xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนไม่เชื่อน้ำยา “สมัคร 2” ห่วง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฉุด ศก.วูบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - ส.อ.ท.จี้เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชี้หากยื้อถึง ต.ค.ท่องเที่ยวไทยวูบหนัก หากกระทบภาคส่งออกแค่ง 10% พังยับ 6 แสนล้าน ชี้ชัดสมัครเป็นนายกฯ รอบ 2 ไม่ทำให้ปัญหาดีขึ้น พรรคร่วมควรพิจารณาตัวเอง ด้านหอการค้าไทยประเมินปัญหาการเมืองเศรษฐกิจไทยพังทุกรายการ ล่าสุดเจ๊งแล้ว 3.5 หมื่นล้าน แนะต้องยุติความขัดแย้งโดยเร็ว ก่อนเศรษฐกิจไทยกู่ไม่กลับ

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยหลังการหารือร่วมกับสมาชิก 39 กลุ่มอุตสาหกรรมถึงผลกระทบจากปัญหาการเมืองวานนี้ (9 ก.ย.) ว่า ที่ประชุมขอให้ทุกฝ่ายคำนึงถึงประโยชน์ของชาติด้วยการหาข้อยุติให้เร็วที่สุดโดยไม่มีการใช้ความรุนแรง รวมถึงขอให้ภาครัฐยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินโดยเร็วที่สุดซึ่งหากปัญหายังยืดเยื้ออยู่ถึงสิ้นปีนี้จะมีผลกระทบต่อภาคส่งออกไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท (ไม่รวมกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว)

“มูลค่าส่งออกปี 2551 คาดว่าจะอยู่ราว 174,000 ล้านเหรียญสหรัฐซึ่งหากปัญหานี้ยืดเยื้อก็จะเกิดความเสียหายต่อภาคส่งออกได้โดยหากกระทบส่งออกเพียง 10% จะก่อให้เกิดความเสียหายสูงถึง 6-7 แสนล้านบาทและนี่ยังไม่รวมกับท่องเที่ยวที่รายได้แต่ละปีหลายแสนล้านบาทซึ่งเห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินหาก ต.ค.นี้ยังไม่ยกเลิกจะเห็นผลชัดเจนต่อท่องเที่ยวที่จะเสียหายอย่างมากในช่วงสิ้นปีที่เป็นฤดูท่องเที่ยวรายได้ส่วนนี้จะหายไปมากเป็นแสนล้านบาทและจะลามไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่องแต่สิ่งสำคัญความเชื่อมั่นจะต่ำลงและแก้ไขยาก” นายสันติกล่าว

เอกชนชี้หมัก 2 ปัญหาไม่จบ
นายสันติ กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะชี้ขาดคุณสมบัตินายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี คดี “ชิมไปบ่นไป” ว่า จากการพูดคุยส่วนใหญ่เห็นว่าหากศาลระบุว่านายกรัฐมนตรีผิดจริงก็จะทำให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ หากเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้วกลับมาเป็นนายสมัครเหมือนเดิมเชื่อว่าคงไม่สามารถยุติปัญหาได้และจะยืดเยื้อออกไปอีกดังนั้นจุดนี้ทุกฝ่ายก็ควรหาข้อยุติว่าจะจบกันอย่างไรให้เร็ว เพราะหากเกิดความเสียหายกับประเทศใครจะรับผิดชอบ

จี้พรรคร่วมพิจารณาตนเอง
นายวัลลภ วิตนากร อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่มห่มไทย กล่าวว่า ความเห็นส่วนตัวแล้วกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดว่านายสมัครผิดจริงต่อการจัดรายการชิมไปบ่นไปก็เห็นว่านายสมัครควรจะพิจารณาตัวเอง รวมไปถึงสมาชิกผู้แทนราษฎรหรือพรรคร่วมเองกต้องรับผิดชอบว่าหากจะให้นายสมัครกลับมามีความเหมาะสมหรือไม่และคำนึงถึงผลได้และผลเสียต่อชาติด้วยเพราะหากนายสมัครกลับมาอีกทุกอย่างก็จะเหมือนเดิมการแก้ไขปัญหาก็ไม่ยุติ

“ส่วนตัวไม่ได้เข้าข้างใครแต่รัฐบาลที่มาจากเสียงส่วนใหญ่แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องไม่ฟังเสียงส่วนน้อยเมื่อเขาทักท้วง และในฐานะรัฐบาลเป็นผู้นำก็จะต้องแสดงความรับผิดชอบก่อน ส่วนผู้ชุมนุมเองก็ไม่ควรจะไปรอนสิทธิผู้อื่นทั้งปิดสนามบิน รถไฟ ที่เมื่อเกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจคนไทยทั้งหมดคือผู้เดือดร้อนจะมีใครรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นหรือไม่” นายวัลลภกล่าว

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หากศาลฯ พิจารณาว่านายสมัครผิดจริง เห็นวา ก็น่าจะหาคนใหม่ที่ทุกคนยอมรับได้มาแทน ไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถปลดล็อคได้ เพราะถ้านายสมัครกลับมาก็จะยิ่งทำให้เกิดปัญหาหนักกว่าเดิม ส่วนเรื่องที่จะให้มีการลงประชามติก็ต้องใช้เวลานานและจะยิ่งมีการเถียงกันหนักขึ้น และจะทำให้ยิ่งมีการใช้ความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งก็จะกระทบต่อความเชื่อมั่นการลงทุน การท่องเที่ยว และการขนส่งที่ต้องมีต้นทุนค่าขนส่งเพิ่ม

“หากเป็นแบบนี้ก็จะเป็นปัญหา เพราะทุกฝ่ายต่างอยู่ในมุมของตัวเอง ต่างคนต่างก็อ้างความถูกต้องและยังคงแสดงจุดยืนของตัวเองอยู่ ทำให้เหตุการณ์หมุนวนอยู่แบบนี้ สุดท้ายก็ต้องมีคนหนึ่งที่เสียสละ เพราะเวลานี้จะมัวมาพูดเรื่องความถูกต้องแล้วทำให้เศรษฐกิจประเทศล่มสลายก็คงไม่ได้” นายธนิตกล่าว

การเมืองฉุด ศก.พังแล้ว 3.5 หมื่นล.
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงการประเมินผลกระทบทางการเมืองต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ไทยได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจ ทั้งด้านการค้าระหว่างประเทศ การส่งออก การลงทุน การบริโภคภายในประเทศ และการท่องเที่ยวรวมแล้ว 19,000-35,000 ล้านบาท ส่งผลกระทบให้จีดีพีประเทศขยายตัวลดลงเหลือ 5.2-5.3% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 5.6% และคาดว่าหากความขัดแย้งยังยืดเยื้อถึงปลายเดือน ก.ย. หรือต้นเดือน ต.ค. เศรษฐกิจไทยจะได้รับความเสียหายเพิ่มเป็น 40,000-62,000 ล้านบาท หรือส่งผลกระทบทำให้จีดีพีขยายตัวเหลือเพียง 4.9-5.1%

“ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ที่ก่อให้เกิดการชุมนุมขับไล่รัฐบาล การปิดท่าเรือ ปิดสนามบิน รวมถึงการหยุดงานของรัฐวิสาหกิจ ได้สร้างความเสียหายให้ประเทศไปแล้ว 35,000 ล้านบาท และมีความเป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจจะเสียหายเพิ่มเป็น 62,000 ล้านบาท เพราะขณะนี้แนวโน้มความขัดแย้งยังมีอยู่ และไม่มีท่าทีคลี่คลายลง หากเหตุการณ์เลวร้ายและยืดเยื้อไปจนเดือนพ.ย.-ธ.ค. ความเสียหายจะเพิ่มเป็น 73,000-130,000 ล้านบาท ส่งผลให้จีดีพีโตเพียง 4.5-4.8% เท่านั้น รวมถึงยังทำลายความเชื่อมั่นถึงปีหน้า”นายธนวรรธน์กล่าว

สำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น ภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบสูงสุด เพราะผลจากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการปิดสนามบิน ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเป็นรายได้หลักของธุรกิจท่องเที่ยว ชะลอและยกเลิกการเดินทางมาไทยแล้วหลายแสนคน หรือเกิน 80% ทำให้ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท ภัตคาร ร้านอาหาร บันเทิง สปา สามล้อ แท็กซี่ สูญเสียรายได้แล้ว 6,000 ล้านบาท และถ้าสถานการณ์ยืดเยื้อไปทั้งเดือนก.ย.จะทำให้เสียหายเพิ่มเป็น 23,000 ล้านบาท แต่หากความวุ่นวายมีต่อเนื่องถึงสิ้นปี หรือช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) ความเสียหายจะเพิ่มเป็น 42,000-75,000 ล้านบาท และกระทบจีดีพีถึง 0.42-0.79%

ส่วนผลกระทบต่อการบริโภคภาคประชาชนยังจะชะลอตัวต่อเนื่อง โดยมีความขัดแย้งทางการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญที่บั่นทอนความเชื่อมั่น ประกอบกับผลกระทบจากราคาน้ำมัน และค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ทำให้จิตวิทยาการบริโภคแย่ลง โดยประเมินแล้วว่าขณะนี้เสียหาย 2,000-3,000 ล้านบาท แต่หากยืดเยื้อถึงเดือน ก.ย. จะเพิ่มเป็น 4,000-6,000 ล้านบาท และถ้ายาวถึง 1-3 เดือน จะเสียหาย 15,000-20,000 ล้านบาท

ด้านการลงทุนของนักลงทุน ได้ส่งสัญญาณชะลอตัวอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เกิดการชุมนุมมา เพราะนักลงทุนไม่มั่นใจเสถียรภาพการเมืองของรัฐบาล และคาดว่าจะการลงทุนภาคเอกชนจะลดลงต่อเนื่องอีกในไตรมาส 3 และ 4 ท่ามกลางการเมืองที่ยังขัดแย้ง โดยขณะนี้การลงทุนลดลงแล้ว 1,000-2,000 ล้านบาท และผลกระทบระยะสั้นตลอดก.ย.จะลดลง 3,000-4,000 ล้านบาท แต่หากความขัดแย้งยังวุ่นวายไปอีก 1-3 เดือน การลงทุนจะลดอีก 6,000-12,000 ล้านบาท และกระทบต่อความเชื่อมั่นถึงปีหน้า

ด้านภาคการส่งออก ได้ผลกระทบ 10,000-24,000 ล้านบาท จากการปิดท่าเรือกรุงเทพ ส่งผลให้สินค้าหลายรายการ โดยเฉพาะเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ยานยนต์ เครื่องจักร ส่งออกไม่ทัน รวมถึงมีการชะลอคำสั่งซื้อในบางส่วนอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ มีปัจจัยบวกเพียงตัวเดียวที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ก็คือการใช้จ่ายของรัฐบาล เพราะแม้จะเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง ก็ไม่น่ากระทบมาก เนื่องจากงบประมาณปี 2552 ได้ผ่านการอนุมัติจากสภาแล้ว รวมถึงโครงการเมกะโปรเจคท์ ที่ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้ว ซึ่งจะยังเดินหน้าต่อไปได้

นายดุสิต นนทะนาคร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ต้องการให้ความขัดแย้งยุติโดยเร็ว เพราะถ้ายืดเยื้อก็ยิ่งควบคุมไม่ได้ และเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติอย่างรุนแรงไปถึงปีหน้า โดยเบื้องต้นคาดว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้น 1 เดือน ประเทศจะเสียหายหลายหมื่นล้านบาท และหากยืดเยื้อถึงสิ้นปีจะเสียหายเป็นแสนล้านบาท

“ภาคธุรกิจจะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบ หากธุรกิจอยู่ไม่ได้จนต้องปิดกิจการ ก็จะกระทบต่อการจ้างให้คนต้องตกงาน กลายเป็นปัญหาลูกโซ่อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น เศรษฐกิจจึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายจะต้องช่วยการยุติปัญหา เพราะการสร้างความเชื่อมั่น และให้ต่างประเทศกลับมายอมรับนั้น ต้องใช้เวลานาน” นายดุสิต กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น