xs
xsm
sm
md
lg

กระบวนการยุติธรรมสามารถเยียวยาสังคมในสถานการณ์วิกฤตได้หรือไม่

เผยแพร่:   โดย: กลุ่มพลังใสใส

ตามที่ท่านได้ทราบข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์แล้วว่า ขณะนี้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้บุกยึดทำเนียบรัฐบาลเพื่อมิให้รัฐบาลทำงานได้ ทำให้ศาลออกหมายจับ 9 แกนนำพันธมิตรฯ ในข้อหากบฏ พร้อมทั้งให้มีการบังคับคดีทำให้เกิดการทำร้ายกลุ่มผู้มาชุมนุมที่สะพานมัฆวานฯ และมีการนัดหยุดงานเกิดขึ้นทั่วประเทศ ความละเอียดแจ้งอยู่แล้วนั้น

พวกดิฉันด้วยความเคารพอย่างสูง ใคร่ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่า เหตุการณ์ที่เลวร้ายมากขึ้นมาจากสาเหตุใหญ่ 2 ประการ

ประการที่หนึ่ง ความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรม

หากมองย้อนกลับไปในเดือนกันยายน 2549 ก็จะพบว่า รัฐบาลนายกรัฐมนตรีทักษิณมีความขัดแย้งกับกลุ่มพันธมิตรฯ อย่างมาก ทำให้ทหารต้องมาทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์นองเลือด ประกอบกับทหารก็แตกแยกออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งยืนข้างรัฐบาลเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเอง ทหารอีกฝ่ายหนึ่งก็พยายามจะยืนข้างความถูกต้อง และมีผลประโยชน์ในตำแหน่งหน้าที่ของตนเองเป็นเดิมพันอยู่ด้วย ในเหตุการณ์ครั้งนั้น กระบวนการยุติธรรมก็ยังคงเดินอย่างต่วมเตี้ยมไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามที่พวกดิฉันเกริ่นไว้ในย่อหน้าแรกของหนังสือฉบับนี้ ก็มีสาเหตุมาจากความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรม กลุ่มพันธมิตรฯ ทราบดีว่าจะมีการอ่านคำพิพากษาคดีสำคัญหลายคดีในเดือนกันยายน แต่กลุ่มพันธมิตรฯ ไม่สามารถรอเวลาได้ เนื่องจากได้มีการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธมาเป็นเวลากว่า 100 วันแล้ว โดยกลุ่มผู้ชุมนุมต้องยอมตากแดด ตากฝน อดนอนและบริจาคสิ่งของ เงินทอง เพื่อช่วยเหลือให้การชุมนุมดำเนินต่อไปได้ ความคับข้องใจของกลุ่มพันธมิตรฯ ได้เกิดขึ้น ในอัตราเร่งที่ทวีคูณ เนื่องจากความคาดหวังสูงของกลุ่มพันธมิตรฯ และความนิ่งเฉยไม่ทุกข์ไม่ร้อนของฝ่ายรัฐบาลที่ไม่สนใจที่จะตอบสนองต่อคำเสนอแนะของกลุ่มพันธมิตรฯ รัฐสภาไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางการเมือง เพราะรัฐสภาประกอบด้วย ส.ส.ฝ่ายพรรครัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ ความอดกลั้นของกลุ่มพันธมิตรฯ ก็สิ้นสุดลง

ประการที่สอง ศาลขาดการมีปฏิสัมพันธ์กับประชาชนโดยรวม ทำให้มีโลกทัศน์ที่คับแคบ คำพิพากษาจึงไม่สามารถเยียวยาความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและ/หรือสภาผู้แทนกับประชาชนได้ ศาลได้แต่พิจารณาพิพากษาให้ ความยุติธรรมในรูปแบบเท่านั้น แต่ไม่สามารถให้ความยุติธรรมในเนื้อหาสาระได้

ตัวอย่างที่หนึ่ง การที่ศาลแพ่งพิจารณาพิพากษาให้กลุ่มพันธมิตรฯ ย้ายที่ชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลภายในคืนนั้น โดยไม่ตระหนักว่ามันเป็นภาระหนักแค่ไหน ทำให้ทหารฝ่ายที่สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฯ อย่างเงียบๆ ต้องออกมาช่วยเหลือในการขนย้ายเต็นท์และสัมภาระต่างๆ ของกลุ่มพันธมิตรฯ อย่างเปิดเผย ท้ายที่สุดทหารกลุ่มนี้และทหารกลุ่มอื่นก็ดำเนินการช่วยเหลือกลุ่มพันธมิตรฯ อย่างเปิดเผยนับแต่วันนั้นมา

ตัวอย่างที่สอง การที่ศาลแพ่ง (ศาลชั้นต้น) ไม่เคยตระหนักว่า สิทธิมหาชนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด มีความสำคัญกว่าสิทธิทางแพ่งตามกฎหมายเอกชน หากศาลเห็นว่าสถานที่ชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลไม่เหมาะสม ก็ควรจะหาสถานที่อื่นให้กลุ่มผู้ชุมนุมใช้สิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ความขัดแย้งในประเด็นนี้ก็จะจบลงได้

ตัวอย่างที่สาม การที่ศาลยินยอมให้ตำรวจตั้งข้อหากบฏกับ 9 แกนนำพันธมิตรฯ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่มีเจตนาที่จะล้มล้างรัฐธรรมนูญ ล้มล้างฝ่ายนิติบัญญัติ ล้มล้างฝ่ายตุลาการ ล้มล้างฝ่ายบริหาร กลุ่มพันธมิตรฯ ต้องการแสดงในเชิงสัญลักษณ์ว่าไม่ต้องการให้รัฐบาลชุดนายกฯ สมัครปฏิบัติหน้าที่ต่อไป เนื่องจากกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่มีความไว้วางใจในรัฐบาลชุดนี้ว่าจะทำการบริหารประเทศด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน

อนึ่ง ท่านทราบไหมว่า ศาลต่างประเทศที่ประชาธิปไตยเติบโตเต็มที่แล้ว ไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐตั้งข้อกล่าวหากบฏกับประชาชนที่มีความคิดเห็นแตกต่างกับรัฐบาลได้ง่ายๆ เพราะหากศาลยอมเป็นเครื่องมือของเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยไม่ใส่ใจเนื้อหาสาระของเรื่อง ก็เท่ากับศาลเป็นเครื่องมือให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งประชาชนที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาล ทั้งจะทำให้ประเด็นการเมืองลุกลามไปในการสร้างความรุนแรง

หากจะมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์การก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกาก็จะพบว่า พวกอพยพจากอังกฤษต่างมีความไม่พอใจในการปกครองของประเทศอังกฤษ เนื่องจากรัฐบาลไม่ยอมให้เขามีสิทธิมีเสียงในรัฐสภาอังกฤษ แต่รัฐสภาอังกฤษกลับออกกฎหมายเรียกเก็บภาษีจากอาณานิคมอย่างเต็มที่ นี่คือจุดระเบิด ประชาชนผู้บุกเบิกไม่สามารถหาทางออกเพื่อทำให้ตนเองมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ เนื่องจากรัฐบาลอังกฤษเฉยเมยไม่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนผู้บุกเบิก

ท้ายที่สุดความรุนแรงก็เกิดขึ้น เหตุการณ์ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ช่างมีความละม้ายคล้ายคลึงกับสถานการณ์ในปี 2549 และสถานการณ์ในปัจจุบันของประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง เพียงแต่ตอนจบของเรื่องจะไม่มีทางจบลงเหมือนกับประวัติศาสตร์การก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อ 232 ปีมาแล้ว เนื่องจากกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่เคยมีเจตนาที่จะกบฏตามข้อกล่าวหา กลุ่มพันธมิตรฯ ต้องการให้มีการเมืองที่ดีขึ้น กลุ่มพันธมิตรฯ ต้องการให้ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ ซึ่งเป็นผู้แทนในการใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน ใช้อำนาจหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ด้วยความระมัดระวังและปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน เขาต้องการปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และรัฐธรรมนูญ เพื่อลูกหลานของคนไทยทุกคนจะได้มีหลักประกันว่า พวกเขาจะมีความมั่นคง ความสุข และความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตเท่าที่ความสามารถของเขาจะทำได้โดยกลไกรัฐเปิดโอกาสให้คนไทยทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

สุดท้ายนี้ พวกดิฉันอยากจะกล่าวว่า แม้กระบวนการยุติธรรมจะทำงานอย่างรอบคอบ รัดกุม ผลงานดีเลิศขนาดไหนก็ตาม หากไม่สามารถแก้ไขเยียวยาปัญหาในเนื้อหาสาระของสังคมได้ทันเวลา กระบวนการยุติธรรมนั้นก็ไร้ผล และขอให้ท่านให้ความสำคัญต่อการเป็นประชาธิปไตยในเนื้อหาสาระมากกว่าการเป็นประชาธิปไตยเพียงแค่รูปแบบภายนอก

หมายเหตุ :
บทความชิ้นนี้มาจากจดหมายของผู้ที่ใช้นามว่า “กลุ่มพลังใสใส” ที่ส่งไปยังผู้เกี่ยวข้องในฝ่ายตุลาการระดับสูง “ผู้จัดการรายวัน” เห็นว่าเนื้อหาสามารถสะท้อนบทบาทของกระบวนการยุติธรรมได้อย่างดี จึงนำเสนอให้ผู้อ่านพิจารณาไว้ ณ ที่นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น