xs
xsm
sm
md
lg

ยื่นตีความแถลงนโยบายโมฆะพบแอบสอดไส้เพื่อให้องค์ประชุมครบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้มอบหมายคณะบุคคลไปตรวจสอบการประชุมแถลงนโยบาย ต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา เพราะเราเริ่มเห็นความไม่ปกติในการประชุมดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการสั่งให้นับองค์ประชุม 2 ครั้งจึงครบองค์ประชุม และการตรวจสอบคนที่เข้าไปในห้องประชุมสภาฯในวันนั้น เพราะมีเจ้าหน้าที่รัฐสภาและสื่อมวลชนให้ข้อมูลกับพรรคอยู่ตลอดว่าน่าจะมีความผิดปกติเกิดขึ้น เนื่องจากการยืนยันตัวเลของค์ประชุมของรัฐสภาครั้งหลังสุดอยู่ที่จำนวน 320 คน ซึ่งมีสมาชิกเข้าประชุมเกินจำนวนกึ่งหนึ่งเพียง 9 คน และเมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา พรรคได้มอบหมายให้ ส.ส. 30 คนไปขอเจ้าหน้าที่รัฐสภาตรวจสอบการลงชื่อเข้าประชุมโดยตรง ซึ่งได้ข้อพิรุธและเป็นข้อเท็จจริงที่เชื่อได้ว่าถ้าเป็นจริงตามนั้น การแถลงนโยบายของรัฐบาลในวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมาจะไม่ชอบและเป็นโมฆะซึ่งหมายความว่านายกฯ แถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยมิชอบ ยังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกฯได้
ทั้งนี้ จากการตรวจพบว่ามีสมาชิกรัฐสภาเซ็นชื่อเข้าประชุมจำนวน 258 คน จากนั้นได้มีการกดบัตรเพื่อยืนยันองค์ประชุม ซึ่งปกติผู้ที่มีสิทธิ์ยืนยันองค์ประชุมด้วยการกดบัตรต้องเซ็นชื่อเข้าร่วมประชุมและต้องอยู่ในที่ประชุม แต่พบว่ามี 3 คนที่ไม่ได้ลงชื่อเข้าประชุมแต่มีชื่อในการกดบัตรซึ่งถ้าไม่ลงชื่อเข้าประชุมก็เท่ากับว่าไม่อยู่ในที่ประชุม คือ 1.ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง รมว.สาธารณสุขและส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน 2.นายมานิต นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชาชน และ 3.นายสฤษฏ์ อึ้งอภินันท์ ส.ส.เชียงราย พรรคพลังประชาชน
ซึ่งยังได้มีการตรวจสอบ ข้อเท็จจริงเพิ่มอีกจากภาพการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ตลอดเวลาการแถลงนโยบาย รวมถึงสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่รัฐสภาหลายคนยืนยันกับ ส.ส.ของพรรคที่ไปตรวจสอบ พบว่าร.ต.อ.เฉลิมไม่ได้อยู่ที่ประชุมรัฐสภา ตลอดการประชุมและในช่วงที่กลุ่มพันธมิตรฯปิดล้อมรัฐสภา เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ถือเป็นข้อพิรุธ ผิดพลาด ซึ่งนำไปสู่การพิสูจน์ต่อไป โดยจะมีส.ส.ของพรรคไปตรวจสอบ ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากกล้องวงจรปิดในรัฐสภาด้วย
ข้อเท็จจริงเหล่านี้เพียงพอที่จะยืนยันได้ว่า การแถลงนโยบายดังกล่าวมีปัญหาผิดพลาดในเรื่องความชอบขององค์ประชุม และความชอบในการทำหน้าที่ของ นายกรัฐมนตรีแน่นอน ข้อเท็จจริงนี้สมควรที่นายกฯควรจะยุติการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งความรับผิดชอบที่เป็นคนสั่งการให้มีการใช้กำลัง ทำให้ผู้ชุมนุมบาดเจ็บและล้มตาย เป็นข้อกล่าวหาที่ใหญ่หลวงพอที่จะมีการยุติการปฏิบัติหน้าที่ แต่เมื่อมีข้อพิรุธ ในการประชุมเพิ่มเติม ขึ้นเช่นนี้ก็เป็นเรื่องชอบที่นายกฯ จะต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ในขณะนี้
น.ส.ผ่องศรี ธาราภูมิ ส.ส.ลพบุรี กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากพรรค ให้ไปดูความถูกต้องขององค์ประชุม โดยไปขอข้อมูลจากฝ่ายบันทึกเทปการประชุม และทำหนังสือถึงสำนักงานเลขาธิการ ขอตรวจสอบรายชื่อการลงทะเบียน และ ลายเซ็นว่า มีข้อผิดปกติหรือไม่อย่างไร ซึ่งมี ส.ส. อย่างน้อย 3 คน ที่ไม่ได้ลงชื่อ เข้าร่วมประชุม แต่ใช้สิทธิในการโหวตในสภา และ ในส่วนของ ส.ว. ขณะนี้ได้เข้าไป ตรวจสอบด้วย โดยอาจจะมีกรณีเดียวกันได้ เพราะบรรยากาศการประชุมวันนั้น ผู้ที่เข้าร่วมประชุมน้อยมากไม่น่าจะถึง 320 คน ทั้งนี้ ในส่วนของบันทึกการลทะเบียนรายชื่อเข้าร่วมประชุม ถ้าใครมาก็จะลงชื่อ แต่หากใครไม่เข้าร่วมประชุม จะมีการขีดเส้นแดงหลังรายชื่อ และลงว่าลำดับไหนไม่มาประชุม ซึ่งรายชื่อทั้ง 3 คนดังกล่าว มีการขีดเส้นแดง
รายงานข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์ระบุว่า หากตรวจสอบพบว่าองค์ประชุมในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ต.ค. มีปัญหาเรื่ององค์ประชุม พรรคประชาธิปัตย์จะทำหนังสือไปถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย การแถลงนโยบายดังกล่าวเป็นโมฆะหรือไม่

ไล่บี้สอบองค์ประชุมสภาวันแถลงนโยบาย
นายวรินทร์ เทียมจรัส ส.ว.สรรหา แถลงว่า ได้ทำหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา และเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอข้อมูลการประชุมสภาเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 ทั้งรายชื่อ ส.ส. และส.ว. ที่เข้าร่วมประชุม สมุดเซ็นชื่อผู้เข้าร่วมประชุม พร้อมเทปบันทึกภาพ และเสียงการประชุม ตั้งแต่เริ่มจนปิดประชุม เพื่อตรวจสอบองค์ประชุมรัฐสภา เนื่องจากได้รับแจ้งเบาะแสว่ามีสมาชิกรัฐสภาบางท่านไม่ได้ลงชื่อ และไม่อยู่ร่วมในการประชุม แต่กลับมีการใช้บัตรลงคะแนนแทนกัน ซึ่งองค์ประชุมถือว่าเป็นสาระสำคัญในการประชุมและศาลรัฐธรรมนูญก็เคยมีคำวินิจฉัยว่าองค์ประชุมจะต้องครบตั้งแต่เริ่มประชุม และการลงมติถ้าขาดช่วงใดช่วงหนึ่งก็ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม และถือว่าขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตามหากตรวจสอบพบว่าองค์ประชุมไม่ครบจริงประธานรัฐสภา ในฐานะผู้ดำเนินการประชุมจะต้องรับผิดชอบ และนำไปสู่กระบวนการถอดถอนต่อไป ส่วนรัฐบาลที่เป็นผู้แถลงนโยบายก็จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบร่วม ทั้งนี้เป็นการใช้สิทธิ์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 ประกอบพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร มาตรา 9
นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า จะยังไม่มีการประชุมสาภาฯ เพราะขณะนี้เกิดความแตกแยกค่อนข้างมาก ส่วนเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้ารัฐสภาถือเป็นความผิดพลาดของรัฐสภาหรือไม่ที่ไม่ยอมเลื่อนการประชุมรัฐสภาออกไป นายชัย กล่าวว่า ไม่สามารถเลื่อนการประชุมออกไปได้ เพราะไม่ทราบว่าพันธมิตรฯจะมา เราแจ้งไม่ทันและกฎหมายรัฐธรรมนูญ ยังกำหนดเกรอบเวลาเอาไว้ด้วยว่า เมื่อตั้งรัฐบาลได้ จะต้องแถลงนโยบายภายใน 15 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 9 ต.ค.นี้ ดังนั้นเราจึงทำเป็นต้องดำเนินการ ไม่เช่นนั้นฝ่ายนิติบัญญัติก็จะผิด จึงจำเป็นต้องทำตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ประชาชนไว้วางใจ
ผู้สื่อข่าวถามว่ากลุ่มพันธมิตรฯ มาปิดล้อมรัฐสภาตั้งแต่ช่วงค่ำของวันที่ 6 ต.ค. แล้ว ทำไมถึงไม่เลื่อนการประชุมออกไป นายชัย กล่าวติดตลกว่า คนแก่นอนตั้งแต่หัวค่ำหลับไม่รู้เรื่อง
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า ทำไมถึงไม่ยอมเปลี่ยนสถานที่ประชุม นายชัย กล่าวว่า สภามีไว้สำหรับประชุมสภา ไม่ใช่ไปประชุมตามโรงเตี๊ยม ผู้แทนฯก็มีหน้าที่มาประชุมที่สภา เราจะไปหลบหนีเหมือนรัฐบาลไม่ได้ สภาเลือกตั้งมาจากประชาชน ถ้าประชาชนจะฆ่าจะแกงเราก็ตายในสภาเราไม่ไปที่อื่น
ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์ประกาศจะไม่ร่วมประชุม 4 ฝ่าอีกนั้น นายชัย กล่าวว่า ยังไม่ได้รับทราบเป็นลายลักษณ์อักษร สำหรับกรณีที่สังคมเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกนั้น ตนเป็นคนกลางไม่สามารถวินิจฉัยแทนนายกรัฐมนตรีได้
พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฏร กล่าวถึงข้อเสนอของ น.พ.ประเวศ วะสี ราษฏรอาวุโส ที่ให้ตั้งรัฐบาลแห่งชาติว่า ถ้าให้นายกฯ มาจากคนนอก เพื่อตั้งรัฐบาลแห่งชาติคงไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญไมได้เปิดโอกาสให้คนนอก เข้ามาเป็นนายกฯ ซึ่งส่วนตัวได้เสนอในที่ประชุมร่วม 4 ฝ่ายให้ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ โดยนายกฯต้องมาจากสมาชิกรัฐสภา ซึ่งทุกฝ่ายก็มีแนวโน้มเห็นด้วย แต่สุดท้าย ก็ไม่มีการผลักดัน เรื่องจึงหายไป ขณะนี้ถือว่ามีความจำเป็นที่ต้องมีรัฐบาลแห่งชาติ เพื่อแก้ไขสถานการณ์แล้ว เพราะสังคมสังคมเกิดความแตกแยกอย่างรุนแรงระหว่างฝ่ายที่ชอบกับฝ่ายที่เกลียดพรรคไทยรักไทยหากไม่รีบแก้ไขจะนำไปสู่ สงครามแห่งชนชั้นและสงครามประชาชน แต่เท่าที่ดูไม่มีใครมองถึงปัญหาตรงนี้และไม่มีใครที่จะหันหน้ามาพูดคุยถึงปัญหาที่แท้จริง
พ.อ.อภิวันท์ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเยียวยา สถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยประธานอาจเป็นน.พ.ประเวศ พล.ต.อ.วสิษฐ์ เดชกุญชร หรือ คุณหญิง พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ก็ได้ ขณะนี้อย่าไปมองว่าใครผิดใครถูก เมื่อเกิดขึ้นก็ต้องเยียวยาหรือป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นอีก
ส่วนที่นปก.จะชุมนุมใหญ่ในวันที่ 10 ต.ค.นี้ จะทำให้เกิดเหตุการณ์รุนแรง ขึ้นอีกหรือไม่ พ.อ.อภิวันท์ กล่าวว่า การชุมนุมเป็นสิทธิที่ทำได้ หากชุมนุมกันคนละที่ก็ไม่เป็นไร แต่ขณะนี้บ้านเมืองต้องการความรักความสามัคคี อะไรที่จะก่อให้เกิดความยั่วยุก็ขอให้ยุติการกระทำ อย่างไรก็ตามมาตราการการรักษาความปลอดภัยในรัฐสภาไม่ได้มีการสั่งการให้เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่มากขึ้น แต่ตนจะขอประธานสภาฯจัดซื้ออุปกรณ์ป้องกันตัวให้กับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เช่น กระบอง โล่ห์ เป็นต้น
พ.อ.อภิวันท์ กล่าวว่า ในคืนนี้ (10 ต.ค.)ตนพร้อมด้วยประธานวุฒิสภา จะไปร่วมประชุมสภาโลกที่นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ แม้ใจจริงจะรู้สึกเป็นห่วง สถานการณ์การเมืองในไทย แต่เมื่อประธานวุฒิสภาระบุว่า หากไม่เดินทางไปร่วมประชุมก็เป็นการซ้ำเติมประเทศไทยเข้าไปอีก ดังนั้นจึงต้องเดินทางไปชี้แจงให้ตัวแทนของสมาชิกรัฐสภาได้เข้าใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น