xs
xsm
sm
md
lg

สอน.-มข.ยกระดับอุตฯอ้อยและน้ำตาล นำต้นแบบลดต้นทุนลอจิสติกส์ใช้ทั่วปท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ต้นทุนด้านลอจิสติกส์อ้อย ถือเป็นต้นทุนหลักในการผลิตอ้อย มีสัดส่วนมากกว่า 40% ของต้นทุนผลิตอ้อยทั้งหมด
ศูนย์ข่าวขอนแก่น-สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ผนึกม.ขอนแก่น โชว์ต้นแบบลดต้นทุนลอจิสติกส์ เหตุเป็นต้นทุนหลักของการปลูกอ้อยถึง 40% เบื้องต้นผลศึกษา 5 พื้นที่ต้นแบบ ลดต้นทุนได้จริงกว่า 12% ด้านสอน.พร้อมร่วมจัดสัมมนาเผยแพร่เข้าถึงกลุ่มชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ ชี้หากปรับใช้ปีผลิต 51/52 คาดลดต้นทุนผลิตอ้อยมหาศาลถึง 2,190 ล้านบาท ด้านแผนระยะยาวพัฒนาอ้อยเป็นวาระแห่งชาติแล้ว มั่นใจปีผลิต 53/54 ได้ผลผลิตอ้อยถึง 95 ล้านตัน มีน้ำตาลกว่า 5.62 ล้านตัน และเอทานอลจากอ้อยถึง 3,440 ล้านลิตร

เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล (สอน.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดสัมมนา “โครงการลดต้นทุนลอจิสติกส์อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย” โดยมีนางรัตนาภรณ์ จึงสงวนสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เป็นประธาน โดยมีนักวิชาการ ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล ชาวไร่อ้อย และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าร่วมสัมมนากว่า 200 คน ณ ห้องประชุมชั้น 2 ตึกเพียรวิจิตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เป็นแหล่งสร้างงานและรายได้ให้แก่ชาวไร่อ้อย และภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศจำนวนมาก นอกจากการใช้อ้อยเพื่อผลิตน้ำตาลแล้ว ยังสามารถใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบตั้งต้นแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นอีกหลายชนิด

เช่นน้ำอ้อยและกากน้ำตาล สามารถใช้เป็นวัตถุดิบแปรรูปหมักเป็นเอทานอล ซึ่งเป็นพลังงานทดแทนสำคัญที่มีบทบาทในการแก้ปัญหาน้ำมันแพง ลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ รวมถึงผลิตภัณฑ์ชีวเคมีต่างๆที่มีมูลค่าสูงขึ้น นอกจากนี้กากและใบอ้อย ยังสามารถใช้เป็นวัตถุดิบผลิตกระดาษ ปุ๋ยชีวภาพ และเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะมีศักยภาพในการผลิตอ้อย เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเหมาะสม แต่ประสิทธิภาพการผลิตอ้อยยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ปัจจัยสำคัญมาจาก ขาดการวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยที่มีผลผลิตและค่าความหวานสูง ขาดการจัดการเขตเกษตรกรรม เช่น การบำรุงรักษาดิน และบริหารจัดการในไร่อ้อย ขาดการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อนำมาใช้ในการผลิตและบริหารจัดการไร่อ้อย

ที่สำคัญต้นทุนการเก็บเกี่ยวและขนส่งอ้อยเข้าโรงงานสูง ทำให้ชาวไร่อ้อยได้รับผลตอบแทนต่ำ ไม่คุ้มต้นทุนผลิต เนื่องจากขาดการบริหารจัดการเก็บเกี่ยวและขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งต้นทุนค่าขนส่งเป็นปัญหาสำคัญในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เพราะชาวไร่อ้อย มีต้นทุนการผลิต จากค่าขนส่งอยู่ในระดับสูงมาก คิดเป็นต้นทุนถึง 1 ใน 3 ของราคาอ้อยทั้งหมด
ผศ.ดร.วีรพัฒน์  เศรษฐ์สมบูรณ์
สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้ดำเนินโครงการลดต้นทุนลอจิสติกส์ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยมีผศ.ดร.วีรพัฒน์ เศรษฐ์สมบูรณ์ เป็นหัวหน้าโครงการศึกษาวิจัย ครอบคลุม 3 กระบวนการหลักคือ การเก็บเกี่ยว การขนส่ง และการขนถ่ายหน้าลาน โดยมีการประยุกต์ใช้รูปแบบลอจิสติกส์ (Logistic Models) ในพื้นที่ศึกษา โดยมีเป้าหมายให้ต้นทุนลอจิสติกส์ลดลงไม่น้อยกว่า 10%

ผศ.ดร.วีรพัฒน์ เศรษฐ์สมบูรณ์ หัวหน้าโครงการลดต้นทุนลอจิสติกส์อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า ระบบลอจิสติกส์เป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่ส่งผลถึงความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยกระบวนการทำงานตั้งแต่การตัดอ้อย การขึ้นอ้อย การขนส่ง และการขนถ่ายหน้าลาน คิดเป็นต้นทุนสัดส่วนสูงถึง 40% ของต้นทุนการผลิตอ้อย

กอปรกับสถานการณ์ปัจจุบันภาวะราคาน้ำมันสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนลอจิสติกส์สูงขึ้นไปด้วย ส่งผลให้ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลต้องแบบรับภาระต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเช่นกัน หากไม่มีการลดต้นทุนผลิตลง จะส่งผลให้ความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมลดลง และกระทบต่อเนื่องถึงรายได้และแรงจูงใจการทำไร่อ้อย

โครงการ “ลดต้นทุนลอจิสติกส์อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย” มีวัตถุประสงค์เพื่อ ลดต้นทุนลอจิสติกส์ของชาวไร่อ้อยลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 โดยประยุกต์ใช้รูปแบบลอจิสติกส์ที่เหมาะสมในพื้นที่ศึกษา ที่สำคัญจะต้องขยายไปสู่เครือข่ายอื่น เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมที่จะทำให้รายได้ชาวไร่อ้อยเพิ่มขึ้น

สำหรับรูปแบบลอจิสติกส์ ประกอบด้วย การจัดการแรงงาน เน้นการวางแผนด้านแรงงาน รวมกลุ่มแรงงาน การใช้แรงงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ประการต่อมาการเก็บเกี่ยว เน้นตัดอ้อยสดและสะอาด วางแผนรร่วมการตัด-ขึ้น-ขนส่งให้สอดคล้องเพื่อลดการสูญเสีย และประการสุดท้ายการขนส่ง เน้นรวมกลุ่มใช้รถบรรทุก วางแผนการใช้รถ กำหนดปริมาณขนส่งขั้นต่ำ ลดความสูญเปล่า การประหยัดพลังงาน

ผศ.ดร.วีรพัฒน์ กล่าวต่อว่า การดำเนินงานโครงการฯ ได้ปฏิบัติงานในพื้นที่ 5 แห่งประกอบด้วยพื้นที่ปลูกอ้อยรอบโรงงานน้ำตาลพิษณุโลก , พื้นที่รอบโรงงานน้ำตาลกุมภวาปี (อุดรธานี/กาฬสินธุ์) , รอบโรงงาน้ำตาลราชสีมา , รอบโรงงานน้ำตาลสระบุรี (สระบุรี/ลพบุรี) และรอบโรงงานน้ำตาลขอนแก่น เพื่อเก็บข้อมูลต้นทุนลอจิสติกส์ ก่อนการประยุกต์และประยุกต์ใช้รูปแบบลอจิสติกส์ในแปลงร่วมกับชาวไร่อ้อย

ผลการดำเนินงานประยุกต์ใช้ระบบลอจิสติกส์ของกลุ่มเป้าหมายทั้ง 5 พื้นที่ พบว่า มีอ้อยรวมทั้งสิ้น 83,160 ตัน สามารถลดต้นทุนได้ถึง 2,867,643.30 บาท หรือคิดเป็น 12.42% ของต้นทุนลอจิสติกส์อ้อยเข้าโรงงานของชาวไร่ในพื้นที่เป้าหมาย สร้างความพึงพอใจให้กับชาวไร่อ้อยทั้ง 5 พื้นที่ และพร้อมเป็นต้นแบบ ด้านการลดต้นทุนลอจิสติกส์อ้อยเข้าโรงงานให้แก่ชาวไร่อ้อยในพื้นที่อื่นๆต่อไป
นางรัตนาภรณ์  จึงสงวนสิทธิ์
สอน.เล็งขยายผลครอบคลุมทั้งประเทศ

ด้านนางรัตนาภรณ์ จึงสงวนสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า โครงการลดต้นทุนลอจิสติกส์อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ที่สอน.ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล เมื่อนำระบบลอจิสติกส์ไปปรับใช้ ข้อมูลผลการศึกษาในพื้นที่ศึกษาพบว่าลดต้นทุนลงเบื้องต้นมากกว่า 10% ซึ่งในทางปฏิบัติอาจลดต้นทุนได้สูงกว่ามาก จะทำให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้จากการเพาะปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น

การปรับใช้ระบบลอจิสติกส์ในพื้นที่เพาะปลูกอ้อย สอน. จะไม่บังคับให้ชาวไร่อ้อยต้องปฏิบัติตาม แต่จะพยายามชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากโครงการลดต้นทุนลอจิสติกส์อ้อยและน้ำตาลทราย ให้ชาวไร่อ้อยทั่วประเทศตระหนักถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น โดยสอน.พร้อมจัดสัมมนาร่วมกับนักวิชาการ , ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลแต่ละพื้นที่ นำเสนอผลการศึกษาดังกล่าวเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายชาวไร่อ้อยทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง

ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย หากปรับใช้ปีการผลิต 2551/2552 คาดการณ์จะมีผลผลิตอ้อยทั้งประเทศรวมกว่า 73 ล้านตัน ตามข้อมูลลดต้นทุนขั้นต่ำที่ 10% จะทำให้ชาวไร่อ้อยลดต้นทุนการผลิตได้ที่ตันละ 30 บาท หรือภาพรวมทั้งประเทศจะสามารถลดต้นทุนลอจิสติกส์ลงได้รวมกว่า 2,190 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขมหาศาลที่จะช่วยยกระดับรายได้ชาวไร่อ้อย สร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขันสูงขึ้น

บทบาทสอน.จะมุ่งยกระดับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย โดยคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กำหนดให้การพัฒนาอ้อยเป็นระเบียบวาระอ้อยแห่งชาติ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการแผนการพัฒนาอ้อยระยะ 3 ปี ตามระเบียบวาระอ้อยแห่งชาติแล้ว ซึ่งมีประเด็นพัฒนา 8 ด้านคือ พันธุ์อ้อย น้ำ ดินและปุ๋ย เครื่องจักรกลการเกษตร ระบบGIS และระบบลอจิสติกส์เอทานอล การสร้างมูลค่าแก่อุตสาหกรรม และการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย

เป้าหมายหลักตามแผนพัฒนาอ้อยเมื่อสิ้นสุดปีที่ 3 คือฤดูกาลผลิต 2553/2554 จะมีผลผลิตอ้อยทั้งประเทศ 95 ล้านตัน และเพิ่มผลผลิตอ้อยต่อไร่ให้ได้ที่ระดับ 15 ตัน/ไร่ ส่วนด้านการแปรรูปเป็นน้ำตาล จะมีผลผลิตน้ำตาล 5.62 ล้านตัน ประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลที่ 108 กิโลกรัม/ตันอ้อย และที่สำคัญด้านการผลิตเอทานอล จะมีปริมาณเอทานอล ที่ผลิตจากอ้อยถึง 3,440 ล้านลิตร/ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น