xs
xsm
sm
md
lg

แผนแปรรูป ตลท. ถึงมือบอร์ด มิ.ย.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตลาดหลักทรัพย์ฯ แย้ม "บีซีจี" ศึกษารูปแบบการแปรรูปตลาดหลักทรัพย์ฯ เสร็จเรียบร้อยแล้ว มั่นใจเสนอบอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ พิจารณา มิ.ย.นี้ ระบุคาดจะได้โครงสร้างชัดเจนภายใน 1-2 เดือนนี้ ด้าน "นงราม" เผยเลื่อนแผนการตั้งกระดานซื้อขายหุ้นอาเชียนเลื่อนเป็นกลางปีหน้า จากเดิมตั้งเป้าจะดำเนินการให้เสร็จปลายปีนี้

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้บริหารสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการศึกษาการแปรรูปตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า ขณะนี้บอสตัน คอนเซาท์ติ้งกรุ๊ป (บีซีจี) ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าจ้างให้เป็นที่ปรึกษาในการแปรรูปอยู่ระหว่างการศึกษาขั้นตอนสุดท้าย หลังจากทำการศึกษามาเป็นเวลา 4 เดือนแล้ว ซึ่งคาดว่าผลสรุปจะเสร็จออกมาประมาณเดือนมิถุนายนนี้ ก่อนจะเสนอให้คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ พิจารณาต่อไป

"ช่วงที่ผ่านมา บีซีจีได้รายงานและสรุปผลความคืบหน้าต่อบอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ตลอดเวลา และตลาดหลักทรัพย์ฯ เองได้มีข้อเสนอแนะกลับไปด้วย ขณะเดียวกับยังได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) บริษัทหลักทรัพย์ กระทรวงการคลัง โดยจากนี้หน่วยงานที่ตลาดหลักทรัพย์ฯต้องหารือเป็นหลักคือ ก.ล.ต. เรื่องการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแปรสภาพตลาดหลักทรัพย์ฯ"

ทั้งนี้ คาดว่า 1-2 เดือนนี้ จะมีความชัดเจนในเรื่องโครงสร้างของตลาดหลักทรัพย์ฯ กลยุทธ์การดำเนินงาน แต่ในเรื่องโครงสร้างผู้ถือหุ้นว่าจะมีหน่วยงานใดเข้ามาถือหุ้นบ้างในสัดส่วนเท่าไหร่นั้นจะต้องมีการหารืออีกครั้งกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะเป็นสัดส่วนที่เหมาะสม
สำหรับรายละเอียดที่บีซีจีทำการศึกษานั้น ประกอบด้วย 4 เรื่องหลักคือ 1. กลยุทธ์แผนการดำเนินงานในอนาคต 2. โครงสร้างผู้ถือหุ้น 3. โครงสร้างของตลาดหลักทรัพย์ฯจะต้องมีการปรับตัวอย่างไรบ้างเพื่อที่จะสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ และ 4. การที่จะทำให้3เรื่องข้างต้นบรรลุเป้าหมายจะต้องดำเนินการอย่างไร

"ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้จ้างบีซีจีศึกษาเรื่องการแปรรูปมาประมาณ 4 เดือนแล้ว ซึ่งได้สรุปแผนเรียบร้อยแล้ว แต่ยังต้องเก็บรายละเอียดบางเรื่องที่ตลาดลหลักทรัพย์ฯ เสนอไป ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์เร็วๆ นี้ ก่อนจะเสนอผลการศึกษาให้กับทางบอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ พิจารณาในเดือนมิถุนายนนี้ และหลังจากนั้น 1-2 เดือน น่าจะมีความชัดเจนในเรื่องโครงสร้าง แผนกลยุทธ์ ยกเว้นสัดส่วนการถือหุ้นที่จะต้องมีการหารือกับหน่วยงานต่างๆ เพิ่มเติม"

นายกอบศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 2 มิถุนายน 51 นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุน เพื่อสรุปแผนแม่บทพัฒนาตลาดทุนไทยระยะเวลา 10 ปี ซึ่งแผนแม่บทฉบับนี้จะระบุถึงแนวทางในการพัฒนาตลาดทุนไทยทั้งหมด และน่าจะเป็นเรื่องดีเพราะคณะกรรมการชุดนี้มีตัวแทนจากผู้เกี่ยวข้องกับตลาดทุนทั้ง ระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานก.ล.ต. และบริษัทหลักทรัพย์ เป็นต้น ดังนั้นหากมีกฎเกณฑ์ใดที่ยังเป็นอุปสรรค สามารถหยิบยกขึ้นมาหารือ ลดขั้นตอนในการประสานงานได้มาก

นางนงราม วงษ์วานิช รองผู้จัดการสายงานบริหาร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการจัดทำกระดานซื้อขายหุ้นอาเซียน (อาเชียนบอร์ด) ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้ที่จะเข้ามาช่วยในเรื่องการวางระบบงาน โดยมีผู้เสนอที่จะเข้ามาดำเนินงาน 2 บริษัท คือ OMXและ NYX ซึ่งทั้ง2 บริษัทจะต้องมีการยื่นข้อเสนอมาเพื่อให้ทางผู้บริหารของตลาดหลักทรัพย์ฯ6 แห่งในอาเซียนมีการพิจารณาว่าจะเลือกบริษัทไหนเข้ามาทำหน้าที่ดำเนินการระบบการซื้อขายต่างๆ

ทั้งนี้ หากมีการคัดเลือกผู้ดำเนินการระบบแล้ว จะต้องมีการหารือในเรื่องการพิจารณาคัดเลือกหุ้นที่จะเข้ามาอยู่ในกระดานซื้อขายเอเชียนบอร์ด และเรื่องการส่งคำสั่งซื้อขายระหว่างประเทศ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญและดำเนินการได้ยาก เพราะในแต่ละประเทศมีกฎเกณฑ์ที่ต่างกัน

"ที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีการหารือกับทางบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ของไทย ให้จัดทำบทวิเคราะห์หุ้นต่างประเทศให้กับนักลงทุนชาวไทยได้รับทราบข้อมูลหุ้นแต่ละบริษัท เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจเข้าไปลงทุน ซึ่งจะช่วยเสริมสภาพคล่องให้มีการซื้อขายมากขึ้น ขณะที่โบรกเกอร์เองก็พร้อมจะให้ความร่วมมือ เพราะจะเป็นการเพิ่มช่องทางให้โบรกเกอร์มีรายได้มากขึ้น"

สำหรับในเรื่องการคิดค่าธรรมเนียมในการซื้อขายนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีการพิจารณาต้นทุนการใช้จ่ายของทางบล.และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่ไปลงทุนต่างประเทศนั้นเสียค่าใช้จ่ายเท่าไร ทั้งในเรื่องค่าธรรมเนียมการซื้อขาย ค่าผู้ดูแลผลประโยชน์ (คัสโตเดียน) การชำระราคาและส่งมอบ โดยเชื่อว่าจะเก็บในอัตราที่ต่ำกว่าของบล.และบลจ.ไปลงทุนเองในต่างประเทศ

ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถดำเนินการจัดตั้งกระดานซื้อขายหุ้นอาเซียนได้ประมาณกลางปีหน้า จากเดิมที่คาดว่าจะเป็นปลายปีนี้ โดยการเลื่อนนั้นเกิดจากในเรื่องการดำเนินการเรื่องระบบการซื้อขายซึ่งถือว่าเป็นส่วนที่ยากที่สุดในการดำเนินการจึงต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินงาน

"เบื้องต้นตลาดหุ้นแต่ละประเทศจะคัดเลือกหุ้นขนาดใหญ่ 30 บริษัทมาอยู่ในกระดานซื้อขายอาเซียน ทำให้มีหุ้นเข้ามารวมอยู่ในกระดานซื้อขายเดียวกัน 180 บริษัท ขณะที่นักลงทุนแต่ละประเทศจะส่งคำสั่งซื้อขายจากกระดานของประเทศนั้นๆ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้เม็ดเงินที่อยู่นอกตลาดอาเซียนเข้ามาลงทุนด้วย"
กำลังโหลดความคิดเห็น