xs
xsm
sm
md
lg

เขตปทุมวัน : “ตึกสูง-ป้ายล้ำเส้น!”

เผยแพร่:   โดย: แสงแดด


ขณะนี้เราชาวกรุงเทพมหานครคงทราบผล “การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ” กันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และก็คงขอแสดงความยินดีกับ “การหวนกลับ” สู่ตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.อีกวาระหนึ่งของคุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ว่าไปแล้ว “แสงแดด” ทั้งคาดการณ์และฟันธงไปล่วงหน้าแล้วว่า คุณอภิรักษ์ “นอนมา!” อย่างแน่นอน ทั้งๆ ที่ความจริงที่เราต้องยอมรับว่า ผลงานของคุณอภิรักษ์ ในช่วงเทอมแรก (4 ปี) นั้นไม่ค่อยมีผลงานประทับใจซักเท่าใด ดังนั้น ก็หวังว่าในสมัยที่สองของคุณอภิรักษ์นั้นต้องเร่งสปีดผลงานให้ประทับใจชาว กทม.ที่ไปหย่อนบัตรลงคะแนนให้เกือบล้านเสียง!

ปัญหาของกรุงเทพมหานครมีมากมายหลากหลายเหมือนกับเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก ที่มีทั้งปัญหาสภาพแวดล้อม มลพิษ ขยะ พื้นที่สีเขียว ปัญหาการจราจร ชุมชนแออัด การซ่อมแซม เรียกว่า นานาสารพัดปัญหา เนื่องด้วยเมืองใหญ่ๆ ทั้งหลายที่มีประชากรพักอาศัย ทำงานจำนวนมากนับหลายล้านคน ย่อมเป็นปัญหาปกติธรรมดาที่ผู้บริหารจะต้อง “เกาะติด” และ “แก้ไขปัญหา” ทุกเมื่อเชื่อวัน

เท่านั้นยังไม่พอปัญหาหลักของเมืองใหญ่ๆ โดยเฉพาะ “กรุงเทพมหานคร” นั้น “ธรรมาภิบาล : ความโปร่งใส” เป็นประเด็นสำคัญที่จำต้องให้เกิดขึ้น กับกรณี “การบริหารจัดการ” และ “การอนุมัติ” ตั้งแต่การก่อสร้างเล็กๆ น้อยๆ ต่อเติมอาคาร ปลูกต้นไม้ ทางเดินฟุตปาธ แม้กระทั่ง “ป้ายร้านค้า” ก็ต้องได้รับการดูแลจากทางกรุงเทพฯ เช่นเดียวกัน

พูดง่ายๆ ก็หมายความ “สารพัดสารพันเรื่อง” ตั้งแต่เรื่องเล็กจนถึงเรื่องใหญ่ ทางกรุงเทพมหานครต้องดูแลหมด เพียงแต่ความจริงที่เราต้องยอมรับว่า ทุกเรื่องทุกกรณีนั้น ย่อมหนีไม่พ้น “การผิดระเบียบ-ผิดกฎหมาย” แทบทุกเรื่อง ถ้าทางราชการจะดำเนินการตรวจสอบอย่างจริงๆ จังๆ รับรองได้เลยว่า “ผิดทุกเรื่อง!”

“การก่อสร้างอาคารสูง”
กับ “การต่อเติมอาคาร” นั้น ถ้าเราต้องการให้มีการตรวจสอบอย่างจริงจังทุกอาคารในกรุงเทพฯ แน่นอนว่า “ผิดระเบียบหมด!” ไม่ว่าจะเป็นอาคารตึกสูงริมถนนใหญ่ และ/หรือ ตึกอาคารตามตรอกซอกซอย

จากปัญหาของการอนุมัตินานาสารพัดเรื่อง โดยเฉพาะ “การก่อสร้างอาคารสูง” ในกรุงเทพฯ นั้น มิใช่เกิดขึ้นเพียงครั้งสองครั้ง ว่าไปแล้วเกิดขึ้นมาตลอดทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะชื่อ “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” หรือ “สมัคร สุนทรเวช” หรือแม้กระทั่ง “ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์” ก็ต้องบอกได้เลยว่าปัญหาก็ต้องเกิดขึ้น

จากกรณีปัญหาการก่อสร้างอาคารสูงล่าสุด ที่มีการฟ้องร้องทั้งอดีตผู้ว่าฯ กทม. และสำนักงานกรุงเทพมหานคร ตลอดจนเขตปทุมวัน จาก “ประชาชนชาวซอยร่วมฤดี” ถือว่า “ฮือฮา!” พอสมควร

การฟ้องร้องในครั้งนี้ “โด่งดังมาก!” เนื่องด้วยกลุ่มผู้ฟ้องเป็นกลุ่มบุคคลที่มีชื่อเสียง พร้อมทั้งมีบารมีมากพอที่จะสามารถดำเนินการฟ้องร้องให้ถึงที่สุดได้ โดยว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว พี่น้องประชาชนที่มีที่พักอาศัยอยู่ในซอยร่วมฤดี ได้มีการฟ้องร้องที่ “เขตปทุมวัน” มาโดยตลอด ถึงปัญหาการก่อสร้างอาคารสูง

ญาติสนิทของ “แสงแดด” เองพักอาศัยอยู่ในซอยร่วมฤดีมา 20 กว่าปี บ่นมาตลอดว่า ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา “จะเดินทางกินนอน” แทบไม่มีความสุขเลย เพราะการก่อสร้างอาคารแล้วอาคารเล่า ประสบปัญหามลพิษทางฝุ่น ทางเสียง รถบรรทุกปูนผ่านวันละนับเกือบร้อยคัน 24 ชั่วโมง เวลารถบรรทุกปูนผ่านทีไร กับรถบรรทุกวัสดุก่อสร้าง เหมือนเกิดแผ่นดินไหว สั่นเทิ้มไปทุกบ้าน

จนในที่สุด ชาวซอยร่วมฤดีสามารถร้อง “เฮ!” ได้เมื่อวันที่ 17 กันยายน ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนายขวัญแก้ว วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวัง นายแพทย์สงคราม ทรัพย์เจริญ แพทย์หลวงประจำพระองค์ อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ท.ธีระ จริยะเวช ผู้จัดการอาคารชุดลาเมซองร่วมฤดี และประชาชนที่อยู่อาศัยในซอยร่วมฤดีรวม 24 คน ยื่นฟ้อง นายสุรเกียรติ์ ลิ้มเจริญ ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เรื่องละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่และปฏิบัติหน้าที่โดยล่าช้าและไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีที่ออกเอกสารรับรองความกว้างของถนนซอยร่วมฤดีเกินกว่าความเป็นจริง และปล่อยให้มีการก่อสร้างอาคารสูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด

ตามฟ้องระบุว่า เมื่อเดือนกันยายน 2548 มีบริษัทก่อสร้างแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารสูง 18 ชั้น เพื่อใช้เป็นอาคารพาณิชย์และพักอาศัย และขอให้สำนักงานเขตปทุมวันตรวจสอบความกว้างของซอยร่วมฤดี ซึ่งปรากฏว่า เขตถนนมีความกว้าง 10 เมตร ผิวจราจรกว้าง 7.50 เมตร แล้วต่อมาทางบริษัทได้ยื่นหนังสือแจ้งความประสงค์สร้างอาคารบริเวณซอยร่วมฤดี แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน ต่อสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร โดยใช้หนังสือรับรองสำนักงานเขตปทุมวันเกี่ยวกับความกว้างถนนในซอยร่วมฤดี แต่ไม่ได้ยื่นคำขอรับอนุญาตตามมาตรา 39 พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2548 มีอีกบริษัทได้ยื่นหนังสือต่อสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร เพื่อประสงค์ก่อสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 24 ชั้น เพื่อใช้เป็นโรงแรม 76 ห้อง โดยไม่ได้ยื่นคำขอรับอนุญาตเช่นเดียวกัน แต่ใช้เพียงเอกสารรับรองเขตซอยร่วมฤดี ที่ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ออกให้บริษัทแรกเท่านั้น โดยผู้ถูกฟ้องที่ 2 ก็ได้ออกใบรับรองหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารโดยไม่ยื่นคำขอรับในอนุญาตให้กับทั้งสองบริษัท

ต่อมาเดือนกุมภาพันธ์ 2549 มีผู้ร้องเรียนว่าซอยร่วมฤดีกว้างไม่ถึง 10 เมตร จึงขัดต่อกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 พ.ศ. 2535 ที่ออกตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ สำนักการโยธา จึงขอให้สำนักงานเขตปทุมวันตรวจสอบความกว้างของซอย และให้ดำเนินการรังวัดตรวจสอบซอยจากตำแหน่งที่ก่อสร้างไปจนถึงถนนเพลินจิตและถนนวิทยุ โดยประธานกรรมการอาคารชุดลาเมซองร่วมฤดี ผู้ฟ้องที่ 1 มีหนังสือร้องเรียนกรุงเทพมหานครและสำนักงานเขตปทุมวันเมื่อเดือนมีนาคม 2549 ให้วัดตรวจสอบซอยร่วมฤดี ซึ่งผลปรากฏว่า ซอยร่วมฤดีวัดเขตทางได้ 7.80-10.4 เมตร ส่วนผิวจราจรกว้าง 6.10-6.30 เมตร ส่วนซอยร่วมฤดี 2 วัดเขตทางได้ 6.35-7.10 เมตร ส่วนผิวจราจรกว้าง 6.35-7.10 เมตร ไม่มีทางเท้า ซึ่งข้อมูลดังกล่าวขัดกับหนังสือรับรองของสำนักงานเขตปทุมวัน ลงวันที่ 8 กันยายน 2548 ที่ระบุว่าตรวจสอบความกว้างซอยแล้วมีความกว้าง 10 เมตร และผิวจราจรกว้าง 7.50 เมตร อันเป็นการรับรองความกว้างถนนเกินกว่าความเป็นจริง

อย่างไรก็ตาม กระบวนการฟ้องร้องได้ดำเนินการต่อไป ซึ่งต้องยอมรับว่าคงสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับทางเขตปทุมวันและผู้บริหารระดับสูงของกรุงเทพมหานครอย่างแน่นอน โดยเฉพาะผู้ว่าฯ อภิรักษ์ โกษะโยธิน และบริษัทรับเหมาก่อสร้าง และบริษัทเจ้าของอาคาร

นอกเหนือจากนั้น “ปัญหาป้ายร้าน” ที่ยื่นออกมานอกรั้วบริเวณอาคาร ที่แน่นอนว่า “ผิดระเบียบ-พ.ร.บ.ป้ายฯ” ซึ่งยื่นเลยออกมานอกรั้วประมาณ 1 เมตร ที่ทางเขตปทุมวันจำเป็นต้องดำเนินการ มิเช่นนั้นคงถูกฟ้องร้องจากชาวซอยร่วมฤดีเช่นเดียวกัน (ดังภาพ) ที่มีอย่างน้อยมากกว่า 5 ป้าย ทั้งป้ายร้านอาหารไทย “หลอกขายฝรั่ง!”

ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงในกรุงเทพฯ นั้น ก็ต้องฝากผู้ว่าฯ คนเดิมให้รีบเร่งสร้างความโปร่งใส ถูกต้อง อย่าให้ถูกกล่าวหาว่า “ทุจริตประพฤติมิชอบ” จากการบริหารในสมัยที่สอง เพื่อศักดิ์ศรีของกรุงเทพมหานคร

กรุงเทพมหานคร “ยุคใหม่” ต้อง “โปร่งใส” และ “ธรรมาภิบาล”

กำลังโหลดความคิดเห็น