ผลกระทบจากราคาน้ำมันพุ่งทะยานไม่ยอมหยุด ส่งผลให้ภาระต้นทุนการผลิตเพิ่มตาม กำลังเป็นปัญหาระดับวิกฤตของผู้ประกอบการไทยแทบทุกราย ความพยายามเพื่อหาทางลดต้นทุน โดยใช้พลังงานทดแทน จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน
ทางเลือกหนึ่ง คือ การผลิตกระแสไฟฟ้าจากชีวมวล (Biomass) โดยใช้ผลผลิตเหลือทิ้งทางเกษตรทั้งพืชและสัตว์มาเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งกระบวนการผลิต คนทั่วไปอาจคิดว่า ต้องเป็นโรงไฟฟ้าขนาดยักษ์ มูลค่ามหาศาลเท่านั้นจึงจะทำได้ ทว่า ในความเป็นจริง โรงไฟฟ้า Biomass สามารถทำในขนาดย่อม ซึ่งขณะนี้ ผู้ประกอบการ จ.กำแพงเพชร กำลังดำเนินการให้สำเร็จเป็นจริง
เจ้าของธุรกิจดังกล่าว คือ “ธรรมศักดิ์ สิงหจารุ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท กำแพงเพชรผลิตไฟฟ้า จำกัด ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จ.กำแพงเพชร มากว่า 23 ปี และยังเคยเป็นที่ปรึกษาก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่มาแล้ว
ธรรมศักดิ์ เผยว่า เริ่มดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้า Biomass มาประมาณ 1 ปีแล้ว คาดจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในช่วงกลางปีนี้ (2551) โดยวัตถุดิบที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง คือ เหง้ามันสำปะหลัง และซังข้าวโพด ซึ่งเป็นพืชในท้องถิ่น เดิมจะทิ้งเปล่าประโยชน์ปีละเป็นแสนตัน หรืออย่างมากแค่ขายเป็นอาหารสัตว์ แต่ต่อไปเกษตรสามารถนำมาขายได้ในราคารับซื้อเริ่มต้นที่ 500 บาท/ตัน
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้า Biomass แห่งนี้ ตั้งอยู่ใน ต.อ่างทอง อ.เมือง จ.กำแพงเพชร พื้นที่รวม 30 ไร่ มีพนักงานเพียง 23 คน สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ขนาด 6 เมกะวัตต์ หรือเทียบปริมาณกำลังไฟฟ้า ทั้ง จ.กำแพงเพชร ใช้อยู่ประมาณ 24 เมกะวัตต์
เขา อธิบายเสริมว่า ข้อดีของโรงไฟฟ้า Biomass คือ เป็นพลังงานบริสุทธิ์ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แทบจะไม่มีของเสียเหลือทิ้งจากโรงงาน ทุกอย่างสามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ได้ในโรงงาน และช่วยลดการใช้น้ำมันมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า อีกทั้ง ช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนกระแสไฟฟ้า ซึ่งทุกวันนี้ ประเทศไทยพึ่งพาการนำเข้าไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านกว่าร้อยละ 50 ของการใช้ไฟฟ้าในประเทศทั้งหมด นอกจากนั้น ยังช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรด้วย
เจ้าของธุรกิจ เผยด้วยว่า หลังจากวางโครงการทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว ได้ทำหนังสือเสนอขายแก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และได้คำตอบรับซื้อในเวลาไม่ถึงเดือน เซ็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว อายุสัญญาปีต่อปี ในราคาหน่วยละ 2.7 บาท ต่อหน่วยกำไรประมาณร้อยละ 50 คาดการณ์จะคืนเงินลงทุนได้ในเวลา 5 ปี
ด้านเทคโนโลยีการผลิตนั้น ธรรมศักดิ์ เผยว่า การตั้งโรงไฟฟ้า Biomass เป็นเทคโนโลยีเฉพาะทางมากๆ ซึ่งเขาใช้เวลาสะสมประสบการณ์ในแวดวงนี้มากว่าครึ่งชีวิต รวมถึง มีผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมไฟฟ้า ซึ่งเคยสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่คอยให้คำปรึกษา
ขณะที่มาตรฐานการตั้งโรงไฟฟ้านั้น ผ่านหลักเกณฑ์ของกรมโรงงานครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ตั้ง สิ่งแวดล้อม และชุมชน ส่วนเครื่องจักรต่างๆ นำเข้าจากประเทศสหรัฐอเมริกา และจีน ใช้งบลงทุนทั้งโครงการกว่า 120 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นทุนส่วนตัว และประมาณ 70 ล้านบาท ขอสินเชื่อจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
ธรรมศักดิ์ ระบุด้วยว่า ธุรกิจโรงงานไฟฟ้า Biomass ด้านตลาดไม่ใช่ปัญหา เพราะ กฟผ. พร้อมรับซื้อจากภาคเอกชนไว้ทั้งหมด อีกทั้ง เทคโนโลยีการผลิตจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปแน่นอน ดังนั้น ผู้ลงทุนค่อนข้างมั่นใจได้ว่า ผลตอบแทนจะคุ้มค่าในระยะยาว
อย่างไรก็ดี อุปสรรคของธุรกิจนี้ คือ ขาดแคลนบุคลากร วิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ในประเทศไทยมีอยู่จำนวนน้อยมาก ถ้าไม่มีพื้นฐานความรู้โดยตรง การจ้างที่ปรึกษาเป็นค่าใช้จ่ายมูลค่าสูงมาก อีกทั้ง ธุรกิจนี้ยังเข้าถึงแหล่งทุนได้ยาก เพราะเป็นเทคโนโลยีชั้นสูงเฉพาะทาง เจ้าหน้าที่สินเชื่อของสถาบันการเงินต่างๆ ไม่มีความรู้โดยตรง จึงมักไม่กล้าจะปล่อยสินเชื่อ
“แม้ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐพยายามสนับสนุนส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาลงทุนธุรกิจนี้ อีกทั้ง ความต้องการของตลาดมีสูงมาก เพราะทุกฝ่ายตระหนักดีถึงความจำเป็นต้องหาแหล่งพลังงานทดแทน แต่ปัญหา คือ เราขาดแคลนวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งระบบการศึกษาก็ยังไม่เอื้อเท่าที่ควร ดังนั้น ทุกวันนี้ โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กที่ทำในเชิงพาณิชย์ ไม่ได้ทำแค่ใช้ภายในชุมชน หรือภายในโรงงาน ทั้งประเทศไทย รวมแล้วมีไม่ถึง 10 แห่งเท่านั้น” ธรรมศักดิ์ ระบุ
จากปัญหาดังกล่าว ธรรมศักดิ์ เผยว่า ในอนาคตนอกจากจะทำธุรกิจโรงไฟฟ้า Biomass ด้วยตัวเองแล้ว จะรับเป็นที่ปรึกษาธุรกิจแก่นักลงทุนที่สนใจอยากมาจับธุรกิจโรงไฟฟ้าขนาดย่อม ซึ่งสามารถจะทำได้แทบทุกแห่ง ตามความเหมาะสมของวัตถุดิบการเกษตรแต่ละท้องถิ่น แนวทางนี้ หวังว่า จะช่วยให้เกิดโรงไฟฟ้า Biomass ขนาดย่อมขึ้นจำนวนมากทั่วประเทศไทย ช่วยกันผลิตไฟฟ้าพลังงานบริสุทธิ์ คนละเล็กละน้อย เมื่อรวมกันปริมาณมากๆ ก็จะมีส่วนสำคัญในช่วยชาติหลุดพ้นจากวิกฤตพลังงานในปัจจุบัน
************************************
โทร.08-1604-7378