xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสวนยาง 14 จ.ใต้ ร้องรัฐแก้ราคายางตกต่ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง – ชาวสวนยาง 14 จังหวัดภาคใต้ รวมตัวกันหาแนวทางแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ ร่วมกำหนดท่าทีในการเรียกร้องให้ภาครัฐหาแนวทางช่วยเหลือต่อไป เพราะขณะนี้ทำให้ชาวสวนยางพาราทั่วประเทศได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก โดยเฉพาะชาวสวนยางในภาคใต้


วานนี้ (13 ธ.ค.) ชาวสวนยางพาราทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ รวมตัวกันที่มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช ร่วมหาแนวทางแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ที่เป็นปัญหาให้ชาวสวนยางทั่วประเทศ โดยเฉพาะภาคใต้ที่ประกอบอาชีพทำสวนยางเป็นอาชีพหลัก กำลังประสบปัญหาได้รับความเดือนร้อนอย่างหนักในขณะนี้

นายขำ นุชิตศิริภัทรา นายกสมาคมชาวสวนยางพาราจังหวัดตรัง กล่าวว่า ในวันนี้ ตัวแทนชาวสวนยางพาราในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ได้เดินทางไปรวมตัวกันที่มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ และเพื่อกำหนดท่าทีในการเรียกร้องให้ภาครัฐหาแนวทางช่วยเหลือต่อไป เพราะขณะนี้ทำให้ชาวสวนยางพาราทั่วประเทศได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ในขณะที่ปัจจัยการผลิตที่สำคัญ โดยเฉพาะปุ๋ยเคมียังคงมีราคาแพง เนื่องจากยางพารามีราคาตกต่ำลงมาอยู่ที่กิโลกรัมละ 20 กว่าบาท แต่ราคาต้นทุนในการผลิตกลับอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 55 บาท และยังเหลือระยะเวลาในการกรีดยางพาราได้อีกประมาณ 1-2 เดือนแล้วเท่านั้น

นายสวาท ทัศนีสุวรรณ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดตรัง กล่าวว่า จากปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยางพารา อันเนื่องมาจากราคาตกต่ำในขณะนี้ ทางกลุ่มเกษตรกรทำสวนยางพาราของจังหวัดตรังจากทุกอำเภอ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรในอำเภอรัษฎา และห้วยยอด ได้มีการประชุมหารือเพื่อหามาตราการในการเรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามาดูแลแก้ไขปัญหา พร้อมเสนอแนวทางผ่านมายังทางจังหวัดตรังแล้ว ซึ่งก็ได้เรียกประชุมฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ รวมทั้งตัวแทนเกษตรกรในนามคณะกรรมการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาผลผลิตการเกษตร เพื่อหารือเพื่อหามาตรการในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งท้ายที่สุดที่ประชุมจังหวัดตรังก็มีความเห็นสอดคล้องกับมติที่ประชุม ของกลุ่มเกษตรกรในอำเภอรัษฎา และห้วยยอด

เกษตรและสหกรณ์จังหวัดตรัง กล่าวอีกว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา นายสมพงษ์ อนุยุทธพงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ก็ได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ รวมจำนวน 3 ข้อ ไปยังทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเร่งพิจารณาดำเนินการ ประกอบด้วย 1.ให้มีมาตรการแทรกแซงราคายางพารา โดยให้กำหนดราคายางแผ่นดิบ ชั้น 3 ขั้นต่ำที่กิโลกรัมละ 55 บาท 2.ให้สถาบันเกษตรกรเป็นผู้รวบรวม ในการผลิตยางแผ่นดิบ และยางแผ่นรมควัน 3.ให้จัดเก็บยางพาราตามหลักวิชาการจัดเก็บในพื้นที่แต่ละจังหวัด เช่น องค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) หรือสถาบันเกษตรกรต่างๆ เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น