xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.แรงงานถกปัญหาแรงงานต่างด้าว - ชี้ปัญหามากทั้งระบบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายประสบสุข  บุญเดช ประธานวุฒสภา
ตราด - กมธ.แรงงานสัมมนาแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวชี้ปัญหามากทั้งระบบ-วิธีการ ผู้ว่าฯ ตราด เผยตราดขาดแคลนแรงงานท้องถิ่นต้องจ้างต่างด้าว แต่ระบบยุ่งยาก

วันที่ (21 ก.ย.) ที่ศาลาประชาคมจังหวัดตราด นายประสบสุข บุญเดช ประธานวุฒสภา พร้อมด้วยคณะกรรมาธิการแรงงานและสวัสดิการสังคมวุฒิสภา ได้เดินทางมาจัดการสัมมนาในหัวข้อเรื่องปัญหาและทางแก้แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง โดยมีนายแก่นเพชร ช่วงรังษี ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด กล่าวต้อนรับและสรุปสภาพปัญหา แรงงานต่างด้าวในพื้นที่จังหวัดตราด มีผู้ประกอบการ สมาชิกหอการค้า จ.ตราด และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วม

โดย นายแก่นเพชร กล่าวรายงานว่า ปัญหาแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง มีผลกระทบโดยตรง ต่อผู้ประกอบการทั้งในจังหวัดตราด ซึ่งเป็นจังหวัดชายแดนติดกับประเทศกัมพูชา และจังหวัดอื่นๆ เพราะเนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศไทยมีการขยายตัวทำให้การลงทุน การบริโภค และการจ้างงานของผู้ประกอบการทั้งภาคเกษตร การประมง อุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว มีความต้องการแรงงานต่างด้าวมากขึ้น

ขณะเดียวกัน เมื่อแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้นก็ส่งผลกระทบตามมามากมาย โดยเฉพาะปัญหาด้านอาชญากรรม โจรกรรม ยาเสพติด และการแพร่ระบาดของโรคติดต่อที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน

นอกจากนี้ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานยังได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการด้านการเกษตร และ การประมง รวมทั้งภาคบริการ โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลผลิต ที่จำเป็นจะต้องใช้แรงงานในการเก็บเกี่ยวผลผลิต รวมทั้งการทำประมงที่ต้องใช้แรงงานในการจับปลา แต่แรงงานในพื้นที่ที่มีอยู่ไม่เพียงพอ และไม่นิยมทำงานทั้ง 2 อย่างนี้ เนื่องจากเป็นงานที่หนักและเหนื่อย จึงต้องใช้แรงงานต่างด้าวแทน

ดังนั้น จังหวัดตราดจึงได้ทำการจัดระบบแรงงานต่างด้าวด้วยการตั้งคณะกรรมการตรวจแนะนำให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีหัวหน้าส่วนราชการกระทรวง แรงงาน เป็นผู้รับผิดชอบ ตรวจแนะนำนายจ้างอย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง และ มอบหมายให้ตำรวจภูธรจังหวัด ร่วมกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปราบปรามและจับกุมผู้กระทำผิด

ด้าน นายพีระ มาทัศน์ สมาชิกวุฒิสภา จ.ลำปาง ประธานคณะอนุกรรมาธิการแรงงานต่างด้าว กล่าวว่า ปัญหาแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง นับเป็นปัญหาสำคัญของชาติ มีผลกระทบทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง เกี่ยวข้องกับส่วนราชการ 22 หน่วย ทั้งพลเรือน ตำรวจ และทหาร ตั้งแต่นอกประเทศและตะเข็บชายแดนและพื้นที่ชั้นในหลายสิบจังหวัด

รวมทั้งเกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้ประกอบการกิจการ ที่ผ่านมาเมื่อปี 2547คณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าว (กบร.) ได้ทำการจดทะเบียน มีสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปี ที่นายจ้าง ผู้ประกอบการ จดทะเบียน 2 แสน 5 พันราย และแรงงานต่างด้าวชาวพม่า ลาว และกัมพูชา รวมกัน จดทะเบียนทั้งสิ้น 1.3 พันล้าน เป็นผู้ได้รับอนุญาตทำงาน 849,552 ราย และมีผู้หลบหนี เข้าเมืองบางส่วนที่จดทะเบียน แล้วแต่ไม่ได้ทำงาน ประมาณ 400,000 คน

ส่วนใหญ่เป็นผู้ติดตามเป็นคนสูงอายุและเด็ก โดยกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้รับเงินจากค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว รายละ 3,800 บาท เป็นเงินทั้งสิ้น ประมารณ 3,200 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายของสถานพยาบาลร้อยละ 50 ประมาณ 1,600 ล้านบาท ต่อมาปรากฎว่า แรงงานต่างด้าว มาขอต่อใบอนุญาตลดน้อยลงทุกปี จากจำนวน 849,552 รายในปี 2547 ขณะนี้เหลือเพียง 501,570 ราย ลดลง 350,000 ราย เงินรายได้ ค่าธรรมเนียมก็ลดลง ทำให้รัฐขาดรายได้ไปประมาณปีละ 1,300 ล้านบาทเป็นอย่างต่ำ

ดังนั้น ปัญหาแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ได้สร้างปัญหาให้กับพื้นที่ทั้งการก่ออาชญา กรรม ปัญหาชุมชนแออัด (สลัม) ในพื้นที่ชุมชนทั่วประเทศ รวมทั้งโรคติดต่อที่แพร่ระบาดมากับผู้หลบหนีเข้าเมืองซึ่งทำให้ผู้ประกอบการ ที่ทำมาหากินโดยสุจริต ได้รับความเดือดร้อนไปด้วย

ขณะที่นายประสพสุข กล่าวว่า ปัญหาแรงงานต่างด้าวเป็นปัญหาที่รัฐบาลได้เร่งรัดแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบตั้งแต่ปี 2547 แต่ปรากฏว่าจำนวนแรงงานที่เคยมีมากถึง 1.3 ล้านคน กลับมีการจดทะเบียนเพียง 4-500,000 คน นอกนั้นเป็นแรงงานต่างด้าว ซึ่งการจะทะเบียนที่ลดลงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

อีกทั้งแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายก็ยังสร้างปัญหาด้านอาชญากรรมเกิดขึ้นเสมอ ซึ่งการจัดสัมมนาครั้งนี้จะเป็นหนทางหนึ่งที่วุฒิ สภาจะหาแนวทางแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้ทางรัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานได้นำแนวทางไปปรับปรุงแก้ไข โดยส่วนหนึ่งได้จากการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง

ขณะที่ พล.ต.ต.ขจร สัยวัตร์ ประธานคณะกรรมาธิการแรงงานและสวัสดิการสังคมวุฒิสภา กล่าวว่วา วันนี้แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยยังมีปัญหาในการจดทะเบียนและควบคุมไม่ให้แรงงานต่างด้าวสร้างปัญหาให้แก่ประเทศไทย ส่วนหนึ่งเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจของไทยแต่หากควบคุมไม่ได้แรงงานเหล่านี้ ก็จะสร้างปัญหาขึ้นโดยเฉพาะบุตร-หลานหรือครอบครัวของแรงงานต่างด้าวที่อพยพมาพร้อมกัน ถูกละเลยในการแก้ปัญหาทั้งการให้บริการด้านสาธารณสุข หรือการศึกษากับบุตร-หลาน แรงงานเหล่านี้ไม่ได้รับการดูแลอย่างที่ควรจะเป็น อีกทั้งเกรงกลัวผิดกฎหมายด้วย ซึ่งตนเองมองเห็นว่าควรที่กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการจะต้องเข้ามาดูแลปัญหาเรื่องนี้โดยเร็ว

กำลังโหลดความคิดเห็น