xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดนิคมฯสวนกระแสการเมืองเอกชนเร่งปั๊มซัปพลายรับทุนไทย-เทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน- "คอลลิเออร์สฯ"หยิบผลการศึกษา ระบุตลาดนิคมอุตสาหกรรมแนวโน้มเติบโต ผู้ประกอบการนิคมฯเร่งปั๊มที่ดินรองรับความต้องการกลุ่มธุรกิจไทย-เทศ ชี้อีสเทิร์นซีบอร์ดนำโด่งซัปพลายเพิ่มกว่า 14,173ไร่ จากจำนวนซัปพลายใหม่รวม 24,000 ไร่ทั่วประเทศ หลังดีมานด์กลุ่มธุรกิจยานยนต์-พลังงานเอทานอล –ไอที ขยายตัวต่อเนื่อง แนะรัฐบาลขยายระบบขนส่งต่อเนื่องครบวงจร คาดกนอ.อนุมัติขยายมาตรการส่งเสริมด้านภาษีจาก8 ปีเป็น 13 ปี ดันดีมานด์ขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่กลุ่มทีซีซี แลนด์ งัดที่ดินผืนใหญ่ชะอำ นำร่องสร้างนิคมฯเริ่มต้นปี 52

นายปฏิมา จีระแพทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา บริษัทได้ทำการศึกษาและเก็บข้อมูลการลงทุนในกลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม พบว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ความต้องตั้งฐานการผลิตในนิคมอุตฯไทยยังมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการลงทุนของกลุ่มธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและประกอบยานยนต์ และกลุ่มธุรกิจการผลิตพลังงานทดแทน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐบาลมีอัตราการขยายตัวที่ต่อเนื่อง

ทั้งนี้ แม้ว่าปัญหาภาวะวิกฤตการเงินโลกและปัญหาการเมืองภายในประเทศไทย จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุนในประเทศไทยของกลุ่มธุรกิจต่างๆ แต่เนื่องจากการส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงานทดแทนของภาครัฐฯ และความต้องการตั้งฐานการผลิตของกลุ่มธุรกิจยานยนต์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นประตูสู่กลุ่มประเทศเอเชีย ส่งผลให้ยังมีความต้องการเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

นายปฏิมา กล่าวว่า สำหรับปัจจัยบวกที่จะผลักดันให้มีการเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น คือ การขยายเวลาในการส่งเสริมด้านมาตรการภาษี การให้ส่วนลดด้านภาษี ซึ่งคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) อยู่ระหว่างการพิจารณาขยายเวลามาตรการด้านภาษี จาก8ปี เป็น13 ปี หากมีการผ่านมาตรการดังกล่าวจริง จะส่งผลให้กลุ่มธุรกิจต่างๆ สนใจเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในประเทศเพิ่มมากขึ้น และหากรัฐบาลมีการขยายการลงทุนด้านระบบขนส่ง ด้านท่าเรือน้ำลึก ให้เชื่อมต่อกับการขนส่งทางอากาศและระบบรถไฟ จะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นที่สนใจในการลงทุนมากขึ้น

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีศักยภาพในการลงทุน และเป็นจุดศูนย์กลางการขนส่งในภูมิภาค ซึ่งที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีปัญหาการเมือง และวิกฤตการเงินเข้ามากระทบการตัดสินใจลงทุน แต่ยังมีกลุ่มธุรกิจบางส่วนยังเดินหน้าขยายการลงทุนในนิคมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น กลุ่มธุรกิจยานยนต์ กลุ่มธุรกิจพลังงานทดแทน กลุ่มธุรกิจไอที เป็นต้น ที่ต้องการเช่าพื้นที่โรงงานในนิคมอุตฯเพื่อลดต้นทุนในการขนส่ง ขยายกำลังการผลิต และลดความเสี่ยงจากการกู้เงินก่อสร้างโรงงาน

โดยจากการศึกษาของบริษัทคอลลิเออร์สฯพบว่า ในปัจจุบันจำนวนที่ดินในนิคมทั่วประเทศมีทั้งสิ้น 140,000 กว่าไร่ แบ่งเป็น นิคมอุตฯโซนตะวันออก 69,635 ไร่ มีอัตราการเข้าใช้พื้นที่ 70% นิคมฯภาคเหนือ 2,638 ไร่ เข้าใช้พื้นที่ 65% นิคมอุตฯในจังหวัดภาคกลาง 30,560 ไร่ เข้าใช้พื้นที่ 86% นิคมอุตฯภาคใต้ 1,443 ไร่ เข้าใช้พื้นที่ 30% และนิคมอุตฯในตะวันออกเฉียงเหนือ 4 ไร่ มีอัตราการเข้าใช้พื้นที่ 70%

นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า การขยายตัวของพื้นที่นิคมอุตฯในปีนี้ มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 24,000 ไร่ โดยสัดส่วนในการเพิ่มขึ้นสูงสุดคือ นิคมอุตฯอีสเทิร์นซีบอร์ด 14,173 ไร่ ถัดมาเป็นพื้นที่นิคมทางภาคใต้ 6,000 ไร่ และนิคมอุตฯภาคกลาง 3,336 ไร่ ขณะที่ในนิคมอุตฯภาคตะวันออกเพิ่มขึ้น 500 ไร่ เพื่อรองรับการผลิตพลังงานทดแทน

“ เป็นที่น่าสังเกตว่า ยังพบว่า ในช่วงต้นปี 52 ทางกลุ่มทีซีซี แลนด์ (กลุ่มธุรกิจอสังหาฯของตระกูลสิริวัฒนภักดี ) ได้มีแผนลงทุนในธุรกิจนิคมอุตฯไว้ด้วย โดยเฉพาะที่ดินในย่านจังหวัดเพรชบุรี ติดอ.ชะอำ มีประมาณ 20,000 ไร่ จะแบ่งมาพัฒนาเป็นนิคมก่อน 1,000 ไร่ และขยับขยายเป็นเฟสต่อเนื่อง ส่วนที่ดินที่เหลือยังมีแผนพัฒนาเป็นคอมมูนิตี้ขนาดใหญ่ในอนาคต เพื่อรองรับความต้องการด้านที่อยู่อาศัยด้วย”
กำลังโหลดความคิดเห็น