xs
xsm
sm
md
lg

กองทัพกับการปฏิรูปการเมือง

เผยแพร่:   โดย: พลเอกกิตติ รัตนฉายา

บทนำ

ประเทศไทยตั้งแต่ก่อตั้งชาติ เมื่อยุคประวัติศาสตร์สมัยกลาง (Middle Age)ในระบบ ฟิวดัล (Feudalism)นั้น มีรูปของประเทศเป็นแบบราชอาณาจักรตลอดมากว่า 700 ปีราชอาณาจักรนี้เป็นวัฒนธรรมตะวันออกทางการเมืองการปกครองที่ถูกหล่อหลอมเป็นจิตวิญญาณของชาติตลอดมาล่วงถึงประวัติศาสตร์สมัยใหม่ พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ได้ทรงประยุกต์ก่อตั้งเป็น ชาติสมัยใหม่ ซึ่งประกอบไปด้วยองค์คุณเอกภาพ 3 ประการ ที่แยกออกจากกันไม่ได้ ถ้าแยกแล้วจะไม่มีความเป็นชาติคือ สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สะท้อนอยู่ในธงไตรรงค์ 3 สีคือ สีแดง สีขาว สีน้ำเงินสถาบันพระมหากษัตริย์ของประเทศไทยนั้นยิ่งใหญ่ด้วยพระบรมเดชานุภาพ และพระบารมีเหนือสถาบันพระมหากษัตริย์ในหลายประเทศทั้งปวง

ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ประเทศไทยปกครองโดยพระมหากษัตริย์ร่วมกับประชาชน ช่วยกันปกครองประเทศคือ การปกครองแบบราชประชาสมาสัย ตามคติโบราณ

ก่อน พ.ศ. 2475 ประเทศไทยปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์ เมื่อ พ.ศ. 2475 ทรงมอบอำนาจอธิปไตยให้แก่ประชาชนชาวไทยผ่าน คณะราษฎร์

ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 จนปัจจุบัน ประเทศไทยเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองหลายครั้ง ล้วนเป็น การเกิดวิกฤตจากรัฐธรรมนูญ ทุกครั้ง ตามด้วยการยึดอำนาจ การปฏิวัติรัฐประหาร การพัฒนาทางการเมืองจึงไม่ต่อเนื่อง ไม่มีทิศทางและไม่มั่นคง มีขบวนการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ในยุครัฐบาลพรรคไทยรักไทยต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลพรรคพลังประชาชนและมีการเคลื่อนไหวอย่างปิดลับ และอย่างเปิดเผย เป็นที่รับทราบกันโดยทั่วไปซึ่งเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างยิ่ง

ปัจจุบันมีขบวนการบ่อนทำลายประเทศโดยใช้ระบอบเผด็จการรัฐสภา เป็นเครื่องมือดำเนินยุทธวิธีแนวร่วม เพื่อก่อสงครามกลางเมือง เพื่อเปลี่ยนรูปของประเทศจากราชอาณาจักรไปสู่สาธารณรัฐโดยใช้รัฐธรรมนูญเป็นอาวุธหลัก ก่อตัวขึ้นเป็นขบวนการบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ ที่เรียกว่า ขบวนการสาธารณรัฐ มีความมุ่งหมายและดำเนินการโดยยุทธวิธีแนวร่วม เพื่อ “ล้มปืน-ล้มทุน-ล้มเจ้า”

ในสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นการต่อสู้เพื่อเอาชนะระหว่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกับระบอบทักษิณ (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศไทยในอนาคต

รัฐบาลนอมินี

1. ระบอบทักษิณ (Thaksinocracy) เป็นคำนิยามที่นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ และนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ตั้งขึ้นเพื่อนิยามการปกครองของประเทศไทยภายใต้การปกครองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่าเป็นระบอบที่ยึดกับความคิดและตัวตนของ พ.ต.ท.ทักษิณ จนไม่สนใจถึงเจตนารมณ์ที่แท้จริงของระบอบประชาธิปไตย ทำให้ประเทศแปรสภาพไปอยู่ในรูปแบบของเผด็จการรัฐสภา บ้างก็เรียกแบบการปกครองนี้ว่า “ทักษิณาธิปไตย” ทรราชเสียงข้างมาก, และ “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จากการเลือกตั้ง” ซึ่งทั้งหมดมาจากคำจำกัดความของระบอบทักษิณ มุ่งโจมตีนโยบายในการบริหารประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และเพิ่มความชอบธรรมให้กับเหตุการณ์การขับไล่ ทักษิณ ชินวัตร ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่เกิดขึ้นในช่วงพ.ศ. 2548-2549 อย่างไรก็ตาม คำนิยามนี้ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มคนที่ต้องการขับไล่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเท่านั้น (1)

2. วิกฤตจากระบอบทักษิณ
-ระบอบทักษิณ ยักยอกรัฐธรรมนูญ ยึดครองประชาธิปไตย
-ระบอบทักษิณ หลงใหลทุนนิยมใหม่จนลืมประเทศชาติ
-ระบอบทักษิณ โกงกินชาติบ้านเมือง
-ระบอบทักษิณ ทำให้บ้านเมืองสิ้นความสงบสุข (2)

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)

1. พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (People's Alliance for Democracy: PAD) เกิดจากการรวมตัวกันของหลายองค์กร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นองค์กรอิสระภาคประชาชน จุดประสงค์หลักของการรวมตัวเพื่อกดดันขับไล่ นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้ลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากเห็นว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนกับธุรกิจส่วนตัวและคนสนิทและประพฤติผิดอีกหลายๆ อย่างอันไม่สมควรในการเป็นผู้บริหารประเทศ โดยประสานงานโดย สุริยะใส กตะศิลา และมีแกนนำ 5 คน ได้แก่ สนธิ ลิ้มทองกุล, พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, สมศักดิ์ โกศัยสุข, พิภพ ธงไชย, สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์

2. สาเหตุของการกล่าวหา
การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะปตท. และกฟผ.
* สำหรับ ปตท. เช่น เรื่องการกระจายหุ้นที่ไม่เป็นธรรม ราคาขายหุ้นที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก สัดส่วนการถือหุ้นของรัฐที่ลดลงมาก การถือหุ้นผ่านกองทุนของต่างชาติ กำไรจากการขายก๊าซให้ กฟผ. ในราคาสูง
* การแปรรูป กฟผ. นั้นมีคำสั่งจากศาลปกครองว่าพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2548 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
* การแก้สัมปทานสถานีโทรทัศน์ไอทีวี
* การคอร์รัปชันในโครงการสนามบินสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะเรื่องเครื่องสแกนสัมภาระซีทีเอ็กซ์
* การทำพิธีเป็นประธานในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
* การแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชซึ่งขณะนั้นทรงพระประชวร
* การขายหุ้นในบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเจ้าของสัมปทานโทรศัพท์มือถือ, ดาวเทียมไทยคม, สถานีโทรทัศน์ไอทีวี และสายการบินแอร์เอเชีย ให้กับเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ (กองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์) โดยซื้อขายในตลาดหุ้นทำให้ไม่ต้องเสียภาษี

3. สัญลักษณ์ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
กลุ่มผู้เข้าร่วมชุมนุมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะใส่เสื้อสีเหลืองเป็นสัญลักษณ์ และคาดผ้าโพกศีรษะที่มีข้อความว่า “กู้ชาติ” และผ้าพันคอสีฟ้า ซึ่งเป็นผ้าพันคอพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2549 (1)

กองทัพไทย

สถาบันกองทัพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กองทัพบก นั้นมีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งยวดกับ การกอบกู้ชาติ และค้ำจุนราชบัลลังก์ มาโดยตลอดจน แม้กระทั่งทุกวันนี้ หน้ากองบัญชาการกองทัพบก ยังมีการเขียนคำขวัญ บนแผ่นหินอ่อนว่า เพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน

สถาบันกองทัพ ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์และกองทัพนั้นมีมาตั้งแต่เริ่มสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในเมืองไทย ดังที่หลายท่านทราบอยู่แล้วว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ให้พระราชโอรสที่ทรงส่งเสียให้ได้เล่าเรียนในต่างประเทศเรียนการทหาร เพื่อจะได้กลับมารับราชการทหารต่อไป เพราะทรงพระราชดำริว่า เมืองไทยจะเปลี่ยนไปในอนาคตอย่างไรก็ยากจะเดาได้ แต่ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ยังจำเป็นต้องมีทหารอยู่นั่นเอง อย่างไรเสีย เมื่อเป็นทหารแล้ว ก็จะยังมีบทบาทหน้าที่รับใช้ชาติได้อยู่นั่นเอง

อำนาจรัฐที่แท้จริงอยู่ที่ผู้ถืออาวุธ กองทัพคือผู้ถืออาวุธและกองทัพมีพระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งเป็นจอมทัพ

ปรัชญาในการต่อสู้

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การปฏิรูปการเมืองในปัจจุบันนี้ขึ้นอยู่กับองค์กร 3 องค์กร คือ

- รัฐบาล
- พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
- กองทัพ

สมการในการต่อสู้ เพื่อชนะทางการเมืองเกิดขึ้นดังนี้
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย = ต่อสู้กับระบอบทักษิณ
= ต่อสู้กับรัฐบาลนอมินี + อำนาจเงิน
= ต่อสู้กับรัฐบาลสมัคร + อำนาจเงิน

นั่นคือพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต่อสู้กับอำนาจรัฐ + อำนาจเงิน
และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยพ่ายแพ้อำนาจรัฐ + อำนาจเงิน

สรุปว่าในการต่อสู้เพื่อเอาชนะระหว่างกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับระบอบทักษิณ (รัฐบาลนอมินี+พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) นั้นคือ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต่อสู้กับอำนาจรัฐ+ อำนาจเงิน ซึ่งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ย่อมสู้ไม่ได้ คือ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แพ้ อำนาจรัฐ + อำนาจเงิน

ในโลกนี้ตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบันมีสัจธรรมที่ต้องยอมรับว่าอำนาจรัฐที่แท้จริง คือ ผู้ถืออาวุธ และผู้ถืออาวุธคือ กองทัพ ดังนั้น กองทัพจึงเป็นผู้ถืออำนาจรัฐที่แท้จริง จึงเกิดสมการต่อสู้ใหม่ดังนี้

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย + กองทัพ ชนะ อำนาจรัฐ + อำนาจเงิน
ซึ่งเป็นสูตรสำเร็จ เป็นยุทธศาสตร์ ซึ่งกองทัพและพันธมิตรฯ ต้องยอมรับและต้องศึกษา และต้องกำหนดยุทธวิธีทำให้สูตรการต่อสู้ให้เป็นจริงโดยเร็วหากต้องการปฎิรูปการเมืองหรือปฎิวัติประชาธิปไตย

บทตาม

อำนาจอธิปไตย ซึ่งประกอบด้วยอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการซึ่งเป็นอำนาจรัฐาธิปัตย์ ของพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์ทรงมอบให้ราษฎร เมื่อปี 2475 ผ่านคณะราษฎรโดยถูกบีบบังคับ คณะราษฎร จึงยังมีความหวาดกลัวต่ออำนาจเดิม ยังมีความสงสัยในชะตาของตนเอง จึงมีการหวงและสงวนอำนาจไว้เพื่อความปลอดภัยของตนเองไม่ได้ใช้ หลักการปกครองโดยธรรม ตามคติการปกครองแบบราชประชาสมาสัยคือพระมหากษัตริย์และราษฎรร่วมกันปกครองประเทศเป็นหลัก อันได้แก่ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีซึ่งเป็นการปกครองโดยธรรม เช่น ทศพิธราชธรรม นิติธรรม ศาสนธรรม ซึ่งมีอยู่ในสถาบันพระมหากษัตริย์และ สถาบันศาสนา ล้วนเป็นสถาบันที่ค้ำจุนบ้านเมืองมาตั้งแต่โบราณจึงทำให้เกิดปัญหาการปกครองบ้านเมืองตลอดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน

การเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมืองจากพระมหากษัตริย์มาสู่บุคคลหรือกลุ่มบุคคล หรือหลายบุคคล กลายเป็น การเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวเป็นแบบมีพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศโดยเลียนแบบหลักการของรัฐธรรมนูญที่เป็นสาธารณรัฐหรือมหาชนรัฐแบบฝรั่งเศสและแบบตุรกี และต่อมาได้เลียนแบบ หลักการรัฐธรรมนูญของสวิตเซอร์แลนด์และอียิปต์ ซึ่งไม่ใช่รัฐธรรมนูญแบบจารีตประเพณีแบบของอังกฤษหรือรัฐธรรมนูญของเดนมาร์ก ฯลฯ ซึ่งเป็นราชอาณาจักร บ้านเมืองของเราจึงเต็มไปด้วยความขัดแย้ง สับสนวุ่นวาย ขาดความร่มเย็นเป็นสุข เกิดปัญหาต่างๆ ตามกันมามากมาย ทำให้ประเทศเกิด ปัญหารัฐธรรมนูญหรือวิกฤตรัฐธรรมนูญตลอดมา

อำนาจรัฐาธิปัตย์หรืออำนาจอธิปไตย ยังคงเป็นของพระมหากษัตริย์ ซึ่งพระองค์อาจทรงเรียกคืนหรือ ราษฎรถวายคืน ก็ได้ ซึ่งมีการปฏิบัติกันหลายประเทศในยุโรป เพื่อแก้วิกฤตชาติและเพื่อความอยู่รอดของประเทศชาติ

การปกครองแบบประชาธิปไตย ตามคติราชประชาสมาสัย จึงเหมาะสมและสอดคล้องกับสังคม จารีตประเพณีของไทย

รัฐบาลพรรคไทยรักไทย ได้อำนาจรัฐเมื่อปี 2544 มีพฤติกรรมไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์นำไปสู่แนวความคิดที่จะล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือลดอำนาจสถาบันพระมหากษัตริย์ และได้พัฒนาเป็นขบวนการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ในเวลาต่อมาจนเป็นสาเหตุข้อหนึ่งในหลายข้อที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยออกมาต่อต้านรัฐบาล ขบวนการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้ใช้สื่อทุกประเภท ประกอบด้วย วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ วีซีดี อินเทอร์เน็ต และสิ่งพิมพ์อื่นๆ เป็นเครื่องมือโดยทางลับและทางเปิดเผย ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2547 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไป

นพ.ประเวศ วะสี ให้ความเห็นว่า “ทุนใหญ่ ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” โดย

1. ใช้เงินขนาดใหญ่ และการสร้างภาพเข้ามายึดอำนาจทางการเมือง ทำให้อำนาจเสียสมดุลอย่างรุนแรง
2. ใช้เงินและอำนาจเข้าแทรกแซงองค์กรต่างๆ ทำให้ตรวจสอบไม่ได้
3. ครอบงำและแทรกแซงสื่อทำให้การรับรู้ของผู้คนไม่ตรงกับความจริง
4. แต่งตั้งญาติ เพื่อนร่วมรุ่น เข้าไปคุมตำแหน่งสำคัญๆ ทางทหาร พลเรือน ธุรกิจ เป็นการทำลายสถาบันให้แตกแยกและอ่อนแอ
5. ความที่เป็น Megamania ต้องการให้ทุกคนทุกองค์กรมาขึ้นกับคนคนเดียว ทำให้ประเทศทั้งประเทศอ่อนแอลง
6. แสวงหาผลประโยชน์ตามอำเภอใจไม่มีที่สิ้นสุด
7. ใช้เงินแจกผู้คนให้สนับสนุนตน รวมทั้งให้สินบาทคาดสินบน ไม่ให้กลไกตรวจสอบต่างๆ เอาผิดตนได้
8. ใช้อำนาจในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ สร้างภาพ ให้คนเข้าใจผิด และเข้าไปสู่ความขัดแย้งกัน

ทั้งหมดนี้ทำให้ชาติอ่อนแอลงทุกๆ ทาง ทำให้คนขัดแย้งกัน ทำลายสถาบันทางราชการ ทหาร และพลเรือน ทำให้เกิดความเสื่อมเสียทางศีลธรรม ไม่สนใจทำนุบำรุงศาสนาอย่างจริงใจ เพียงแต่ใช้เป็นเครื่องมือเท่าที่จะทำได้

พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้บรรยายพิเศษเปิดโปงว่า มีขบวนการที่ไม่หวังดีกำลังนำประเทศไทยไปสู่ระบอบสาธารณรัฐ ว่ามีขบวนการ “ล้มปืน ล้มทุน ล้มเจ้า” กำลังมีบทบาทเพิ่มขึ้นในสังคมไทย

ขบวนการล้มปืนนั้นน่าจะหมายถึง การใช้อำนาจการเมืองเข้ามายึดอำนาจในกองทัพ ทำให้กองทัพอ่อนแอ การล้มทุน ก็คือ การรวบอำนาจกลุ่มทุนให้เหลือเพียงกลุ่มที่เป็นพวกของพรรคเท่านั้น โดยพยายามทำลายทุนของฝ่ายตรงกันข้าม ส่วนการล้มเจ้า ก็คือ การล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ แนวความคิดดังกล่าวนี้เป็นแนวความคิดที่สอดคล้องกับกลุ่มการเมืองเอียงซ้าย ที่แทรกอยู่ในพรรคการเมืองใหญ่ที่มีอำนาจบริหารประเทศตั้งแต่ พ.ศ. 2544 จนถึงปัจจุบันนี้

กองทัพมีบทบาทสำคัญยิ่งที่จะต้องช่วยปกป้องและส่งเสริมประชาธิปไตย ที่แท้จริงให้กลับคืนสู่สังคม ประชาชนก็จะมั่นใจในกองทัพ อุดมการณ์ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์และประชาชน กองทัพจะต้องกอบกู้ประชาธิปไตย เสถียรภาพ ความสงบ และความมั่นคงกลับคืนมาสู่ประเทศชาติอย่างรวดเร็ว ทันเวลาและถาวร

ระบอบทักษิณตระหนักดีว่า อำนาจและพลังกองทัพเท่านั้นที่จะสามารถขัดขวางการผูกขาดอำนาจในทุกๆ ด้านของระบอบทักษิณได้ และกองทัพเท่านั้นที่จะสามารถปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้และกองทัพเท่านั้น ที่จะเป็นปัจจัยชี้ขาดในยามบ้านเมืองประสบกับวิกฤตการณ์ร้ายแรง ไม่ว่าวิกฤตรัฐธรรมนูญ วิกฤตชาติ วิกฤตสังคม ในฐานะเป็นผู้พิทักษ์ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน” ฯลฯ

หากมีรัฐบาลโกงกินคอร์รัปชัน มีทั้งอำนาจการเมืองบวกกับอำนาจการเงิน ที่มีพิษร้ายแรงยิ่งกว่าอำนาจการเมืองเพียงอย่างเดียว ปัจจัยกองทัพจึงมีความสำคัญเร่งด่วนเป็นทวีคูณ ในการช่วยปกป้องคุ้มครองประชาธิปไตยและประชาชน เพื่อมิให้ถูกรัฐบาลที่ขาดความชอบธรรม ทำลายและนำประเทศชาติไปสู่ความหายนะ ถือเป็นภารกิจแฝงของกองทัพที่จะต้องออกมาแทรกแซง

กองทัพต้องไม่ยอมให้เกิดการรัฐประหารโดยฝ่ายรัฐบาลหรือโดยฝ่ายบริหาร
( Executive Coup) เองเพื่อล้มระบอบประชาธิปไตยโดยการทำรัฐประหารตนเองเพื่อปิดปากประชาชน และการเคลื่อนไหวทุกๆ ด้านของประชาชน ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

กองทัพถือปัจจัยที่สำคัญที่สุด และมีอำนาจชี้ขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่บ้านเมืองตกอยู่ในภาวะหน้าสิ่วหน้าขวาน มีวิกฤตการณ์ร้ายแรง สืบเนื่องโดยตรงจากความขัดแย้ง รัฐบาลที่เป็นเผด็จการและขาดความชอบธรรมและเพื่อปกป้อง “ชาติ ศาสน์ พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ”ซึ่งตกอยู่ในภาวะสถานการณ์อันตรายยิ่ง ต้องตัดสินใจอย่างแน่วแน่ เร่งด่วนว่ากองทัพจะอยู่ข้างใด หากกองทัพเพิกถอนการสนับสนุนค้ำจุนรัฐบาล ไม่ยินยอมใช้กำลังปราบปรามประชาชน รัฐบาลที่ขาดความชอบธรรมย่อมล่มสลาย และสิ้นอำนาจอย่างแน่นอนที่สุด เช่น ในกรณีกองทัพโปรตุเกส ทำให้รัฐบาลเผด็จการ พลเรือนขาดความชอบธรรมล่มสลายในพริบตา เมื่อ พ.ศ. 2517

กองทัพต้องอยู่บนเส้นของความถูกต้อง ความเป็นกลางจึงไม่มีและมีไม่ได้ เพราะการต่อสู้ระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ ความจริงกับความเท็จ ความดีกับความชั่ว ธรรมกับอธรรม ซ้ายกับขวา ล้วนหมายถึง การต่อสู้ที่ไม่มีคำว่าเจ๊าหรือเสมอกัน จะมีได้ก็ฝ่ายหนึ่งชนะกับอีกฝ่ายหนึ่งแพ้เท่านั้น จึงจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง ด้วยเหตุผลสำคัญที่สุดเป็นเพราะว่าการต่อสู้ที่ไม่มีผู้แพ้หรือผู้ชนะย่อมหมายถึงการต่อสู้ที่ไม่บรรลุผลตามเป้าประสงค์ที่กำหนดไว้

การแยกทหารออกจากการเมืองไม่ได้หมายความว่า ทหารจะไม่สนใจการเมือง ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับเหตุการณ์ทางการเมือง ที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและความอยู่รอดของประเทศชาติและของระบอบประชาธิปไตย ตรงกันข้าม การแยกทหารออกจากการเมืองหมายถึง การที่ทหารจะไม่เข้ามาแทรกแซง ก้าวก่าย บงการ การบริหารประเทศของรัฐบาลในยามที่บ้านเมืองอยู่ในสภาวะปกติ แต่เมื่อใดที่บ้านเมืองต้องประสบกับวิกฤตการณ์ร้ายแรง มีผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ กองทัพจะอยู่นิ่งเฉยมิได้ จะปัดความรับผิดชอบต่อประชาชนไม่ได้ แต่จำเป็นต้องเข้ามาดำเนินการให้เหตุการณ์กลับสู่สภาวะปกติ ไม่ปล่อยให้ผลประโยชน์และความขัดแย้งระหว่างบรรดาพรรคการเมืองและนักการเมืองมาทำลายประเทศและประชาชน(3)

บทสรุป

ในโลกนี้ตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบันอำนาจรัฐที่แท้จริง คือผู้ถืออาวุธ และผู้ถืออาวุธคือ กองทัพ ดังนั้น กองทัพจึงเป็นผู้ถืออำนาจรัฐที่แท้จริง และเป็นปัจจัยชี้ขาดจาก สมการการต่อสู้

1. พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แพ้ อำนาจรัฐ + อำนาจเงิน
2.พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย + กองทัพ ชนะ อำนาจรัฐ + อำนาจเงิน


ดังนั้นหากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต้องการเป็นฝ่ายชนะ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ต้องเป็นแนวร่วมกับกองทัพ จะต้องทำให้กองทัพเข้ามาสนับสนุน ต้องทำให้กองทัพกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นฝ่ายเดียวกันให้ได้ หากทำไม่ได้ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้

เคล็ดลับอยู่ที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะทำอย่างไรให้กองทัพมาร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเพื่อทำให้สมการการต่อสู้สมบูรณ์ คือ

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย + กองทัพ ชนะ รัฐบาล + พ.ต.ท.ทักษิณ
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย + กองทัพ ชนะ อำนาจรัฐ + อำนาจเงิน


กองทัพจะต้องตระหนักว่า มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ทหารจะต้องร่วมมือกับพลังประชาธิปไตยที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ เช่นเดียวกันกับกองทัพ คือป้องกันและรักษา ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาธิปไตย นำไปสู่การปฏิรูปการเมือง หรือการปฏิวัติประชาธิปไตย

จำเป็นอย่างยิ่งที่กองทัพจะต้องหันมาใช้วิธีทางการเมืองที่จะส่งสัญญาณ และสร้างความกดดันต่อรัฐบาล ถ้าจำเป็นและเป็นทางเลือกสุดท้าย กองทัพจะต้องแสดงออกอย่างชัดเจนถึงความห่วงใยที่กองทัพมีต่อประเทศชาติ ตลอดจนความตั้งใจจริงในอันที่จะทำทุกวิถีทางที่เป็นไปได้ เพื่อจะกอบกู้อธิปไตยและความสงบสุขของบ้านเมือง อาณาประชาราษฎร์ ให้กลับสู่ภาวะปกติ เฉกเช่น กองทัพโปรตุเกส และกองทัพตุรกี

กองทัพจะต้องอยู่ข้างประชาชนและเป็นกองทัพของพระราชาและพระราชินีด้วยการปฏิบัติที่เรียกว่า ปฏิบัติบูชาด้วยศรัทธา จงรักภักดี ด้วยวิธีอย่างสูงสุดยิ่งยวด

กองทัพสามารถมีบทบาทในการพิทักษ์ประชาธิปไตย โดยการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ กระบวนการยุติธรรมและศาลยุติธรรมของประเทศ ร่วมกับประชาชนได้อย่างสมเกียรติภูมิ

เมื่อเกิดวิกฤตร้ายแรงในบ้านเมือง กองทัพต้องสามารถแสดงจุดยืน เรียกร้องอย่างเด็ดขาดต่อฝ่ายบริหารให้เคารพต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและระบบยุติธรรมของบ้านเมือง และปฏิเสธการทำลายชีวิตเลือดเนื้อของประชาชนในชาติ ตลอดจนการใช้อำนาจโดยมิชอบของนักการเมือง

หน้าที่สำคัญที่สุดของกองทัพก็คือ การปกป้องดูแลรักษากติกาสังคมประเทศชาติให้มีเสถียรภาพ สันติสุขความเป็นธรรมและความก้าวหน้าของชาติบ้านเมืองในระบอบประชาธิปไตย

ผู้บัญชาการทหารทุกระดับชั้นยศ จะต้องไม่ขัดขวาง และต้องให้การสนับสนุนแนวความคิดการปฎิรูปการเมืองและการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยอย่างแข็งขัน โดยผู้บัญชาการทหารต้องไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลนักการเมือง ต้องเห็นความสำคัญของการพัฒนาประเทศ การพัฒนาประชาธิปไตยและความอยู่รอดของสถาบันกษัตริย์อย่างแท้จริง รักษาและเปิดโอกาสให้การเมืองภาคประชาชน ซึ่งจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์นำไปสู่การปกครองแบบราชประชาสมาสัยโดยแท้จริง และเป็นผู้ทำตามสมการการต่อสู้เพื่อเอาชนะให้เป็นจริง คือ

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย + กองทัพ ชนะ อำนาจรัฐ + อำนาจเงิน
กองทัพไทยมีบทบาทสำคัญยิ่งทางการเมืองที่ต้องพิทักษ์รักษาสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน กองทัพประกอบด้วยเสรีชนในเครื่องแบบ กองทัพย่อมตระหนักดีอยู่แล้วว่า ในสภาพการณ์พิเศษ ประเทศชาติและประชาธิปไตยจะอยู่รอดได้อย่างไร กองทัพต้องทำอะไรบ้าง

การรัฐประหารในตุรกีและการปฏิวัติในโปรตุเกส ได้ตอกย้ำให้เราเห็นแล้วว่าเมื่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สามารถทำลายประชาธิปไตยได้ การปฏิวัติ/รัฐประหาร ก็สามารถนำประชาธิปไตยกลับคืนสู่บ้านเมืองได้เช่นกัน

อ้างถึง
(1 ) พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย - วิกิพีเดีย
(2 ) หยุดระบอบทักษิณ – นายแก้วสรร อติโพธิ
(3 ) กองทัพกับประชาธิปไตย – ท่านทูตสุรพงษ์ ชัยนาม

กำลังโหลดความคิดเห็น