xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยหนี้ภาคครัวเรือนพุ่ง1.3แสนบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คนไทยหนี้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด เฉลี่ยแต่ละครัวเรือนเป็นหนี้ 1.35 แสนบาท เพิ่มขึ้น 15.84% เหตุรายได้น้อยกว่ารายจ่าย ทำให้ต้องกู้ยืมนอกระบบ เผยคนรายได้ต่ำกว่าเดือนละหมื่นบาทส่อแววมีปัญหามากสุด เพราะไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้ อาจส่งผลกระทบต่อปัญหา NPL แบงก์ที่อาจถูกชักดาบ จี้รัฐเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ อัดเงินลงรากหญ้า

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือน ปี 2551 ว่า คนไทยมีการก่อหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยสถิติเดือนส.ค.2551 คนไทยมีหนี้สินต่อครัวเรือน 135,166 บาท เพิ่มขึ้น 15.84% จากปีก่อนที่มี 116,681 บาท ทำให้ขนาดหนี้สินครัวเรือนโดยรวมเพิ่มขึ้น 16.55% มีมูลค่ารวม 2.4 ล้านล้านบาท เพิ่มจากปีก่อน 2.1 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบ 10 ปี

สาเหตุที่คนไทยมีสัดส่วนการเป็นหนี้เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย เพราะค่าครองชีพเพิ่ม 75.3% ดอกเบี้ยสูง 17.2% น้ำมันแพงขึ้น 4.6% ทำให้คนส่วนมากต้องหาทางออกด้วยการกู้เงินแทน โดยเฉพาะการพึ่งเงินนอกระบบที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 35% สูงกว่าปี 2550 ที่มี 32.2% และปี 2549 ที่ 26.1% สวนทางกับหนี้ในระบบที่ลดลงจากปี 2549 มี 73.9% เหลือ 67.8% ในปี 2550 และปีนี้ 65% ตามลำดับ โดยวัตถุประสงค์การกู้ยืม เพื่อใช้จ่ายประจำวัน 36.81% ยานพาหนะ 26.89% ที่อยู่อาศัย 7.71% ค่ารักษาพยาบาล 14.93% และลงทุน 13.81%

ทั้งนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ประชาชน 56.50% ระบุว่ามีหนี้เพิ่มขึ้นมากกว่ารายได้ มีเพียง 10.79% เท่านั้นที่มีรายได้สูงกว่าหนี้ ขณะที่รายได้และหนี้เพิ่มเท่ากันที่ 32.71% ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถชำระหนี้ และอาจทำให้ธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน หรือ 10,000-20,000 บาทที่ยอมรับว่ามีปัญหาการผ่อนส่งเกิน 80% ขณะที่รายได้ 20,001-50,000 บาท มีปัญหาชำระหนี้ 59-69% รายได้ 50,001-90,000 บาท มีปัญหา 56.70% และสูงกว่า 90,001 บาท มีปัญหา 40.10%

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนไม่ใช่ปัญหารุนแรง จนกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพราะเมื่อเทียบกับจีดีพีแล้ว จะมีสัดส่วน 25.97% เป็นระดับที่ภาครัฐบริหารได้ แต่สิ่งที่น่ากลัวคือกลายปัญหาระดับบุคคล โดยเฉพาะผู้มีรายได้ต่ำ ที่จะลุกลามต่อความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคต และทำให้บรรยากาศการบริโภคภายในซบเซาต่อไป แม้ตัวเลขจีดีพีปีนี้จะโต 5.5% แต่ไม่ช่วยให้คนระดับล่างมีรายได้เพิ่ม เพราะรายได้หลักจะตกอยู่กับธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น ดังนั้น ภาครัฐต้องใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และกระจายงานลงสู่รากหญ้ามากขึ้น ผ่านโครงการเมกกะโปรเจคท์ต่างๆ

อย่างไรก็ตาม คาดว่าการใช้จ่ายครัวเรือนในอนาคตมีแนวโน้มลดลงอีก เพราะกว่า 60% ระบุว่าของแพงทำให้ต้องประหยัด และไม่ต้องการกู้ยืมเพิ่มแล้ว เพราะตอนนี้กู้เต็มพิกัดแล้ว นอกจากนี้ คนส่วนใหญ่กังวลปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ และหนี้สาธารณะของประเทศ แต่ไม่ได้กลัวปัญหาหนี้ครัวเรือน ส่วนความเห็นต่อนโยบาย 6 มาตรการ 6 เดือนของรัฐ มีมากกว่า 60% ระบุว่าพอใจมาก และได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง เพราะช่วยลดรายจ่าย ในช่วงค่าครองชีพที่สูง
กำลังโหลดความคิดเห็น