xs
xsm
sm
md
lg

ช่อง 11 ลุกฮือ!ไล่แก๊งเหลือบบี้ลบทิ้ง"NBT"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - พนักงานช่อง 11 สุดทน! แก๊งธุรกิจการเมืองแฝงตัวเข้ามาหากิน โฆษณาชวนเชื่อทำลายภาพลักษณ์ป่นปี้ รวมพลังลุกฮือครั้งใหญ่บี้ฝ่ายบริหารให้เปลี่ยนโลโก้ใหม่ให้ลบทิ้งเอ็นบีที พร้อมทั้งเรียกร้องให้ปรับปรุงสวัสดิการให้ได้มาตรฐาน"ณัฐวุฒิ"ปัดไม่ทราบถอดรายการ"ความจริงวันนี้"ลั่นพร้อมรับผิดชอบและยินดีแจงทำความเข้าใจ ด้านสุริยงค์ ผอ.เอ็นบีที ทำเป็นงง อ้างแค่ประชุมปรับฐานเงินเดือน

วานนี้ (16 ก.ย.) ที่สถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อตอนเช้าที่ผ่านมาพนักงานช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งมีทั้งฝ่ายช่าง ฝ่ายเทคนิค รวมทั้งพนักงานฝ่ายข่าวจำนวนนับร้อยคนได้ก่อหวอดประท้วงฝ่ายบริหารที่นำเอาช่อง 11 ไปรับใช้การเมืองจนทำให้เสียภาพลักษณ์ สูญเสียความน่าเชื่อถือจากสังคม อีกทั้งทำให้การทำหน้าที่มีความยากลำบาก และรู้สึกไม่ปลอดภัย ทั้งนี้ พนักงานเหล่ายังได้เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงสัญลักษณ์ใหม่จากเอ็นบีทีกลับไปเป็นช่อง 11 ตามเดิม ขณะเดียวกัน ได้เรียกร้องให้มีการปรับปรุงสวัสดิการของพนักงานให้ดีขึ้นด้วย

มีรายงานว่า ล่าสุด นายสุริยงค์ บุณฑสาร รักษาการผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ได้เรียกพนักงานทุกฝ่ายเข้าชี้แจงภายในห้องประชุมชั้น 8 ซึ่งบรรยากาศการชี้แจงเป็นไปอย่างเคร่งเครียดและยังไม่ได้ข้อยุติ

สำหรับสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที เปลี่ยนแปลงมาจากช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ โดยอ้างความทันสมัย ในยุคที่ นายจักรภพ เพ็ญแข เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกัน ได้ให้บริษัทเอกชนภายใต้ชื่อบริษัท ดิจิตอล มีเดีย โฮลดิ้ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงานและกลุ่มทุนจากไอทีวีเดิมในยุคที่บริษัทชินคอร์ปซึ่งเป็นบริษัทครอบครัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นเจ้าของ

ทั้งนี้ บริษัทดิจิตอล มีเดียฯ ดังกล่าวได้มาเช่าช่วงเวลาในการทำรายการข่าว และหารายได้ ขณะเดียวกัน ได้ลดบทบาทของพนักงานช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์เดิมลงเกือบจะสิ้นเชิง

นอกจากนี้ กระแสความไม่พอใจจากสังคมได้เพิ่มสูงขึ้นหลังจากที่มีการให้ นายวีระ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ มาจัดรายการ "ความจริงวันนี้" โดยลักษณะรายการเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ และบิดเบือนข้อเท็จจริง โจมตีฝ่ายตรงข้ามอยู่ตลอดเวลา โดยล่าสุดได้โจมตีกระบวนการยุติธรรม เช่น ตุลาการรัฐธรรมนูญ และก่อนหน้านี้ได้โจมตี คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาอย่างต่อเนื่อง

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รักษาการรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หนึ่งในผู้ดำเนินรายการ "ความจริงวันนี้"ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพนักงานสถานีโทรทัศน์ เอ็นบีที เรียกร้องให้ผู้บริหารให้ถอดรายการ "ความจริงวันนี้" ว่าก็มีหลายฝ่ายที่เคลื่อนไหว มีทั้งเรื่องค่าตอบแทน สาระหลัก น่าจะมาจากคนทำงานในสถานีฯแต่ก็น่าดีใจที่ตลอดการดำเนินรายการได้เสนอสิ่งที่ผู้คนไม่มีโอกาสได้รับรู้โดยไม่มีการยั่วยุและปลุกระดม เป็นช่องทางที่จะสื่อสารต่อสาธารณชน หากมีสิ่งใดๆเกิดขึ้น ผู้ดำเนินรายการทั้ง3 คนพร้อมจะรับผิดชอบและยินดีที่จะทำความเข้าใจกับผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้

เมื่อถามว่าการถอดรายการออกจากผังรายการเป็นเหตุผลทาง*การเมืองหรือไม่ นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ไม่ทราบ การเปลี่ยนแปลงอาจจะเป็นในระดับนโยบาย สื่อควรจะประเมินและชี้วัดผลได้ไม่ยาก โดยไม่ใช้อารมณ์มาเป็นตัวตัดสิน ส่วนการดำเนินงานอย่างไร เป็นเรื่องของทางผู้บริหารสถานีฯที่จะเป็นผู้จัดการ

"สุริยงค์"งงแค่ประชุมปรับเงินเดือน

นายสุริยงค์ หุณฑสาร รักษาการผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที หรือ ช่อง11 (เดิม) กรมประชาสัมพันธ์ เปิดเผยว่า จากกระแสข่าวกรณีที่พนักงานของเอ็นบีทีส่วนหนึ่ง เรียกร้องให้ทางกรมประชาสัมพันธ์กลับมาใช้ชื่อช่อง 11 ตามเดิมนั้น รวมทั้งเสนอที่จะไม่เอาสัญลักษณ์เอ็นบีทีที่เพิ่งเปลี่ยนไปไม่นานนี้ เพราะมองว่าจะตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองนั้น

นายสุริยงค์กล่าวว่า ไม่ทราบว่าเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ซึ่งในความเป็นจริงแล้วช่วงเช้าของวันนี้ (16 ก.ย.) ยอมรับว่า ทางพนักงานส่วนหนึ่งของช่องเอ็นบีที ได้มีการมีการรวมตัวชุมนุมกันจริง แต่เป็นเรื่องของการประชุมเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาภายในองค์กรมากกว่า โดยเฉพาะในเรื่องของฐานเงินเดือนที่ต้องการจะปรับขึ้นมาบ้าง เพื่อเสนอกับทางกรมประชาสัมพันธ์ และสำนักงบประมาณ ซึ่งในสัปดาห์หน้าจะต้องหาข้อสรุปอีกครั้ง ก่อนยื่นให้กับกรมประชาสัมพันธ์ต่อไป

โดยการประชุมครั้งนี้ มีสาเหตุมาจาก การที่สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง11 กรมประชาสัมพันธ์ เปลี่ยนมาเป็นสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ที่ต้องมีการทำงานเป็น 24 ชั่วโมงเพื่อแข่งขันกับช่องอื่น แต่จากจำนวนบุคลากร ที่มีจำนวนกว่า 400 คนเท่านั้น ซึ่งยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับการทำงานที่ต้องออกอากาศทั้งวันทั้งคืน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วพนักงานเหล่านี้ยังเป็นเพียงลูกจ้างประจำ และยังคงได้รับค่าตอบแทนที่น้อยอยู่

ดังนั้นพนักงานเหล่านี้จึงออกมาเรียกร้องให้ทางผู้บริหารสถานีฯเข้ามาให้ช่วยเหลือกับปัญหาที่เกิดขึ้น จึงทำให้คนภายนอกดูเหมือนว่า พนักงานเอ็นบีทีกำลังมีการชุมนุมใหญ่ แต่วัตถุประสงค์ที่พนักงานชุมนุมนั้น เพื่อเรียกร้องให้ช่วยเหลือเรื่องค่าครองชีพมากกว่า กระแสข่าวที่ออกไป ซึ่งตนก็ไม่ทราบว่าทำไมจึงออกเป็นเรื่องความไม่พอใจ ขอกลับมาใช้ช่อง 11 ไปได้

นายสุริยงค์ กล่าวว่า ฐานเงินเดือนของพนักงานเอ็นบีทีขณะนี้ ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับองค์กรในลักษณะเดียวกัน เช่น สถานีโทรทัศน์สาธารณะ ไทยพีบีเอส เมื่อเทียบค่าตอบแทนในแต่ละเดือนของผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสอย่างต่ำเชื่อว่าไม่น้อยไปกว่า 15,000 บาท แต่ของเอ็นบีทียังอยู่ที่ 8,000 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุริยงค์ เตรียมที่จะเดินทางไปกัมพูชา แต่ต้องตกเครื่องเพราะเกิดปัญหาความวุ่นวายดังกล่าวและต้องเรียกประชุมกับพนักงานด่วน ก่อนที่จะเดินทางไปในช่วงเย็นวานนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น