี ส.ส.ร.เกิดขึ้นให้ได้
นายบรรหาร เชื่อว่าแม้เดินหน้าตั้ง ส.ส.ร.3 ก็จะไม่มีการปฏิวัติ เพราถ้ามีคงมีไปนานแล้ว แต่สำคัญอย่าไปยั่วยุให้มันมากๆใครอย่าไปยั่วยุทหาร ยั่วมากๆ อาจจะอดรนทนไม่ได้ ผู้ใหญ่ไม่ทำแต่ผู้น้อยอาจจะทำ ซึ่งเราก็ตอบไม่ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีกระแสข่าวว่านายกฯจะลาออกหรือยุบสภา โดยขอเวลาไม่เกิน 2 เดือน นายบรรหารกล่าวว่า ตนไม่คิดอย่างนั้น เพราะมีโอกาสทำงานได้อีกยาว ก็อยากให้ทนให้ได้ อยากให้แก้ไขปัญหาประชาชนให้ได้ เราไม่ได้คิดว่ารัฐบาลจะอยู่ได้แค่ไหน แต่ก็คิดว่ารัฐบาลจะต้องทำงานต่อไป

วิปฝ่ายค้านชี้สมชายกลับกรอก
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานวิปฝ่ายค้านแถลงหลังการประชุมว่า วิปฝ่ายค้านได้หารือถึงสถานการณ์การการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อเปิดทางตั้ง ส.ส.ร.3แล้วเห็นว่าจะทำให้ปัญหาทุกอย่างจบลงหรือไม่ หรือว่าจะยิ่งทำให้ความขัดแย้งรุนแรงมาขึ้น หากการตั้งส.ส.ร. 3 ไม่ชอบมาพากลเพราะตั้งมาจากรัฐบาลเสียงข้างมาก และการตั้งส.ส.ร. 3 เป็นการแก้วิกฤตของประเทศได้ทั้งหมดหรือไม่ ซึ่งคำตอบก็คือไม่ใช่ และอยากถามว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 กระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือไม่คำตอบคือไม่ แต่มีผลกระทบโดยตรงต่อ พรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค ซึ่งวิกฤตบ้านเมืองเกิดขึ้นมาจาก ความขัดแย้งของรัฐบาลและประชาชนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ จึงไม่ควรทำด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ
นายสาทิตย์ กล่าวว่า การประชุมร่วม 4 ฝ่ายเมื่อวันที่ 20 ต.ค.ถือว่าขัดกับคำพูดที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีเคยพูดไว้ในการประชุมร่วมกัน 4 ฝ่ายเมื่อวันที่ 3 ต.ค.และ 6 ต.ค.ว่าถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญจะต้องเห็นตรงกันทั้ง 4 ฝ่าย ถ้าเกิดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่เห็นพร้องต้องกันก็ต้องพักไว้ก่อน แต่การประชุม เมื่อวันที่ 20 ต.ค. ถือว่าไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้เพราะมีเพียง 2 ฝ่ายที่เข้าร่วม คือ ฝ่ายรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาลและรองประธานวุฒิสภา
ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่าการเดินตามนี้ แนวโน้มยิ่งนำไปสู่วิกฤต ความขัดแย้งที่มากขึ้น เหมือนกับที่หัวหน้าพรรคการเมืองหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล บอกว่า หากตั้ง ส.ส.ร. เขาสามารถจัดวางคนได้ถึง 90 % เพราะการเลือกส.ส.ร.ในขั้นตอนสุดท้ายต้องผ่านรัฐสภา ซึ่งเสียงข้างมากในรัฐสภาคือพรรคพลังประชาชน พรรคร่วมรัฐบาลและส.ว.ส่วนหนึ่ง ที่คาบเกี่ยวกับรัฐบาล ฃถ้าเสียงข้างมากเป็นฝ่ายธรรมะมันก็จะเกิดความยุติธรรม มันก็ไม่มีปัญหาแต่หากเสียงข้างมากเป็นโจรก็จะกลายเป็นรัฐธรรมนูญโจรไปด้วย ซึ่งหากแนวคิดเรื่องการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 มีรายละเอียดมากกว่านี้ ทางวิปฝ่ายค้านจะได้จัดให้มีการประชุมเพื่อศึกษารายละเอียดเรื่องนี้อีกครั้ง

ระบุพปช.บีบการเมืองเข้าสู่ทางตัน
นายสาทิตย์กล่าวว่า การที่พรรคพลังประชาชนเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291นั้นถือว่าเป็นความจงใจของรัฐบาลเพื่อบีบการเมืองให้เข้าสู่ทางตัน ซึ่ง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลได้พูดคุยกับพวกตนว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นรัฐบาลจะไม่ยุบสภา ไม่ลาออก แต่จะเดินหน้าไปอย่างนี้ สิ่งที่ทำได้ก็คือการปฏิวัติ สิ่งที่ส.ส.รัฐบาลพูดถือว่าเป็นการยั่วยุต้องการให้มีการปฏิวัติเกิดขึ้น เพื่อที่จะให้พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นฮีโร่ของระบอบประชาธิปไตย ต้องการให้บ้าน 111 คนหลุด และต้องการล้มล้างองค์การอิสระ ถือว่าเป็นเกมที่พรรคพลังประชาชนกำลังเล่นอยู่
นอกจากนี้วิปฝ่ายค้านยังได้รับรายงานจากหลายฝ่ายว่า มีการเคลื่อนไหว ใต้ดินเพื่อให้มีผลกระทบต่อสถาบันสูงสุด มีการพยายามเผยแพร่ข้อมูลในหลายพื้นที่ ซึ่งเราจะเห็นข้อเท็จจริงได้จากการชุมนุมของ นปช. ซึ่งทางวิปฝ่ายค้านจะตรวจสอบ ข้อมูลต่อไปเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการ
ผู้สื่อข่าวถามว่าหากพรรคประชาธิปัตย์เห็นว่าการตั้งส.ส.ร. 3 ไม่ใช่ทางออก แล้วทางออกควรเป็นทางไหน นายสาทิตย์กล่าวว่ารัฐบาลควรมีความจริงใจ ในการลดความขัดแย้งภายในสังคม และควรออกมารับผิดชอบต่อเหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา และเห็นว่าการยุบสภาน่าจะเป็นทางออกแม้ว่าการยุบสภาจะไม่ได้ ทำให้ปัญหายุติในทันทีแต่ก็เป็นการยุติปัญหาชั่วคราว ถ้าไม่ใช่ช่องทางนี้ก็มองไม่เห็น ช่องทางอื่น เพราะวันนี้สงครามประชาชนได้เริ่มขึ้นแล้ว มีการพยายามระดมคนของ แต่ละฝ่ายมาร่วมชุมนุม ดังนั้นหากพรรคพลังประชาชนไม่ยุติทุกย่าง แล้วเกิดการ นองเลือด รัฐบาลต้องรับผิดชอบ

อาจารย์มช.เชื่อทำสังคมแตกแยกมากขึ้น
นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญท่ามกลางบรรยากาศการเมืองเช่นนี้ ตนเชื่อว่าน่าจะสำเร็จได้ยาก เพราะเป็นการร่างรัฐธรรมนูญท่ามกลางความไม่ได้เห็นพ้องจากสังคม จะมีความชอบธรรมได้อย่างไร เพราะความชอบธรรมและการยอมรับถือเป็นเรื่องใหญ่ ปัญหาไม่ใช่การตั้งกลุ่มบุคคลขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญแล้วจะจบ แต่เบื้องต้นต้องมาคุยและสรุปปัญหาหลักๆ ที่เกิดขึ้นผ่านคณะกรรมการที่เป็นกลางก่อน เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้น ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังไม่ได้คิดแนวทาง การแก้ไขปัญหา คือ ปัญหาความเหลี่ยมล้ำทางชนชั้นที่มีต้นเหตุมาจากความแตกต่าง ทางเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดคนในสังคมถูกแบ่งออกเป็นฝ่าย สนับสนุนพรรคพลังประชาชนและสนับสนุนพันธมิตรฯ โดยต้องมาร่วมกันคิดว่าจะร่างเข้าไปในรัฐธรรมนูญได้อย่างไร
หากเดินหน้าร่างรัฐธรรมนูญต่อไปก็จะทำให้การมีส่วนร่วมน้อย เพราะมีความชอบธรรมต่ำ อีกทั้งการให้เวลาร่างรัฐธรรมนูญเพียง 240 วันก็ถือเป็นการ ให้เวลาค่อนข้างสั้น ดังนั้นเมื่อกระบวนการร่างเริ่มขึ้นรัฐบาลอาจจะต้องปะทะกับแรงกดดันมากขึ้น ไม่คิดว่าการร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นระเบิดเวลาที่เป็นเงื่อนไข นำไปสู่ความรุนแรง แต่ก็จะเป็นประเด็นหนึ่งที่ทำให้สังคมแตกแยกมากขึ้น
นายสมชาย กล่าวว่า สัดส่วนของ ส.ส.ร.3 ที่มาจากนักกฎหมายมหาชน 8 คนนั้น ตนเห็นว่าการให้นักกฎหมายมหาชนมาเป็นองค์ประกอบในการยกร่างรัฐธรรมนูญ อาจจะเป็นอัตราย เพราะมีมุมมองไม่กว้างขวางเพียงพอต่อปัญหา มองปัญหาค่อนข้างแคบ ดังนั้นการจะให้นักกฎหมายมหาชนเข้าร่วมร่างรัฐธรรมนูญ ควรให้เข้ามาดูแลในเรื่องเทคนิคของการเขียนกฎหมายเท่านั้น เพราะที่ผ่านมานักกฎหมายมหาชนมักกุมทิศทางในการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเราก็เห็นความผิดพลาด ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และ 2550 มาแล้วว่า การเขียนกฎหมายเช่นนั้นล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
กำลังโหลดความคิดเห็น