ผู้จัดการรายวัน – ผลประชุมระหว่าง "สมชาย" กับผู้บริหารหน่วยงานเศรษฐกิจ ไม่มีมาตรการพิเศษสกัดวิกฤตการเงินโลกลามไทย เผยข้าราชการสรุปผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยแค่ผิว หมอเลี้ยบกังวลแค่ต้นทุนเมกะโปรเจกต์พุ่ง เสนอนายกฯ คนใหม่เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในประเทศ ชี้ที่ประชุมห่วงข้างหน้า ยังไม่รู้อนาคตวิกฤตสหรัฐจะรุนแรงเพียงใด ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุเงินทุนเคลื่อนย้ายยังปกติ สภาพคล่องในประเทศยังมีให้กู้
ที่กระทรวงการคลัง วานนี้ (18 ก.ย.) เวลาประมาณ 11.30 น. นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปยังกระทรวงการคลังเพื่อหารือปัญหาทางด้านเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤติของสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกา โดยได้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิประจำกระทรวงการคลัง ได้แก่ช้างคู่หน้าตึกสำนักงานปลัดกระทรวงการคลังและพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 หน้าห้องประชุม 401 ก่อนร่วมประชุมเพื่อรับฟังปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤตการเงินของสหรัฐฯ
โดยในการหารือในครั้งนี้มี นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและร มว.คลัง นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช และนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รักษาการ รมช.คลัง นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นางภัทรียา เบญจพลชัย ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และนางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เข้าร่วมหารือในครั้งนี้
***สมชายชี้แค่ปัญหาจิตวิทยา
นายสมชายกล่าวหลังจากรับฟังการรายงานข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้องว่า ทุกฝ่ายมั่นใจสถาบันการเงินของไทยไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสถาบันการเงินของสหรัฐฯ จึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเล็กน้อย โดยกระทรวงการคลัง ธปท. และตลาดหลักทรัพย์ฯ เห็นว่าเป็นเรื่องที่สามารถยับยั้งความเสียหายได้ ซึ่งในส่วนของ ตลาดหุ้นที่ผันผวน เกิดจากความไม่มั่นใจในสถานการณ์ กระทบต่อจิตวิทยานักลงทุน จึงมีการถอนการลงทุนออกไปในระยะสั้น แต่เชื่อว่าเมื่อสถานการณ์เกิดความชัดเจนก็จะกลับเข้ามาลงทุนเช่นเดิม ขณะที่บริษัท อเมริกัน อินเตอร์แนชชั่นแนล แอสชัวรันส์ จำกัด (เอไอเอ) ก็ไม่ได้รับผลกระทบ ส่วนภาคอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม จะมีการเดินหน้าโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) ต่อไป โดยสามารถนำงบประมาณปี 2551 มาใช้ได้
***เลี้ยบยันยังไม่ตั้งกองทุนพยุงหุ้น
"กรณีที่ดัชนีหุ้นปรับตัวลดลงหลุด 600 จุดนั้น เป็นผลจากจิตวิทยา จึงไม่จำเป็นต้องจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นขึ้น หรือมาตรการใดออกมาเสริม เพราะการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นคงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หากด้านจิตวิทยายังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างไรก็ตาม หากดัชนีปรับลดลงมากกว่านี้ จะหารือกับคณะกรรมการประเมินเศรษฐกิจในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งมีนายศุภรัตน์ เป็นประธาน เพื่อหาแนวทางแก้ไขต่อไป" นพ.สุรพงษ์กล่าว
สำหรับการตั้งกองทุนซื้อสินทรัพย์ของสถาบันการเงินสหรัฐฯในราคาถูกนั้น เป็นเพียงแนวคิด ซึ่งจะมีการพิจารณาว่ามีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด และจะมีวิธีในการดำเนินการอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ จะต้องมีการติดตามสถานการณ์ระยะกลางและยาว รวมถึงผลกระทบทางอ้อม นายกรัฐมนตรีต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่น ความสามัคคีในประเทศ ภายใต้ภาวะผันผวนของเศรษฐกิจโลก หากทำให้เศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง ก็จะสามารถรองรับปัญหาที่จะเข้ามาได้ ส่วนเมกะโประเจกต์ยังคงเดินหน้าต่อไป โดยหากปัญหาต่างๆ คลี่คลายเร็ว จะทำให้ต้นทุนการกู้เงินถูกลง
***ยันแบงก์-บ.ประกันกระทบน้อย
ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการติดตามวิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐอย่างใกล้ชิด ซึ่งในส่วนของต่างประเทศก็ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน โดยเฉพาะสถาบันการเงินนานาชาติ ส่วนสถาบันการเงินของไทยไม่ได้รับผลกระทบ โดยผู้ว่าฯ ธปท. ยืนยันว่าสถาบันการเงินไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัท เลห์แมน บราเธอร์ส จำกัด ไม่มาก และมีการจัดการดูแลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ขณะที่สถานการณ์ของเอไอเอ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ยืนยันแล้วว่าสถานการณ์ปกติ ไม่กระทบต่อการทำประกัน สำหรับตลาดหุ้นไทย ได้รับผลกระทบในระยะสั้น ที่เกิดจากความไม่มั่นใจในสถานการณ์
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการกู้เงินของภาครัฐและเอกชน ที่จะหาได้ยากและมีต้นทุนที่สูงมากขึ้น แต่ในส่วนของโครงการเมกะโปรเจกต์นั้น ไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากการลงทุนในช่วงแรกใช้แหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งได้มีการเจรจาไว้แล้ว
"ที่ประชุมมองว่าแม้จะมีความชัดเจนในระดับหนึ่งภายหลังจากที่ทางการสหรัฐเข้าไปช่วยเหลือ แต่สถานการณ์ยังไม่นิ่งสนิท จะต้องมีการติดตามสถานการณ์ในระยะต่อไป โดยมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลปัญหาที่สูงกว่าหน่วยงานหลักจะดูแล" นายศุภรัตน์กล่าว
***ห่วงระยะยาวเหตุการณ์รุนแรง
นายศุภรัตน์กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะสั้น แต่จะเป็นปัจจัยที่จะส่งกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปีงบประมาณ 2552 โดยเฉพาะเรื่องการส่งออก การลงทุน ดังนั้น รัฐบาลจะต้องหาแนวทางการแก้ไขภาคการส่งออกและการลงทุนในช่วงที่เศรษฐกิจโลกมีความผันผวน รวมทั้งจะต้องระมัดระวังเหตุการณ์ที่จะแปรเปลี่ยนไปและผลกระทบระลอกต่อไปที่จะเกิดขึ้น เพราะไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดผลกระทบรุนแรงแค่ไหน
***ธปท.ยันสภาพคล่องมีพอให้กู้
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวภายหลังการประชุมร่วมเพื่อรับมือวิกฤตการเงินของประเทศสหรัฐว่า เป็นการประชุมร่วมกันเพื่อรายงานข้อมูลในแต่ละหน่วยงาน และทำความเข้าใจปัญหาร่วมกัน เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสม และสอดคล้องกันเพื่อรับมือวิกฤตดังกล่าว แต่ในขณะนี้ ยังไม่มีมาตรการพิเศษอะไรออกมา ในส่วนของ ธปท. ขอยืนยันอีกครั้งว่า จากการตรวจสอบ และติดตามการไหลออกของเงินทุน รวมถึงสภาพคล่องของระบบการเงิน และสถาบันการเงินไทยในขณะนี้ ธปท.ยันยันได้ว่า ยังไม่มีสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง โดยถึงแม้จะมีการไหลออกของเงินทุนบ้าง แต่ยังไม่เห็นการไหลออกที่มากจนเกินไป ขณะที่ธปท.ได้จับตาการเคลื่อนไหวของเงินบาทอย่างใกล้ชิดเช่นกัน โดยเชื่อว่าจะสามารถดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนได้
ผู้ว่าฯ ธปท.ยืนยันถึงสภาพคล่องในระบบการเงินของไทยในขณะนี้ด้วยว่า ยังมีเพียงพอต่อความต้องการของภาคธุรกิจ แต่ยอมรับว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ส่งผลต่อต้นทุนการกู้ยืมเงินของผู้ประกอบการไทยที่ต้องการกู้เงินจากต่างประเทศ หรือกู้เงินต่างประเทศอยู่ ซึ่งผู้ประกอบการดังกล่าวสามารถที่จะเปลี่ยนเงินกู้ต่างประเทศมาเป็นการกู้เงินในประเทศแทนได้ เพราะระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีสภาพคล่องมากเพียงพอที่จะปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจได้
สำหรับผลกระทบทางอ้อมที่จะส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ เศรษฐกิจโลก ซึ่งจะส่งผลต่อภาคการส่งออก และการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยนั้น ในระยะสั้น ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของการส่งออกของประเทศไทย แต่ในระยะยาวคงต้องติดตามผลกระทบต่อภาคการส่งออกว่าจะมีเพิ่มขึ้นหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ธปท.ประเมินไว้แล้วว่า การขยายตัวจองภาคการส่งออกจะชะลอตัวลงกว่าครึ่งปีแรก
"ยังไม่มีความจำเป็นต้องปรับประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยทันที แต่ทั้งนี้ ธปท.จะนำผลกระทบทั้งหมดจากวิกฤตการเงินในต่างประเทศ รวมทั้งปัจจัยในประเทศที่เปลี่ยนแปลง มาประเมินภาพการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดให้ชัดเจน และประมาณการเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง ในช่วงการรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อในวันที่ 17 ต.ค.นี้ต่อไป" นางธาริษากล่าว.
ที่กระทรวงการคลัง วานนี้ (18 ก.ย.) เวลาประมาณ 11.30 น. นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปยังกระทรวงการคลังเพื่อหารือปัญหาทางด้านเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤติของสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกา โดยได้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิประจำกระทรวงการคลัง ได้แก่ช้างคู่หน้าตึกสำนักงานปลัดกระทรวงการคลังและพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 หน้าห้องประชุม 401 ก่อนร่วมประชุมเพื่อรับฟังปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤตการเงินของสหรัฐฯ
โดยในการหารือในครั้งนี้มี นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและร มว.คลัง นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช และนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รักษาการ รมช.คลัง นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นางภัทรียา เบญจพลชัย ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และนางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เข้าร่วมหารือในครั้งนี้
***สมชายชี้แค่ปัญหาจิตวิทยา
นายสมชายกล่าวหลังจากรับฟังการรายงานข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้องว่า ทุกฝ่ายมั่นใจสถาบันการเงินของไทยไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสถาบันการเงินของสหรัฐฯ จึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเล็กน้อย โดยกระทรวงการคลัง ธปท. และตลาดหลักทรัพย์ฯ เห็นว่าเป็นเรื่องที่สามารถยับยั้งความเสียหายได้ ซึ่งในส่วนของ ตลาดหุ้นที่ผันผวน เกิดจากความไม่มั่นใจในสถานการณ์ กระทบต่อจิตวิทยานักลงทุน จึงมีการถอนการลงทุนออกไปในระยะสั้น แต่เชื่อว่าเมื่อสถานการณ์เกิดความชัดเจนก็จะกลับเข้ามาลงทุนเช่นเดิม ขณะที่บริษัท อเมริกัน อินเตอร์แนชชั่นแนล แอสชัวรันส์ จำกัด (เอไอเอ) ก็ไม่ได้รับผลกระทบ ส่วนภาคอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม จะมีการเดินหน้าโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) ต่อไป โดยสามารถนำงบประมาณปี 2551 มาใช้ได้
***เลี้ยบยันยังไม่ตั้งกองทุนพยุงหุ้น
"กรณีที่ดัชนีหุ้นปรับตัวลดลงหลุด 600 จุดนั้น เป็นผลจากจิตวิทยา จึงไม่จำเป็นต้องจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นขึ้น หรือมาตรการใดออกมาเสริม เพราะการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นคงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หากด้านจิตวิทยายังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างไรก็ตาม หากดัชนีปรับลดลงมากกว่านี้ จะหารือกับคณะกรรมการประเมินเศรษฐกิจในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งมีนายศุภรัตน์ เป็นประธาน เพื่อหาแนวทางแก้ไขต่อไป" นพ.สุรพงษ์กล่าว
สำหรับการตั้งกองทุนซื้อสินทรัพย์ของสถาบันการเงินสหรัฐฯในราคาถูกนั้น เป็นเพียงแนวคิด ซึ่งจะมีการพิจารณาว่ามีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด และจะมีวิธีในการดำเนินการอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ จะต้องมีการติดตามสถานการณ์ระยะกลางและยาว รวมถึงผลกระทบทางอ้อม นายกรัฐมนตรีต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่น ความสามัคคีในประเทศ ภายใต้ภาวะผันผวนของเศรษฐกิจโลก หากทำให้เศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง ก็จะสามารถรองรับปัญหาที่จะเข้ามาได้ ส่วนเมกะโประเจกต์ยังคงเดินหน้าต่อไป โดยหากปัญหาต่างๆ คลี่คลายเร็ว จะทำให้ต้นทุนการกู้เงินถูกลง
***ยันแบงก์-บ.ประกันกระทบน้อย
ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการติดตามวิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐอย่างใกล้ชิด ซึ่งในส่วนของต่างประเทศก็ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน โดยเฉพาะสถาบันการเงินนานาชาติ ส่วนสถาบันการเงินของไทยไม่ได้รับผลกระทบ โดยผู้ว่าฯ ธปท. ยืนยันว่าสถาบันการเงินไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัท เลห์แมน บราเธอร์ส จำกัด ไม่มาก และมีการจัดการดูแลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ขณะที่สถานการณ์ของเอไอเอ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ยืนยันแล้วว่าสถานการณ์ปกติ ไม่กระทบต่อการทำประกัน สำหรับตลาดหุ้นไทย ได้รับผลกระทบในระยะสั้น ที่เกิดจากความไม่มั่นใจในสถานการณ์
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการกู้เงินของภาครัฐและเอกชน ที่จะหาได้ยากและมีต้นทุนที่สูงมากขึ้น แต่ในส่วนของโครงการเมกะโปรเจกต์นั้น ไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากการลงทุนในช่วงแรกใช้แหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งได้มีการเจรจาไว้แล้ว
"ที่ประชุมมองว่าแม้จะมีความชัดเจนในระดับหนึ่งภายหลังจากที่ทางการสหรัฐเข้าไปช่วยเหลือ แต่สถานการณ์ยังไม่นิ่งสนิท จะต้องมีการติดตามสถานการณ์ในระยะต่อไป โดยมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลปัญหาที่สูงกว่าหน่วยงานหลักจะดูแล" นายศุภรัตน์กล่าว
***ห่วงระยะยาวเหตุการณ์รุนแรง
นายศุภรัตน์กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะสั้น แต่จะเป็นปัจจัยที่จะส่งกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปีงบประมาณ 2552 โดยเฉพาะเรื่องการส่งออก การลงทุน ดังนั้น รัฐบาลจะต้องหาแนวทางการแก้ไขภาคการส่งออกและการลงทุนในช่วงที่เศรษฐกิจโลกมีความผันผวน รวมทั้งจะต้องระมัดระวังเหตุการณ์ที่จะแปรเปลี่ยนไปและผลกระทบระลอกต่อไปที่จะเกิดขึ้น เพราะไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดผลกระทบรุนแรงแค่ไหน
***ธปท.ยันสภาพคล่องมีพอให้กู้
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวภายหลังการประชุมร่วมเพื่อรับมือวิกฤตการเงินของประเทศสหรัฐว่า เป็นการประชุมร่วมกันเพื่อรายงานข้อมูลในแต่ละหน่วยงาน และทำความเข้าใจปัญหาร่วมกัน เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสม และสอดคล้องกันเพื่อรับมือวิกฤตดังกล่าว แต่ในขณะนี้ ยังไม่มีมาตรการพิเศษอะไรออกมา ในส่วนของ ธปท. ขอยืนยันอีกครั้งว่า จากการตรวจสอบ และติดตามการไหลออกของเงินทุน รวมถึงสภาพคล่องของระบบการเงิน และสถาบันการเงินไทยในขณะนี้ ธปท.ยันยันได้ว่า ยังไม่มีสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง โดยถึงแม้จะมีการไหลออกของเงินทุนบ้าง แต่ยังไม่เห็นการไหลออกที่มากจนเกินไป ขณะที่ธปท.ได้จับตาการเคลื่อนไหวของเงินบาทอย่างใกล้ชิดเช่นกัน โดยเชื่อว่าจะสามารถดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนได้
ผู้ว่าฯ ธปท.ยืนยันถึงสภาพคล่องในระบบการเงินของไทยในขณะนี้ด้วยว่า ยังมีเพียงพอต่อความต้องการของภาคธุรกิจ แต่ยอมรับว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ส่งผลต่อต้นทุนการกู้ยืมเงินของผู้ประกอบการไทยที่ต้องการกู้เงินจากต่างประเทศ หรือกู้เงินต่างประเทศอยู่ ซึ่งผู้ประกอบการดังกล่าวสามารถที่จะเปลี่ยนเงินกู้ต่างประเทศมาเป็นการกู้เงินในประเทศแทนได้ เพราะระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีสภาพคล่องมากเพียงพอที่จะปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจได้
สำหรับผลกระทบทางอ้อมที่จะส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ เศรษฐกิจโลก ซึ่งจะส่งผลต่อภาคการส่งออก และการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยนั้น ในระยะสั้น ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของการส่งออกของประเทศไทย แต่ในระยะยาวคงต้องติดตามผลกระทบต่อภาคการส่งออกว่าจะมีเพิ่มขึ้นหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ธปท.ประเมินไว้แล้วว่า การขยายตัวจองภาคการส่งออกจะชะลอตัวลงกว่าครึ่งปีแรก
"ยังไม่มีความจำเป็นต้องปรับประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยทันที แต่ทั้งนี้ ธปท.จะนำผลกระทบทั้งหมดจากวิกฤตการเงินในต่างประเทศ รวมทั้งปัจจัยในประเทศที่เปลี่ยนแปลง มาประเมินภาพการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดให้ชัดเจน และประมาณการเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง ในช่วงการรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อในวันที่ 17 ต.ค.นี้ต่อไป" นางธาริษากล่าว.