xs
xsm
sm
md
lg

ชสยท.ยื่น 5 มาตรการจี้ “รัฐบาลสมชาย” แก้ไขราคายางดิ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เพิก เลิศวังพง
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ –ชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสยท.) เดินเครื่องจี้”รัฐบาลสมชาย”เร่งมือช่วยเหลือชาวสวนยางพารากว่า 6 ล้านคน ซึ่งประสบปัญหาราคารับซื้อยางตกต่ำกว่าต้นทุนการผลิต โดยที่ประชุมสรุป 5 มาตรการ ยื่นต่อรัฐรับดำเนินการเร่งด่วนในระยะสั้น 6 เดือนข้างหน้า พร้อมตามติดความคืบหน้า ทั้งเวทีการประชุมบอร์ดกองทุนสวนยางฯ และที่สภาพัฒน์ เพื่อให้รู้ผลภายในสิ้นเดือนนี้

ในขณะที่แนวโน้มราคายางพาราตกต่ำอย่างต่อเนื่อง จนราคาจำหน่ายต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ซึ่งตกกิโลกรัมละ 52 บาท อันเป็นผลกระทบด้านเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำ โดย ณ วันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา ราคายางพาราปรับลดลงอยู่ที่ 48 บาท/กิโลกรัม(กก.) แล้วนั้น

วานนี้( 17 ต.ค. ) ตัวแทนชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยาง (ชสยท.)จากทั่วประเทศ ประมาณ 600 แห่ง ได้ประชุมร่วมกัน ที่ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์สวนยางเขต 1 จังหวัดสงขลา (สกย.) เพื่อหามาตรการนำเสนอให้รัฐบาลช่วยเหลือชาวสวนยางพารา ที่กำลังประสบปัญหาราคาตกต่ำ รวมทั้งกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมยางพาราด้วย

นายเพิก เลิศวังพง ประธานการชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสยท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคายางพาราที่เกิดภาวะตกต่ำนี้ ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศไทยกว่า 1 ล้านครอบครัว หรือ 6 ล้านคนที่เกี่ยวข้องกับยางพาราต้องแบกรับต้นทุนผลิตที่สูงขึ้น อันเป็นผลกระทบจากวิกฤตโลกทำให้ตลาดรับซื้อยางพาราในต่างประเทศชะลอการสั่งซื้อยางพาราจากผู้ส่งออกยางของไทย ก่อให้เกิดผลพวงต่อการรับซื้อวัตถุดิบของผู้ประกอบการจากเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราไทย เนื่องจากโรงงานเองมีความจำเป็นต้องชะลอการรับซื้อวัตถุดิบเข้าโรงงานเช่นกัน

“ในแต่ละปีประเทศไทยมีรายได้จากการส่งออกยางพารามูลค่าถึงปีละ 300,000 ล้านบาท และ 90% ยึดการส่งออกเป็นหลัก แต่ภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 เดือน ราคายางพาราดิ่งวูบจากราคาประมาณ 80-100 บาท/กก.มาอยู่ที่ 48 บาท/กก.เป็นสัญญาณบ่งบอกเหตุที่ต้องปรับลดตาม Demand และ Supply เพื่อพยุงรักษาเสถียรภาพทางด้านราคาให้นิ่ง ไม่ผันผวนจนเกิดการชะลอตัวของตลาด” นายเพิกกล่าวและว่า

ดังนั้น ทางออกที่เป็นไปได้ในการแก้ปัญหา โดยทุกฝ่ายควรมีการเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงทั้งในระบบต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขการผลิต สต๊อก และการส่งออก เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์หาแนวทางเพื่อให้เกิดภาวะสมดุลอันจะก่อให้เกิดเสถียรภาพทางด้านราคา ไม่ผันผวนไปมากกว่านี้

ล่าสุด สหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทยจำนวน 675 แห่ง ได้ประชุมหารือเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ภาครัฐเข้ามาดำเนินการแก้ไขร่วมกัน โดยมีข้อสรุปที่สามารถแก้ปัญหาในส่วนของต้นน้ำ ซึ่งมาตรการทั้งหมดเกิดจากฐานการผลิตของยางไทยระยะเวลา 6 เดือน ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2551-เมษายน 2552 ดังนี้

1.กำหนดปริมาณการกรีดยางของเกษตรกรลง เนื่องจากที่ผ่านมาราคายางสูงมากอาจเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรทำการกรีดยางพาราเพิ่มมากขึ้น ทำให้ไม่มีการพักกรีดต้นยาง ซึ่งมาตรการดังกล่าวควรมีการชี้แจงให้เกษตรกรทราบถึงผลดีต่อต้นยางพาราที่จะได้มีการบำรุงดูแลพักระยะกรีดลง และรัฐควรส่งเสริมให้มีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนปุ๋ยเคมีเพื่อลดต้นทุนอย่างจริงจัง

2.สหกรณ์ควรมีมาตรการกำหนดวันซื้อ-ขายยางพารา เพื่อลดปริมาณยางพาราที่จะออกสู่ตลาดในช่วงเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน

3.กำหนดช่วงเวลาของการเปิด-ปิดตลาดกลางทุกแห่งรวมถึงตลาดประมูลยางของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ทั่วประเทศ เพื่อไม่ให้มีที่ระบายยางไปสู่โรงงานในปริมาณมาก อันจะส่งผลถึงราคายาง

4.ในเบื้องต้น เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยางพาราในระหว่างนี้ หากเกษตรกรชาวสวนยางได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาดังกล่าว สามารถไปกู้เงินจากสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ได้รายละ 30,000 บาท

นอกจากการช่วยเหลือในระยะสั้นแล้ว ภาครัฐควรหาแนวทางช่วยเหลือในระยะยาวแก่เกษตรกรชาวสวนยาง ชุมนุมสหกรณ์ โรงงาน และผู้ประกอบการ ผู้ส่งออกยางพารา ทั้งในด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มในการส่งออกแทนการส่งออกวัตถุดิบให้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงอัดฉีดเงินเข้าในระบบโดยไม่มีการแทรกแซงราคายางโดยเด็ดขาด อันจะส่งผลต่อการสร้างเงินตราต่างประเทศและรักษาเสถียรภาพทางด้านราคาในตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น และในอนาคตประเทศไทยน่าจะเป็นผู้กำหนดราคายางพาราในตลาดโลก เนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกยางพาราได้เป็นอันดับ 1 ของโลก

5.รัฐต้องนำเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำปลอดดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 6 เดือน ให้แก่สหกรณ์กู้ยืมตามจำนวนปริมาณยางที่สหกรณ์เก็บสต๊อกไว้ ในอัตราตันละ 30,000 บาท หรือ 30 บาท/กก. โดยให้หน่วยงานพี่เลี้ยง คือ เจ้าหน้าที่สหกรณ์ เจ้าหน้าที่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง กรรมการดำเนินการของสหกรณ์เป็นผู้รับผิดชอบ สต๊อกยางดังกล่าวของตนเอง

นายเพิก กล่าวต่อว่า หลังจากที่ได้ข้อสรุปมาตรการแก้ไขปัญหาเสนอต่อภาครัฐแล้ว ชสยท.จะมีการติดตามผลคืบหน้าอย่างใกล้ชิด โดยจะมีการประชุมบอร์ดกองทุนสวนยางที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 20 ตุลาคม และภายหลังจากที่ได้ข้อสรุปและผลความคืบหน้าแล้วจะมีการเรียกประชุมสภาการยางพาราไทยอีกครั้ง ที่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในวันที่ 22 ตุลาคม เพื่อเร่งผลักดันให้เกิดการช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น