xs
xsm
sm
md
lg

“เรืองไกร” จี้ ปธ.วุฒิ ยื่นศาล รธน.ตีความคุณสมบัตินายกฯถือหุ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ
ส.ว.จอมแฉส่งศาล รธน.วินิจฉัยนายกฯขาดคุณสมบัติ ตาม รธน.ร้องขอชี้ให้ชัดเป็นการให้ออกจากราชการเพราะกระทำทุจริตประพฤติไม่ชอบหรือไม่

วันนี้ (10 ต.ค.) ที่รัฐสภา นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา พร้อมกลุ่ม ส.ว.จำนวน 10 คน เข้ายื่นหนังสือต่อนาย ประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี ของ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตอนเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.ว่า มีการถือครองหุ้นของบริษัท ซีเอส ล็อกซ์อินโฟ จำกัด (มหาชน) จำนวน 1 แสนหุ้น มูลค่า 346000 บาท จึงเป็นเงินลงทุนที่อาจเข้าลักษณะมีสัมปทาน หรือเป็นคู่สัญญากับรัฐ ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 265, 266 ประกอบมาตรา 48 สำหรับบริษัท ซีเอส ล็อกซ์อินโฟ ได้ทำสัญญากับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เพื่อขออนุญาตให้บริการรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ และอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียวเป็นเวลา 22 ปี ตั้งแต่วันที่ 9 ส.ค.2537 ถึงวันที่ 8 ส.ค.2559 ซึ่งจากการตรวจสอบรายงานประจำปีของบริษัท ซีเอส ล็อกซ์อินโฟ และบัญชีแสดงทรัพย์สินของนายสมชายแล้ว เห็นว่ามีข้อมูลที่ชัดเจนพอสมควร นายกฯอาจขาดคุณสมบัติจากการเป็น ส.ส.ตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค.2551 ซึ่งมีผลให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลง และมีผลให้คุณสมบัติความเป็นนายกฯขาดไปด้วย

นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนในประเด็นการถือครองหุ้น เข้าลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 265, 267 ประกอบมาตรา 48 หรือไม่ และมีผลทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯสิ้นสุดลงตามมาตรา 182(7) ประกอบมาตรา 48, 174 และ 106(6) โดยขอให้ศาลดำเนินกระบวนการพิจารณาไต่สวนเอง และใช้อำนาจเรียกเอกสารการถือครองหุ้นตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค.2550 ถึงวันที่ 30 ก.ย.2551 จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตั้งแต่ปีภาษี 2549 จนถึงกลางปี 2551 และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดแนวทางตามคำวินิจฉัยที่เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ และผลของคำวินิจฉัยจะถือว่าความสิ้นสุดของรัฐมนตรี เป็นการถูกให้ออกจากราชการ เพราะถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 102(6) หรือไม่

ด้าน นายวรินทร์ เทียมจรัส ส.ว.สรรหา แถลงว่า ได้ทำหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา และเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอข้อมูลการประชุมสภาเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 ทั้งรายชื่อ ส.ส.และ ส.ว.ที่เข้าร่วมประชุม สมุดเซ็นชื่อผู้เข้าร่วมประชุม พร้อมเทปบันทึกภาพ และเสียงการประชุม ตั้งแต่เริ่มจนปิดประชุม เพื่อตรวจสอบองค์ประชุมรัฐสภา เนื่องจากได้รับแจ้งเบาะแสว่ามีสมาชิกรัฐสภาบางท่านไม่ได้ลงชื่อ และไม่อยู่ร่วมในการประชุม แต่กลับมีการใช้บัตรลงคะแนนแทนกัน ซึ่งองค์ประชุมถือว่าเป็นสาระสำคัญในการประชุมและศาลรัฐธรรมนูญก็เคยมีคำวินิจฉัยว่าองค์ประชุมจะต้องครบตั้งแต่เริ่มประชุม และการลงมติถ้าขาดช่วงใดช่วงหนึ่งก็ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม และถือว่าขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามหากตรวจสอบพบว่าองค์ประชุมไม่ครบจริงประธานรัฐสภาในฐานะผู้ดำเนินการประชุมจะต้องรับผิดชอบ และนำไปสู่กระบวนการถอดถอนต่อไป ส่วนรัฐบาลที่เป็นผู้แถลงนโยบายก็จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบร่วม ทั้งนี้ เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 ประกอบ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร มาตรา 9
กำลังโหลดความคิดเห็น