xs
xsm
sm
md
lg

พธม.ลุยสร้างการเมืองใหม่นัดระดมความเห็น 1 ต.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"จำลอง"ชม แนวคิดตั้ง กก.แก้ไขวิกฤตชาติของอธิการบดี 24 สถาบันฯ เป็นเรื่องดี แต่จะไม่ส่งคนเข้าร่วม พร้อมนัดระดมความเห็น 1 ต.ค. "สนธิ"ประกาศเดินหน้าจุดประกายการเมืองใหม่ต่อไปไม่รอคกก.อิสระ ด้าน"วีระ” วางคิวเช็กบิล "สมชาย” ประกาศอังคารนี้แจ้งกองปราบจับฐานติดสินบนตุลาการช่วย"พี่เมีย” หลุดคดีซุกหุ้น “สุริยะใส”เชื่อ กระบวนการมือตบลามสู่ รมต.คนอื่น ม็อบนปก.เชียงใหม่ถ่อยสุดๆ ยกพลปิดสถานีวิทยุชุมชนฝ่ายตรงข้าม "อภิสิทธิ์"หนุน “หมอประเวศ” นั่งประธานกก.อิสระปฎิรูปการเมือง จี้ทุกพรรคขานรับ ขณะที่"มีชัย"หวั่นหากรัฐบาลไม่รับข้อเสนอ บ้านเมืองยิ่งบอบช้ำ ด้าน14 เครือข่ายภาคประชาชนเสนอปฏิรูปสังคม 17 ประเด็น
เมื่อเวลา 21.50 น.นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.)ขึ้นกล่าวบนเวทีพันธมิตรฯในทำเนียบรัฐบาลว่า แม้ประเด็นการเมืองใหม่ตนจะจุดประกายขึ้น แต่การเสวนาการเมืองใหม่ทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา ตนไม่ได้เข้าไปร่วมเสวนาเพราะไม่ต้องการให้เกิดข้อครหาได้ว่าเข้าไปครอบงำ แต่ตนจะเดินหน้าจุดประกายโฉมหน้าการเมืองใหม่ไปเรื่อยๆ โดยหลักการเมืองใหม่คือ ต้องส่งเสริมให้สถาบันกษัตริย์เข้มแข็งและใครมาล้มล้างไม่ได้ จะออกแบบอย่างไรก็ตาม ต้องให้สถาบันเข้มแข็ง และคืนพระราชอำนาจให้แก่พระองค์ท่าน ต้องคืนการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชคืน
"การแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชกว่า 60 ปีที่ผ่านมาไม่เคยมีปัญหา แต่การเมืองในยุคหลังนี้ มาดึงพระราชอำนาจไปผ่องถ่ายแทนที่จะอยู่พระราชอำนาจของพระองค์ ยิ่งในยุคของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีแต่ปัญหา"
นายสนธิกล่าวต่อว่า จริงๆ แล้ว ปัญหาการเมืองในขณะนี้ คงจะจบและสิ้นสุดไปแล้ว หากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ตัดสินคดียุบพรรคพลังประชาชน ปัญหาทุกอย่างก็จบ แต่มี 2 กกต.ที่ไม่ทำตามหน้าที่ ไม่เช่นนั้นพรรคพลังประชาชนถูกยุบพรรคไปตั้งแต่เดือนก.พ.ที่ผ่านมาแล้ว
“จุดยืนของพันธมิตรฯ เราเห็นใจและขอขอบคุณ 24 อธิการบดี ที่เสนอการเมืองใหม่ แต่เราขออนุญาตว่า วิธีของ24 อธิการบดี ไม่ถูกต้อง การตั้งกรรมการขึ้นมา สุดท้ายพวกรัฐบาลก็ตั้งคนของตนเองเข้ามา เพราะฉะนั้น การเมืองใหม่จะเริ่มได้ ต้องเริ่มจากมหาประชาชน มหาประชาภิวัฒน์เท่านั้น ที่จะทำให้การเมืองใหม่เกิดขึ้นได้”นายสนธิกล่าว

จำลองชมแนวคิด 24 อธิการบดี
ขณะที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายพิภพ ธงไชย และนายสมศักดิ์ โกศัยสุข กล่าวเห็นด้วยกับข้อเสนอของ 24 อธิการบดี โดยพันธมิตรฯ ยังมีความเห็นตรงกับแนวทางอารยะประชาธิปไตย ที่เสนอโดย นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ที่เห็นว่า การปฏิรูปการเมืองใหม่ต้องเป็นแนวทางที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันพัฒนา และการรณรงค์ต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพันธมิตรฯ เห็นว่าแนวทางของ 24 อธิการบดี ที่ระบุว่าจะต้องมีการปฏิรูปการเมืองนั้น เป็นความหมายเดียวกับการเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ
ส่วนพันธมิตรฯ จะส่งตัวแทนเข้าร่วมกับคณะกรรมการอิสระแก้วิกฤติชาติ ตามที่ 24 อธิการบดี เสนอหรือไม่นั้น พล.ต.จำลอง กล่าวว่า กรณีดังกล่าวแกนนำพันธมิตรฯ ได้นำมาหารือและเห็นว่าแต่ละฝ่ายควรดำเนินการพัฒนาการเมืองใหม่ไปตามแนวทางของตนเอง เพื่อไม่ให้เกิดการครอบงำทางความคิดระหว่างกัน ทั้งนี้ การจัดตั้งองค์กรอิสระพัฒนาการเมืองใหม่ ตามแนวทางของ 24 สถาบัน จะต้องใช้เวลากว่า 4 เดือน อีกทั้งยังไม่แน่ชัดว่า นายกรัฐมนตรี จะตอบรับแนวคิดของ 24 สถาบันหรือไม่
"ถ้าเราไปร่วมกับคณะกรรมการอิสระชุดดังกล่าว ก็คงต้องรอนานกว่า 4 เดือน ซึ่งจะทำให้พันธมิตรฯ เสียโอกาส นอกจากนี้ ยังไม่รู้ว่า นากยกฯ จะรับแนวคิดหรือไม่ แต่ถ้ามีขึ้นมาจริงๆ เราคงต้องบอกว่า เรามาไกลเกินไปแล้ว ถ้าเอาข้อเสนอของเราเข้าไปร่วม เขาจะมองว่าเราเอาความคิดของเราไปครอบงำ ทุกคนเขาก็ถืออัตตาของเขา ส่วนเราจะรอให้องค์กรอิสระฯ เกิดขึ้น และทำหนังสือเชิญมาแล้วเราจะตอบว่า เราเห็นด้วยกับแนวคิดของ 24 สถาบัน แต่เห็นว่าควรแยกกันทำงานไปตามแนวทางจะดีกว่า" พล.ต.จำลอง กล่าว
ส่วนการกำหนดกรอบเวลาในการกำหนดแนวทางการเมืองใหม่ พล.ต. จำลอง กล่าวว่า เราวางกรอบไม่ได้ แต่พยายามทำเร็ว เราไม่ได้ทอดระยะเวลา แต่เรากำหนดเวลาเองไม่ได้ เพราะการกำหนดแนวทางมีรายละเอียดมาก แนวทางของ 24 สถาบันเป็นแนวทางที่มีการกำหนดแบบฉบับ แต่พันธมิตรฯ เห็นว่าไม่ควรกำหนดกรอบเวลา และควรเปิดกว้างให้มีผู้เสนอความเห็น และให้ข้อมูลได้
"เรื่องจะเชิญ 24 สถาบันมา เราก็คิดเหมือนกัน แต่คิดว่าไม่เหมาะ จึงไม่ได้เชิญ เราอยากให้ท่านทำต่อ ให้ท่านรอ แล้วดูว่ารัฐบาลจะรับหรือไม่ แล้วให้ท่านทำ จะได้เห็นความต่าง เราไม่รอท่าทีของนายกรัฐมนตรี ขืนรอเราเสียเวลาไปเปล่าๆ เราเดินหน้าตลอด เราจะดำเนินการตามที่อาจารย์ประเวศเสนอ" พล.ต.จำลอง กล่าว
พล.ต.จำลอง ยังกล่าวว่า ในวันพุธ ที่ 1 ต.ค. จะมีการประชุมเสวนา “การเมืองใหม่ ประชาภิวัฒน์” ครั้งที่ 3 โดยจะมีนักวิชาการ รวมถึงตัวแทนภาคต่างๆ จากการเสวนาทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมาเข้าร่วมการเสวนา ส่วนสาเหตุที่ไม่เชิญนักวิชาการ หรือหรือสื่อมวลชนเข้าร่วมการเสวนานั้น ยืนยันว่าเราไม่ได้ปิดกั้นคนภายนอกไม่ให้มาร่วมความคิดเห็น เพียงแต่ขั้นตอนนี้ เราต้องการให้คนที่รู้ในรายละเอียดในประเด็นที่มีการหารือเข้าร่วมเสวนาเท่านั้น จากนั้น ขั้นตอนต่อไปเราจึงเผยแพร่แนวทางการเมืองใหม่ ต่อสาธารณะ
ด้านนายพิภพ ธงไชย กล่าวเชื่อว่า หากมีการตั้งองค์กรอิสระขึ้นฯ จะมีแนวทางเช่นเดียวกับคณะกรรมการอิสระที่แก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ในสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะมีแนวทางการตั้งกรรมการและอนุกรรมการขึ้นมารวบรวมความเห็น ซึ่งเขาคงมาเอาแนวคิดของพันธมิตรฯไปรวมได้ ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีการนำความเห็นของพันธมิตรฯไปร่วมด้วย

”อภิสิทธิ์”หนุนปฏิรูปการเมือง
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฏร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เห็นด้วยกับแนวทางการปฏิรูปการเมืองน่าจะเป็นทางออกที่ดี เพราะรัฐบาลเห็นว่า รัฐธรรมนูญปี 50 มีปัญหา ขณะที่กลุ่มพันธมิตรฯ ได้ออกมาเรียกร้องเรื่องการเมืองใหม่ ดังนั้นสิ่งที่จะแก้ไขได้คือ การปฏิรูปการเมืองก่อนที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอยากให้ทุกฝ่ายได้มาหารือกัน ว่าจะมีกระบวนการปฎิรูปการเมืองอย่างไร เพื่อหาทางออกร่วมกัน
ส่วนรูปแบบวิธีการนั้น ไม่ควรที่จะมีการตั้งแง่ว่าใครควรจะเป็นเจ้าภาพ อยากให้ทุกฝ่ายได้ร่วมกันแสดงเจตนารมณ์ในการปฏิรูปการเมือง ซึ่งพรรคฝ่ายค้านพร้อมอยู่แล้วที่จะให้ความร่วมมือ และผลักดัน หากรัฐบาลขานรับทุกอย่างจะเดินหน้าง่ายขึ้น
เมื่อถามที่ท่าทีของนายกรัฐมนตรี ที่ไม่สนใจในการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการเมือง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้นายกรัฐมนตรี ยังไม่ได้ปฏิเสธ เพราะฉะนั้นนายกฯ น่าจะลองนำไปพิจารณาดูก่อน รวมทั้งพรรคการเมืองต่างๆ คงจะต้องมีการพูดคุยกัน หากพรรคการเมืองตอบรับ จะเป็นอีกช่องหนึ่งในการแก้ไขปัญหาทำให้เดินหน้าได้
เมื่อถามว่า หากมีการตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาปฏิรูปการเมือง จะมีอะไรเป็นหลักประกันให้แก่สังคมได้ว่า จะนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริง นายอภิสิทธิ์ กล่าว่า การดำเนินการทั้งหมดต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันทั้งกระบวน และสุดท้ายแรงกดดันจากสังคมและเป็นตัวผลักดันให้การปฏิรูปการเมืองเกิดผลสำเร็จได้ เช่นในปี 2540 ก็มีการกลัวว่านักการเมืองจะไม่เห็นพ้องกับ ส.ส.ร. ซึ่งสุดท้ายกระแสสังคมจะเป็นตัวกดดันให้นักการเมืองได้ดำเนินการตาม ส.ส.ร. ดังนั้น หากมีการวางหลักการให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมจะถือเป็นหลักประกันอีอย่างหนึ่ง

"หมอประเวศ"เหมาะสมนั่งประธานฯ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวในประเด็นที่ว่า การปฏิรูปการเมืองที่จะเกิดขึ้นเหมือนกับเป็นการตัดทอนอำนาจของฝ่ายการเมือง และฝ่ายการเมืองจะยอมเสียสละตามที่กระแสสังคมกดดันหรือไม่นั้น จริงๆแล้ว ฝ่ายการเมืองก็ต้องมองเห็นว่า เมื่อมีอำนาจแต่ประชาชนไม่ยอมรับ อำนาจนั้นก็ใช้ไม่ได้ บ้านเมืองก็เดินไปข้างหน้าไม่ได้ แล้วจะมีอำนาจไว้ทำไม หากจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นฝ่ายกาเมืองก็ต้องสนับสนุน ดังนั้นจึงอยากฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน นักวิชากร และกลุ่มพันธมิตร ได้แสดงเจตนาของมาขานรับการปฏิรูปการเมืองร่วมกัน
เมื่อถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ หากมีการเสนอชื่อ นพ.ประเวศ วะสี ราษฏรอาวุโส เป็นประธานคณะกรรมการอิสระในการปฏิรูปการเมือง ในกรอบระยะเวลา 120 วัน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่า นพ.ประเวศ เป็นบุคคลที่เหมาะสม ส่วนกรอบระยะเวลาประมาณ 120 วัน น่าจะพอรับได้แต่อาจจะต้องมีการขยายเวลาเพิ่มนิดหน่อย เพราะบางเรื่องต้องใช้เวลา และพิจารณาอย่างรอบคอบ
สำหรับกรอบเวลาในการปฏิรูปการเมืองที่คาบเกี่ยวกับคดียุบพรรคการเมืองต่างๆนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ควรจะต้องแยกกัน การปฏิรูปการเมืองไม่ใช่ปฏิรูปเพื่อช่วยเหลือคดีให้ใคร แต่ต้องการทำให้มีการเมืองที่โปร่งใส ส่วนคดีความต่างๆ ก็เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม เชื่อว่ากรอบเวลา 120 วันไม่ได้เป็นซื้อเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาล เพราะการทำงานของรัฐบาลก็ต้องเดินหน้าไปตามปกติ และหากเกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในอนาคต รัฐบาลชุดต่อไปก็ต้องสามารถมารับช่วงต่อการปฏิรูปการเมืองต่อได้ไม่มีปัญหา

"มีชัย"จี้รบ.รับข้อเสนอ 24อธิการบดี
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวเห็นด้วยกับข้อเสนอของอธิการบดี 24 สถาบัน ซึ่งทางออกของการแก้ปัญหาวิกฤตการเมือง เพราะอธิการบดีต่างล้วนเป็นผู้ที่มีความเป็นกลาง ไม่มีการฝักใฝ่ฝ่ายใด จึงถือว่าเป็นความเห็นสุจริตที่น่ารับฟัง แต่จะเกิดผลหรือไม่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะรัฐบาล ต้องยอมรับว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ สร้างความกังวลใจให้ทุกฝ่าย หากรัฐบาลไม่ตอบรับก็อาจจะทำให้บ้านเมืองบอบช้ำมากขึ้น
ขณะที่นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว เพราะขณะนี้มองว่าการเมืองเข้าสู่ทางตัน โดยสังเกตได้จากปรากฏการณ์ที่มีการขับไล่นายกรัฐมนตรีในหลายพื้นที่ จึงเชื่อว่าในที่สุดแล้วรัฐบาลก็ต้องจำเป็นเลือกดำเนินการตามแนวทางนี้

เครือข่ายภาคปชช.เสนอ 17 ประเด็น
ด้านความเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ปรากฏว่าวานนี้ (28 ก.ย.) 14 เครือข่ายภาคประชาชน ร่วมกับคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.) เสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐสภาตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง พร้อมข้อเสนอปฏิรูปสังคม 17 ประเด็น ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีเครือข่ายภาคประชาชนราวหนึ่งร้อยห้าสิบคนเข้าร่วม ประกอบด้วย สมัชชาคนจน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เครือข่ายผู้หญิง เครือข่ายสิทธิมนุษยชน เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีแห่งประเทศไทย เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายคนพิการ เครือข่ายสลัมสี่ภาค เครือข่ายปฏิรูปที่ดิน เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เครือข่ายสื่อภาคประชาชน เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และเครือข่ายโลกาภิวัตน์
นายไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน สรุปข้อเสนอจากที่ประชุมว่า ให้รัฐสภาจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง มีหน้าที่ในการรวบรวมความคิดเห็นจากประชาชน เพื่อจัดทำข้อเสนอเพื่อปฏิรูปการเมืองและสังคม และให้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ กฎหมาย นโยบายรัฐ ให้สอดคล้องกับความต้องการของสาธารณะ โดยต้องเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน ทั้ง ฝ่ายการเมือง องค์กรอิสระ นักวิชาการ ภาคประชาชน วิชาชีพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคธุรกิจ เข้ามามีส่วนร่วมในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน มีระยะเวลา 1 ปี และให้รัฐสภานำข้อสรุปดังกล่าวมาดำเนินการทันที
"ในการปฏิรูปการเมืองครั้งนี้ รัฐต้องมีเป้าหมายเพื่อสร้างประชาธิปไตยที่ประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วมตัดสินใจและกำหนดความต้องการ สร้างหลักประกันด้านสวัสดิการสังคม ให้เกิดความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ มีการกระจายโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียม รวมถึงต้องมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ให้ประชาชนได้เลือกตั้งผู้ว่าทุกจังหวัด" นายไพโรจน์ กล่าว
ส่วนประเด็นที่เครือข่ายประชาชน เสนอให้มีการปฏิรูปประกอบด้วย เรื่องสวัสดิการสังคม ระบบการศึกษา ระบบสุขภาพ ระบบภาษี ระบบการคุ้มครองแรงงาน สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การกระจายอำนาจ การตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ การมีส่วนร่วมทางการเมืองและการกำหนดนโยบายสาธารณะ การจัดทำข้อตกลงระหว่างปรเทศ การปฏิรูปที่ดินเพื่อกระจายการถือครองที่ดินให้ประชาชนมีที่ทำกินและที่อยู่อาศัยที่มั่นคง การจัดการและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กาปฏิรูปสื่อและการเข้าถึงข้อมูล ความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย กระบวนการยุติธรรมให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรม และการคุ้มครองผู้บริโภค

"วีระ"เช็กบิล"สมชาย"ติดสินบนตุลาการ
นายวีระ สมความคิด ประธานคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชัน ขึ้นเวทีปราศรัยที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงการดำเนินคดีกับบุคคล 3 คน คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ,นางเยาวภา และ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (นายกรัฐมนตรี) ที่พยายามติดสินบนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วยตัวเองในคดีซุกหุ้นภาค 1 เมื่อปี 2544 ว่า เรื่องนี้ ตนได้แจ้งความดำเนินคดีกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และ นางเยาวภา ไปแล้ว แต่ยังไม่ได้ดำเนินคดีกับ นายสมชาย เพราะตอนนั้น นายสมชาย ยังรับราชการเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรมอยู่ ตนต้องการให้มีการสอบสวนและสอบไปพบแล้วมีการดำเนินคดีเอง และไม่คิดก่อนว่านายสมชายจะก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯ คนที่ 26
"การดำเนินคดีกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และนางเยาวภาล่าช้ามาก ซึ่งขณะนี้คดียังอยู่ที่อัยการสูงสุด แม้ว่าตำรวจกองปราบได้สอบพยานปากสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น นายอุระ หวังอ้อมกลาง อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือ นายบัณฑิต ศิริพันธ์ หัวหน้าสำนักงานกฎหมายเสนีย์ ปราโมช ทุกคนยืนยันว่า เป็นความจริงหมด ตำรวจทำอย่างอื่นไม่ได้ จึงต้องส่งให้อัยการ และตอนนี้เรื่องไปดองอยู่ที่อัยการ" นายวีระกล่าวว่า
ในวันอังคารนี้(30 ) ตนจะไปแจ้งความกับกองปราบปรามให้จับนายกสมชายฐานติดสินบนตุลาการ และจะไปยื่นต่อคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ดำเนินการเอาผิดกับนายสมชายในกรณีนี้ แต่เป็นเรื่องการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เอาตำแหน่งหน้าที่ปลัดกระทรวงยุติธรรมไปวิ่งเต้นติดสินบน นอกจากนี้ ยังมีอีก 1 คดี คือ การไปถือหุ้นในบริษัทเกิน 5% ไม่เกินวันศุกร์(3 ต.ค.)ที่จะถึงนี้ จะแจ้งความดำเนินคดีนายสมชายอีก 1 คดี
" ผมพูดเรื่องนี้มาหลายวันแล้ว ยังไม่มีสื่อใดนำเรื่องนี้เปิดเผยต่อสาธารณะ แต่ไม่เป็นไร รัฐบาลปิดข่าวได้ปิดข่าวไป แต่ASTVไม่ปิดแน่ เพราะเรื่องนี้ช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวปิดไม่มิดหรอก และสิ่งที่พันธมิตรฯทำ ก็เป็นไปตามหลักรัฐธรรมนูญมาตรา 69 ที่บอกชัดเจนว่า บุคคลสามารถที่จะต่อต้านการปฏิวัติ หรือทำลายล้างระบอบประชาธิปไตย โดยสันติวิธี"นายวีระกล่าวและชี้จุดยืนของพันธมิตรฯว่า
พรรคพลังประชาชนที่เราไล่อยู่นี้ ซึ่งเป็นตัวแทนระบอบทักษิณ ทำความผิดอย่างใหญ่หลวง ท้าทายรัฐธรรมนูญ ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ และได้อำนาจการปกครองมาโดยวิถีทางที่ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ชัดเจนแล้ว และอีกเรื่องหนึ่งที่ได้พิสูจน์แล้วจากกระบวยการยุติธรรม คือ การที่รัฐบาลนายสมัครเอาอธิปไตยไปยกให้กัมพูชาเพื่อแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์ส่วนตัว ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าแถลงการณ์ร่วมที่รัฐบาลไปลงนามกับกัมพูชาฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 190 และศาลปกครองบอกว่า การคุ้มครองฉุกเฉินมีผล ห้ามรัฐบาลทำสนธิสัญญาแบบนี้กับกัมพูชาอีก
“นี่ไม่ใช่แค่การกล่าวหาของพันธมิตรฯ หลักฐานชัดเจน มีการผ่านกระบวนการทางกฎหมายหมดแล้ว แต่การกล่าวหา 9 แกนนำว่าเป็นกบฏ ยังไม่ได้ผ่านการพิสูจน์ แล้วใครมีความชอบธรรมมากกว่า พันธมิตรฯมีความชอบธรรมมากกว่า เพราะเราทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 70 ที่บอกว่าบุคคลมีหน้าที่ที่จะรับราชการทหาร เสียภาษีอากร ช่วยเหลือราชการ และต้องปกป้องรักษารัฐธรรมนูญและรักษาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเอาไว้ นี่ถือหน้าที่ของชาวไทยทุกคน” นายวีระ กล่าว

ชี้"มือตบ"อริยะขัดขืนทางสังคม
นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯแถลงว่า กระบวนการมือตบของประชาชนที่ตามไล่คนในรัฐบาล เพื่อแสดงการต่อต้านรัฐบาลนอมินี ตนเห็นว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมานานกว่า 3-4 ปี แล้ว ซึ่งกระบวนการดังกล่าว เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นปลายเหตุ โดยต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริงคือความขัดแย้งทางสังคมระหว่างคนที่ชอบ กับ ไม่ชอบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดังนั้น จากนี้ไปถ้ายังมีนายกฯ ที่ยึดโยงกับระบอบทักษิณ สถานการณ์แบบนี้ก็ยังไม่จบ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าปรากฏการณ์เช่นนี้ไร้การจัดตั้ง และไม่ได้มีคำสั่งจากแกนนำพันธมิตรฯ แต่เป็นการใช้มาตรการกดดันทางสังคม กับรัฐบาลที่ขาดความชอบธรรม และประชาชนไม่ให้ความเชื่อถือ ซึ่งถือว่าเป็นอารยะขัดขืน อย่างไรก็ตาม ตนเป็นห่วงว่าสถานการณ์อาจจะบานปลายไปสู่ลักษณะที่รุนแรงมากขึ้น เนื่องจากเวลารัฐมนตรีลงไปในพื้นที่ ก็อาจจะจัดตั้งมวลชนขึ้นคุ้มกัน จนอาจนำไปสู่การเผชิญหน้าที่รุนแรง และนำไปสู่การแตกแยกรอบใหม่
ส่วนความคืบหน้าในการเจรจากับรัฐบาลนั้น ผู้ประสานงานฯ พันธมิตร กล่าวว่า มีคนสนิทของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี โทรศัพท์ประสานเข้ามายังตน ซึ่งตนได้แจ้งให้กับแกนนำได้รับทราบแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้า แต่ทั้งนี้ การเจรจาก็อยู่บนเงื่อนไขคือ ผู้เจรจาจะต้องมีอำนาจเต็ม และรัฐบาลต้องไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งมีแนวทางรองรับการเมืองใหม่ให้ชัดเจน

นปก.ระดมคนปิดล้อมสถานีวิทยุพธม.
วันเดียวกันกลุ่ม นปก.เชียงใหม่ ได้ระดมคนเสื้อแดงผ่านสถานีวิทยุชุมชน 92.5 เมกกะเฮิร์ต เป็นกระบอกเสียงสำคัญของกลุ่มมวลชนที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี , รัฐบาลไทยรักไทย รวมทั้งรัฐบาลพรรคพลัง จากนั้นได้เดินทางไปปิดล้อมสถานีวิทยุชุมชน “วิหคเรดิโอ.” ของกลุ่มนายเทิดศักดิ์ เจียมกิจวัฒนา ที่ประกาศตั้งกลุ่ม “ทหารเสือพระราชา” ขึ้นมา เพื่อเคลื่อนไหวต่อต้านกลุ่มที่พยายามล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์
โดยกลุ่ม นปก. ที่ระดมคนได้ประมาณ 300-400 คน ได้เดินทางไปปิดล้อมทางเข้า-ออก ของสถานีวิหคเรดิโอ. พร้อมกับใช้ก้อนหิน – ไม้ ขว้างปาเข้าใส่กลุ่มมวลชนของ “วิหคเรดิโอ” ที่ร่วมกันประกาศตนเป็น “ทหารเสือพระราชา” ซึ่งเดินทางมาร่วมกลุ่มกันที่สถานีก่อนหน้านี้ประมาณ 100 กว่าคน ได้รับบาดเจ็บหลายราย และไม่สามารถเดินทางออกมาได้
ทั้งนี้กลุ่ม “ทหารเสือพระราชา” ที่สถานีวิทยุวิหคเรดิโอ. ได้ประกาศจัดตั้งขึ้น และรับสมัครมวลชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และเชียงราย เข้าร่วม และดำเนินกิจกรรมปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ มาอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งได้เคลื่อนไหวสนับสนุนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เนื่องจากมวลชนที่เข้าร่วมส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นเครือข่ายพันธมิตรฯ ในพื้นที่เชียงใหม่ และหลายจังหวัดของภาคเหนือด้วย แต่แนวทางการดำเนินกิจกรรมจะแยกจากพันธมิตรฯ เชียงใหม่ อย่างเด็ดขาด
กำลังโหลดความคิดเห็น