xs
xsm
sm
md
lg

เอสเอ็มอีขาดสภาพคล่องหนัก ส.อ.ท.จี้รัฐบาลใหม่ดูแลด่วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน-ส.อ.ท.เผยเอสเอ็มอีกำลังเผชิญมรสุมหนักทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก ส่งผลให้สภาพคล่องตึงตัวหนักขึ้นกว่าเดิม จี้รัฐบาลใหม่ดูแลเร่งด่วนหลัง 7-8 เดือนที่ผ่านมา เหมือนถูกลอยแพ ไร้เงินงบประมาณสนับสนุน เอสเอ็มอีแบงก์ตื่นเล็งออกแคมเปญพิเศษ 3 เดือนสุดท้ายก่อนสิ้นปี อัดเงินกู้เพิ่ม พร้อมผ่อนปรนเงื่อนไขเดิมที่กำหนดต้องมีผลประกอบการเป็นบวกหลัง NPL พุ่งแตะ 50%

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีความเป็นห่วงผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อมหรือเอสเอ็มอี เนื่องจากวิกฤติการเงินสหรัฐฯ จะมีผลให้การปล่อยสินเชื่อสู่เอสเอ็มอียิ่งเข้มงวดมากขึ้น จากปัจจุบันสินเชื่อที่สนับสนุนเอสเอ็มอีก็ค่อนข้างน้อยอยู่แล้ว จึงต้องการให้รัฐบาลใหม่เข้ามาดูแลจุดนี้อย่างเร่งด่วน

นายสมมาต ขุนเศรษฐ รองประธานสายงานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด ส.อ.ท. กล่าวว่า เอสเอ็มอีกำลังเผชิญวิกฤติหลายด้านทั้งจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่แนวโน้มแรงซื้อจะลดต่ำลง ประกอบกับภาวะน้ำท่วมหลายจังหวัดที่จะมีผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรที่จะลดลงอีกในอนาคต รวมไปถึงวิกฤติการเงินสหรัฐฯ มีผลให้การปล่อยสินเชื่อสนับสนุนจากธนาคารพาณิชย์แทบจะไม่มี แม้แต่แบงก์รัฐเองยังมีวงเงินช่วยเหลือจำกัด ดังนั้น รัฐบาลใหม่มาจะต้องเร่งแก้ไขปัญหาสภาพคล่องเร่งด่วนก่อนที่ผู้ประกอบการเหล่านี้จะทยอยปิดกิจการลง

“เอสเอ็มอีมีทั้งหมดนับ 2 ล้านกว่ารายทั่วประเทศ ถือมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย แต่ที่ผ่านมารัฐบาลผ่านไป 7-8 เดือนแทบจะไม่มีงบประมาณที่จะมาดูแลสภาพคล่องหรือสนับสนุนเอสเอ็มอีอย่างจริงจัง ซึ่งเห็นว่ากระทรวงการคลังสามารถที่จะจัดงบประมาณส่วนกลางในการอัดฉีดสภาพคล่องผ่านแบงก์รัฐให้มากขึ้นเพื่อเร่งฟื้นฟูกิจการเอสเอ็มอีที่กำลังเข้าสู่วิกฤติสภาพคล่องในปัจจุบันโดยเร็ว”นายสมมาตกล่าว

แหล่งข่าวจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยหรือเอสเอ็มอีแบงก์ กล่าวว่า เร็วๆ นี้เอสเอ็มอีแบงก์จะออกมาตรการเสริมสภาพคล่องเป็นพิเศษในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้เพื่อดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เผชิญวิกฤติหลายด้านให้สามารถอยู่รอดได้ เนื่องจากขณะนี้ประสบปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น การตลาดที่ลดลงจากปัญหาเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศที่ชะลอตัว โดยจะมีการลดเงื่อนไขการปล่อยกู้จากโครงการเดิมที่ออกไปก่อนหน้านี้ซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องมีผลประกอบการเป็นบวกเท่านั้นจึงจะเข้าร่วมโครงการได้

“เร็วๆ นี้คงจะหารือในบอร์ดวงเงินกำลังดูว่าจะเป็นรายละไม่เกิน 5 แสนบาทหรือ 1 ล้านบาทคงจะเน้นลูกค้าเก่าเป็นหลักก่อน ส่วนกรณีที่ระบุว่าแบงก์ปล่อยกู้น้อยลงนั้นไม่จริงเพราะเฉลี่ยก็ยังปล่อยเดือนละ 1,000 ล้านบาทแต่การเข้มงวดก็ยอมรับว่าจริงเพราะลูกค้าเริ่มไม่แข็งแรงทั้งต้นทุนและตลาดซึ่งทำให้เวลานี้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL ของเอสเอ็มอีแบงก์สูงเกือบ 50% แล้ว”แหล่งข่าวกล่าว

รายงานข่าวจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมแจ้งว่า ในเดือนส.ค.2551 มีโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการจำนวน 349 โรงงาน เงินลงทุนทั้งสิ้น 11,800.32 ล้านบาท จ้างงานรวม 12,477 คน โดยมีโรงงานที่ขอขยายกิจการ 43 โรงงาน เงินลงทุน 7,622 คนงานรวม 4,112 คน และเลิกกิจการจำนวน 184 โรงงาน เงินลงทุน 1,837 โรงงาน คนงาน 4,508 คน ซึ่งการแจ้งเลิกกิจการเพิ่มขึ้นจากเดือนก.ค.เล็กน้อยโดยเดือนก.ค.แจ้งเลิกกิจการ 177 แห่งเงินลงทุน 2,137 ล้านบาทคนงาน 4,229 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น