xs
xsm
sm
md
lg

ไฟเขียวรื้อโครงสร้างตลท. ดึง"โสภาวดี"ดูงานตลาดทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ไฟเขียวปรับโครงสร้างผู้บริหารระดับสูง รองรับการแปรรูปตลาดหุ้นไทย ก่อนเข็นเข้าจดทะเบียนในปี 2554 โดยแบ่งออกเป็น 2 องค์กรหลักคือตลาดหลักทรัพย์ฯ และกองทุนเพื่อการพัฒนาตลาดทุน ดึง "โสภาวดี" กลับมาดูแลงานพัฒนาตลาดหุ้น-ตราสารหนี้ ควบเอ็มดีศูนย์รับฝาก พร้อมโยก "ศุภกิจ" มือปราบปั่นหุ้นดูและงานด้านปฏิบัติการ ดัน "ศักรินทร์" ขึ้นแท่นดูแลงานกำกับและบริหารความเสี่ยง ระบุโครงสร้างตลาดหุ้นใหม่มีผลบังคับใช้ต้นเดือนมกราคม 2552

วานนี้ (30 ก.ค.) คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้จัดการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องการปรับโครงสร้างผู้บริหาระดับสูงตลาดหลักทรัพย์ฯ ขณะที่วาระเรื่องการพิจารณาขยายระยะเวลาการซื้อขายหลักทรัพย์เพิ่มในช่วงเวลา 17.00-23.00 น. ได้เลื่อนออกไปพิจารณาครั้งต่อไปในเดือนสิงหาคม 2551 ทั้งนี้ หลังการประชุมเสร็จสิ้นผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เรียกประชุมพนักงานและชี้แจงโครงสร้างใหม่ให้รับทราบ

นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้อนุมัติปรับโครงสร้างผู้บริหารระดับสูงตามโครงสร้างใหม่ ที่คณะอนุกรรมการสรรหาฯ เป็นผู้นำเสนอ เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร และสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า รวมทั้งยังเป็นการรองรับกับแผนการแปรสภาพตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเข้าจดทะเบียนในปี 2554
สำหรับโครงสร้างใหม่ของตลาดหลักทรัพย์ฯ จะแบ่งออกเป็น 2 องค์กร ได้แก่ องค์กรแรก ส่วนของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเน้นการดำเนินธุรกิจตลาดทุน และองค์กรที่สอง กองทุนเพื่อการพัฒนาตลาดทุน ที่จะเน้นการพัฒนาตลาดทุนในระยะยาว โดยทั้ง 2 องค์กรจะอยู่ภายใต้การดูแลของนางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ

ส่วนของตลาดหลักทรัพย์ฯ จะสามารถแยกออกเป็น 2 กลุ่มงานใหญ่ คือ 1. กลุ่มงานธุรกิจ (Exchange Functions) แบ่งงานเป็น 3 งานหลัก ได้แก่ 1.1 งานด้านการพัฒนาตลาด (Markets) ทำหน้าที่บริหารงานด้านการพัฒนาตลาด ทั้งตลาดตราสารทุน ตลาดตราสารอนุพันธ์ และตลาดตราสารหนี้ รวมถึงงานด้านการออกตราสารใหม่และการทำการตลาด การพัฒนาช่องทางเข้าถึงการลงทุน และงานด้านข้อมูล ซึ่งจะมีนางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย รองผู้จัดการ เป็นผู้รับผิดชอบ พร้อมด้วยผู้ช่วยผู้จัดการ 2 ท่าน คือ นางเกศรา มัญชุศรี และนายสันติ กีระนันทน์

1.2 งานด้านการสรรหาและดูแลบริษัทจดทะเบียน (Issuer & Listing) การทำการตลาดแก่ผู้ออกหลักทรัพย์ที่เข้าจดทะเบียนทั้งบริษัทในประเทศ และบริษัทจากต่างประเทศ รวมถึงการสนับสนุนศักยภาพของบริษัทจดทะเบียน อาทิ ด้านการระดมทุน และการใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อการขยายธุรกิจให้เติบโต มีนายวิเชฐ ตันติวานิช รองผู้จัดการ เป็นผู้รับผิดชอบ พร้อมด้วย นายชนิตร ชาญชัยณรงค์ ผู้ช่วยผู้จัดการ ซึ่งทั้ง 2 ท่านมีประสบการณ์ทั้งด้านการตลาดสำหรับตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดหลักทรัพย์ mai และการทำงานกับบริษัทที่มีศักยภาพเข้าจดทะเบียน จึงเป็นประโยชน์ต่องานที่ต้องอาศัยการสร้างเครือข่ายที่มีความต่อเนื่อง

1.3 งานบริการหลังการซื้อขาย (Post Trade Services) ดูแลโดยนางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย รองผู้จัดการ พร้อมด้วยนางกองแก้ว เปี่ยมด้วยธรรม ผู้ช่วยผู้จัดการ เป็นงานที่รับผิดชอบระบบงานที่ต้องให้บริการแก่ลูกค้า ทั้งงานชำระราคา ส่งมอบหลักทรัพย์ และงานด้านนายทะเบียน เพื่อให้บริการและสร้างความพึงพอใจแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนและลูกค้าทุกกลุ่มการดูแลงานหลังการซื้อขายของบริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) (TSD)

ส่วนกลุ่มงานที่ 2. กลุ่มงานบริหารและสนับสนุน (Finance & Administration) แบ่งเป็น 3 งานหลัก ได้แก่ 2.1 กลุ่มงานด้านปฏิบัติการ (Market Operations) และงานด้านเทคโนโลยี (IT) มี นางนงราม วงษ์วานิช รองผู้จัดการ ในฐานะ Chief Operating Officer เป็นผู้ดูแล ทั้งนี้ ได้แบ่งงานเป็น 2 ด้าน ได้แก่ งานด้านปฏิบัติการ มีผู้ช่วยผู้จัดการ ได้แก่ นายสุภกิจ จิระประดิษฐกุล และนางอุดมวรา เดชส่งจรัส เป็นผู้ดูแล และงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่มีผู้ช่วยผู้จัดการประกอบด้วยนายศรกวี ปูรณโชติ และนางพรรณพร ทรัพย์สมบูรณ์

สำหรับความรับผิดชอบของกลุ่มงานนี้ ได้แก่ การบริหารระบบงานด้านการซื้อขายหลักทรัพย์ รวมถึงระบบงานด้าน Back Office ที่เกี่ยวข้องกับการชำระราคา การส่งมอบหลักทรัพย์ และงานรับฝากหลักทรัพย์ของตราสารทุกประเภทให้มีประสิทธิภาพ มีระบบงานที่มีความน่าเชื่อถือ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้สามารถตอบสนองความต้องการในการออกตราสารใหม่หรือโครงการใหม่ได้อย่างทันเวลาและมีประสิทธิภาพ มีความน่าเชื่อถือ

2.2 งานด้านการเงินและงานสนับสนุน (Finance & Administration) ดูแลโดย นางชนิสา ชุติภัทร์ ผู้ช่วยผู้จัดการ รับผิดชอบงานด้านการเงิน งานด้านการบริหารความสัมพันธ์กับผู้ลงทุน และงานด้านสนับสนุนองค์กร ทั้งนี้ นางชนิสา มีประสบการณ์บริหารงานใน บ.เซ็ทเทรด ดอท คอม จำกัด

2.3 งานด้านกำกับและบริหารความเสี่ยง (Market Regulations & Risk Management) ดูแลโดย นาย ศักรินทร์ ร่วมรังษี ผู้ช่วยผู้จัดการ โดยมีนาย สุทธิชัย จิตรวาณิช รองผู้จัดการ เป็นที่ปรึกษา รับผิดชอบงานด้านการกำหนดนโยบายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถใช้ปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม และเพื่อยกระดับความน่าเชื่อถือของตลาดทุน รวมถึงงานด้านการเปิดเผยข้อมูล และงานด้านกำกับตลาด

สำหรับองค์กรที่สอง กองทุนเพื่อการพัฒนาตลาดทุน (Capital Market Development Fund: CMDF)จะแบ่งงานออกเป็น 3 กลุ่ม เพื่อทำหน้าที่พัฒนาตลาดทุนในระยะยาว ได้แก่ 1. งานด้านการให้ความรู้ (Education) ดูแลโดยนายพันธ์ศักดิ์ เวชอนุรักษ์ รองผู้จัดการ และนางจิราพร คูสุวรรณ ผู้ช่วยผู้จัดการและการดำเนินงานของ บ.แฟมมิลี่ โนฮาว จำกัด ซึ่งมีนาย รัชชพล เหล่าวานิช เป็นผู้ดูแลบริษัท

2. งานด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมตลาดทุนโดยรวม (Industry Development)นายชัยยุทธ ชำนาญเลิศกิจ รองผู้จัดการ และนาย เก่งกล้า รักเผ่าพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ โดยกลุ่มงานนี้รับผิดชอบงานด้านการพัฒนาศักยภาพและสร้างความแข็งแกร่งของผู้ร่วมตลาด และ 3. สถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน (Capital Market Research Institute)มีนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้บริหารงานสถาบันวิจัยตลาดทุน จะดูแลงานด้านวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมตลาดทุนโดยรวม
ทั้งนี้ กองทุนเพื่อการพัฒนาตลาดทุน มีงานด้านบริหารสินทรัพย์ (CMDF Office) ซึ่งจะดูแลโดย ดร. นารี บุญธีรวร ผู้ช่วยผู้จัดการ เพื่อรับผิดชอบงานด้านการบริหารสินทรัพย์ ทั้งด้านการบริหารเงินลงทุน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุด

อย่างไรก็ตาม โครงสร้างองค์กรใหม่นี้ จะมีผลตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2552 เป็นต้นไป โดยระหว่างนี้ ผู้บริหารระดับสูงที่ได้รับมอบหมายงานจะเตรียมการสำหรับการจัดทำแผนกลยุทธ์ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นบริษัทจดทะเบียน พร้อมทั้ง กำหนดแนวทางการปรับตัวเชิงกลยุทธ์ใน 5 ปีข้างหน้าต่อไป

สำหรับเป้าหมายในระยะ 5 ปีข้างหน้านั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) เป็น 2 เท่าของปัจจุบัน และตั้งเป้ารายได้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ภายในปี 2556 โดยร้อยละ 25 ต้องเป็นรายได้จากการออกสินค้าใหม่ รวมถึงแผนการเพิ่มบริษัทจดทะเบียนจากต่างประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของมาร์เกตแคป ซึ่งจะมีการกำหนดแผนกลยุทธ์ เพื่อให้มีการดำเนินงานที่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น