ศูนย์ข่าวเชียงใหม่– “บุญเลิศ” นายก อบจ.เชียงใหม่ เตรียมผลักดันโครงการระบบขนส่งมวลชน BRT โครงการขุดแก้มลิงป้องกันน้ำท่วมระยะยาว และสถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ 3 เสนอ ครม.สัญจรที่เชียงใหม่เดือนนี้
นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ (อบจ.)เปิดเผยว่า ในเดือนตุลาคมนี้ ทราบว่าจะมีการจัดประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรนัดพิเศษที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยในโอกาสนี้องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ได้เตรียมที่จะเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนจากคณะรัฐมนตรี
ประกอบด้วย โครงการระบบขนส่งมวลชนเมืองเชียงใหม่ หรือ BRT ที่ได้เคยมีการว่าจ้างคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำการศึกษาเสร็จไปแล้ว, โครงการขุดแก้มลิง เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ในระยะยาว เบื้องต้นเล็งพื้นที่ไว้ ที่อ.แม่แตงหรือเชียงดาว และโครงการก่อสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดเชียงใหม่แห่งที่ 3 ที่จะย้ายออกไปอยู่ชานเมือง เพื่อลดความแออัดของรถที่จะเข้ามาในตัวเมือง
“โครงการระบบขนส่งมวลชนเมืองเชียงใหม่ ที่จะใช้รถ BRT ได้มีความพยายามผลักดันและศึกษามาตลอดช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งระบบขนส่งมวลชนนี้ถือว่ามีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเมืองเชียงใหม่ เพื่อลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนตัวและลดการใช้พลังงาน” นายบุญเลิศ กล่าวและว่า
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในเดือนนี้ อบจ.ได้เตรียมที่จะเสนอโครงการนี้ พร้อมกับโครงการแก้มลิงป้องกันน้ำท่วม และการสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดเชียงใหม่แห่งที่ 3 เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีด้วย เพื่อขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยก่อนหน้านั้น อาจจะมีการปรึกษาหารือกันนอกรอบว่า แต่ละโครงการมีความเหมาะสมหรือไม่ ก่อนที่จะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณา
อนึ่ง สำหรับโครงการระบบบขนส่งมวลชน ที่ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ จะนำเสนอในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นผลการศึกษาตามโครงการจัดทำแผนแม่บทและออกแบบเพื่อก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโครงการที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ว่าจ้างให้สถานบริการวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินการศึกษาในช่วงปี 2549 และศึกษาแล้วเสร็จพร้อมนำเสนอรายงานฉบับสมบูรณ์ให้ สนข.และรัฐบาลแล้วตั้งแต่ต้นปี 2550
จากการศึกษาพบว่าระบบขนส่งมวลชนแบบรถประจำทางด่วนพิเศษ (Bus Rapid Transit หรือ BRT) เป็นระบบที่มีความเหมาะสมกับเมืองเชียงใหม่มากที่สุด ขณะที่เชื้อเพลิงที่ใช้จะเป็นไปในแบบผสมผสานระหว่างน้ำมันดีเซลกับไฟฟ้า หรือไฮบริด (Hybrid) แผนพัฒนาระบบแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 สำหรับ 3-10 ปี และระยะที่ 2 สำหรับ 11-20 ปี ซึ่งระยะที่ 1 จะประกอบด้วยโครงข่าย 4 เส้นทางระยะทางรวมไป-กลับประมาณ 106 กิโลเมตร มีค่าใช้จ่ายในการลงทุนก่อสร้างและติดตั้งระบบรวมราว 8,000 ล้านบาท
ขณะที่ สถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ 3 นายอัฌษไธค์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ เคยเสนอแนวความคิดว่า เชียงใหม่ควรจะมีการผลักดันให้มีสถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ 3 ซึ่งเป็นสถานีขนส่งปรับอากาศ รวมทั้งมีการบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกครบวงจร เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงแรม เป็นต้น ตลอดจนมีการเชื่อมโยงกับระบบการขนส่งอื่นๆ ทั้งทางเครื่องบินและรถไฟ ทั้งนี้เพื่อรองรับการขยายตัวของจังหวัดเชียงใหม่ และส่วนตัวเห็นว่าน่าจะอยู่บนถนนเชียงใหม่-ลำปาง แต่ยังไม่มีการสรุปผลการศึกษา ที่เหมาะสมในการดำเนินโครงการ