xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านโวยนายทุนฮุบที่หลวงกว่า 30 ไร่ พบเตรียมขึ้นโครงการใหญ่ใต้สายส่งไฟฟ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่ดินใต้สายส่งไฟฟ้าแรงสูง ที่มีการปรับสภาพพื้นที่จากกลุ่มนายทุน ซึ่งชาวบ้านเกรงว่า อาจมีการฮุบที่หลวงทำโครงการและเกิดปัญหาได้ในอนาคต
ศูนย์ข่าวศรีราชา- ชาวแหลมฉบังร้อง พบพิรุธนายทุนเตรียมฮุบที่ดินหลวงกว่า 30 ไร่ ใต้สายส่งไฟฟ้าแรงสูง ติดม.เกษตรฯศรีราชา เพื่อขึ้นโครงการขนาดใหญ่ ทั้งที่ปกติที่ดินเหล่านี้รัฐกันไว้เพื่อความปลอดภัยของระบบสายส่ง ห้ามผู้ใดเข้าทำประโยชน์ ด้านเจ้าหน้าที่ที่ดินแจง พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นของหลวง ไม่มีใครมีกรรมสิทธิ์ ใครอยากได้ ต้องทำเรื่อเข้าสู่คณะกรรมการป้องกันแก้ไขการบุกรุกที่ดินของรัฐ (กปร.) เพื่อชี้ขาด

ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจากประชาชนและชาวบ้านแหลมฉบัง ว่า บริเวณริมถนนสุขุมวิทฝั่งขาเข้าพัทยา ติดรั้วมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา จังหวัดชลบุรี มีนายทุนกำลังปรับและถมดิน จึงได้เดินทางไปตรวจสอบ พบมีการปรับพื้นที่จริง ในเนื้อที่กว่า 30ไร่ ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่เขตเดินสายส่งไฟฟ้าแรงสูงขนาด 230,000 โวลต์ พาดผ่าน ที่ออกมาจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก ของบริษัทไทยออยล์ จำกัด ซึ่งจำหน่ายไฟให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

ชาวบ้านหวั่นว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นที่หลวงเกรงจะโดนนายทุนฮุบ และหากมีการก่อสร้างใด ๆ อาจจะส่งผลกระทบต่อระบบไฟฟ้า จะทำให้กระแสไฟฟ้าดับทั้งเมือง โดยเฉพาะกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมในเขตการนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังและโรงกลั่นน้ำมันต่างๆ ซึ่งสร้างความหวั่นวิตกต่อนักลงทุนเป็นอย่างมากในขณะนี้

นอกจากนั้นยังมีการถมสระกักเก็บน้ำ ที่สร้างขึ้นโดยกรมชลประทาน ด้วยงบประมาณการก่อสร้างกว่า 30 ล้านบาท ในช่วงประมาณปี 2537 ที่ผ่านมา เพื่อทำถนนกว้างประมาณ 10 เมตร

นายป้อมเพชร เกิดภิญโญ ประชาสัมพันธ์พื้นที่ภาคตะวันออก ฝ่ายปฏิบัติภาคกลาง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ มีประกาศเรื่องข้อกำหนด เขตเดินสายไฟฟ้า ตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 คือ

1.ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด อันอาจเป็นอันตรายแก่ระบบไฟฟ้า เช่น ห้ามนำวัสดุ อุปกรณ์ หรือเครื่องจักรกล เช่น เครน รถยก รถตัก รถขุด เข้าใกล้สายไฟฟ้า แรงสูงไม่น้อยกว่า 4.00 เมตร หรือ ห้ามเผาไร่อ้อย นาข้าว ป่าพง หรือ วัสดุอื่นใดในแนวเขตเดินสายไฟฟ้า

2.ห้ามปลูกสร้างอาคาร บ้านเรือน หรือ สิ่งปลูกสร้างอื่นทุกชนิด ในเขตเดินสายไฟฟ้า

3.ห้ามปลูกต้นไม้หรือพืชผล ในเขตเดินสายไฟฟ้า ดังนี้

3.1 บริเวณพื้นที่ ที่ตั้งเสา และพื้นที่โดยรอบโคนเสา ภายในระยะห่างจากแนวขาเสา 4 เมตร ห้ามปลูกต้นไม้หรือพืชผลทุกชนิด

3.2 บริเวณพื้นที่ในเขตเดินสายไฟฟ้านอกจากข้อ 3.1 ห้ามปลูกต้นไม้หรือพืชผล ซึ่งเจริญเติบโตเต็มที่แล้วมีความสูงเกินกว่า 3 เมตร

3.3บริเวณพื้นที่ในเขตเดินสายไฟฟ้า ของสายส่งไฟฟ้าระดับแรงดัน 500,000 โวลต์ ห้ามปลูกอ้อย

4.การกระทำใดๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นดินบริเวณพื้นที่ในเขตเดินสายไฟฟ้า เช่น การปรับสภาพพื้นดินให้สูงขึ้น การขุดดินหรือขุดบ่อ การก่อสร้างถนน จะต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก กฟผ.ก่อน

โรงเรือนหรือสิ่งอื่น ที่สร้างขึ้นหรือทำขึ้น ต้นไม้หรือพืชผล ที่ปลูกขึ้น โดยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข หรือไม่ได้รับอนุญาตจาก กฟผ. ให้ กฟผ.มีอำนาจรื้อถอน ทำลาย หรือตัดฟันตามควรแก่กรณีโดยไม่ต้องจ่ายค่าทดแทน
สระกักเก็บน้ำ ที่สร้างขึ้นโดยกรมชลประทาน มีการถมสระไปแล้วกว่าครึ่ง
เปิดความเป็นมาที่ดินเจ้าปัญหา

ขณะที่ แหล่งข่าวระดับสูงในอำเภอศรีราชา กล่าวถึงที่ดินแปลงดังกล่าว ว่า ที่ผ่านมมามีโครงการเดินสำรวจที่ดินทั่วประเทศ เพื่อออกเอกสารสิทธิให้แก่คนจน และนายทุน ที่มีหลักฐานในที่ดิน เพื่อให้ถูกต้อง ดำเนินการโดยกองออกโฉนดที่ดินจากส่วนกลาง โดยไม่ได้ประสานหน่วยงานรัฐในพื้นที่แต่อย่างใด ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี มีหลายพื้นที่ ที่ต้องออกสำรวจ เช่น ตำบลบึง , ตำบลบ่อวิน

สำหรับการออกเดินสำรวจในคราวนั้น พื้นที่แปลงใดที่มีเจ้าของสามารถชี้แนวเขตใดครอบคลุมทุกด้าน ก็ไม่มีปัญหา แต่หากแปลงใดมีพื้นที่ดินติดภูเขา หรือ ที่สาธารณะ เช่น ห้วย หนอง คลอง บึง ก็ต้องได้รับการรับรองจากนายอำเภอ ,หรือ กำนัน - ผู้ใหญ่บ้าน ที่ได้รับมอบอำนาจ

ที่ดินแปลงที่มีปัญหาคือบริเวณใกล้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา สืบเนื่องจากที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ (ชายเขา )ที่มีประชาชนใช้ร่วมกัน โดยมีพื้นที่จำนวน 400 ไร่ ซึ่งในพื้นที่ 400 ไร่ ก็มีชาวบ้านเข้ามาบุกรุกพื้นที่ทำกินกันบ้างในช่วงนั้น

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2474 ที่ดินดังกล่าวได้ขึ้นทะเบียนในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จำนวน 400 ไร่ แต่ก็ไม่ทราบแนวเขตที่ชัดเจน แต่ในระยะหลังได้มีหน่วยงานต่างๆ ขอใช้พื้นที่ เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา พัฒนาที่ดิน ,ศูนย์ศึกษาพันธุ์ไม้ ,การประปา , เทศบาลอ่าวอุดมในอดีต ซึ่งปัจจุบันได้ยกฐานะและแบ่งพื้นที่เป็นเทศบาลสุรศักดิ์ และเทศบาลแหลมฉบัง โรงพยาบาลอ่าวอุดม ในขณะนี้

สำหรับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ได้มาขอใช้พื้นที่ด้วย ซึ่งในสมัยนั้นนายวิเชียร นวภูติ นายอำเภอศรีราชา ได้ออกเป็นแนวเขต (นสล.) ในพื้นที่ดังกล่าว แต่มีอยู่แปลงหนึ่งบริเวณด้านซ้ายสุด ถูกคัดค้านโดยนายเบี้ยว ขำเจริญ ออกมาคัดค้านไม่ให้ออก นสล. โดยอ้างสิทธิการครอบครอง

จากปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อประชาชนออกมาคัดค้าน นายอำเภอในขณะนั้น จึงได้นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม จนกลายเป็นพื้นที่ร้องค้านหรือที่พิพาท ทำให้ไม่สามารถออก นสล.ได้

แหล่งข่าวคนเดิม กล่าวต่อไปว่า ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. ใดไม่ทราบ ได้มีการเดินออกใบจอง ซึ่งมีบุคคลเข้าไปจองได้หลายแปลง แต่มีแปลงดังกล่าวที่คัดค้านไว้ ไม่สามารถออกใบจองได้ เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด โดยปล่อยให้ปัญหายืดเยื้อมาถึงทุกวันนี้ ซึ่งปัจจุบันที่ดินบริเวณนี้เริ่มมีค่า จึงขายต่อให้แก่นายทุนอีกหลายทอด

ล่าสุดเมื่อ ต้นปีที่ผ่านมาได้มีการเดินสำรวจ เพื่อออกเอกสารสิทธิใหม่อีกครั้ง แต่เมื่อมายื่นคำร้องขอออกโฉนดกับเจ้าหน้าที่ที่ดินอำเภอ ที่ดินก็ต้องดำเนินการตรวจสอบและพบว่า ยังมีข้อพิพาทกันอยู่จึงดำเนินการต่อไปไม่ได้

พร้อมกันนี้ได้ มีบริษัทแหลมฉบัง เฟสติวัล เซ็นเตอร์ จำกัด จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่บริเวณดังกล่าว แต่เมื่อตรวจสอบแล้วและพูดคุยกับคนเก่าแก่ ที่อยู่บริเวณนั้น ทราบว่า เป็นที่ดินสาธารณะเก่า และยังมีข้อพิพาทอยู่ ดังนั้นการจะกระทำอะไรในพื้นที่ตรงจุดนั้นจึงไม่สามารถทำอะไรได้ และขณะนี้ที่ดินอยู่ในการดูแลของราชพัสดุจังหวัดชลบุรี ที่หน่วยงานต่างๆขอใช้

“ปัญหาที่ดินแปลงนี้ หากยังยืนยัน ว่าจะมีการออกเอกสารสิทธิให้ถูกต้อง จะต้องมีการฟ้องร้องศาลปกครอง เพื่อให้ศาลสั่ง เพราะผู้ปกครองท้องที่ ไม่ลงนามรับรอง เมื่อไปตรวจสอบเอกสารแล้ว พบว่าเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์สาธารณะ (บ้านน้ำซับ) หมู่ที่ 1 ยังมีต้องมีการฟ้องร้องในการแสดงสิทธิ์ต่อไป”

ม.เกษตรแจงแลกที่ดินกับเอกชน

ด้านรองศาตราจารย์ วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ศูนย์อำนวยการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน ได้ทำหนังสือมาถึงมหาวิทยาลัย เพื่อจะระวังชี้แนวเขตและลงชื่อรับรองแนวเขตที่ดินตามโครงการเร่งรัดการออกโฉนดที่ดินเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2551 โดยบริษัทแหลมฉบัง เฟสดิวัล เซ็นเตอร์ จำกัด ได้ขอรังวัดออกโฉนดที่ดินในที่ดินระวาง 5135 II 0850 ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งมีเขตที่ดินด้านทิศใต้ติดกับที่ครอบครองของมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา
 อภิชาต ฉุนพ่วง
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัยฯ และเพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากการรังวัดที่ดิน จึงมอบหมายให้ นายจำลอง เจียมจำนรรจา ตำแหน่งอาจารย์ ระดับ 7 ไปร่วมตรวจสอบระวังชี้แนวเขต

รองศาตราจารย์ วุฒิชัย กล่าวต่อไปว่า จากการรังวัด พบว่าในพื้นที่ครอบครองอ่างเก็บน้ำของมหาวิทยาลัยฯที่ทับซ้อนกันอยู่ ทั้งนี้บริษัทฯ เจรจาด้วยวาจาจะใช้พื้นที่บริเวณอ่างเก็บน้ำทางทิศเหนือ ซึ่งอยู่ในความดูแลของทางมหาวิทยาลัย เพื่อถมเป็นทางเข้าออกสู่สุขุมวิท โดยบริษัทฯ จะถมอ่างเก็บน้ำทางด้านทิศเหนือตลอดแนวเป็นความกว้างเข้าไปในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ 10 เมตร รวมเนื้อที่ประมาณ 800 ตารางเมตร หรือ 0.5 ไร่ ส่วนพื้นที่อ่างเก็บน้ำที่เหลือประมาณ 2.825 ไร่ คงอยู่ในความครอบครองของวิทยาเขตศรีราชาต่อไป

สำหรับอ่างเก็บน้ำมีขนาดปริมาตรความจุ 25,000 ลูกบาศก์เมตร ขนาดความกว้างด้านทิศตะวันตก 68 เมตร ,ความกว้างทิศตะวันออก 65 เมตร ,ความยาวด้านทิศเหนือและทิศใต้ 80 เมตร รวมเนื้อที่ 3.325 ไร่ แต่เมื่อมีการรังวัดและแบ่งตามแนวเขต ความกว้างด้านทิศตะวันตก 36 เมตร ด้านทิศตะวันออก 36 เมตร ความยาวด้านทิศเหนือและทิศใต้ 80 เมตร รวมเนื้อที่ประมาณ 2,880 ตารางเมตร หรือ 1.8 ไร่

นอกจากนั้น มหาวิทยาลัย ยังมีพื้นที่ครอบครองอีกจำนวน 2 แปลง โดยได้มาจากการจ่ายค่าตอบแทนพืชผลและการหักล้างถางป่าของเกษตรกร คือ นายเฮี้ยง สมบูรณ์สิทธิ์ เป็นเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ 1 งาน และนายวิลัย สมบูรณ์สิทธิ์ เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 3 งาน รวมเป็นเนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ 4ไร่ โดยเนื้อที่ทั้ง 2 แปลง ไม่ได้อยู่ติดกับพื้นที่ของวิทยาเขตศรีราชาปัจจุบัน แต่อยู่บริเวณใจกลางพื้นที่ของบริษัทฯ ทางด้านทิศเหนือของวิทยาเขตฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ตาบอด วิทยาเขตฯจึงได้เจรจาแลกเปลี่ยนพื้นที่ดังกล่าวกับพื้นที่บริเวณอ่างเก็บน้ำ ซึ่งบริษัทฯ อ้างสิทธิครอบครองไว้ส่วนหนึ่ง เพื่อประโยชน์ในการใช้อ่างเก็บน้ำของมหาวิทยาลัยต่อไป

ที่ดินอำเภอศรีราชาลั่นดินเป็นของหลวง

นายอภิชาต ฉุนพ่วง เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาศรีราชา กล่าวว่า ที่ดินบริเวณดังกล่าว เดิมเป็นพื้นที่สงวนหวงไว้ ต่อมาทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชาได้มาใช้พื้นที่บริเวณดังกล่าว หลังจากนั้นเคยมีการเดินออกสำรวจเพื่อออกโฉนด ตามประมวลกฎหมาย มาตรา 58 (เดินออกโฉนดโดยไม่มีหลักฐาน) ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากผู้ปกครองท้องที่ (นายอำเภอ) ไม่ลงนามรับรองเขต เพื่อยืนยันว่าที่ดินบริเวณนั้นไม่ใช่ที่สาธารณประโยชน์ หรือรุกล้ำที่สาธารณะ ซึ่งหากผ่านขั้นตอนลงนามรับรองเขตเป็นที่เรียบร้อย ถึงจะพิจารณาให้แก่ผู้ขอได้ ทำให้พื้นที่ดังกล่าวยังไม่สามารถชี้ชัดเจนได้ว่าเป็นที่ของใคร

ทั้งนี้ เนื่องจากมีปัญหาระหว่างรัฐกับเอกชน แล้วการดำเนินการในขั้นต่อไป คือ 1.เจ้าของที่ดินต้องไปดำเนินการฟ้องร้องศาลปกครอง เพื่อให้พิจารณาออกโฉนด หรือ 2. ต้องเสนอเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการป้องกันแก้ไขการบุกรุกที่ดินของรัฐ (กปร.) เพื่อชี้ขาดต่อไปในอนาคตว่าจะเป็นของใคร

นายอภิชาต กล่าวต่อไปว่า เดิมที่ดินบริเวณดังกล่าว มีเนื้อที่ประมาณ 400 ไร่ ซึ่งในช่วงนั้น มีโครงการจะออก นสล. แต่ในระหว่างที่จะออกรังวัด มีเอกชนบางรายออกมาคัดค้าน ในเนื้อที่ประมาณ 34 กว่าไร่ ทำให้ไม่สามารถออก นสล. ได้ในพื้นที่ที่มีปัญหา ส่วนที่ไม่มีปัญหาคือพื้นที่ส่วนใหญ่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ได้ขอออกเอกสารสิทธิไปแล้ว แต่ยังมีบางส่วนที่อยู่ในความดูแลของมหาวิทยาลัยฯ ที่ยังมีปัญหา

อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าว ควรน่าจะจบไปแล้ว หากหน่วยงานรัฐในขณะนั้นดำเนินการต่อ โดยให้ศาลเป็นผู้ตัดสินชี้ขาด ปัญหาต่างๆก็จะจบลงด้วยดี แต่ที่ผ่านมาก็ไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด โดยมีการครอบครองต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ปัญหาจึงได้ยืดเยื้อมาถึง 50 กว่าปี และที่สำคัญราคาที่ดินได้ปรับตัวสูงขึ้น ถึงไร่ละประมาณ 10 ล้านบาท จึงเกิดปัญหาขึ้นมา
กำลังโหลดความคิดเห็น