ศูนย์ข่าวศรีราชา - ผู้ว่าฯชลบุรี เผย ยังไม่ทราบเรื่องปัญหาที่ดินข้าง ม.เกษตรฯ แหลมฉบัง พร้อมขอสื่อนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง ด้านที่ดินชี้ ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่หลวง หากเอกชนอ้างมีกรรมสิทธิ์ ต้องนำเรื่องเข้าสู่ กปร.เพื่อชี้ขาด
จากกรณีที่ผ่านมา มีชาวบ้านร้องเรียนสื่อมวลชน ว่า ที่ดินบริเวณถนนสุขุมวิท ฝั่งขาเข้าพัทยา ติดรั้วมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งมีนายทุนกำลังปรับและถมดินเพื่อผุดโครงการขนาดใหญ่ ใกล้สายไฟฟ้าแรงสูง หวั่นส่งผลกระทบต่อระบบไฟฟ้า ทำให้ไฟฟ้าดับทั้งเมือง จึงได้เดินทางไปตรวจสอบ พบมีการปรับพื้นที่จริง ในเนื้อที่กว่า 30 ไร่ ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นสายเขตเดินสายส่งไฟฟ้าขนาด 230,000 โวลต์พาดผ่าน ซึ่งชาวบ้านหวั่นว่าหากดำเนินการก่อสร้างใดๆ อาจจะส่งผลกระทบต่อระบบไฟฟ้า จะทำให้กระแสไฟฟ้าดับทั้งเมือง
โดยเฉพาะกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมในเขตการนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง และโรงกลั่นน้ำมันต่างๆ ซึ่งสร้างความหวั่นวิตกต่อนักลงทุนเป็นอย่างมากในขณะนี้ นอกจากนั้น ยังมีการถมสระกักเก็บน้ำ ที่สร้างขึ้นโดยกรมชลประทาน ด้วยงบประมาณการก่อสร้างกว่า 30 ล้านบาท
นายประชา เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เปิดเผยถึงเรื่องนี้ ว่า ที่ดินบริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ที่มีกลุ่มนายทุนเข้าไปปรับพื้นที่และจะขอออกเอกสารสิทธิ ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานจากทางอำเภอศรีราชาเลย
สำหรับที่ดินบริเวณดังกล่าวนั้นมีปัญหามานานมาแล้ว เท่าที่ทราบสมัยที่เคยรับราชการอยู่ที่จังหวัดชลบุรี พอจะทราบเรื่องมาบ้างว่า เดิมมีผู้ประกอบการครอบครองที่ดินอยู่ และมีปัญหากับหน่วยงานรัฐ ในสมัย นายวิเชียร นวภูติ นายอำเภอศรีราชา โดยระบุว่า เป็นที่ดินสาธารณะ และหากว่าในปัจจุบันจะมีการเข้าไปดำเนินการในพื้นที่บริเวณดังกล่าว ก็จะต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยหากสื่อมวลชนมีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวขอให้เสนอข่าวนี้ต่อไป เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการดำเนินการต่อไป
ด้าน นายอภิชาต ฉุนพ่วง เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาศรีราชา กล่าวว่า ที่ดินบริเวณดังกล่าวเดิมเป็นพื้นที่สงวนหวงไว้ ต่อมาทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชาได้มาใช้พื้นที่บริเวณดังกล่าว หลังจากนั้นเคยมีการเดินออกสำรวจเพื่อออกโฉนด ตามประมวลกฎหมาย มาตรา 58 (เดินออกโฉนดโดยไม่มีหลักฐาน) ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากผู้ปกครองท้องที่ (นายอำเภอ) ไม่ลงนามรับรองเขต เพื่อยืนยันว่า ที่ดินบริเวณนั้นไม่ใช่ที่สาธารณประโยชน์ หรือรุกล้ำที่สาธารณะ ซึ่งหากผ่านขั้นตอนลงนามรับรองเขตเป็นที่เรียบร้อย ถึงจะพิจารณาให้กับผู้ขอได้ ทำให้พื้นที่ดังกล่าวยังสามารถชี้ชัดเจนได้ว่าเป็นที่ของใคร
เนื่องจากมีปัญหาระหว่างรัฐกับเอกชนแล้วการดำเนินการในขั้นต่อไป คือ 1.เจ้าของที่ดินต้องไปดำเนินการฟ้องร้องศาลปกครอง เพื่อให้พิจารณาออกโฉนด หรือ 2.ต้องเสนอเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการป้องกันแก้ไขการบุกรุกที่ดินของรัฐ (กปร.) เพื่อชี้ขาดต่อไปในอนาคตว่าจะเป็นของใคร
นายอภิชาต กล่าวต่อว่า เดิมที่ดินบริเวณดังกล่าว มีเนื้อที่ประมาณ 400 ไร่ ซึ่งในช่วงนั้น มีโครงการจะออก นสล.แต่ในระหว่างที่จะออกรังวัดนั้น มีเอกชนบางรายออกมาคัดค้าน ในเนื้อที่ประมาณ 34 กว่าไร่ ทำให้ไม่สามารถออก นสล.ได้ในพื้นที่ที่มีปัญหา ส่วนที่ไม่มีปัญหาคือพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ได้ขอออกเอกสารไปแล้ว แต่ยังมีบางส่วนที่ที่อยู่ความดูแลของทางมหาวิทยาลัยที่ยังมีปัญหา
อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าว ควรน่าจะจบไปแล้ว หากหน่วยงานรัฐในขณะนั้นดำเนินการต่อ โดยให้ศาลเป็นผู้ตัดสินชี้ขาด ปัญหาต่างๆ ก็จะจบลงด้วยดี แต่ที่ผ่านมาก็ไม่มีการดำเนินการแต่อย่างไร โดยมีการครอบครองต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ปัญหาจึงได้ยืดยื้อมาถึง 50 กว่าปี และที่สำคัญ ราคาที่ดินได้รับตัวสูงขึ้น ถึงไร่ละประมาณ 10 ล้านบาท จึงเกิดปัญหาขึ้นมา