xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ในเอเชียสุขภาพดีไม่วิกฤต แต่ก็ถูกลูกหลงตลาดแย่-ศก.ทรุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์ – บรรดาธนาคารในเอเชีย ส่วนใหญ่สามารถหลบหลีกไม่เสียหายอะไรนักจากการล่มสลายของสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ประเภทซับไพรม์ แต่เมื่อมาถึงขณะนี้ซึ่งวิกฤตทางการเงินกำลังสร้างความยับเยินในโลกตะวันตก แบงก์ของภูมิภาคแถบนี้ก็จะต้องคอยรับมือกับผลกระทบซึ่งจะทำให้ตลาดอยู่ในอาการย่ำแย่ ตลอดจนภาพของเศรษฐกิจโดยรวมมืดมนลง

คาดหมายกันว่า ธนาคารและสถาบันการเงินจำนวนมากในเอเชีย จะมีผลประกอบการที่เลวร้ายลง เพราะเผชิญแรงกดดันทั้งจากการที่อัตราเติบโตของการปล่อยกู้ชะลอตัว, คุณภาพสินทรัพย์เสื่อมค่าลงเรื่อยๆ, และต้นทุนของสินเชื่อก็เพิ่มขึ้นในเมื่ออัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แบงก์และสถาบันการเงินที่ทำกำไรได้ก้อนโต้จากกิจกรรมซื้อขายหลักทรัพย์ คงจะเจ็บปวดมากกว่าเพื่อน ดังที่ ปีเตอร์ เท็บบัตต์ ผู้อำนวยการอาวุโสแห่งบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ฟิตช์ เรตติ้งส์ ให้ความเห็นว่า “ใครก็ตามที่กำลังเติบโตขยายตัวอย่างรวดเร็วก่อนหน้าเศรษฐกิจทรุด น่าจะเป็นพวกที่ต้องเจ็บตัวมากที่สุด”

กระนั้นก็ตาม มองโดยภาพรวมแล้ว พวกแบงก์ในเอเชียสามารถหลบหลีกความเสียหายอย่างมโหฬารที่พวกธนาคารและสถาบันการเงินในโลกตะวันตกจำนวนมากกำลังประสบอยู่ สืบเนื่องจากแบงก์เหล่านี้ไม่ได้พัวพันเกี่ยวข้องอะไรมากนัก กับการปล่อยกู้สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ หรือไปถือตราสารหนี้ที่ผูกพันกับสินเชื่อเหล่านี้

“สถานการณ์ในเอเชียนั้นแตกต่างออกไป(จากโลกตะวันตก)อย่างสิ้นเชิง” เป็นความเห็นของ เอลเลน โคเฮน ซึ่งตั้งฐานอยู่ในสิงคโปร์ และให้คำแนะนำแก่พวกลูกค้าของ เจพีมอร์แกน ไพรเวต แบงก์ ซึ่งบริหารจัดการกองทุน 400,000 ล้านดอลลาร์ทั่วโลก “พวกแบง์ในเอเชียโดยทั่วไปแล้วมีฐานเงินทุนที่ดีมากๆ พวกเขามีความเข้มงวดในการค้ำประกันหนี้ และพวกเขาก็ไม่ได้ย่ำแย่จากการทรุดตัวของตลาดที่อยู่อาศัย”

แต่ใช่ว่าแบงก์ในเอเชียจะไม่ได้รับผลกระทบกระเทือนอะไร ตรงกันข้าม ความเสี่ยงสำคัญที่สุดของเอเชียก็คือภาวะเศรษฐกิจที่กำลังมืดมัวลงเรื่อยๆ เมื่อต้นเดือนนี้เอง เมอร์ริลลินช์ได้ลดตัวเลขคาดหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียยกเว้นญี่ปุ่น สำหรับปีนี้มาอยู่ที่ 7.7% จากที่เคยให้ไว้ ณ 8% ส่วนสำหรับปีหน้าก็ลดมาเหลือ 7.3% จาก 7.8% โดยเหตุผลสำคัญก็คือยอดการส่งออกของเอเชียกำลังชะลอตัว

นอกจากนั้นแม้สุขภาพของแบงก์ทางเอเชียเองจะยังดีอยู่ ทว่าตลาดการเงินเอเชียก็อยู่ในอาการหวั่นไหวจากผลกระทบของตลาดทางโลกตะวันตก ดังเช่น เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ลูกค้าจำนวนนับพันๆ คนพากันแตกตื่นไปขอถอนเงินฝากจาก แบงก์ออฟอีสต์เอเชีย ทั้งในฮ่องกงและสิงคโปร์ เพราะเชื่อข่าวลือไม่มีมูลที่ว่าธนาคารแห่งนี้มีปัญหาความมั่นคง

คริส เอสซัน นักวิเคราะห์แห่งเครดิตสวิส ให้ความเห็นว่า พวกแบงก์ในฮ่องกงมีฐานเงินทุนอันแน่นหนา ทว่าในเมื่อวงจรสินเชื่อกำลังอยู่ในช่วงเลวร้ายลงเรื่อยๆ เพราะทิศทางอนาคตของเศรษฐกิจไม่แจ่มใส ดังนั้น แบงก์เหล่านี้จึงยังต้องประสบกับต้นทุนสินเชื่อที่เพิ่มสูงขึ้น และเผชิญกับหนี้ไม่ก่อรายได้จำนวนมากขึ้น

เช่นเดียวกับ เดวิด ธรีดโกลด์ นักวิเคราะห์หุ้นภาคธนาคารแห่ง ฟอกซ์-พิตต์ เคลตัน โคชแรน แคโรเนีย วอลเลอร์ ในกรุงโตเกียว ที่กล่าวว่า ระบบธนาคารของญี่ปุ่นอยู่ในภาวะที่มีสุขภาพดี แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผลประกอบการจะไม่ลดต่ำลง แม้สุขภาพดีแต่กำไรก็ยังลดน้อยลงไปได้อยู่ดี

ในประเทศจีน คาดหมายกันว่าอัตราผลกำไรของพวกแบงก์ใหญ่ๆ จะชะลอลง หลังจากพุ่งทะยานอย่างสดใสมาสองสามปี เนื่องจากทางการแดนมังกรกำลังใช้มาตรการลดอัตราการปล่อยกู้ ขณะที่ปริมาณหนี้เสียกำลังสูงขึ้นเนื่องจากผู้ส่งออกบางรายสู้ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ไหว รวมทั้งยังเจอปัญหาค่าเงินหยวนแข็งค่ามากขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯอ่อนตัวซึ่งทำให้ต้องการสินค้าจีนน้อยลง นอกจากนั้นพวกนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของจีน ก็ยังกำลังเผชิญความลำบากในเมื่อยอดขายและราคาต่างตกวูบ

อย่างไรก็ตาม ข้อดีข้อหนึ่งจากการที่ภาคการธนาคารในเอเชียมีสุขภาพดีก็คือ โอกาสที่จะเพิ่มส่วนแบ่งในตลาด ด้วยการเข้าซื้อสินทรัพย์ของแบงก์ในโลกตะวันตกที่กำลังมีราคาถูกลงมากๆ ตัวอย่างที่ชัดเจนได้แก่ การที่ มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (เอ็มยูเอฟจี) ทำข้อตกลงในสัปดาห์ที่แล้วเข้าซื้อหุ้น 20% ในมอร์แกนสแตนลีย์ ในราคา 8,500 ล้านดอลลาร์
กำลังโหลดความคิดเห็น