xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯใช้วิธีสุดห้าว สู้วิกฤตตลาดการเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เฮนรี พอลสัน แถลงข่าวเมื่อวานนี้ ยืนยันเรื่องที่เขาได้ไปหารือกับพวกผู้นำรัฐสภาอเมริกันในวันพฤหัสบดี(18) ว่า รัฐบาลกำลังจัดทำแผนการกอบกู้ช่วยเหลือระบบการเงินครั้งใหญ่ ร่วมกับบรรดาผู้นำรัฐสภา โดยมุ่งที่จะกำจัดหนี้เสียของภาคการเงินการธนาคาร ซึ่งคงจะต้องใช้จ่าย "หลายแสนล้าน" ดอลลาร์
"เรากำลังพูดกันในระดับหลายแสนล้านดอลลาร์ มาตรการคราวนี้จะต้องใหญ่เพียงพอที่จะทำให้เกิดความแตกต่างขึ้นมาอย่างแท้จริง และทะลวงเข้าไปถึงหัวใจของปัญหา" พอลสันบอกกับผู้สื่อข่าว ก่อนที่จะไปหารือกับทางรัฐสภาต่อไป เกี่ยวกับรายละเอียดของแผนการนี้
"เรากำลังจะไปหารือกับพวกเราพร้อมด้วยแพกเกจข้อเสนอทางกฎหมายต่างๆ และกำลังทำงานกับฝ่ายรัฐสภาเพื่อให้มีรายละเอียดออกมาในช่วงตลอดสุดสัปดาห์นี้ และเรากำลังจะไปขอให้พวกเขาลงมือปฏิบัติการเกี่ยวกับร่างกฎหมายเหล่านี้กันในสัปดาห์หน้า" ขุนคลังสหรัฐฯแจกแจงต่อ
พอลสันบอกว่า ความพยายามครั้งใหม่นี้จะต้องสะสางหนี้เสียจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้หมดไปจากระบบการเงิน โดยที่หนี้เสียเหล่านี้เองเป็นตัวฉุดดึงบรรดาแบงก์และสถาบันการเงินต่างๆ มากว่าปีแล้ว อีกทั้งทำท่าจะสร้างปัญหาหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ
"รัฐบาลสหรัฐฯจำเป็นต้องดำเนินแผนงานที่จะกำจัดสินทรัพย์ไร้สภาพคล่องเหล่านี้ ซึ่งกำลังเป็นตัวถ่วงสถาบันการเงินของเราและคุกคามเศรษฐกิจของเรา"
ก่อนหน้านี้เมื่อวันพฤหัสบดี พอลสัน พร้อมด้วย เบน เบอร์นันกี ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) และ คริสโตเฟอร์ ค็อกซ์ ประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ(เอสอีซี) ได้ไปหารือกับบรรดาผู้นำรัฐสภาสิบกว่าคนทั้งของฝ่ายพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน เป็นเวลากว่า 90 นาที
หลังจากนั้น สมาชิกรัฐสภาเหล่านี้หลายคนได้แจ้งว่า ทางฝ่ายบริหารต้องการอำนาจที่จะจัดการกับสินทรัพย์ไร้สภาพคล่อง โดยที่ ส.ส.บาร์นีย์ แฟรงก์ ของพรรคเดโมแครตบอกว่า ในระหว่างการหารือ มีความกังวลกันว่า การจัดตั้งสถาบันอย่างเป็นทางการขึ้นมาเพื่อรับซื้อหนี้เสีย "อาจจะกินเวลานานเกินไป"
รอยเตอร์รายงานว่า สมาชิกรัฐสภาเหล่านี้หลายคนเผยว่า มีการพิจารณาถึงโมเดลที่รัฐบาลจะเข้ามาช่วยเหลือกำจัดหนี้เสียให้แก่พวกสถาบันการเงินในหลายๆ รูปแบบ รูปแบบหนึ่งคือ การจัดตั้งสถาบันทำนองเดียวกับ "เรโซลูชั่น ทรัสต์ คอร์ป" (อาร์ทีซี) เมื่อทศวรรษ 1980 และ 1990 ซึ่งทำหน้าที่จัดการขายสินทรัพย์มูลค่าเกือบ 400,000 ล้านดอลลาร์ ของพวกสถาบันออมทรัพย์ (เซฟวิ่งแอนด์โลน)ที่ล้มละลายไปในตอนนั้นกว่า 700 แห่ง
สำหรับรูปแบบอื่นๆ ยังมีอาทิ "รีคอนสตรักชั่น ไฟแนนซ์ คอร์ป" ที่จัดตั้งขึ้นในยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งมโหฬาร ซึ่งใช้วิธีนำเงินงบประมาณแผ่นดินไปอัดฉีดแก่พวกบริษัทเอกชน นอกจากนั้นยังมีโมเดล "โฮม โอนเนอร์ส โลน คอร์ป" ซึ่งรีไฟแนนซ์พวกสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ทั้งหมด เพื่อไม่ให้กลายเป็นหนี้เสียและถูกฟ้องยึดหลักประกัน ตลอดจนบรรษัทแห่งนี้ยังทำหน้าที่ดันให้ตลาดสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์เฟื่องฟูขึ้นมาใหม่
ทางด้านวุฒิสมาชิกริชาร์ด เชลบี ของพรรครีพับลิกัน ได้ให้สัมภาษณ์ทางเครือข่ายโทรทัศน์เอบีซี เมื่อวานนี้ว่า แผนการของรัฐบาลที่จะกำจัดหนี้เสียของพวกสถาบันการเงินให้หมดนี้ เขาคำนวณแล้วเห็นว่าจะต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านดอลลาร์ และเมื่อบวกกับสิ่งที่เฟดได้ทำไปแล้ว รวมทั้งอำนาจที่กระทรวงการคลังได้รับไปแล้วในการทำข้อตกลงเพื่อช่วยเหลือ แฟนนี เม กับ เฟรดดี แมค "ผมจึงเชื่อว่าเรากำลังพูดกันถึงตัวเงินประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์"

**ค้ำประกันกองทุนรวมตลาดเงิน**

นอกจากเรื่องการวางแผนจัดตั้งสถาบันขึ้นมารับหนี้เสียแล้ว เมื่อวานนี้กระทรวงการคลังซึ่งอยู่ในโหมดรับมือกับวิกฤตอย่างเต็มที่ ยังได้ออกคำแถลงว่าจะเข้าไปค้ำประกันพวกกองทุนรวมที่ลงทุนในตลาดเงินของสหรัฐฯ เพื่อหยุดยั้งไม่ให้นักลงทุนแห่กันถอนเงินออกจากกองทุนรวมเหล่านี้ อันอาจจะกลายเป็นปัญหาสั่นคลอนเสถียรภาพของตลาดการเงินขึ้นมาอีกปัญหาหนึ่ง
คำแถลงของกระทรวงการคลังแจ้งว่า ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้อนุมัติให้ใช้เงิน 50,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อค้ำประกันเงินที่พวกนักลงทุนใช้ไปซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมประเภทนี้ในระยะเวลา 1 ปีจากนี้ไป ถ้าหากกองทุนรวมแห่งนั้นๆ ยินดีจ่ายค่าเบี้ยประกัน ทั้งนี้กองทุนรวมเช่นนี้เป็นที่นิยมเข้าไปลงทุนของคนอเมริกันจำนวนมาก
ตามตัวเลขของอุตสาหกรรมการเงินนั้น พวกกิจการด้านการเงินของสหรัฐฯมีกองทุนตลาดเงินซึ่งมีเม็ดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้นราว 3.4 ล้านล้านดอลลาร์ เท่าที่ผ่านมาการลงทุนในกองทุนเหล่านี้มักถือกันว่าปลอดภัย ถึงแม้ยังไม่ได้มีรัฐบาลกลางเข้าไปค้ำประกันก็ตาม

**ห้ามทำชอร์ตเซลล์**

ในอีกด้านหนึ่ง คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ(เอสอีซี) แถลงวานนี้ ห้ามการทำชอร์ตเซลในหุ้นของแบงก์และสถาบันการเงินต่างๆ รวม 799 แห่งเป็นการชั่วคราว เพื่อ "ปกป้องความสุจริตและคุณภาพของตลาดหลักทรัพย์ และเพิ่มความเชื่อมั่นของนักลงทุน"
การทำชอร์ตเซลคือการที่นักลงทุนขายหุ้นออกไปโดยคาดหมายว่าราคาจะลดลงในอนาคต วิธีการทำชอร์ตนั้น นักลงทุนดังกล่าวมักจะไปขอยืมหุ้นตัวนั้นจากคนอื่น อาทิ พวกนักลงทุนสถาบัน และเมื่อถึงกำหนดเวลาที่ตกลงกันก็จะซื้อหุ้นมาชดใช้คืน ซึ่งหากราคาในอนาคตลดลงไปตามที่คาด นักลงทุนผู้ทำชอร์ตก็ได้กำไรจากส่วนต่าง
ถึงแม้การห้ามทำชอร์ตนี้ถือเป็นเรื่องรุนแรง แต่มาตรการในลักษณะนี้ของเอสอีซี ซึ่งมีหน่วยงานกำกับตรวจสอบในประเทศอื่นๆ ดำเนินการทำนองนี้เช่นเดียวกัน ก็ได้รับการพิจารณาว่ามีความจำเป็นในปัจจุบัน เพราะพวกนักเก็งกำไรได้อาศัยการทำชอร์ตมาเล่นงานแบงก์ที่ประสบปัญหา อาทิ เลห์แมน บราเธอร์ จนทำให้แบงก์เหล่านี้ยิ่งทรุดหนักอย่างรวดเร็ว
"ทั้งหมดต่างก็เป็นส่วนประกอบของแผนการที่มุ่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นใตตลาดการเงิน พวกเขาพวกเขากำลังอยู่ในอาการตะลึงงันทำอะไรไม่ถูกอย่างสิ้นเชิง เมื่อได้เห็นการแตกตื่นวิ่งพล่านถอยหนีออกจากสินทรัพย์ทางการเงินต่างๆ และพวกเขาก็อยู่ในสภาพใกล้เคียงมากเหลือเกินกับสิ่งที่กล่าวถึงนี้ในวันพฤหัสบดี(18)" เป็นความเห็นของ บอริส ชโลสส์เบิร์ก ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเงินตรา แห่ง จีเอฟที ฟอเร็กซ์ ในนิวยอร์ก "เมื่อมาถึงจุดนี้ พวกเขาก็ตัดสินใจแล้วว่าต้องโยนเรื่องความรับผิดชอบทางการคลังออกไปนอกประตูเลย และอะไรก็ตามตลอดจนทุกๆ อย่างที่จำเป็นต้องทำเพื่อทำให้ภาคการเงินพยุงตัวขึ้นมาได้ ก็จะต้องนำมาทำกัน ... ในตอนนี้ก็ดูเหมือนว่าการกระทำเหล่านี้ได้ผล"

**มอร์แกนสแตนลีย์ดิ้นเจรจากองทุนจีน**

สำหรับชะตากรรมของ มอร์แกนสแตนลีย์ วาณิชธนกิจใหญ่ของวอลล์สตรีทที่ถูกหมายหัวว่าจะเป็นเหยื่อรายต่อไปของวิกฤตทางการเงินอันสืบเนื่องต่อมาจากวิกฤตภาคที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯคราวนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวที่ทราบเรื่องดีหลายรายระบุว่า ทางมอร์แกนสแตนลีย์กำลังเจรจากับ บริษัทไชน่า อินเวสต์เมนต์ คอร์ป (ซีไอซี) ซึ่งเป็นกองทุนความมั่งคั่งของจีนที่เวลานี้เป็นถือหุ้นรายใหญ่ของวาณิชธนกิจแห่งนี้อยู่ เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มสัดส่วนหุ้นให้สูงไปถึง 49% จากระดับ 9.9% ที่ซีไอซีซื้อหามาด้วยราคา 5,000 ล้านดอลลาร์ในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว
มีรายงานว่าปักกิ่งกังวลใจที่จะเพิ่มการถือครองหุ้นมอร์แกนสแตนลีย์ที่ราคากำลังตกฮวบฮาบ โดยคำนวณจากราคาปิดในวันพฤหัสบดี แบงก์แห่งนี้ทั้งแบงก์จะมีราคาเพียงแค่ 24,000 ล้านดอลลาร์ นอกจากนั้นสำนักข่าวซินหัวของจีนอ้างเจ้าหน้าที่ซีไอซีที่ไม่ระบุชื่อผู้หนึ่งบอกว่า หากบริษัทถือหุ้นเพิ่มขึ้นมา ก็ยังเสี่ยงที่จะถูกขัดขวางจากพวกนักการเมืองสหรัฐฯ
แหล่งข่าวหลายรายที่มักคุ้นกับแผนการของมอร์แกนสแตนลีย์เผยกับรอยเตอร์ว่า พร้อมกับที่หารือกับฝ่ายจีน วาณิชธนกิจแห่งนี้ก็ได้พูดจากับ วาโคเวีย แบงก์ ธนาคารท้องถิ่นที่มีเงินทุนแน่นหนาของสหรัฐฯไปด้วย โดยเริ่มคุยกันตั้งแต่คืนวันพุธ(17) ด้วยการที่ รอเบิร์ต สตีล ซีอีโอของวาโคเวีย ยื่นข้อเสนอต่อ จอห์น แมค ซีอีโอของมอร์แกนสแตนลีย์ และหลังจากนั้นก็มีการหารือในระดับเป็นทางการมากขึ้น
มอร์แกนสแตนลีย์เองยังไม่ยอมให้ความเห็นเกี่ยวกับการหารือเหล่านี้ แต่โฆษกผู้หนึ่งได้ยืนยันว่า ทางแบงก์กำลังมุ่งหาวิธีการแก้ไขรับมือกับเรื่องที่ราคาหุ้นทรุดต่ำฮวบฮาบ
นอกจากกรณีของวาณิชธนกิจแห่งนี้แล้ว ความปั่นป่วนผันผวนในระบบการเงินโลกเวลานี้ ยังส่งผลกระทบทำให้ เอชเอสบีซี โฮลดิ้งส์ ธนาคารยักษ์ใหญ่ของอังกฤษประกาศวานนี้ ยกเลิกข้อเสนอมูลค่า 6,300 ล้านดอลลาร์ เพื่อครอบครองหุ้นที่จะสามารถควบคุมการดำเนินงานของ โคเรีย เอกซ์เชนจ์ แบงก์ แห่งเกาหลีใต้ เอชเอสบีซียื่นข้อเสนอนี้มาระยะหนึ่งแล้ว ทว่าประสบอุปสรรคจากหน่วยงานกำกับตรวจสอบในแดนโสมขาว จากการถอนตัวคราวนี้ทำให้มีเสียงคาดเดากันว่า แบงก์ยักษ์อังกฤษรายนี้อาจจะกำลังหันไปสนใจซื้อคู่แข่งในโลกตะวันตก ที่ฐานะกำลังซวนเซและราคาถูกลงเยอะมากกว่า

**ตลาดหุ้นทั่วโลกกระโจนพรวด**

ข่าวเรื่องทางการสหรัฐฯกำลังจัดทำแผนการตั้งสถาบันการเงินมารับหนี้เสีย ซึ่งเห็นกันว่าเป็นมาตรการที่มุ่งแก้วิกฤตให้จบๆ ได้ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกเกิดความยินดีและพุ่งทะยานเป็นทิวแถว
ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่มีรายงานข่าวขุนคลังพอลสันไปพูดคุยกับพวกผู้นำรัฐสภา ก็ได้ทำให้วอลล์สตรีทตอนท้ายตลาดวันนั้นขยับพุ่งขึ้นมา จนเมื่อปิดตลาด ดัชนีหุ้นอุตสาหกรรมดาวโจนส์บวก 410.03 จุด หรือ 3.86%
ทางแถบเอเชียวานนี้ ตลาดหุ้นต่างดีดขึ้นแรง โตเกียว 3.76%, ฮ่องกง 9.6%, สิงคโปร์ 5.78%, เซี่ยงไฮ้ 9.46%, และมุมไบ 5.46%
เช่นเดียวกันทางฝั่งยุโรป เมื่อถึงตอนบ่าย ลอนดอนบวกกว่า 9%, ปารีส 7.54%, และแฟรงเฟิร์ต กว่า5%
ตลาดหุ้นรัสเซียที่ราคาทรุดฮวบเกินระดับที่กำหนด ทำให้ต้องปิดไม่สามารถซื้อขายกันได้มา 3 วันต่อเนื่องกัน มาเมื่อวานนี้ราคากลับพุ่งแรงมาก จนกระทั่งต้องปิดตลาดหยุดพักอยู่หลายขยัก เพราะขึ้นเร็วและแรงเกินกว่าระดับที่กำหนด
สำหรับวอลล์สตรีทวานนี้ เปิดตลาดไม่นานดัชนีดาวโจนส์ก็กระโจนขึ้นไป 3.58%
กำลังโหลดความคิดเห็น