xs
xsm
sm
md
lg

กิจการค้าส่งและบริการหลังการขาย กับประโยชน์ที่มากกว่าการยกเว้นภาษี

เผยแพร่:   โดย: วันเพ็ญ หรูจิตตวิวัฒน์

วิสาหกิจข้ามชาติ มักเริ่มต้นด้วยการมีผู้แทนจำหน่ายในประเทศเป้าหมาย ต่อมาจึงเข้ามาประกอบธุรกิจเพื่อบริการหลังการขาย หากประสบผลสำเร็จ วิสาหกิจก็อาจขยายกิจการไปสู่การตั้งโรงงานผลิตในประเทศนั้น เพื่อจำหน่ายภายในประเทศและต่างประเทศ

การลงทุนในกิจการที่เป็นการสนับสนุนธุรกิจหลักและบริการหลังการขาย โดยตัวของวิสาหกิจเองอาจไม่คุ้มค่าหรือมีประสิทธิภาพเพียงพอ การว่าจ้างบุคคลภายนอกที่มีความชำนาญเฉพาะด้านจึงเกิดขึ้น อันเป็นที่มาของกิจการให้คำปรึกษา และบริการด้านต่างๆ

กิจการประเภทนี้ เรียกว่า “กิจการสนับสนุนการค้าและการลงทุน” (Trade and Investment Support Offices - TISO) ซึ่งครอบคลุมการค้าส่งสินค้า และบริการหลังการขายที่ส่งผลต่อการส่งเสริมและเพิ่มยอดขาย ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของธุรกิจ สามารถขอรับการส่งเสริมการลงทุนได้ในประเภท 7.10 จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (หรือบีโอไอ) ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ ป. 12/2543 ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2543 ครอบคลุม 9 ขอบข่ายธุรกิจ ประกอบด้วย

(1) การกำกับดูแลและหรือให้บริการบริษัทในเครือ

(2) การให้คำปรึกษาและแนะนำในการประกอบธุรกิจ

(3) การให้บริการข้อมูลข่าวสารด้านการจัดซื้อ จัดหาสินค้า

(4) การให้บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค

(5) การทดสอบและออกใบรับรองมาตรฐานสินค้า มาตรฐานการผลิต และมาตรฐานการบริการ

(6) การค้าสินค้าส่งออก

(7) กิจกรรมทางธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องจักร เครื่องกล เครื่องมือ และอุปกรณ์ สำหรับการนำเข้าเพื่อการค้าส่ง การให้บริการฝึกอบรม การติดตั้ง บำรุงรักษา ซ่อมแซม และการปรับ (Calibration)

(8) การออกแบบและพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์

(9) การค้าส่งสินค้าที่ผลิตในประเทศ

หากประกอบธุรกิจที่เข้าข่ายข้อใดข้อหนึ่งอย่างน้อย 1 ข้อ ก็สามารถยื่นขอรับการส่งเสริมได้ โดยสามารถขอรับการส่งเสริมภายใต้ขอบข่ายธุรกิจมากกว่า 1 ข้อ หรือครอบคลุมทั้ง 9 ข้อก็ได้ เพียงแต่ยื่นขอรับการส่งเสริมในขอบข่ายกี่ข้อก็ตาม ต้องประกอบธุรกิจตามขอบข่ายที่ขอรับการส่งเสริมครบทุกข้อ

สิทธิประโยชน์ที่ไม่เกี่ยวกับภาษี แต่ประกอบธุรกิจตามบัญชีสามได้

การขอรับการส่งเสริมกิจการประเภทนี้จะได้รับสิทธิประโยชน์ที่ไม่เกี่ยวกับภาษีอากร ได้แก่ การใช้บริการด้านการขอใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) การขออนุญาตอยู่ในประเทศไทย (Visa) ที่ One Stop Service และการถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน

แม้ว่าจะไม่มีสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเลย แต่กิจการประเภทนี้กลับมีผู้ยื่นขอรับการส่งเสริมมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับอีก 200 ประเภทกิจการที่บีโอไอให้การส่งเสริม แสดงว่ากิจการประเภทนี้ต้องมีประโยชน์มากกว่านั้น และสิทธิประโยชน์ที่ได้การส่งเสริม ทำให้ได้เปรียบมากกว่ากิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากกิจการนั้นเป็นธุรกิจของคนต่างชาติ

ข้อได้เปรียบจากการเป็นกิจการบีโอไอประเภท 7.10 ข้อแรก คือ ทำให้นักลงทุนสามารถประกอบการได้ในประเทศไทย แม้ว่ากิจการนั้นเข้าข่ายต้องขออนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ หากเป็นกิจการตามบัญชีสามของพระราชบัญญัติของการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 และเป็นกิจการของ “คนต่างด้าว” ต้องขอ “ใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว”

“คนต่างด้าว” ภายใต้นิยามตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ หมายถึง กิจการของบุคคลธรรมดาที่เป็นคนต่างชาติ นิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย หรือนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย แต่มีหุ้นทุนหรือมูลค่าหุ้นตั้งแต่ครึ่งหนึ่งของทุนทั้งหมดถือโดยคนต่างชาติหรือนิติบุคคลต่างประเทศ รวมถึงห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่จดทะเบียนในประเทศไทย แต่มีหุ้นส่วนผู้จัดการหรือผู้จัดการเป็นคนต่างชาติ นิยามคนต่างด้าวยังรวมถึงนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย แล้วมีหุ้นทุนหรือมูลค่าหุ้นตั้งแต่ครึ่งหนึ่งของทุนทั้งหมดถือโดยคนต่างชาติ นิติบุคคลต่างประเทศ หรือนิติบุคคลจดทะเบียนในประเทศไทยที่กล่าวมาข้างต้น

หากธุรกิจใดเข้านิยาม “คนต่างด้าว” ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวจึงจะสามารถประกอบการได้ แต่ถ้าเป็นกิจการบีโอไอประเภท 7.10 ที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนก็จะสามารถประกอบการได้โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เพียงแต่นำสำเนาบัตรส่งเสริมที่บีโอไอออกให้ไปยื่นขอรับหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเท่านั้น ซึ่งกิจการบีโอไอจะได้รับหนังสือรับรองดังกล่าวทุกกรณี

บริการ One Stop Service 3 ชั่วโมง ได้ใบอนุญาตทำงานและวีซ่า

พนักงานต่างชาติต้องมีใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) และใบอนุญาตอยู่ในประเทศไทย (Visa) กิจการที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ สามารถใช้บริการ One Stop Service ซึ่งเป็นการรวมบริการของ 3 หน่วยงาน คือ บีโอไอ กรมการจัดหางาน และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ในการขอใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) และการขอใบอนุญาตอยู่ในประเทศไทย (Visa) ซึ่งสามารถดำเนินการให้เสร็จได้ภายใน 3 ชั่วโมง เป็นการอำนวยความสะดวกให้กิจการบีโอไอ

กิจการอื่นที่ไม่ได้เป็นกิจการบีโอไอก็สามารถใช้บริการ One Stop Service ได้ หากเป็นบริษัทที่มีเงินทุนจดทะเบียนชำระเต็มมูลค่าหุ้น หรือทุนดำเนินการไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท

กิจการบีโอไอยังได้รับยกเว้นจากข้อกำหนดเรื่องจำนวนพนักงานต่างชาติที่สามารถมีได้ ตามระเบียบหลักเกณฑ์ของกรมการจัดหางานและสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ภายใต้มาตรา 24 25 และ 26 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 โดยระเบียบกรมการจัดหางานว่าด้วยหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2547 ลงวันที่ 30 กันยายน 2547 กำหนดจำนวนการจ้างคนต่างชาติทำงานวิสาหกิจในประเทศไทยได้ 1 คน ในทุกๆ 2 ล้านบาทของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว แต่หากนายจ้างเป็นนิติบุคคลจดทะเบียนในต่างประเทศ แล้วเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยจ้างคนต่างชาติได้ 1 คนในทุกๆ 3 ล้านของเงินลงทุนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ

นอกจากนั้น คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 606/2549 ลงวันที่ 8 กันยายน 2549 ก็กำหนดอัตราส่วนการจ้างงานพนักงานคนไทยประจำ 4 คนต่อคนต่างด้าว 1 คน ยกเว้นธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ (สำนักงานผู้แทน) สำนักงานภูมิภาค และบริษัทข้ามชาติ (สำนักงานสาขา) ผ่อนผันให้อัตราส่วนจำนวนคนต่างชาติ 1 คนต่อพนักงานคนไทยประจำ 1 คน อีกทั้งยอดรวมส่วนของผู้เป็นเจ้าของในงบดุลต้องมีจำนวนเงินไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท ทำให้กิจการที่มีผลประกอบการขาดทุนสะสมมากจนท่วมทุนจดทะเบียน หรือคงเหลือทุนจดทะเบียนน้อย จนกระทั่งยอดรวมส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่า 1 ล้านบาท คนต่างชาติในกิจการเหล่านี้จะไม่สามารถขอใบอนุญาตอยู่ในราชอาณาจักร และไม่สามารถขอต่ออายุใบอนุญาตอยู่ในราชอาณาจักร เว้นแต่จะเป็นกิจการบีโอไอ

ซื้อที่ดิน-คอนโดมิเนียมได้

กิจการบีโอไอสามารถขอถือกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ ภายใต้มาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ยกเว้นระเบียบหลักเกณฑ์กฎหมายที่ดิน โดยมาตรา 97 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 กำหนดนิยาม “นิติบุคคลต่างด้าว” ให้นิติบุคคลที่มีสิทธิในที่ดินได้เสมือนเป็นคนต่างด้าวในกรณีบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่มีหุ้นอันเป็นทุนจดทะเบียนถือโดยคนต่างด้าวเกินกว่าร้อยละ 49 ของทุนจดทะเบียน หรือผู้ถือหุ้นของบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดเป็นคนต่างด้าวเกินกว่ากึ่งของจำนวนผู้ถือหุ้น หรือห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่จดทะเบียนแล้วมีคนต่างด้าวลงหุ้นมีมูลค่าเกินกว่าร้อยละ 49 ของทุนทั้งหมด หรือผู้เป็นหุ้นส่วนเป็นคนต่างด้าวเกินกว่ากึ่งจำนวนของผู้เป็นหุ้นส่วน ทำให้นิติบุคคลต่างด้าวตามนิยามของประมวลกฎหมายที่ดินไม่สามารถถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในประเทศไทยหากไม่ได้เป็นกิจการบีโอไอ

นอกจากนั้น พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2542 กำหนดให้คนต่างชาติมีสิทธิในที่ดินเพื่อใช้อยู่อาศัยได้ไม่เกิน 1 ไร่ หากนำเงินมาลงทุนไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท และกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างชาติ พ.ศ. 2545 กำหนดให้ดำรงการลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี ในธุรกิจประเภทใดประเภทหนึ่ง เช่น ลงทุนในทุนเรือนหุ้นของกิจการบีโอไอ หรือลงทุนในกิจการที่สามารถขอรับการส่งเสริมได้ เป็นต้น

มาตรา 19 ที่บัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมไว้ในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติอาคารชุด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2534 ประกอบกับมาตรา 19 ที่บัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมไว้ในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติอาคารชุด (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542 ยังได้กำหนดให้คนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาในประเทศไทยตามกฎหมายบีโอไอ หรือนิติบุคคลซึ่งเป็นคนต่างด้าวตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 และเป็นกิจการบีโอไอ สามารถถือกรรมสิทธิ์ในอาคารชุดได้

การได้รับการปฏิบัติเยี่ยงคนในชาติ

ประโยชน์ตามกฎหมายอื่น ทั้งในเรื่องของจำนวนการจ้างงานคนต่างชาติ อัตราส่วนการจ้างงานประจำคนไทยต่อคนต่างชาติ ผ่อนผันผลประกอบการในส่วนของผู้เป็นเจ้าของ การถือกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย และการถือกรรมสิทธิ์อาคารชุด ไม่เพียงเท่านั้น กิจการบีโอไอยังได้รับความคุ้มครองตามความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน โดยให้ถือว่าบัตรส่งเสริมเป็น “ใบรับรองการให้ความเห็นชอบการให้ความคุ้มครองการลงทุน (Certificate of Approval for Protection - C.A.P.)” ซึ่งให้ความคุ้มครองในเรื่องของการปฏิบัติที่เท่าเทียมและเป็นธรรม (Fair and Equitable Treatment) การปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment) การปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง (Most Favoured Nation Treatment) การโอนผลประโยชน์โดยเสรี (Free Transfer) การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหากถูกเวนคืนหรือจากภาวะเสี่ยงที่ไม่ใช่ความเสี่ยงด้านพาณิชย์ เช่น การปฏิวัติ รัฐประหาร การจลาจล เป็นต้น (Compensation for Expropriation and Non-Commercial Risk) รวมถึงการระงับข้อพิพาท (Dispute Settlement) ที่เป็นธรรม

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น