xs
xsm
sm
md
lg

น้ำมันถูกไม่กระทบอุตสาหกรรมผลิตเอทานอล “เทอดดำริ”ขึ้นโรงงานปลายปี52-ส่งออก100%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 รศ.ดร.ประสิทธิ์ ใจศิล รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ศูนย์ข่าวขอนแก่น- นักวิชาการม.ขอนแก่น ชี้น้ำมันลดฮวบไม่กระทบอุตสาหกรรมเอทานอล ยกเหตุราคาน้ำมันโลกผันผวนสูง ทั้งมีแนวโน้มหมดไปอีก40-50 ปีข้างหน้า แนะรัฐสนับสนุนเอทานอลให้จริงจัง หวังเป็นกลไกสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ประเทศ ขณะที่กลุ่ม “เทอดดำริ”ทุนไทย เชื่อศักยภาพข้าวฟ่างหวานเหมาะแปรรูปเอทานอล ทุ่มเม็ดเงินกว่า 1,200 ล้านบาท ผุดโรงงานเอทานอลพร้อมโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ปลายปี 52 นี้ โอ่ศักยภาพผลิตถึง 2 แสนลิตร/วัน เล็งส่งออก 100% พุ่งเป้าจีนและอินเดีย มั่นใจศักยภาพตลาดต้องการสูง


สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลดลงอย่างรวดเร็ว จากที่เคยเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 130-140 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เหลือไม่ถึง 60 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ผลดีทำให้ราคาน้ำมันเบนซิน และดีเซลในประเทศไทย ปรับลดฮวบเหลือเพียง 18-23 บาท/ลิตรเท่านั้น จากที่เคยปรับขึ้นไปสูงสุดเกือบลิตรละ 45 บาท

รศ.ดร.ประสิทธิ์ ใจศิล รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.)ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานทดแทนจากพืชน้ำมัน เปิดเผยว่า ราคาน้ำมันดีเซลและเบนซิน ที่ปรับลดลงอย่างรวดเร็ว เชื่อมั่นว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อแผนและปริมาณการใช้พลังงานทดแทนในประเทศ โดยเฉพาะการใช้เอทานอลที่นำมาผสมกับน้ำมันเบนซินเป็นเชื้อเพลิง แก๊สโซฮอล์

ราคาน้ำมันที่ลดลงเกิดการใช้รถยนต์สูงขึ้น ย่อมทำให้แก๊สโซฮอล์จำหน่ายเพิ่มขึ้นเช่นกัน ปัจจุบันผู้ใช้รถยนต์ เชื่อมั่นแก๊สโซฮอล์สูงมาก ว่ามีคุณภาพสามารถใช้ทดแทนน้ำมันเบนซิน ไม่ทำให้เครื่องยนต์เสียหาย วัดจากยอดจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ มียอดขายสูงขึ้นเรื่อยๆ กระแสตลาดที่ตอบรับสูงนี้ ทำให้สถานีบริการน้ำมันบางแห่งงดจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 95 ทั้งขยายสัดส่วนผสมเอทานอลจาก 10% เป็น 20% เป็นทางเลือกแก่ผู้ใช้รถด้วย

กรณีราคาน้ำมันลดลง ทำให้ต้นทุนการผลิตเอทานอลปรับลงเช่นกัน เช่นการผลิตเอทานอลจากอ้อย มีต้นทุนค่าขนส่งสูงถึง 40% น้ำมันที่ปรับลงทำให้ต้นทุนการผลิตน้ำตาลและเอทานอลจากอ้อยลดลงตามสัดส่วนดังกล่าว

ปัจจุบันอุตสาหกรรมผลิตเอทานอลยังคงเดินเครื่องผลิตตามปกติ โดยมีโรงงานผลิต ณ ปัจจุบันทั้งสิ้น 11 โรงงาน กำลังผลิตรวมประมาณ 1.5 ล้านลิตร/วัน ขณะที่ปริมาณการใช้ในประเทศประมาณ 1 ล้านลิตร/วัน ส่วนที่เหลือส่งออก ทั้งนี้มีโรงงานเอทานอลที่อยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 7-8 โรงงาน จะเริ่มเดินเครื่องผลิตปลายปีนี้ถึงต้นปี 52 ซึ่งจะมีปริมาณเอทานอลสูงถึง 2.7 ล้านลิตร/วัน จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการผลิตเอทานอลเพื่อการส่งออกให้มากขึ้น โดยรัฐควรจัดตั้งหน่วยงานกลางเข้ามาดูแลเป็นพิเศษ

แม้ว่าในปัจจุบันราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ในอนาคตเมื่อเศรษฐกิจของโลกเริ่มฟื้นตัว ราคาน้ำมันก็จะสูงขึ้นอย่างแน่นอน และจากสถานการณ์ที่น้ำมันดิบอาจจะมีใช้ได้อีกประมาณ 40-50 ปีเท่านั้น การพัฒนาพลังงานทดแทนจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด โดยเฉพาะประเทศไทยที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันมากกว่า 80% แต่มีความพร้อมวัตถุดิบที่จะใช้ผลิตเอทานอลสูงที่สุดประเทศหนึ่งในโลก

สถานการณ์ดังกล่าว พลังงานทดแทนจะมีบทบาทสูง จำเป็นต้องสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศ โดยเอทานอลถือเป็นพลังงานทดแทนอีกชนิดที่เหมาะสมกับศักยภาพการเพาะปลูกพืชพลังงานของประเทศไทย ภาครัฐต้องกำหนดแผนส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนให้ชัดเจน ทั้งในแง่การผลิตและส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน

ทุนไทยเชื่อแนวโน้มเอทานอลสดใส
ทุ่ม1.2พันล้านผุดโรงงานปลายปี 52


ล่าสุดเมื่อเร็วๆนี้ มีนักลงทุนไทย สนใจก่อสร้างโรงงานเอทานอล ที่ใช้วัตถุดิบหลักจากข้าวฟ่างหวานถึงร้อยละ 85 ที่ต.ตะเคียน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ขนาดกำลังผลิต 200,000 ลิตร/วัน โดยมีพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่นกับบริษัท เทอดดำริ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ลงทุน ส่วนมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการและการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวฟ่างหวานเพาะปลูก ใช้เป็นวัตถุดิบกับโรงงาน

ดร.สุพล ศิวิลัย ประธานบริษัทบริษัท เทอดดำริ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทมีโครงการที่จะลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตเอทานอล ในลักษณะลงทุนครบวงจร ก่อสร้างโรงงานผลิตเอทานอลกำลังผลิต 200,000 ลิตร/วัน ควบคู่กับโรงไฟฟ้าชีวมวล ในบริเวณเดียวกัน คาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,200 ล้านบาท แยกเป็นการลงทุนผลิตเอทานอลประมาณ 600 ล้านบาท และโรงไฟฟ้าชีวมวล 600 ล้านบาท

การสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล จะทำให้เกิดประสิทธิภาพด้านการผลิตสูงสุด ด้วยการนำกากข้าวฟ่างหวานมาเป็นเชื้อเพลิง เพื่อปั่นกระแสไฟฟ้า ส่งจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ทำให้สามารถจัดการด้านสิ่งแวดล้อมภายในโรงงานดีขึ้น ทั้งเป็นช่องทางการสร้างรายได้ให้แก่ธุรกิจเช่นกัน

ในกรณีการใช้อ้อยมาเป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอล ยังมีอุปสรรคจาก พรบ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 ในแง่การแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่กับโรงงาน หากมีการก่อสร้างโรงงานผลิตเอทานอลขึ้นมามากๆ วัตถุดิบที่มีอยู่ในปัจจุบันจะมีไม่เพียงพอสำหรับป้อนโรงงาน การหาวัตถุดิบทางเลือกอื่นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมผลิตเอทานอล

จากการวิจัยพืชพลังงานทดแทนมาเป็นระยะเวลานาน พบว่า ข้าวฟ่างหวานเป็นพืชหนึ่งที่มีศักยภาพสูงในการใช้เป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอล เนื่องจาก ข้าวฟ่างหวานเป็นพืชอายุเก็บเกี่ยวสั้นเพียงแค่ 100 วัน ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 5 ตัน/ไร่ และใช้ประโยชน์จากลำต้นสดในลักษณะเดียวกับอ้อย ปลูกได้ปีละ 2-3 ครั้ง สามารถให้ผลผลิตเอทานอลสูงใกล้เคียงกับอ้อยประมาณ 60-70 ลิตรต่อตันวัตถุดิบ

ปัจจุบันคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีข้อมูลสนับสนุนด้านวิชาการอย่างเพียงพอที่จะถ่ายทอดให้แก่โรงงานผลิตเอทานอลนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้

“เทอดดำริเชื่อมั่นว่า องค์ความรู้ผลงานวิจัยข้าวฟ่างหวาน ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น จะสามารถต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มทางอุตสาหกรรมได้ เบื้องต้นหลังจากลงนามแล้วบริษัทจะส่งทีมงานพร้อมกับนักวิชาการมหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้าไปสำรวจพื้นที่ เตรียมส่งเสริมเกษตรกรรอบโรงงาน ปลูกข้าวฟ่างหวานให้เพียงพอต่อการผลิต โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น จะช่วยเหลือผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวฟ่างหวานให้แก่เกษตรกร”ดร.สุพลกล่าวและว่า

การลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตเอทานอลและโรงงานผลิตไฟฟ้าในเขต อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมาครั้งนี้ จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของชาวบ้านในท้องถิ่น ทั้งในแง่การสร้างงาน การกระจายการลงทุน ยกระดับราคาพืชผลการเกษตรในพื้นที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันข้าวฟ่างหวาน จะช่วยให้เกษตรกรมีพืชทางเลือกใหม่ใช้ปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

ดร.สุพล กล่าวต่อว่า บริษัท พร้อมที่จะลงทุนก่อสร้างทั้งในแง่เงินลงทุน และแบบก่อสร้างโรงงานเอทานอลและโรงไฟฟ้าชีวมวล เสร็จแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนการขออนุญาตก่อสร้างกับหน่วยงานรัฐ ทั้งองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง หากสามารถขออนุญาตเสร็จก็พร้อมลงมือก่อสร้างได้ทันที คาดว่าน่าจะสามารถลงมือก่อสร้างได้ประมาณปลายปี 2552

สำหรับด้านการตลาด บริษัทจะผลิตเพื่อการส่งออก 100% ตลาดหลัก คือ จีนและอินเดีย แต่ละประเทศมีประชากรมากกว่า 1,000 ล้านคน รวมกันมากกว่า 2,500 ล้านคน ถือเป็นตลาดใหญ่ของโลก ที่มีความต้องการใช้พลังงานทดแทนสูงมากแห่งหนึ่งของโลก และได้ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าไว้แล้ว จึงไม่มีความเสี่ยงด้านการตลาด และมีแนวโน้มที่ความต้องการจะเพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคต

จุดมุ่งหมายการทำธุรกิจ เทอดดำริมุ่งสร้างพันธมิตรทางธุรกิจกับโรงงานผลิตเอทานอลทุกบริษัทในประเทศ ตลาดเอทานอลจึงเน้นส่งออกทั้งหมด ไม่แย่งตลาดในประเทศกับผู้ผลิตอื่น และพร้อมให้ความช่วยเหลือด้านการตลาดกับผู้ผลิตเอทานอล เพื่อช่วยส่งออกเอทานอลไปยังจีนและอินเดีย ที่ยังมีความต้องการเอทานอลอีกมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น