xs
xsm
sm
md
lg

สมาคมบล.ชงตลาดหุ้นผ่อนเกณฑ์ขายชอร์ต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน – สมาคมโบรกเกอร์ เตรียมหารือตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอยกเลิกการจัดส่งรายงานขายชอร์ตที่ยังไม่ได้ซื้อคืนทุกสิ้นวัน รวมถึงปรับสูตรคำนวณเงินบัญชีเงินสดแยกจากบัญชี SBL จากเดิมที่รวมกัน เพื่อลดภาระการวางหลักทรัพย์ของลูกค้าไม่ให้ซ้ำซ้อน พร้อมชี้ข้อติดขัดการจ่ายอินเซ็นทีฟของมาร์เกตติ้ง
รายงานข่าวจากการประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ประจำเดือนตุลาคม 2551 ได้พิจารณาร่างหนังสือของคณะทำงานเพื่อรวบรวมปัญหาข้อติดขัดที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ (SBL) ถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อขอหารือ เรื่องการส่งมอบหลักทรัพย์ที่ขายสำหรับลูกค้าเข้าทำธุรกรรมยืมและใช้ยืมหลักทรัพย์
ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะทำงาน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ คือ การขอยกเลิกการจัดส่งรายงานการขายชอร์ตที่ยังไม่ได้มีการซื้อคืนทุกสิ้นวันตามแบบ กต.4 ที่กำหนดโดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งในทางปฏิบัติบริษัทหลักทรัพย์จะไม่สามารถทราบได้ว่าลูกค้าได้ทำการซื้อคืนหลักทรัพย์เมื่อใด และอาจจะไปซื้อจากบริษัทหลักรายอื่น ซึ่งทำให้บริษัทหลักทรัพย์ไม่มีข้อมูลดังกล่าว และต้องมีภาระในการจัดส่งรายงานไปเรื่อยๆ แม้ว่าลูกค้าได้ทำธุรกรรมดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้วก็ตาม
รวมถึงการขอเสนอปรับปรุงสูตรการคำนวณวงเงินบัญชีเงินสด แยกจากธุรกรรมการยืมและการให้ยืมหลักทรัพย์ เนื่องจากธุรกรรมการยืมหลักทรัพย์ ผู้ยืมต้องวางหลักประกันไว้แล้วร้อยละ 150 เมื่อนำหลักทรัพย์ที่ยืมมาขายชอร์ตในบัญชีเงินสด หรือเมื่อมีการซื้อคืนหลักทรัพย์เพื่อคืนให้กับผู้ให้ยืม โดยไม่ควรจะต้องไปกระทบกับหลักประกันที่วางในบัญชีเงินสด เพื่อการซื้อขายปกติ
สำหรับระบบซื้อขายปัจจุบันจะคำนวณวงเงินโดยนำรายการขายชอร์ตมาหักจากวงเงิน และเมื่อซื้อคืนจะเพิ่มวงเงินเป็นผลให้ลูกค้าต้องมีการวางหลักประกันทั้งเพื่อการยืมและเพื่อการขายชอร์ต จึงขอให้ตลาดหลักทรัพย์ พิจารณากำหนดให้การคำนวณวงเงินบัญชีเงินสด โดยไม่ต้องรวมรายการขายชอร์ตและซื้อคืน เพื่อเป็นการลดภาระการวางหลักทรัพย์ของลูกค้าไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน และเกิดความชัดเจนในการคำนวณวงเงิน
นอกจากนี้ คณะทำงานศึกษาปัจจัยของเกณฑ์การจ่ายผลตอบแทน (Incentive) ชมรมผู้ดูแลการปฏิบัติงานด้านหลักทรัพย์ ได้ดำเนินการศึกษาและจัดทำร่างแนวทางปฏิบัติงานสำหรับการจ่าย Incentive ให้แก่ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุน (เจ้าหน้าที่การตลาด) โดยภายใต้แนวทางการปฏิบัติงานนั้น บริษัทสมาชิกควรจะกำหนดระดับการกระทำความผิดจำนวน 3 ระดับ ได้แก่ ระดับต่ำ ระดับปานกลาง และระดับพร้อมทั้งกำหนดคะแนนความผิดในแต่ละระดับ เพื่อบันทึกคะแนนความผิดสะสม (Point System) โดยในการพิจารณาความผิดจะประกอบด้วย 1. ลักษณะของการกระทำความผิดและระดับความร้ายแรงของความผิด 2. พฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อลูกค้าและบริษัท 3. สถิติข้อร้องเรียนของลูกค้า 4.ความถี่ของการกระทำความผิดในการปฏิบัติงาน
สำหรับแนวทางปฏิบัติงานที่จะนำมากำหนดเป็นปัจจัยในการพิจารณาจ่าย Incentive ให้กับผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนนั้นได้พิจารณาอ้างอิงประกาศสำนักงานฯที่อข.10/2548 เรื่อง แนวทางปฏิบัติตามมาตรฐานการปฏิบัติงานของผู้ติดต่อผู้ลงทุน คณะทำงานฯมีความเห็นว่าการกำหนดแนวทางปฏิบัติงานดังกล่าวมีประเด็นข้อติดขัดดังนี้ 1. ปัญหาการกำหนดแนวทางปฏิบัติงานดังกล่าวจะขัดต่กฎหมายแรงงานหรือไม่ ปัญหาในการนับรอบระยะเวลาสะสมความผิดควรเป็นรอบ 6 เดือน หรือ 1 ปีของปีปฏิทิน หรือควรมีผลเดือนต่อเดือน และปัญหาการนับคะแนนความผิดและรอบระยะเวลาสะสมแบบ Point Systemอาจมีผลทำให้เจ้าหน้าที่การตลาดไม่ยอมปฏิบัติงาน
ดังนั้นคณะกรรมการบริหารสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าร่างแนวทางดังกล่าว ควรจะมีลักษณะในเชิงการติดตาม เช่น การขยายฐานลูกค้า การให้คำแนะนำลูกค้า การเข้ารับอบรวม ส่วนการพิจารณากำหนดระดับการกระทำความผิดให้แต่ละบริษัทกำหนด รวมถึงการมีแผนงานการจัดอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่การตลาด และขอให้ชมรมผู้ดูแลการปฏิบัติงานด้านหลักทรัพย์ได้ปรับปรุงร่างแนวทางดังกล่าวต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น