xs
xsm
sm
md
lg

ม.หอการค้า มั่วดัชนีความเชื่อมั่นต่ำสุดรอบ 7 ปี สอดไส้ปัญหาการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์พยากรณ์ ศก.หอการค้า โบ้ยปัญหาการเมืองฉุดดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ต.ค.อยู่ที่ระดับ 68.6 ลดต่ำสุดในรอบ 7 ปี คาดการใช้จ่ายช่วงปีใหม่ปีนี้ไม่คึกคัก ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในโอกาสหางานทำ ต่ำสุดในรอบ 72 เดือน ห่วงรายได้ในอนาคตวูบ

วันนี้ (13 พ.ย.) นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคได้ปรับตัวลดลงทุกรายการ 1.1 จุด โดยดัชนีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ด้านเศรษฐกิจ โอกาสหางานทำปรับตัวต่ำสุดในรอบ 72 เดือน โดยปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 69.3 ร้อยละ 69.2 ร้อยละ 68.3 โดยมีปัญหาการเมืองเป็นหลัก ตามมาด้วยปัญหาค่าครองชีพสูง และผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจเป็นปัจจัยบั่นทอนความเชื่อมั่นผู้บริโภค

“ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือน ต.ค.51 อยู่ที่ 68.6 ลดลงจากเดือน ก.ย.51 ที่อยู่ในระดับ 69.5 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 69.2 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 89.5”

ทั้งนี้ ดัชนีทุกตัวปรับลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะดัชนีโอกาสในการหางานทำที่ลดลต่ำสุดในรอบ 72 เดือน และรายได้ในอนาคตลดลงต่ำสุดในรอบ 11 เดือน

นายธนวรรธน์ เชื่อมั่นว่า ปัจจัยลบที่เป็นสาเหตุการปรับตัวลดลงของดัชนีดังกล่าว เนื่องจากความวิตกสถานการณ์การเมืองภายในประเทศที่ยังมีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, ปัญหาวิกฤติสถาบันการเงินในสหรัฐฯ

นอกจากนี้ การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดคาดการณ์ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปี 51 ลงเหลือ 4.3-5.0% จาก 4.8-5.8%, เงินบาทอ่อนค่า, ดัชนีตลาดหุ้นปรับลดลงถึง 180.01 จุด รวมถึงปัญหาความกังวลของผู้บริโภคเกี่ยวกับค่าครองชีพ

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่มีผลลบต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2552 ได้แก่ 1.เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น 2.ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ ซึ่งมีความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการยุบพรรคร่วมรัฐบาล ส่งผลให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและผู้ประกอบการอยู่ในระดับที่ต่ำ และไม่กล้าลงทุนหรือบริโภคมากนัก

3.ราคาพืชผลการเกษตรที่มีแนวโน้มลดลงกว่าปีนี้ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ลดลงซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยในภูมิภาคขาดแรงขับเคลื่อน หรือขาดแรงพยุงเศรษฐกิจที่สำคัญ 4.ปัญหาสภาพทางการเงินตึงตัว ส่งผลกระทบต่อการดำเนินการของธุรกิจ

นอกจากนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ยังคาดการณ์ว่า การบริโภคจะชะลอตัวต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสที่ 4 ขณะที่การจับจ่ายในช่วงปีใหม่จะลดลงต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2552
กำลังโหลดความคิดเห็น