ตลาดหุ้นไทยเดินหน้าทุบสถิติใหม่ ดัชนีดิ่งกว่า 22 จุด ก่อนจะปิดที่ 605.14 จุด ลดลงกว่า 19.42 จุด หรือ 3.11% ต่ำสุดในรอบ 4 ปี เหตุนักลงทุนหวั่นวิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐฯ บานปลาย ท่ามกลางกระแสโกลด์แมน แซคส์-มอร์แกน สแตนเลย์ ซ้ำรอย "เลห์แมน บราเธอร์ส" บวกกับปัจจัยลบการเมืองในประเทศ ขณะที่นักลงทุนทิ้งหุ้นไทยต่ออีก 2.1 พันล้านบาท ด้าน "ภัทรียา" แนะฉวยจังหวะช้อนหุ้น หลังราคาหุ้นพื้นฐานดีต่ำมากแล้ว แต่ต้องประเมินความเสียงให้รอบคอบ ส่วนกองทุนต่างชาติ ยังมั่นใจตลาดหุ้นไทย แต่ขาดสภาพคล่องจนไม่มีเงินลงทุนเพิ่ม
บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทย วานนี้ (17 ก.ย.) ยังคงได้รับแรงกดดันจากปัจจัยลบเดิมๆ คือ ปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐฯ หลังจากที่เลห์แมน บราเธอร์ส วาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่อันดับ 4 ของสหรัฐฯ ต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย ทำให้นักลงทุนกังวลถึงผลกระทบที่ลุกลามต่อเนื่องถึงสถาบันการเงินแห่งอื่น บวกกับปัจจัยการเมืองในประเทศที่ยังคงร้อนแรง หลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติเลือกนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่
โดยดัชนีตลาดหุ้นในช่วงเปิดตลาด ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และแตะระดับสูงสุดที่ 627.26 จุด ก่อนปรับตัวลดลงมาเคลื่อนไหวอยู่ในแดนลบ หลังนายสมชาย ได้รับเลือกให้เป็นนายกฯ คนใหม่ เนื่องจากนักลงทุนกังวลถึงปัญหาการเมืองที่จะตามมา บวกกับในช่วงบ่ายได้มีกระแสข่าวสถาบันการเงินสหรัฐฯ อีก 2 แห่ง คือ โกลด์แมน แซคส์ กรุ๊ป อิงค์ และมอร์แกน สแตนเลย์ ต้องประสบชะตากรรมเดียวกับเลห์แมนฯ
จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงไปทดสอบจุดต่ำสุดที่ 601.95 จุด หรือลดลงกว่า 22.61 จุด และปิดการซื้อขายที่ระดับ 605.14 จุด ลดลงจากวันก่อน 19.42 จุด คิดเป็น 3.11% มูลค่าการซื้อขายรวม 15,114.00 ล้านบาท โดยดัชนีตลาดหุ้นได้ปรับตัวลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 4 ปี จากระดับ 581.61 จุด เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2547
ขณะที่นักลงทุนต่างชาติยังคงเทขายหุ้นไทยออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาสภาพคล่องและสำรองเงินสดไว้ โดยมียอดขายสุทธิ 2,161.69 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 543.15 ล้านบาท และนักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 1,618.54 ล้านบาท
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยมีการปรับตัวลดลงแรง เนื่องจากปัญหาสถาบันการเงินสหรัฐฯ จะมีความรุนแรงมากขึ้น จากเลห์แมน บราเธอร์ส ที่ประเทศญี่ปุ่นจะยื่นล้มละลาย รวมถึงมอร์แกน สแตนเลย์ ที่จะมีการหาพันธมิตรเข้ามาร่วมทุน ทำให้นักลงทุนต่างประเทศมีการขายสุทธิหุ้นไทยออกมาต่อเนื่อง และจากที่ปัญหาสถาบันการเงินสหรัฐฯ ยังไม่สามารถที่จะประเมินได้ว่าจะถึงจุดต่ำสุดเมื่อไร
ทั้งนี้ นักลงทุนควรจะต้องติดตามข้อมูลข่าวสารต่างๆ ใกล้ชิด และระมัดระวังในการลงทุน โดยจากการที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลงมานั้นถือเป็นโอกาสที่จะเข้าไปลงทุน ซึ่งขึ้นอยู่กับนักลงทุนจะต้องมีการประเมินความเสี่ยงในการลงทุน และหากมีเงินลงทุนที่เหลือก็สามารถที่จะเข้ามาทยอยซื้อได้
"ปัจจัยที่มีผลต่อตลาดหุ้นขณะนี้ถือว่าปัจจัยในประเทศมีน้ำหนักที่ลดลง เมื่อเทียบกับปัญหาต่างประเทศที่รุนแรงมากขึ้นจากสถาบันการเงินต่างๆ เริ่มได้รับผลกระทบ โดยทางเลห์แมน บราเธอร์ ที่ประเทศญี่ปุ่นก็ประสบปัญหาทางการเงินจึงต้องยื่นเข้าแผนฟื้นฟู และมอร์แกน สแตนเลย์ ก็ประสบปัญหาจึงมีการหาพันธมิตรเข้ามาสนับสนุนเช่นกัน" นางภัทรียา กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ (18 ก.ย.) นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ จะมีการหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อรับทราบข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประเมินผลกระทบของปัญหาสถาบันการเงินสหรัฐฯ หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ทวีความรุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้น
นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)หรือ KEST กล่าวว่า ขณะนี้ประเมินยากว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยจะสามารถทรงตัวเหนือระดับ 600 จุดได้หรือไม่ เพราะปัจจัยที่กระทบต่อภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทยมาจากต่างประเทศ ซึ่งวิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐฯ ในขณะนี้เหมือนกับวิกฤตสถาบันการเงินไทยในปี 2540 ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหา
"จากปัญหาดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลก ซึ่งตลาดหุ้นจีนมีการปรับตัวลดลงมาจากดัชนี 6,000 จุด หรือลดลง 60% ปัจจุบันเหลือ 2,000 จุด ขณะที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลง 30% ซึ่งถือว่าปรับตัวลดลงน้อยกว่าทั้งที่ประเทศไทยมีปัญหาในเรื่องปัจจัยทางการเมือง"
***ต่างชาติมั่นใจตลาดหุ้นไทย***
นายเพททรี เดอร์ ประธานกรรมการ บริษัท พี วาย เอ็น ฟันด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีพอร์ตลงทุนในประเทศไทยมูลค่าประมาณ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเน้นลงทุนในหุ้นขนาดกลางและเล็ก ซึ่งจะเข้าไปลงทุนในช่วงที่ราคาหุ้นถูกและจะขายในช่วงที่ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นสูง ขณะที่ปัจจุบันดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงถือว่าเป็นโอกาสที่จะเข้าไปลงทุน แต่ไม่สามารถเข้าไปลงทุนได้ เพราะประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินทำให้ไม่มีเงินทุนเพียงพอเข้าไปลงทุน จากปัญหาที่เกิดขึ้นกับสถาบันการเงินสหรัฐฯ
ทั้งนี้ บริษัทยังคงให้น้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทยจากเชื่อมั่นปัจจัยพื้นฐานของประเทศที่จะมีการเติบโตในระยะยาว โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้รับผลตอบแทนคิดเป็น 500% ขณะที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น 100% แต่จากการที่ในปีนี้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลง บริษัทมีผลขาดทุนประมาณ 30%
"ไม่สำคัญว่าดัชนีจะปรับลดลงมากแค่ไหน หากราคาหุ้นยังถูกอยู่ก็น่าที่จะเข้ามาลงทุน แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันที่ขาดสภาพคล่อง การที่หุ้นมีราคาถูก แต่นักลงทุนไม่สามารถลงทุนได้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ลำบากพอสมควร " นายเพททรี กล่าว
นายแอนโธนี ดับเบิ้ลยู มารร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปปิตอล ฟอร์ บิสสิเนส จำกัด กล่าวว่า การลงทุนของบริษัทมีการลงทุนผ่าน 3 กองทุน คือ ฟาร์อีสต์ ฟันด์ ฮ่องกง ฟันด์ และไทยแลนด์ ฟันด์ โดยฟาร์อีสต์ ฟันด์นั้นได้มีการลงทุนในไทยด้วย ซึ่งบริษัทมีนโยบายการลงทุนทั้งในหุ้น พันธบัตรรัฐบาล กองทุนอสังหาริมทรัพย์ และโดยโดยผลตอบแทนจากการลงทุน 12 เดือนที่ผ่านมาของบริษัท มีผลตอบแทนติดลบ 7.7%
ทั้งนี้ จากอดีตที่ผ่านมาเชื่อว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยสามารถพัฒนาหรือเติบโตต่อไปได้ เนื่องจากในอดีตตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นใกล้ระดับ 1,800 จุด แต่ในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 600 จุด จึงเชื่อว่าน่าจะเติบโต ส่วนน้ำหนักการลงทุนในไทยนั้นคาดว่าจะเพิ่มการลงทุน
นางสาวจิตรา อมรธรรม ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. ไซรัส จำกัด (มหาชน) หรือ SYRUS กล่าวว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงแรง วานนี้ (17 ก.ย.) เกิดจากวิกฤตสินเชื่อของสหรัฐฯ และการที่เลห์แมน บราเธอร์ส ประกาศล้มละลาย รวมถึงราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง
นอกจากนี้ ยังได้รับปัจจัยลบจากปัจจัยในประเทศ หลังจากที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีมติเลือกนายสมชาย วงสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองยังคงยืดเยื้อต่อไป เนื่องจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกาศก่อนแล้วว่าไม่ต้องการนายกรัฐมนตรีคนที่มาจากพรรคพลังประชาชน
สำหรับแนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทยวันนี้ คาดว่าจะยังคงปรับตัวอยู่ในแดนลบ โดยให้แนวรับที่ 660 จุด แนวต้านที่ 617 จุด โดยนักลงทุนต้องติดตามวิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐฯ รวมสถานการณ์การเมืองไทยภายหลังนายสมชาย วงสวัสดิ์ เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
นายชัย จิรเสวีนุประพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวลดลงไปต่ำสุดกว่า 20 จุด เนื่องจากปัจจัยการประกาศล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส ส่งผลให้หุ้นกลุ่มธนาคารต่างปรับตัวลดลง ขณะที่หุ้นกลุ่มพลังงานปรับลดลงจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังผันผวน รวมถึงผลการประชุมสภาผู้แทนราษฎร์ทีเลือกนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้การเมืองกลับสู่ทางตันอีกครั้ง
"ตลาดหุ้นวันนี้จะยังคงผันผวนในแดนลบ โดยให้แนวรับที่ 585 จุด แนวต้านที่ 620 จุด โดยนักลงทุนติดตามปัจจัยลบทั้งในประเทศและต่างประเทศที่จะเข้ามากดดันตลาดหุ้นไทย"