xs
xsm
sm
md
lg

ขอนแก่นเล็งใช้ BRTแก้จราจรในอนาคต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวขอนแก่น-เปิดผลการศึกษา ระบบขนส่งมวลชนขอนแก่นเพื่อแก้ปัญหาจราจรในอนาคต พบ รถประจำทางด่วนพิเศษ( BRT ) เหมาะที่สุด เหตุลงทุนต่ำ แต่ให้ประสิทธิภาพเหมาะกับจำนวนประชากรพื้นที่ เบื้องต้นกำหนด 5 เส้นทางครอบคลุมทั่วเขตเทศบาลนครขอนแก่น

ในการประชุมสภาเทศบาลนครขอนแก่น ครั้งที่ 2 ประจำปี 2551 เมื่อเร็วๆนี้ เพื่อนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาด้านต่างๆ มุ่งให้เวทีสภาเมืองเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็น แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระดมแนวคิด เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาและพัฒนาเมือง เมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งมีนายกฤษเพชร ศรีปาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ผู้บริหารเทศบาลนครขอนแก่น หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในเขตเทศบาลนครขอนแก่นร่วมประชุมมากกว่า 500 คน

หนึ่งในประเด็นสำคัญที่มีการนำเสนอ คือ ปัญหาการจราจรติดขัดและการวางแผนระบบขนส่งมวลชนเมืองขอนแก่น โดยเทศบาลนครขอนแก่น ว่าจ้างภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศึกษาจัดทำแผนแม่บทและศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น เพื่อก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนเมืองขอนแก่น เมื่อ 2 กรกฎาคม 2550 ซึ่งศึกษาแล้วเสร็จเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ผศ.ดร.พนกฤษณ คลังบุญครอง รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร ศูนย์วิจัยและพัฒนาโครงสร้างมูลฐานอย่างยั่งยืน ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า การขยายตัวเมืองขอนแก่น ปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงเร็วมาก จากการเพิ่มขึ้นของประชากร โครงการบ้านจัดสรรเกิดขึ้นหลายมุมเมือง ทั้งมีโครงการลงทุนในธุรกิจห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง ซึ่งทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดติดตามมาโดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน

การศึกษาเบื้องต้นเมื่อปี 2549 พบว่า จังหวัดขอนแก่นมียานพาหนะจดทะเบียนสูงถึง 910,510 คัน แบ่งเป็นรถยนต์ส่วนบุคคล 25% รถจักรยานยนต์ 74% และยานพาหนะประเภทอื่น 1% สูงกว่าปี 2546 ที่มียานพาหนะจดทะเบียน 726,429 คัน หรือเพิ่มขึ้น 25% ที่สำคัญประชาชนในเขตเทศบาลนครขอนแก่นส่วนใหญ่เดินทางโดยรถยนต์ส่วนบุคคลถึง 68% เดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะเพียง 15% ที่เหลือเดินทางโดยการเดินเท้า รถจักรยานและยานพาหนะอื่นๆ อีก 17%

สภาพการจราจรในเขตเทศบาลนครขอนแก่นเมื่อปี 2550 มีปริมาณการเดินทางทั้งสิ้น 533,750 เที่ยว/วัน ความเร็วเฉลี่ยเดินทางที่ 19.5 กิโลเมตร/ชั่วโมง แม้ความเร็วการเดินทางจะอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ แต่ก็ยังอยู่ในระดับค่อนข้างช้า ปัญหาการจราจรในอนาคตจะทวีความรุนแรงขึ้น ตามอัตราการขยายตัวประชากรและการใช้ที่ดินเพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณเดินทางต่อวันเพิ่มจากปัจจุบันมาก

“คณะผู้ศึกษาประเมินว่าในปี 2575 หรือ 25 ปีข้างหน้า จะมีปริมาณความต้องการเดินทางสูงถึง 784,100 เที่ยว/วัน หรือเพิ่มขึ้น 47% ที่น่าเป็นห่วงหากใช้ระบบขนส่งมวลชนแบบเดิม และไร้การจัดระบบจราจรที่มีประสิทธิภาพ ความเร็วเฉลี่ยการเดินทางจะลดเหลือเพียง 11.9 กิโลเมตร/ชั่วโมงเท่านั้น หรือต่ำลงถึง 39% เป็นความเร็วเฉลี่ยการเดินทางในเขตเมืองที่ต่ำมาก”ผศ.ดร.พนกฤษณ กล่าวและว่า

ขณะเดียวกัน ข้อจำกัดไม่สามารถขยายโครงข่ายถนนได้ทันกับปริมาณรถยนต์ แนวคิดแก้ปัญหาจำเป็นต้องลดความต้องการเดินทางโดยรถยนต์ ทั้งจัดให้มีระบบขนส่งมวลชนที่เหมาะสม ให้สามารถขนส่งผู้โดยสารจำนวนมากจากต้นทางสู่ปลายทางได้สะดวก มีความทันสมัยและมาตรฐานความปลอดภัยสูง

เลือกรถเมล์BRTเหมาะกับชาวขอนแก่น

คณะผู้ศึกษาพบว่า ระบบ รถเมล์ด่วนพิเศษ (Bus Rapid Transit , BRT) มีความเหมาะสมกับระบบขนส่งมวลชนเมืองขอนแก่นมากที่สุด เนื่องจากเป็นรถขนส่งมวลชนความเร็วสูง ใช้ยานพาหนะที่ทันสมัย บรรทุกผู้โดยสารได้จำนวนมาก แยกช่องจราจรออกจากยานพาหนะประเภทอื่น มีระบบรถโดยสารสนับสนุนการให้บริการ (Feeder System) มีสถานีที่ทันสมัย มีระบบเก็บเงินอิเล็กทรอนิกส์ ขึ้นลงได้สะดวกมีความถี่การให้บริการสูง และสามารถขนส่งคนได้เฉลี่ย 7,000 คน/ชั่วโมง/ทิศทาง ใช้เงินลงทุนต่ำประมาณ 160 ล้านบาท/กิโลเมตร เหมาะกับจังหวัดขอนแก่นที่มีผู้โดยสารไม่หนาแน่นมาก

ส่วนเส้นทางเดินรถ ได้กำหนดไว้ 5 เส้นทาง ประกอบด้วย สายรอบเมือง , สายสำราญ-ท่าพระ , สายหนองโคตร-หนองใหญ่ , สายน้ำตอน-ศิลา , และสายบ้านทุ่ม-บึงเนียม โดยคาดการณ์ว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการ BRT ทั้ง 5 เส้นทางปี 2555 จำนวน 124,000 ปี 2565 จำนวน 140,000 คน และปี 2575 จำนวน 165,000 คน

ขณะที่ รถยนต์โดยสาร ที่จะนำมาให้บริการจะเป็นรถยนต์โดยสารประจำทางแบบล้อยาง มีคนขับ ขนาดมาตรฐาน 12 เมตร จุผู้โดยสารได้ 60-80 คน และแบบพ่วงตอนเดียว 18 เมตร จุผู้โดยสาร 120-160 คน โดยเลือกใช้ระบบเครื่องยนต์ใช้ก๊าซ CNG หรือ เอ็นจีวีทดแทนน้ำมันดีเซล เนื่องจากราคาถูกกว่าและปล่อยมลพิษต่ำ ซึ่งรถยนต์ BRT สามารถสั่งประกอบได้ภายในประเทศ

ผศ.ดร.พนกฤษณ กล่าวต่อว่า ด้านการลงทุนผลการประเมินเบื้องต้นจะต้องใช้งบประมาณลงทุนตามโครงการ BRT ทั้งสิ้นประมาณ 7,479 ล้านบาท แยกเป็นค่าก่อสร้างพื้นฐาน 3,405 ล้านบาท ค่ารถ BRT / ระบบ BRT / ระบบจัดเก็บค่าโดยสาร 3,424 ล้านบาท และค่าดำเนินการ 650 ล้านบาท จำเป็นต้องได้รับการจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐ โดยรูปแบบที่เหมาะสม น่าจะเป็นการลงทุนโดยรัฐบาล และให้ภาคเอกชนเข้ามาบริหารจัดการ

ประโยชน์ของโครงการ BRT จะเพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่งมวลชนเมืองขอนแก่นคล่องตัวขึ้น จากการลดปริมาณใช้รถยนต์ส่วนตัว ทำให้ลดปัญหาการจราจรติดขัดได้มากกว่า 20% ลดการใช้น้ำมันเชื้อลงได้มากกว่า 30% ลดมลพิษลงได้มากกว่า 10% เพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ซึ่งจากการประเมินในปี 2575 หรืออีก 25 ปีที่มีความต้องการเดินทางเพิ่มขึ้นถึง 784,100 เที่ยว/วัน นั้นเมื่อใช้ระบบ BRT จะมีความเร็วเฉลี่ยการเดินทางในเขตเมืองอยู่ที่ 17.9 กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือลดลงเพียง 8%
กำลังโหลดความคิดเห็น